Ep. 13

คริสเตียนลอยกระทง หลงทางรึเปล่า?


 

คริสเตียน ลอยกระทงได้ไหม?

เราคริสเตียนไทยอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยเมืองแห่งวัฒนธรรม เราย่อมมีความภูมิใจในประเพณีอันดีงาม แต่ในฐานะคริสเตียนเราก็ยังคงต้องปฎิบัติตัวให้ถูกต้องสอดคล้องกับหลักความเชื่อของเราด้วยนะครับ ในเทศกาลลอยกระทงนี้คริสเตียนจะวางตัวอย่างไร? เราจะเข้าร่วมกิจกรรมอะไรได้บ้าง หรือไม่ได้เลย? วันนี้เรามาร่วมทำความเข้าใจกันครับ!

กระทง

ภาพถ่าย โดย : Tevaprapas

Line-Yellow.

เข้าใจแก่นแท้ของพิธีกรรมลอยโคมและลอยกระทง ว่าคือ “การบูชาเทพ”

 

“ห้ามมีพระ‍เจ้าอื่น‍ใดนอก‍เหนือจากเรา ห้ามทำรูป‍เคารพสำหรับตน เป็นรูปสิ่ง‍ใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าเบื้อง‍บน หรือบนแผ่น‍ดินเบื้อง‍ล่าง หรือในน้ำใต้แผ่นดิน ห้ามกราบไหว้หรือปรน‌นิ‌บัติรูปเหล่า‍นั้น” – (เฉลยธรรมบัญญัติ 5:7-9)

.

ลอยกระทง เป็นพิธีกรรมที่พบได้ในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สืบทอดมาจากทางอินเดีย โดยมีตำนานเกี่ยวกับที่มาของการลอยกระทงดังนี้ว่า เป็นการบูชาพระบาทของพระพุทธเจ้าที่ริมแม่น้ำ ในคราวที่เสด็จลงไปโปรดพญานาคในบาดาลและกลับขึ้นมาได้ประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้ลอยกระทงเป็นการสักการบูชา และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระพระอุปคุต (พระอรหันต์องค์หนึ่ง) ผู้บำเพ็ญตนอยู่ในสะดือทะเลและเป็นผู้ปราบพญามารไม่ให้พยามารมารบกวนพิธีฉลองการสร้างพระสถูปเจดีย์ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย

ทั้งหมดนี้คือ ตำนานการเกิดลอยกระทงเวอร์ชั่นออริจินัลจากอินเดียครับ นอกจากที่กล่าวยาวเหยียดแล้วยังมีตำนานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลอยกระทง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีรากฐานมาจากความเชื่อศาสนาทั้งสิ้น

.

กระทง

ภาพถ่าย โดย : Love Krittaya

.

ในประเทศไทย สมัยสุโขทัย เดิมมีการปล่อยโคมลอยเพื่อนมัสการ มหาเทพทั้ง 3 ของศาสนาพราหมณ์

อันได้แก่ พระศิวะ พระพรหม และพระนารายณ์ โดยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า พิธีจองเปรียญหรือ การลอยพระประทีป   ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปผสาน จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า ก่อนที่นางนพมาศ  สนมเอกของพ่อขุนรามฯ จะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม และก็เกิดเป็นการลอยกระทงในน้ำสืบต่อมา

ต่อมาการให้ความหมายต่อการลอยกระทงกลายเป็นการบูชาพระแม่คงคา และผนวกการสะเดาะเคราะห์แบบไทยๆ เข้าไป จนในที่สุดเริ่มกลายเป็นเทศกาลการท่องเที่ยวและงานรื่นเริงมากขึ้น คอนเซ็ปท์ ณ ตอนนี้หลักๆ ก็คือ ขอโทษพระแม่คงคาที่ใช้น้ำ สะเดาะเคราะห์ และเพื่ออธิษฐานขอพร

ดังนั้น หากมองในแง่ของบ่อเกิดของพิธีกรรม จะเห็นว่าการลอยกระทงเป็นพิธีกรรมไม่ใช่แค่ประเพณีการท่องเที่ยวสวยงาม แต่เป็นการร่วมพิธีกรรมทางความเชื่อ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่สวยงามแต่คริสเตียนทำไม่ได้

 

“ห้ามมีพระ‍เจ้าอื่น‍ใดนอก‍เหนือจากเรา ห้ามทำรูป‍เคารพสำหรับตน เป็นรูปสิ่ง‍ใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าเบื้อง‍บน หรือบนแผ่น‍ดินเบื้อง‍ล่าง หรือในน้ำใต้แผ่นดิน ห้ามกราบไหว้หรือปรน‌นิ‌บัติรูปเหล่า‍นั้น
– (เฉลยธรรมบัญญัติ 5:7-9)

 

แต่จะมองว่านี่เป็นข้อสรุปที่ Conservative อนุรักษ์นิยมสุดๆ ดูไม่ทันสมัยเลยใช่มั้ยครับ  ถ้าเติบโตในสังคมชาวยิวในอิสราเอลก็คงจะโอเคทำได้สบายมาก  ในสมัยกิจการปัญหาทำนองนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นกับผู้เชื่อชาวยิวให้เปโตรได้ปวดหัวแน่นอน งั้นเรามาลองเปิดใจกว้างๆ ยืดหยุ่นอีกซักหน่อย เชิญมาเห็นใจพี่น้อง ชาวโรม เอเฟซัส โครินธ์ และไทยแลนด์!

ขอต้อนรับสู่ อีกหนึ่งแนวคิดแบบกรีกสไตล์  หรือ  (Liberalism) เสรีนิยม ถ้าเป็นชาวต่างชาติที่มาเป็นคริสเตียนล่ะ? และนี่คือสิ่งที่ อ.เปาโล ได้พบ… นั่นคือคริสเตียนต่างชาติเหล่านี้ อยู่ในประเพณีของคนไม่เชื่อเต็มไปหมดเลย แถมบางคนนั่งกินของไหว้อีกซะงั้น!

.

Line-Yellow

บรรยากาศลอยกระทง
ภาพถ่าย โดย : SeanMack
.

แค่ลอยเฉยๆ ไม่ใส่ธูปเทียน ถ่ายรูปชิคๆ ปล่อยโคมกับเพื่อนไม่ได้คิดอะไร๊!

 

พระเจ้ารู้พระองค์ดูที่ใจครับ แต่คนอื่นไม่ได้รู้ด้วยกับเรา คำว่าไม่ได้คิดอะไรนี่ตีความค่อนข้างยากครับ ไม่คิดอะไร แล้วเรารู้สึกผิดอะไรไหมนี่เป็นคำถามสำคัญมาก เพราะในพระคัมภีร์ได้ให้ความหมายความคิดต่อสิ่งที่เราจะทำนี้ว่า “มโนธรรม” (จิตสำนึกผิดชอบ) มโนธรรมตัวนี้จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับเราในการตัดสินใจทำ และมันมีหน้าที่เตือนเราไม่ให้ทำผิดต่อน้ำพระทัยพระเจ้า

ขอให้อ่าน 1 โครินธ์ บทที่ 8 และ 10 โดยละเอียดในเรื่องนี้ แต่ขออนุญาตสรุปดังนี้ครับ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองโครินธ์ที่ อ.เปาโลกำลังเผชิญก็คือ มีวัฒนธรรมที่ดีงามอันเกี่ยวข้องกับรูปเคารพมากเกินไป ทั้งพี่น้องที่นั่นที่มีหน้ามีตาในสังคมก็มักต้องไปอยู่ในงานเลี้ยงเทศกาลต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก อีกทั้งอาหารและเนื้อสัตว์ต่างๆ ในเมืองล้วนผ่านพิธีกรรมแทบทั้งนั้นก่อนที่จะเอามาขาย จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกินของที่ไม่ผ่านการไหว้เพราะมันแยกกันไม่ออกถ้าคนขายไม่บอก อีกทั้งพี่น้องก็ต่างมี “ความรู้” มากเสียด้วยจึงทำให้เกิดความไม่ระมัดระวังในการทำสิ่งต่าง ๆ (พระคัมภีร์ใช้คำว่าลำพอง)  ความรู้ที่พูดถึงนี้เป็นความรู้ที่ดีงามถูกต้องด้วยคือ เขารู้ว่าพระเจ้าเป็นพระเจ้าสูงสุดองค์เดียว และพิธีกรรมอันทำแก่รูปเคารพนั้นเป็นสิ่งหาสาระไม่ได้ และทุกสิ่งที่เราทำ ทำด้วยใจขอบคุณพระเจ้า เมื่อรู้อย่างนี้เขาก็ทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่ผิดต่อมโนธรรม แต่คนที่ไม่รู้ก็เลยไปสะดุดเขาอีกที…

 

“เรื่องของอาหารที่บูชารูป‍เคารพนั้น เราทั้ง‍หลายทราบแล้วว่า “ทุก‍คนต่างก็มีความรู้” … เพราะ‍ฉะนั้น การกินอาหารที่บูชารูป‍เคารพนั้น เรารู้อยู่แล้วว่า “รูป‍เคารพในโลกนี้เป็นสิ่ง‍ไร้‍สาระ” และ “มีพระ‍เจ้าแท้‍จริงเพียงองค์เดียว” และแม้จะมีหลายสิ่งที่เขาเรียกกันว่าเจ้าในสวรรค์และบนแผ่น‍ดินโลก ราวกับว่ามีพระ‍เจ้าและองค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้ามาก‍มาย แต่ว่าสำหรับเรานั้นมีพระ‍เจ้าองค์เดียวคือพระ‍บิดา” – (1 โครินทธ์ 8 : 1-6)

 

ผลปรากฏว่าเนื่องจากความรู้อันนี้ พี่น้องที่มีความเข้าใจเหล่านั้นจึงร่วมพิธีกรรมและรับประทานเนื้อที่ผ่านการไหว้ได้ (ด้วยใจขอบพระคุณ) และทำสิ่งต่างๆ ด้วยความสบายใจและไม่เป็นเหตุให้ตัวเขาเองผิดต่อมโนธรรมของตัวเขาเอง ซึ่งก็โอเคนะครับ

 

“ปัญหาก็คือ ไม่ใช่ทุกคนที่มีความรู้
และมีความเชื่อที่เข้มแข็ง”

 

แต่ไม่‍ใช่ว่าทุก‍คนมีความรู้อย่าง‍นี้ เพราะมีบาง‍คนที่เคยนับ‍ถือรูป‍เคารพมาก่อน เมื่อกินอาหารนั้นก็ถือ‍ว่าเป็นของบูชาแก่รูป‍เคารพจริงๆ และมโน‌ธรรมของพวก‍เขายังอ่อน‌แออยู่ จึงเป็นมลทิน” – (1 โครินธ์ 8 : 7)

.

ปล่อยโคมลอย

ภาพถ่าย โดย : Sweetpig1970 

.

. เปาโลให้ความเห็นว่าอย่างไร?

“แต่จงระวังอย่าให้เสรีภาพของท่านนั้น ทำให้คนที่มีความเชื่อน้อยหลงผิดไป เพราะว่าถ้าผู้ใดเห็นท่านที่มีความรู้ นั่งรับประทานอาหารในโบสถ์ของรูปเคารพ จิตสำนึกผิดชอบที่อ่อนของคนนั้นจะไม่เหิมขึ้น ทำให้เขาบังอาจกินของที่ได้บูชาแก่รูปเคารพนั้นหรือ11 ความรู้ของท่านจะทำให้พี่น้องที่มีความเชื่อน้อย ซึ่งพระคริสต์ได้ทรงยอมวายพระชนม์เพื่อเขาต้องพินาศไปฉะนั้นเมื่อท่านทำผิดต่อพวกพี่น้อง และทำร้ายจิตสำนึกผิดชอบที่อ่อนของเขา ท่านก็ได้ทำผิดต่อพระคริสต์ด้วย เหตุฉะนั้นถ้าอาหารเป็นเหตุที่ทำให้พี่น้องของข้าพเจ้าหลงผิดไป ข้าพเจ้าจะไม่กินเนื้อสัตว์อีกต่อไป เพราะเกรงว่าข้าพเจ้าจะทำให้พี่น้องต้องหลงผิดไป” – (1คร. 8:9-13 )

.

แล้วเรื่องลอยกระทงและการปล่อยโคมลอยเอาไงดี?

ให้เราระวังอย่าให้เสรีภาพของเราทำให้พี่น้องที่มีความเข้าใจน้อยหลงผิดไปเลยครับ เพราะว่าถ้าใครเห็นเราซึ่งเป็นคริสเตียน นั่งลอยกระทงอยู่ริมแม่น้ำปิงวังยมน่านเจ้าพระยา หรือถ่ายรูปถือกระทง ชิค ๆ ลงเฟสบุ๊ค  จิตสำนึกผิดชอบของเขาจะไม่หลงผิดคิดว่าคริสเตียนลอยกระทงได้งั้นหรือครับ ถ้าเราทำให้เขาหลงผิดเราก็ได้ทำผิดต่อพระเจ้าด้วยนะครับ ถ้าอย่างนั้นถ้าการลอยกระทงเป็นเหตุให้พี่น้องของเราเข้าใจผิด เราก็ไม่ควรลอยกระทงใช่ไหมครับ

ข้อความนี้ดูคล้ายในพระคัมภีร์เลยเพราะผมลอกพระคัมภีร์ข้างบนมานั่นเอง! นี่คือสิ่งที่เราควรระวังเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ที่สืบเนื่องกับการลอยกระทง เช่น การท่องเที่ยว ถ่ายรูป เดินชมบรรยากาศ ซื้ออาหารข้างทางกิน ประกวดนางนพมาศนั้น  ไม่ได้เป็นในส่วนของพิธีกรรมซะทีเดียว ก็สามารถทำได้ครับ สำหรับกิจกรรมที่ทำงานหรือโรงเรียน เช่น ประดิษฐ์กระทงของเด็กๆ ก็ให้เขาทำก็ได้ตราบใดที่ไม่ข้องเกี่ยวกับการไหว้ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรถือโอกาสสอนเขาด้วยว่าสิ่งที่เขาทำคืออะไร ในฐานะคริสเตียนไทยในแผ่นดินไทย เราเรียนรู้วัฒนธรรมไทยและเชิดชูในความสวยงามและดีงามของวัฒนธรรมเหล่านั้นได้ เพียงแต่อะไรที่จะเป็นเหตุให้พี่น้อง หรือตัวเราสะดุด เราก็ควรหลีกเลี่ยงครับ ตอบแบบนี้ดูซอฟท์ และดีต่อใจใช่ไหมครับ

สรุปคริสเตียนลอยได้กระทงหรือไม่?

ไม่ว่าจะอย่างไร อย่าลืมว่า ในคริสตจักเองก็มีทั้งคนที่ ปฎิบัติแบบพวกยิว หมายถึง ยึดถือว่าไม่ควรข้องเกี่ยวใดๆ กับพิธีกรรมนอกศาสนาเลย และกลุ่มที่ปฎิบัติแบบพวกกรีก หมายถึง เน้นเสรีภาพ และความเข้าใจ มากกว่าการปฎิบัติที่เคร่งครัด

จงพิจาร‌ณา‍ดูการปฏิบัติของพวกอิสราเอล คนที่รับ‍ประ‌ทานของบูชานั้นก็มีส่วนร่วมในแท่น‍บูชานั้นไม่ใช่หรือ?  … ข้าพ‌เจ้าหมาย‍ความ‍ว่าเครื่อง‍บูชาที่พวก‍เขาถวายนั้น เขาถวาย‍บูชาแก่พวกผี ไม่‍ใช่ถวายแด่พระ‍เจ้า ข้าพ‌เจ้าไม่ต้อง‍การให้พวก‍ท่านมีส่วนร่วมกับพวกผี” –(1โครินธ์ 10:18-20)

อาจารย์เปาโลเอง ก็หนุนใจว่าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เข้าร่วมในกิจกรรมเหล่านั้นครับ และสำหรับผู้ที่อยากจะร่วมหรือเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็ได้เสนอว่า

เราทำทุกสิ่งได้ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน เราทำทุก‍สิ่งได้ แต่ไม่ใช่ทุก‍สิ่ง‍นั้นทำให้เจริญ‍ขึ้น อย่าให้ใครเห็นแก่ประ‌โยชน์ส่วน‍ตัว แต่จงเห็นแก่ประ‌โยชน์ของคน‍อื่น” –(1โครินธ์ 10:22-24)

 

ต้องเห็นแก่จิตวิญญาณของผู้อื่น และนี่คือข้อสรุป ที่ครอบคลุมขึ้นสำหรับแนวทางการปฎิบัติต่อเทศกาลและพิธีกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวโยงกับความเชื่อของคริสเตียน แต่สิ่งที่ขัดชัดเจนก็คือสิงที่ขัดชัดเจนและไม่ควรทำนะครับ

 

“เพราะ‍ฉะนั้นเมื่อพวก‍ท่านจะรับ‍ประ‌ทาน จะดื่มหรือจะทำอะไรก็ตาม
จงทำเพื่อถวายพระ‍เกียรติแด่พระ‍เจ้า 
อย่าเป็น‍ต้น‍เหตุที่ทำให้พวกยิวหรือพวกกรีก
หรือคริสต‌จักรของพระ‍เจ้าหลง‍ผิดไป” 
– (1โครินธ์ 10:-31-32)

 

 

 ด้วยรักและชูใจ

 


แหล่งอ้างอิง

ข้อมูลข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติและความหมายทางประเพณีลอยกระทง
1. วิกิพิเดีย Wikipedia.org
2. เว็บไซด์ผู้จัดการ www.manager.co.th
3. กระปุกดอทคอม www.kapook.com

เบื้องหลังทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบริบทในเมืองโครินธ์
-เว็บไซด์คริสตจักรพันธกิจ http://www.actschurchcm.com/resoureces/detail.php?id=490&type=article เบื้องหลัง


#Featured คอลัมน์ทันกระแสสังคม หยิบจับเรื่องทั่วไปมาพูดใหม่ในมุมมองคริสเตียน
ทุกวันพฤหัสสีส้มส้มน้าาาาา!!!

 


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง