บทความนี้ใช้เวลาในการอ่านประมาณ 6 นาที
วันที่เผยแพร่ : 11 กรกฏาคม 2021
ภาพพื้นหลังปก : ต้นฉบับโดย Jornada Produtora จาก unsplash.com
บทความนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. OVERVIEW: ผลกระทบจากการปิดเมืองที่มีต่อคนรุ่นใหม่
และ 2. ISSUE : ผลกระทบด้านความเชื่อและการเปลี่ยนแปลงในคริสตจักรที่สะท้อนจากชีวิตของผู้คนบางกลุ่ม
Overview: กระทบหนักคนรุ่นใหม่เสี่ยงยากจนแถมตกงาน
การระบาดหนักของโควิด-19 เป็นเวลาร่วม 2 ปีทำให้หลายประเทศจำเป็นต้อองใช้มาตรการปิดเมือง “lockdown” เพื่อจำกัดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ นอกจากส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้คนและระบบเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอีกด้วย
ดูเหมือนคนรุ่น Generation Z (เกิดช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง-ช่วงหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ พ.ศ. 2540-2552 อายุระหว่าง 14-24 ปี) จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้หนักหน่วงที่สุด สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในวัยเรียนคือการปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ที่ไม่รู้ว่าจะต้องต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและคุณภาพการศึกษาในระยาว (เพราะสถาบันการศึกษาหลายแห่งไม่ได้มีเวลาเตรียมตัวในการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน) จนอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานของคน Gen Z เสียเปรียบคนรุ่นก่อนหน้าอย่างมาก
วัยเริ่มต้นทำงานก็ไม่ได้ดีกว่ากัน จากรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชี้ให้เห็นว่าแรงงานคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน (อายุ 18-29 ปี) กว่า 17.1% ที่มาร่วมทำแบบสอบถาม ถูกนายจ้างสั่งให้หยุดทำงานระหว่างการการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อพวกเขาในอีกหลายหลายด้านอย่างเจ็บปวด
เจ็บที่ 1 : ขาดประสบการณ์จากการฝึกงาน และภาคปฏิบัติ
“การงดการฝึกงาน” ทำให้แรงงานรุ่นใหม่ขาดประสบการณ์จริงในงานภาคสนาม ส่งผลต่อการพิจารณาการจ้างงานในอนาคตหลังวกฤติโควิด-19 หมดไป นอกจากไม่มีประสบการณ์การฝึกงานแล้ว ชั่วโมงบินของพวกเขายังน้อยกว่าคนในรุ่นที่ใกล้เคียงกันอย่าง Gen Y และอาจถูกคน GEN A ที่มาหลังจากนี้แย่งงานในอนาคต
เจ็บที่ 2 : เสี่ยงถูกปลดจากงาน และว่างงานสูง
ธุรกิจใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดคือกิจการที่มีความอ่อนไหวสูงต่อสภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2. อุตสาหกรรมบันเทิง 3. อุตสาหกรรมบริการ 4. ร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อ 5. อื่นๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็น อุตสาหกรรมที่คนรุ่นใหม่ซึ่งยังมีรายได้ไม่สูงทำงานอยู่และถูกจ้างในภาวะปกติ การปิดตัวลงของกิจการเหล่านี้ทำให้อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ (สำหรับประเทศไทยเรา กลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง SMEs ซึ่งมีจำนวนถึง 62% ของกำลังแรงงานทั้งหมด)
เจ็บที่ 3 : หลังวิกฤติก็ยังจะคงวิกฤติ
ผลกระทบจากโควิด-19 อาจสร้างรอยแผลเป็น (Scarring Effect) แก่กลุ่มธุรกิจ ส่งผลให้ตำแหน่งงานลดลง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและวิถีชีวิตหลังวิกฤตที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่อความต้องการแรงงานในองค์กรณ์ต่างๆ รวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลให้คนรุ่นใหม่ใน Lockdown Generation อาจต้องการทักษะใหม่ในการทำงานและอาจได้งานไม่ตรงกับทักษะเดิมที่เรียนมา
โดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ทำการวิเคราะห์รายได้ของแรงงานใน 64 ประเทศ พบว่าแรงงานผู้ใหญ่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มแรงงานคนรุ่นใหม่ถึง 71% คาดว่าหลังวิกฤตโควิด-19 จะยิ่งทำให้ช่องว่างความแตกต่างของรายได้ระหว่างคนสองรุ่นยิ่งทิ้งห่าง นอกจากนี้ช่วงโมงการทำงานของคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ว่าคนรุ่นต่อไปอาจมีภาวะความยากจนกว่าคนรุ่นก่อน
ภาพ: ผลกระทบของชั่วโมงทำงาน และอัตราการถูกให้ออกจากการ
เปรียบเทียบระหว่าง คนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ ในประเทศเกาหลีใต้
ที่มา : รายงานของ International Labor Organization (ILO)
___________________________________
ISSUE : คริสตจักรก็ได้ผลกระทบจากการ “ปิดเมือง”
คริสตจักรเองเป็นองค์กรณ์รูปแบบหนึ่งย่อมได้รับผลกระทบ หลังการระบาดหนักส่งผลให้รูปแบบการนมัสการเปลี่ยนแปลงไปไม่ต่างกับที่โรงเรียนหลายแห่งต้องปรับตัว คือ สถานการณ์บีบบังคับให้ต้องย้ายรูปแบบการนมัสการในตัวอาคารไปสู้การนมัสการออนไลน์ ในขณะที่คริสตจักรหลายแห่งมีการเตรียมตัวและความพยายามขยายพันธกิจด้านดิจิทัลอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีหลายแห่งที่ต้องเริ่มต้นลงมือด้วยสถานการณ์ที่นำพา
“สำหรับเราคริสเตียน คนในรุ่น lockdown Generation อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในคนรุ่นอายุ 14-24 ปี หรือในแค่กลุ่มคน Generation Z เท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงสมาชิกทุกรุ่นอายุที่ต่างก็ได้รับผลกระทบและพบอุปสรรค์ในการนมัสการและในการดำเนินชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน”
ผลกระทบจากโควิด-19 อาจไม่ได้ทำให้เรายากจนลงเพียงแค่เรื่องเงิน จิตใจและจิตวิญญาณเราก็ยากจนลงด้วย ความสิ้นหวังและอ่อนพลังอาจกำลังกัดกินผู้คนไม่เพียงแต่ในวัยทำงานแต่เป็นทุกช่วงวัย 4 ข้อต่อไปนี้คือ เสียงสะท้อนเล็กๆ ของผู้คนส่วนหนึ่ง ซึ่งชูใจมีโอกาสได้สัมผัสและพูดคุยเกี่ยวกับความยากในชีวิตของพวกเขาท่ามกลางสถานการณ์เลวร้าย
-
คริสตจักรเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์ไม่ใด้เพื่อสร้างเนื้อหา (Content) แต่เป็นการสร้างชุมชน (Community)
ชูใจทีมมีโอกาสได้พูดคุยกับสมาชิกของคริสตจักรแห่งหนึ่งเกี่ยวกับการนมัสการออนไลน์ โดยถามว่าชอบเนื้อหาหรือการนมัสการของที่ไหนเป็นพิเศษ สมาชิกคนนั้นตอบว่าของคริสตจักรแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไกลออกไปจากจังหวัดของเขา
“ถามตามตรงนะ ชอบการนมัสการของที่ไหนเอ่ย”
“ของ XXXX ภาพชัดเพลงเพราะมาก อยากไปอยู่ในนั้นเลย เค้าถ่ายดีมาก”
“แล้วปกติวันอาทิตย์ เข้าร่วมของที่นี่มั้ย?”
“ไม่นะ เราก็ต้องนมัสการของที่โบสถ์เราอยู่แล้ว มีแอบนอกใจไปบ้าง แต่สุดท้ายเราก็คิดถึงพี่น้องของเรา เพลงที่แปลแบบโบสถ์เรา ร้องของเค้ามันไม่ตรงปาก เวลาเห็นหน้าอาจารย์ของเราก็เอ่อ สบายใจดี”
แน่นอนว่าคุณภาพการบันทึกของโบสถ์เราอาจไม่ดีที่สุด แต่คนเราก็มักเลือกในที่ ๆ สบายใจและสะดวกใจที่ ๆ รู้สึกคุ้นเคยและเป็นส่วนหนึ่งเพราะสิ่งที่เราสื่อสารออกมาไม่ใช่เพียงเนื้อหา (content) ที่มีคุณภาพ แต่เป็นความอบอุ่นหรือความสุขใจสบายใจในฐานะที่เป็นชุมชน (community) ของเขาเหล่านั้นด้วย ทั้งนี้คุณภาพของการผลิตอาจไม่สำคัญกว่าคุณภาพของการสื่อสาร เพราะไม่ว่าจะอย่างไร สมาชิกไม่ใช่แฟนคลับ ไม่ใช่เพียงผู้ชม แต่เป็นผู้คนพวกเขาต้องการสื่อสารและการตอบสนอง
ในเนเธอร์แลนด์ Dutch Christian Nederlands Dagblad รายงานว่าจำนวนผู้มาเยี่ยมชมคริสตจักรออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า หลังจากมีโควิด เช่นเดียวกัน ในประเทศไทย ที่สมาชิกต่างก็ปรับตัวเข้าสู่ชุมชนของพวกเขาผ่านทางออนไลน์ ผู้ดูแล Facebook fanpage ของคริสตจักรแห่งหนึ่งได้บอกแก่ชูใจว่า ยอดการเข้าเยี่ยมชมเพจโบสถ์ของเขาสูงขึ้น ราว 3 เท่าในช่วงที่มีการปิดโบสถ์แรกๆ โดยในตอนนั้นทีมมีเดียของโบสถ์ยังไม่ได้ทำการพัฒนาหรือผลิตเนื้อหาออนไลน์ใดๆ เพิ่มเติมเลยจากที่เคยมีมาก่อนหน้านั้นเลย
ความยากในข้อนี้ก็คือ : คนใน Generation นี้ เต็มต้นไปด้วย Content ที่มากมาย แต่พวกเขาแสวงหา Community ที่จะเป็นของพวกเขาจริงๆ
-
พันธกิจแห่งการเยียวยา ชีวิตไม่ใช่แค่เพียงจิตวิญญาณแต่จิตใจและร่างกายก็สำคัญ
“วาดรูปหนุนใจคนอื่น เกี่ยวกับโควิดมาจะ 2 ปีแล้วเบื่อบ้างไหม?”
“เป็นหมอแบบนี้เสี่ยงมาก ได้กลับบ้านพักผ่อนบ้างไหม?”
เพจหลายเพจยังคงมีรูปหนุนใจออกมาตลอด 2 ปี เช่นเดียวกับเพื่อนบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังคงทำงานแข็งขัน ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ผู้คนต่างได้รับผลกระทบรอบด้านไม่ใช่เพียงแค่จิตวิญญาณที่อ่อนแอแต่จิตใจ และร่างกายปากท้องก็สำคัญมาก แน่นอนว่าจิตวิญญาณนั้นสำคัญมากอยู่แต่ในหลายครั้งการมองเห็นชีวิตด้านอื่นของผู้คนก็สำคัญด้วย ความสิ้นหวังที่เกาะกุมใจของคนนั้นอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า ท้อแท้ ความขุ่นข้องหมองใจ การบอกให้เขากลับมาหาพระเจ้าด้วยกำลังตัวเอง อาจไม่ง่ายเท่าการที่เราเข้าไปช่วยพยุงเขาและเสริมแรงเขาเหล่านั้น ในบางครั้งกำลังใจที่เห็นได้ก็สำคัญมากกว่าที่จะพูดว่าพระเจ้าเป็นห่วงคุณแต่เขาอาจได้ยินคนสักคนพูดว่า “ผมเป็นห่วงคุณ” หรือ “พวกเราที่คริสตจักรคิดถึงคุณ”
ยังมีคนป่วยที่ไม่ได้เป็นโควิด พวกเขาอาจป่วยทางใจ หรือป่วยกาย และยังต้องการรักษาให้หายอยู่และยังคงต้องการกำลังใจเช่นเดียวกัน
ความยากในข้อนี้ก็คือ : ในเวลาที่เต็มไปด้วยปัญหาหลายครั้งพวกเขาถูกบอกซ้ำแล้วซ้ำอีกให้พึ่งพาเพียงพระเจ้า โดยไม่รู้ว่าจะไปพึ่งพาองค์กรหรือคนไหนได้เลย ไม่ต่างกับลูกกำพร้าและหญิงม่ายที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากชุมชนแม้กระทั่งการสนับสนุนทางด้านจิตใจก็ตาม
photo by : Raphael Koh
-
ไร้อคติ ในโลกที่ไร้พรมแดน
“พี่ๆ ดูคลิปนั้นรึยัง”
“ยังเลย…ดูแล้วรู้สึกยังไงบ้าง?”
เมื่อคริสตจักรเปิดตัวสู่โลกออนไลน์ ความคิดเห็นหรือคำสอนก็ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมหรือตัวอาคารเล็กๆ (และใหญ่ๆ) ที่รายล้อมไปด้วยเฉพาะผู้คนที่เชื่อหรือรับคำสอนในแบบเดียวกันอีกต่อไป อคติหรือแนวความคิดต่อคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมาก เพราะโลกนั้นไรพรมแดนและเนื้อหาต่างๆ ถูกเปิดซ้ำอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าจุดยืนเป็นเรื่องที่ยังคงจำเป็น แต่การสื่อสารอย่างรอบคอบและประกอบด้วยความรักยังคงสำคัญ แน่นอนว่าสิ่งที่เราถ่ายทอดออกไปเราย่อมต้องรับผิดชอบทั้งกับ คนฟัง กับสังคม และกับพระเจ้า
ความยากในข้อนี้คือ : คนในรุ่นนี้ต้องเผชิญกับความมากล้นของข้อมูล และต้องใช้วิจารณญาณอย่างมากในการกรองข้อมูลและแยกแยะสิ่งต่างๆ โดยต้องพยายามอย่างมากที่หลุดพ้นให้ปราศจากอคติและความขัดแย้ง
-
กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่เดี๋ยวโควิดมาก็ต้องหยุดสร้างก่อน …
ชั้นเรียนของโรงเรียนคริสเตียนแห่งหนึ่งเกิดปัญหาเรื่องเด็กบางคนไม่รู้จักเพื่อนเลย เพราะสถานการณ์โควิดส่งผลให้การเปิดเทอมของเด็กมัธยมต้องเลื่อนออกและเริ่มการเปิดเทอมด้วยการ “สลับการเรียนเป็นแบบ Online-Onsite” คือ เรียนที่โรงเรียนครึ่งห้องและออนไลน์ครึ่งห้องสลับกันเป็น กลุ่ม A และ กลุ่ม B แทนที่เด็กจะได้รับการฝึกให้รู้จักและเรียนรู้ที่จะสร้างสัมพันธ์และการไว้วางใจกัน เด็กๆ กลับต้อง รักษาระยะห่าง และผู้ปกครองก็ระแวงกันและกัน เพราะเด็กๆ บางช่วงอายุฉีดวัคซีนไม่ได้ และเด็กที่ฉีดได้ก็ยังไม่ได้ฉีด
ผลคือเด็ก นั่งห่างกัน 1.5 เมตรและใส่หน้ากากตลอดเวลา ทำให้เด็กๆ ไม่ค่อยได้มีกาสได้สร้างความรู้จักกันเท่าที่ควร
“หนูหมดจะวัยอนุชนไปแล้วเนี่ยยังไม่ได้มีค่ายเลย” เสียงตัดพ้อของเด็กอนุชนคนหนึ่งเมื่อทีมชูใจถามถึงการจัดค่ายที่เลื่อนออกมาจนเกือบจะมีการจัดค่ายออนไลน์อยู่แล้ว
ในขณะที่ชั้นเรียน “รวี” สำหรับเด็กเล็กและเด็กโตของหลายคริสตจักรถูกงดไปเลยตลอด 2 ปี เหลือเพียงช่องทางของผู้ใหญ่ เด็กๆ จึงอาจขาดประสบการณ์ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเช่นเดียวกัน
เช่นเดียวกันกับประสบการณ์ชีวิตของคนในแต่ละช่วงวัยในตลอดเวลา 2 ปี ที่อาจขาดบางอย่างไป ประสบการณ์ชีวิตที่อาจไม่ได้รับการเติมเต็มทำให้ผู้คนรู้สึกขาดหาย และถูกทำให้ช้าลง
- เด็กที่ควรจะได้เรียนรู้ไม่ได้เรียนรู้
- วัยรุ่นที่ควรจะได้มีประสบการณ์ไม่ได้มี
- วัยทำงานที่ควรจะได้เริ่มต้นทำงานและเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้เป็น
- ผู้ใหญ่ที่อยากจะแต่งงานไม่ได้แต่ง
- ผู้สูงอายุที่ควรจะล้อมรอบด้วยลูกหลานและมิตรภาพกลับต้องระวังตัว
ความยากของข้อนี้ก็คือ : กรุงโรมไม่ได้สร้างขึ้นได้ในวันเดียว แต่การก่อสร้างชีวิตของผู้คนที่ต้องใช้ความสัมพันธ์เป็นสวนผสมหลัก กลับล่าช้า ความท้าทายคือ … คริสตจักรซึ่งเป็นเหมือนครอบครัวจะทำอย่างไรในการช่วยให้ผู้คนในทุกวัยสามารถดำเนินชีวิตของเขาโดยไม่ขาดหายและมีคุณภาพชีวิตและจิตวิญญาณที่ดี
___________________________________
เราคือคนรุ่นเดียวกันนะ
ในหลายครั้งเราอาจรู้สึกว่ากำลังเผชิญความยากลำบากนี้เพียงลำพัง แท้จริงแล้วเราทุกคนต่างก็เป็นคนรุ่นเดียวกัน เป็นคริสเตียน รุ่น Lockdown Generation ที่ร่วมอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แม้ว่าสถานการณ์อาจจะยากแต่เราสามารถเผชิญกับมันได้เพราะพระเจ้าจะทรงเสริมกำลังเราแน่นอน
“ยิ่งปิดเมืองนานเท่าไหร่ … ยิ่งต้องเปิดใจสื่อสารกันมากขึ้นเท่านั้น”
ชูใจ Project ขอขอบคุณชาวชูใจสำหรับการสนับสนุนที่ต่อเนื่องแม้ในสถาการณ์ยากลำบากเช่นนี้ บทความนี้เป็นเพียงการรวบรวมประเด็นและสะท้อนความคิดเห็นจากข่าวสาร มุมมองของผู้เขียน และมุมมองของผู้ให้สัมภาษณ์เพียงบางกลุ่ม ไม่ได้เป็นตัวชี้วัด หรือ เครื่องสะท้อนถึงความจริงทั้งหมด หวังเพียงว่าสิ่งเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์และช่วยหนุนใจ เตือนใจ และให้กำลังใจ แก่ชาวชูใจที่ได้อ่าน
#ด้วยรักและชูใจ
ข้อมูลอ้างอิง :
ประเมินวิกฤตแรงงานส่อสัญญาณเปราะบาง เสี่ยงทุบสถิติตกงาน 8-13% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ,
ออนไลน์. https://positioningmag.com/1277672
Lockdown generation: COVID-19 ซ้ำเติมแรงงานคนรุ่นใหม่มากกว่าผู้ใหญ่รุ่นก่อน ,
ออนไลน์. https://www.scbeic.com/th/detail/product/6935
Tackling the COVID-19youth employment crisis in Asia and the Pacific ,
ออนไลน์. https://www.ilo.org/
Going Online: How Corona Transforms Christian Worship ,
Online. https://trafo.hypotheses.org/24166
Related Posts
- Author:
- Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
- Editor:
- Narit
- เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก