[พระคัมภีร์ไม่ไหลย้อนกลับ] The1st Passover


 

 

ในพระคัมภีร์มีเทศกาลอยู่หลายเทศกาล แต่ละเทศกาลก็ล้วนมีที่มาที่ไป ช่วงนี้ใกล้วันอีสเตอร์หรือแท้จริงแล้วหมายถึงวันที่พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์ ช่วงเวลานั้นก็อยู่ในเทศกาล “ปัสกา”

ปัสกาเป็นธรรมเนียมยิว แต่มาสำคัญกับเราคริสเตียนได้อย่างไร เรื่องราวทั้งหมดนี้ผูกเข้ากับการคืนพระชนม์ของพระเยซูได้อย่างไร มาตามไปดูกัน

………………

 

(1)

THE 1st Passover

ปัสกาแรก

 

 

ปัสกาครั้งแรกเริ่มในสมัยอพยพ ถ้ามาถึงตรงนี้แล้วใครร้องอ๋อ ก็น่าจะพอนึกกันออก แต่ถ้ายังนึกไม่ออกจะขอเล่าย่อๆให้ฟัง

 

เมื่อตอนที่ฟาโรห์ยังไม่ยอมปล่อยชาวฮีบรูให้ออกจากอียิปต์แม้จะต้องเจอกับภัยพิบัติ จึงยื้อๆดึงๆกันมาถึงภัยพิบัติสุดท้าย เมื่อพระเจ้าจะส่งทูตของพระเจ้ามาเอาชีวิตบุตรหัวปีของทุกสิ่งมีชีวิตในอียิปต์ไป โมเสส จึงได้บอกกับคนอิสราเอลว่าให้เอาเลือดแกะทาที่ประตู แล้วทูตของพระเจ้าก็จะ “ผ่านไป” “PassOver” หรือ ก็คือ “ปัสกา” นั่นเอง แล้วสุดท้ายลูกชาวฮีบรูก็ไม่ต้องตาย แต่ลูกคนอียิปต์เสียชีวิตหมด …จบ

 

ซึ่งในเรื่องนี้เรามักจะอ่านกันเร็วๆจนจำกันได้ประมาณนี้ แล้วก็รีบไปต่อเพราะเดี๋ยวกลัวว่าจะพลาดเรื่องข้ามทะเลแดงไป พระคัมภีร์อพยพที่เราพอจะจำได้จึงมีแค่ “ภัยพิบัติ” กับ “ข้ามทะเลแดง” ทั้งๆที่ถ้าเราอ่านดีๆเราจะพบประเด็นที่สำคัญมากมากมากมาก เพราะเนื้อเรื่องก่อนออกจากอียิปต์ คือ นมัสการแล้วทำปัสกา แล้วก็ออกจากอียิปต์ แล้วคั่นด้วยนมัสการปัสกา ก่อนจะข้ามทะเลแดง และเมื่อข้ามไปแล้วก็มีการนมัสการผ่านบทเพลง

 

นอกจากนั้นในบรรดาภัยพิบัติที่ไล่มาเรื่อยๆ 9 อย่างแรกใช้เนื้อที่ในพระคัมภีร์อยู่ 3 บท หรือ คิดแบบง่ายๆเบียดๆกันไปบทละ 3 ภัยพิบัติละกัน แต่พอถึงภัยพิบัติสุดท้าย เอาไปเลยหนึ่งบทและเป็นเหตุนำไปสู่ปัสกาอีกหนึ่งบท มีกฏกติกา และ ถ้ารวมเทศกาลไปถึงการถวายบุตร เรื่องนี้ก็ใช้พื้นที่ไปถึง 4 บทเลยทีเดียว

 

มาขนาดนี้แล้วก็น่าจะพอเดาได้ว่า เนื้อเรื่องในช่วงนี้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่องของ “ปัสกา”
แล้วปัสกาจะสำคัญยังไง มีความหมายกับเราในทุกวันนี้ยังไง แล้วเขาทำอะไรกัน  

…………………….

(2)

The Lamb

แกะปัสกา

 

ปัสกาแรก เกิดขึ้นในสมัยอพยพ ในบรรดาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดล้วนเกิดกับคนอียิปต์เพื่อกดดันฟาโรห์ แต่ภัยพิบัติสุดท้ายนี้กลับไม่ เพราะเกิดกับทุกสิ่งมีชีวิตในอียิปต์ไม่เว้นแม่แต่ชาวอิสราเอลในตอนนั้น ทางรอดมีเพียงทางเดียวคือการทำ “ปัสกา”

เราตามมาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

 

“จงสั่งชุมนุมคนอิสราเอลว่า ในวันที่สิบเดือนนี้ ให้ผู้ชายทุกคนเตรียมลูกแกะ ครอบครัวละตัว…” อพย 12:3

 

 

วันที่ 10

วันนี้เลยนับเป็นวันแรก แต่ละครอบครัวจะทำการเลือกลูกแกะที่ไม่มีตำหนิ เอาเข้ามาไว้ในบ้าน คือต้องเข้าใจนะว่าบ้านในตอนนั้นไม่ได้มีสามห้องนอนสองห้องน้ำ แบ่งห้องรับแขก ห้องทำงาน ฯลฯ คือถ้าเดินเข้าบ้านมา มันก็เป็นห้องใหญ่ๆห้องเดียวที่แทบไม่มีอะไรมากั้น ทุกคนในครอบครัวก็นอนรวมๆกัน การเอาลูกแกะตัวนี้เข้ามา จึงไม่ได้หมายถึง “สัตว์เลี้ยง” ที่เอามาไว้ในบ้าน แต่เปรียบได้กับการต้อนรับ “สมาชิกใหม่” เข้ามาในครอบครัว

 

สมาชิกใหม่นี้จะอยู่ในบ้าน 4 วัน กับคนในครอบครัว คิดภาพเด็กๆและคนในบ้านใช้เวลากินนอนอยู่กับลูกแกะ คิดภาพเราไปค่ายอนุชนที่ไปเจอใครก็ไม่รู้แค่สามวัน แรกๆคนเขินๆแต่ไปๆมาๆสนิทกันเฉยเลย

 

ในระหว่าง 4 วันนี้ จะเป็นการทำการตรวจสอบว่าลูกแกะนี้ไม่มีตำหนิถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่มีตำหนิใดๆ  นั้นนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย

 

ก  า  ร  ถ  ว  า  ย  บู  ช  า

 

“จงเก็บไว้ถึงวันที่สิบสี่… แล้วในเย็นวันนั้นให้ที่ประชุมของคนอิสราเอลทั้งหมด ฆ่าลูกแกะ ของเขา แล้วเอาเลือดทาที่วงกบประตู…” อพยพ 12:7

 

วันที่ 14

หัวหน้าครอบครัวจะเข้ามาปาดคอลูกแกะที่เลือกไว้ เพื่อใช้เป็นเครื่องบูชา ส่วนปุโรหิตจะเข้ามารองเลือดเพื่อเอาไปทาวงกบประตู (อพย 12:21-28)

………….

 

คั่นกันตรงนี้สักนิด ถ้ากำลังสงสัยว่าทำไมต้องถวายแกะบูชา ก็ต้องย้อนกันสักนิดเพื่อให้เข้าใจว่า เรื่องนี้ไม่ได้ โจ๊ะโล๊ะ!! หรือพึ่ง Happening!! ขึ้นมา แต่พระคัมภีร์ได้ปูเรื่องสัตว์ที่ต้องตายแทนตั้งแต่ปฐมกาลแล้ว

 

  • สัตว์ที่ต้องตายเพื่อเอาหนังมาปกปิดความผิดของ อาดัม เอวา
  • อาเบลใช้สัตว์ถวายบูชา
  • อับราฮัมได้ลูกแกะจากพระเจ้าถวายแทนอิสอัค
  • การถวายแกะ ปัสกา เพื่อให้รอดจากทูตของพระเจ้า
  • และ เรื่องนี้จะนำไปสู่รายละเอียดในการถวายมากขึ้นในเล่มถัดไป นั่นก็คือ เลวีนิติ อีกด้วย

 

………….

 

กลับมาที่การเชือดลูกแกะ เมื่อหัวหน้าครอบครัวต้องฆ่าแกะ อยากให้ลองจินตนาการกันสักนิด เพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกผูกพันที่เกิดขึ้นในฐานะ “สมาชิกของครอบครัว”  นี่คือความรู้สึกที่น่าจะเป็นในการถวายครั้งนี้

 

คือ ความผูกพัน แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่การเอาชีวิตของเขาไปถวาย ก็เพื่อให้คนในครอบครัวรอด แกะที่ไม่มีความผิดใดๆตัวนั้นต้องตายเพื่อรักษาชีวิตคนในครอบครัว

 

แม้พระคัมภีร์จะไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องรู้สึกอย่างไรในการถวาย แต่โดยเจตนาของการถวายนี้ คือการที่ผู้ถวายแกะจะได้ใคร่ครวญ “คิด” ไม่ใช่เพราะสามารถใช้สัตว์มาตายแทนได้แต่เป็นการสำนึกโดยเฉพาะในเรื่องที่ว่า ชีวิตของคนในครอบครัวของเขาต้องแลกมาด้วยอีกชีวิตที่ไม่ได้ผิดอะไรด้วย… หรือความสำนึกที่ว่า  “นี่คือส่ิงที่เขาไม่สมควรที่จะได้รับ”

 

“ในคืนนั้นให้เขากินเนื้อปิ้ง กับขนมปังไร้เชื้อและผักรสขม… จงกินให้หมดอย่าให้มีเศษเหลือจนถึงเวลาเช้า…” (12:8)

“…ให้กินแต่ในบ้าน และ อย่าหักกระดูกของมันเลย..” (12:46) (กดว 9:12)

คืนนั้นภายในบ้านจะเป็นการเลี้ยงฉลอง แต่ภายนอกทูตของพระเจ้าก็จะผ่านไป ประหารบุตรหัวปีทุกคนในอียิปต์ ยกเว้นบ้านที่ทำเครื่องหมายเอาไว้

ผักรสขม นั้นมีเพื่อให้สำนึกว่าครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นทาส

ส่วนขนมปังไร้เชื้อ เหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะให้รู้ว่า รีบ ไม่สามารถรอให้เชื้อมันฟูเต็มขนมปังได้ ภายหลัง เชื้อ ในขนมปังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของ ความบาป ที่เติบโตขึ้นได้

 

วันที่ 15-21

เป็นเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ ระหว่างนี้จะทำความสะอาดบ้าน และยังมีอีเว้นท์สำคัญแทรกอยู่ในวันที่ 17 คือ เทศกาลถวายผลแรก

…………….

 

และ ทั้งหมดนี้คือภาพรวมคร่าวๆของเทศกาลปัสกา แม้ทุกวันนี้เราจะไม่ได้ทำตามเทศกาลนี้แล้ว แต่เทศกาลนี้ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งสำหรับคริสเตียนของเรา เพราะในวันที่พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม ในหนังสือพระกิตติคุณเรียกตอนนี้ว่า “การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิต” วันนั้นผู้คนเอาใบตาลโบกสะบัด บางคนก็เอาเสื้อปูพื้นเพื่อให้พระเยซูเสด็จผ่าน และร้องตะโกนว่า “โฮซันนา” “โฮซันนา” วันนั้นเป็นวันเร่ิมต้นของเทศกาล “ปัสกา”

 

และ ก่อนที่พระเยซูจะถึงกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ก็ร้องไห้ (ลูกา)

…………………….

 

(3)

Hosanna

โฮซันนา

 

“โฮซันนา โฮซันนา ขอให้องค์ผู้เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงพระเจริญ” (ยน.12:13)

บางคนก็หยิบกิ่งไม้มาปู เอาเสื้อมาวางบนทางเพื่อให้พระเยซูเสด็จ โบกใบตาล “ความสุขสวัสดิมงคล จงมีแก่แผ่นดินดาวิด… โฮซันนา โฮซันนาในที่สูงสุด” (มก11:10)

 

ไม่รู้ว่าในตอนนั้นจะมีกี่คนที่เข้าใจคำที่เขาพูด คำว่า โฮซันนา แปลว่าอะไร แต่พระเยซูน่าจะเข้าใจ พระองค์จึงร้องไห้

 

…………………..

 

วันนั้น

วันที่พระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มเป็นวันแรกของเทศกาลปัสกา แล้วทำไมต้องเลือกวันนี้ มาก่อนสักหนึ่งถึงสองวันได้ไหม เหมือนเราจะไปเที่ยวอีเว้นท์เลยต้องไปถึงสถานที่ก่อนสักวันจะได้มีเวลาพักผ่อน แต่ไม่ใช่

 

ถ้าเราอ่านเรื่องราวการทำการอัศจรรย์ ทำพันธกิจก่อนหน้านี้ รักษาคนง่อย คนตาบอด ฯลฯ พระองค์จะไม่เปิดเผยตัว พอมีคนจะตามหา พระเยซูจะฉากหลบ หนีหายไปกับฝูงชนอยู่บ่อยๆ แต่ตอนนี้พระองค์กำลังเปิดเผยตัวเองว่า

 

พระองค์เป็นพระเมสิยาห์ผ่านสัญลักษณ์ต่างๆในพระคัมภีร์เดิม

 

อย่างเช่น “หมู่บ้านเบธฟายี” ทำไมต้องย้ำ ทำไมต้องมาเปิดตัวที่นี้ นั่นเพราะเป็นไปตามคำเผยพระวจนะของ เศคาริยาห์ ว่าพระเมสสิยาห์ที่จะมาช่วย มาปลดปล่อย จะทรงลูกลา มาจากทิศตะวันออก และ หมู่บ้านนี้อยู่ทางตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็มนั่นเอง

 

ดังนั้น การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มครั้งนี้ พระองค์ไม่ได้มาเพื่อเข้าร่วมงาน แต่พระองค์ตั้งใจที่จะมาเพื่อเปิดเผยพระองค์เอง และที่เจาะจงว่าต้องเป็นวันแรกของปัสกา เพราะไม่ใช่แค่การบอกว่าพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ที่จะมาปลดปล่อย แต่ยังมีอีกเรื่องที่พระองค์กำลังจะบอกด้วย …แกะปัสกา

 

“จงสั่งชุมนุมคนอิสราเอลว่า ในวันที่สิบเดือนนี้
ให้ผู้ชายทุกคนเตรียมลูกแกะ ครอบครัวละตัว…”

วันนี้เป็นวันที่ครอบครัวในอิสราเอลต้องเลือก “แกะเข้าบ้าน” เพื่อเป็นแกะปัสกา และ “พระเยซูกำลังเข้าเยรูซาเล็ม”

…………………..

“จงเก็บไว้ถึงวันที่สิบสี่…
แล้วในเย็นวันนั้นให้ที่ประชุมของคนอิสราเอลทั้งหมด ฆ่าลูกแกะ ของเขา
แล้วเอาเลือดทาที่วงกบประตู…”

 

4 วัน

เป็นเวลา 4 วัน แกะที่อยู่ในบ้านจะถูกตรวจสอบเพื่อหาตำหนิ ก่อนจะถึงพิธีปัสกา

 

หลังจากพระเยซูเข้ากรุงเยรูซาเล็ม เราจะเห็นการตรวจสอบสิทธิอำนาจของพระเยซู แบบถามตรงตอบตรงกับบรรดาปุโรหิต ฟาริสี ซึ่งเปรียบเหมือนผู้ปกครองตัวจริงของอิสราเอลในยุคนั้น พวกเขาจ้องจะหาว่าพระเยซูผิด หรือ กำลังหาตำหนิ ของพระองค์นั่นเอง และ เมื่อไม่พบว่าพระเยซูผิดอะไร มันจึงนำไปสู่จุดสุดท้าย การถวายแกะปัสกา

…………………..

 

พระเยซูตั้งพิธีมหาสนิท

พระเยซูทำปัสกาแต่ปรับใหม่ให้กลายเป็นพิธีมหาสนิท เพราะพระองค์กำลังจะเป็นปัสกาที่สมบูรณ์แบบในพระองค์ เรื่องนี้เราอาจมองข้ามเพราะเรารู้เรื่องทั้งหมด แต่เรื่องเดียวกันนี้คงเซอร์ไพร์สสาวกที่ร่วมโต๊ะ เพราะเขาอาจไม่เข้าใจในเวลานั้น เพราะเรื่องทั้งหมดยังไม่เกิดขึ้น

 

พระองค์หักขนมปังไร้เชื้อ แล้วบอกว่านี่คือกายของเรา ขนมปังที่ผ่านกระบวนการไม่ให้ฟูด้วยการทุบตี ถูกทิ่มแทงต่างๆ คือสิ่งที่พระองค์กำลังจะเผชิญ (อสย.53)

 

พระองค์ส่งถ้วยนำ้องุ่นให้สาวก แล้วบอกว่านี่คือโลหิตของเรา เป็นโลหิตแห่งพันธสัญญา… ในศตวรรษที่ 1 พันธสัญญา มีความหมายเดียวกับคำว่า พินัยกรรม คือส่ิงที่จะส่งผลก็ต่อเมื่อ เสียชีวิต

 

… เมื่อท่านดื่มจากถ้วยนี้เมื่อใด จงดื่มเพื่อให้เป็นที่ระลึกถึงเรา …

 

เป็นพันธใหม่ พันธสัญญาที่เป็นจริง พันธสัญญาแห่งความรอด ผ่านการตายของลูกแกะปัสกา กำลังจะเป็นจริงในการตายของพระองค์

 

และงานนี้ไม่มีผักขมแล้ว ผักขมที่ให้ระลึกถึงแทนความขมขื่นนั้นเชื่อว่า พระองค์เองคือผู้ที่จะรับไว้แทนบนไม้กางเขน

 

…………………..

 

พระเยซูเองที่จะเป็นแกะปัสกา

คืนที่พระเยซูกินอาหารมื้อสุดท้ายเป็นคืนปัสกา แต่ในพระกิตติคุณตั้งใจนับวันโดยใช้เวลาเย็นเริ่มเพื่อเลื่อนวันปัสกาของพระเยซูออกไป นั่นคือวันที่พระองค์ต้องตายบนไม้กางเขน

 

ลูการะบุไว้ว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์เวลาบ่ายสาม เป็นเวลาเดียวกับที่แกะปัสกาจะต้องถูกฆ่า ยอห์นหยิบเอาเรื่อง อย่าหักขาแกะปัสกา จากการที่ทหารโรมันทุบขานักโทษที่อยู่สองข้างของพระองค์ แต่ไม่ได้ทุบขาพระเยซู “กระดูกของพระองค์ก็จะไม่หักสักชิ้นเดียว” (อพย 12:46) และ ภายหลัง เปโตร เองก็ใช้แนวคิดนี้อธิบายว่าพระเยซูนั่นแหละ คือ แกะปัสกา

 

…………………..

 

เลือดของลูกแกะปัสกาจะนำการผ่านเว้น ผู้ที่เชื่อในพระเยซูก็จะได้รับการผ่านเว้นจากการพิพากษา และ ถ้าอิสราเอลไม่สามารถรอดออกจากการเป็นทาสได้ด้วยตัวเอง เราก็ไม่สามารถออกจากการเป็นทาสของความบาปได้ด้วยตัวเองเหมือนกัน

 

พระเยซูเป็นลูกแกะปัสกา เป็นลูกแกะที่ไม่มีตำหนิที่ต้องตายเพื่อให้คนอื่นรอด แต่พระเยซูเองเลือกที่จะยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อให้เราทั้งหลายรอด และเช่นเดียวกับแกะที่ไม่สมควรตาย การเสียสละของพระเยซูเองก็เป็นสิ่งที่เราไม่สมควรจะได้รับ และนี้คือสิ่งที่เรียกว่า พระคุณ

 

พระเยซูเป็นแกะปัสกาให้กับเรา
พระองค์เองคือปัสกาในชีวิตของเรา

 

…………………..

 

สดุดี 113 – 118

เป็นสดุดีที่ใช้ในงานปัสกา จุดสูงสุดของบทเพลงนี้อยู่ที่ สดุดี 118:25

 

“ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงช่วยข้าพระองค์ให้รอดเถิด…”

 

ในพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูมีแค่สองคำ hoshiah na (โฮชีอาห์นา) ขอทรงช่วยข้าพระองค์ให้รอดเถิด

 

สมัยหลังพระคัมภีร์ที่ถูกแปลเป็นภาษากรีก(LXX) แปลทับศัพท์ เป็น “โฮซันนา” เมื่อมีคนเข้ามาถวาย ปุโรหิตก็จะอวยพรให้กับผู้ที่เข้ามาถวาย “โฮซันนา โฮซันนา ขอให้องค์ผู้เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้รับพร” แล้วเขาก็ใช้ต่อๆกันมาเป็นเหมือนคำอวยพร “โฮซันนา” “โฮซันนา” แต่จะมีกี่คนในตอนนั้นที่รู้ความหมาย ว่าเขากำลังขอร้อง เขากำลังบอกกับพระเยซูว่า ขอช่วยพวกเราให้รอดเถิด และ มันกำลังจะเป็นจริงตามนั้น

 

พระเยซูร้องไห้ ไม่น่าจะเป็นเพราะว่าที่ปลายทางนั้นกำลังจะนำพระองค์ไปสู่ความตาย แต่การที่คนที่พระองค์จะช่วยไม่รู้ว่าเขากำลังพูดอะไรออกมา เขาแค่พูดเพราะพูดๆตามกันมาโดยขาดความเข้าใจ เพราะคนกลุ่มเดียวกันนี้สุดท้ายก็ปฏิเสธพระองค์และนำพระองค์ไปสู่กางเขน

 

แต่ถึงอย่างนั้นพระองค์ก็ยังดำเนินตามความตั้งใจ คือยอมสละพระชนม์ของพระองค์เพื่อพวกเรา เพื่อให้เราทั้งหลายได้รอด

 

…………………..

 

คงจะดีถ้าเราได้ใคร่ครวญความเชื่อของเรา ไม่ใช่ทำเป็นพิธี ตามพี่ๆที่บอกให้ทำ หรือ ทำเพราะทำตามๆกันมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม คงจะดีถ้าเราเชื่อและทำสิ่งต่างๆด้วยความเข้าใจ และ ซาบซึ้งในความรักของพระองค์

.

.

.


เมื่อท่านดื่มจากถ้วยนี้เมื่อใด
จงดื่มเพื่อให้เป็นที่ระลึกถึงเรา

.

.

.

 

 

 


Previous Next

  • Author:
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก