อ่าน Christmas Diary ตอนอื่นๆ ได้ทาง https://choojaiproject.org/category/articles/life-series/christmas-diary/
บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ 12 นาที
ความเหนื่อยกาย VS ความหน่ายใจ
อะไรทำให้คนเราท้อถอยได้ง่ายกว่ากันนะ?
ระหว่างที่ผมกำลังตกแต่งต้นสนคริสต์มาสหน้าห้องประชุมอยู่ … ก็มีเงามืดๆ ทอดมา ผมหยุดทำสิ่งตรงหน้าและเหลียวหลังไปยิ้มให้เจ้าของเงา เธอคือสมาชิกโบสถ์รุ่นเก่าแก่คนหนึ่ง หลังจากเดินด้อมๆ มองๆ เป็นที่เรียบร้อย เธอเริ่มต้นกล่าวชมอะไรมากมาย ก่อนจะปิดท้ายด้วยคำแนะนำบางอย่างที่มาพร้อมคำว่า “แต่”
“คือ…เรื่องแบบนี้ จริงๆ พี่ก็ไม่อยากยุ่งนะ”
“ครับ ว่ามาเลยครับพี่”
“พี่ว่า มันก็สวยดีนะ แต่มันสิ้นเปลืองไปรึเปล่า ใช้ครั้งเดียวเอง”
“แต่ถ้าทำแบบนี้ เราจะสามารถนำของพวกนี้มาใช้ตกแต่งใหม่ได้ทุกปีเลยนะครับ”
“ของพวกนี้ก็เป็นเหมือนเปลือกนอก 10 ปีก่อนเค้าก็ทำกันได้ ไม่เห็นจะต้องใช้เงินมากขนาดนี้ …แต่มันก็สวยดีนะ พี่ไปล่ะ”
… ก็เมื่อก่อน ก๋วยเตี๋ยวยังชามละ 25 อยู่เลยอะครับ…
จริงอยู่ว่าการตกแต่งสถานที่น่ะมันกินไม่ได้เหมือนอาหาร แถมเอาติดไม้ติดมือกลับบ้านแบบของขวัญก็ไม่ได้ มันเรื่องอะไรที่เราจะต้องทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่ๆ เท่าๆ กับสองอย่างที่ว่านั่นด้วย แต่พี่ครับ! บรรยากาศที่ว่ากินไม่ได้เนี่ย มันก็สำคัญนะ! มันเหมือนวันเกิดที่ไม่มีลูกโป่ง งานแต่งงานที่ไม่มีดอกไม้ คือมันก็ได้แหละ แต่มันก็แห้งแล้งไง คนเค้าก็จะไม่แน่ใจว่านี่มาถูกงานรึเปล่า? จริงอยู่ว่าตอนพระเยซูเกิดไม่มีหิมะ ไม่มีต้นสน ไม่มีการประดับประดาไฟระยิบระยับ แต่คนข้างนอกเค้าก็จะไม่เก็ตถ้าเราไม่ตกแต่งสถานที่ให้ดีๆ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะดูปลอมเปลือก…
แต่สำหรับผมมันไม่ใช่แค่ ‘เปลือก’ มันเป็นเหมือน ‘ปก’ มากกว่า
First Impression หรือ ความประทับใจแรกสำคัญมากๆ เพราะบ่อยครั้งคนเราตัดสินหนังสือจากปก เลือกคบคนจากหน้าตา ผมรู้ว่าเราคริสเตียนไม่ควรมีท่าทีแบบนั้น แต่แขกที่มายังไม่ได้เป็นคริสเตียนซะหน่อย
ผมว่าคริสต์มาสมันมีสาระสำคัญของมันอยู่ก็คือเรื่องราวของพระคริสต์ที่มาบังเกิด องค์ประกอบที่หลายคนบอกว่าสิ้นเปลืองก็เปรียบได้กับปกหนัง ส่วนข่าวดีของพระเยซูคริสต์เป็นเนื้อหาที่สอดไส้อยู่ข้างในที่แม้เราจะเปลี่ยนปกกันบ่อยแต่เนื้อหาข้างในก็คลาสสิกเหมือนเดิม ผมเชื่อแบบนี้ว่า ทุกคนที่มาโบสถ์ก็อยากได้ความสุขกลับไป แต่เราจะมีโอกาสนำเสนอความสุขแท้นั้นให้กับเขาก็ต่อเมื่อเขาหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านซะก่อน นั่นถึงเป็นสาเหตุให้ “ปก” เป็นกระดาษส่วนที่แพงที่สุดของหนังสือไงล่ะ! ถ้าองค์ประกอบอื่นๆ ปูทางมาดีเวลาที่ ศบ. เดินขึ้นมาแบ่งปันเค้าจะได้ทำงานง่ายๆ แบบนี้มันถึงจะ Happy Ending!
ความเรียบง่ายก็ดี ความหรูหรามีลูกเล่นก็ดี ผมว่าพี่น้องแต่ละที่จัดการกับมันได้ดีอยู่แล้ว เรื่องพวกนี้อาจต้องคิดกันมากหน่อย เพราะห้างสรรพสินค้ากับผับบาร์ลงทุนแต่งคริสต์มาสแบบจัดเต็มกว่าเราอีก แถมคนที่จะมาต้องเจอทั้งรถติดเอย ความขี้เกียจเอย รายการทีวีช่วงหยุดยาวเอย การจะเรียกร้องความสนใจจากคนเมืองที่มีตัวเลือกหลากหลายมันไม่ง่ายเลย
____________________________
เหนื่อยเพราะคนเยอะ VS เหนื่อยเพราะคนเดียว
“พี่รู้ว่าเราอยากให้งานออกมาสวย แต่ใจพี่ก็อยากให้งานออกมาเสร็จ” ประธานกรรมการบอก ตอนนั้นผมมองแค่งานส่วนของตัวเอง แต่ไม่เคยรู้เลยว่าคนที่ต้องมองภาพใหญ่จะรู้สึกยังไง
ไอ้การตกแต่งสถานที่เนี่ยมันเป็นตำแหน่งสืบทอดของคนเรียนคณะศิลปะและสถาปัตย์ฯ ที่มักจะถูกทาบทามให้มารับหน้าที่เป็นกรรมการฝ่ายสถานที่ และด้วยการที่เติบโตมาจากโรงเรียนที่เน้นความประหยัดและเทิดทูนงานทำมือ (อย่างน้อยก็ในสมัยที่เรียนอยู่) ก็เลยติดนิสัยประดิษฐ์เล็กประดิษฐ์น้อยเวลาทำงานตกแต่ง บวกกับที่เป็นคนชอบงานเนี๊ยบจึงไม่สะดวกใจที่จะให้ใครยื่นมือมาช่วยเท่าไหร่ หรือพอมีคนมาช่วยไอ้เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ดั่งใจเล้ยยยย ทีนี้การตกแต่งสถานที่ของผมมันก็เลยเดินหน้าอย่างช้าๆ ช้าซะจนทีมกรรมการเป็นห่วงว่าจะได้จัดงานคริสต์มาสปีหน้าแทน เหยๆ อย่าเร่งสิ นี่งานคราฟนะครับ…
“งานทำมือทั้งหมดนี่เลยเหรอต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะเสร็จ?…ให้พี่ช่วยระดมคนมาช่วยมั้ย?”
“ทำงานกับคนเยอะๆ แล้วผมเหนื่อยครับพี่”
“แล้วทำคนเดียวล่ะ เหนื่อยมั้ย?”
“ก็…เหนื่อยครับ”
“พี่อยากให้งานเสร็จ ถ้าเราทำไม่เสร็จซักทีพี่ก็เหนื่อย”
____________________________
สวยแต่ใช้จริงไม่ได้ก็เปลืองแรง! สวยแต่ไม่เสร็จซะทีก็เปลืองเวลา!
ผมนั่งร้อยลูกปัดกลมๆ สีแดงสองลูก สลับเขียวสามลูก เราไม่ใช้เชือกสีขาวเพราะว่ามันเปราะขาดง่าย ทีแรกเราใช้สายเอ็นซึ่งมันแข็งแรงก็จริงแต่มันไม่ทิ้งตัว มันจะเด้งๆ เหมือนสปริงและดูทื่อๆ ทีแรกมีคนเสนอให้ใช้เอ็นเบอร์เล็กลง แต่ผมเลือกใช้ “ดิ้น” เพราะว่ามันสวยกว่า ตัวสายดิ้นมีความเงาวับวาว เวลาทิ้งปลายสายลงมาจะสวยมาก ดิ้นสีเงินที่ร้านแถวโบสถ์มีไม่พอ เหลือแต่สีทองซึ่งมันดูลูกทุ่งพันล้านไปหน่อย ผมเลยขี่มอไซด์ถ่อไปไกลมากเพื่อหาดิ้นสีเดียวกัน
ผลที่ได้เรียกว่าเหนื่อยฟรีครับ! … เพราะพอเอาไปแขวนจริง ดิ้น มันหายไป! อย่าว่าแต่ดิ้นหายเลยลูกปัดก็หายด้วย ต่อให้เพ่งมองยังไงก็แทบไม่เห็น ยังดีที่ดาวตรงปลายเส้นมันสวยและมองเห็นได้อยู่ รายละเอียดเล็กๆ เรื่องลูกปัดสลับสี พอมองไกลๆ ก็แยกไม่ออกอยู่ดี ดิ้นจะสีเงินหรือทองหรือสีอะไรก็ไม่มีค่าใดกับเพดานสูงๆ ครับปัดโธ่!
ยัง ยังแย่ได้อีก เพราะผมทำกล่องของขวัญจากกล่องที่ซื้อมาหลากหลายขนาด แต่พอเอาไปไว้บนเวทีแล้ว ทุกกล่องกลายเป็นขนาดเดียวกันคือ “ขนาดเล็ก” ต้นสนสำเร็จรูปที่สูงกว่าคนเป็นศอก กลับดูไม่ต่างกับไม้พุ่มหน้าบ้านเมื่ออยู่ในห้องที่ใหญ่โต สุดท้ายผมต้องสร้างต้นสนขึ้นมาเองและเอาต้นเดิมนั้นไปไว้หน้าห้องประชุม ผมทำดาวประหลาดอันใหญ่ม๊ากกกกกกก (กอไก่ล้านตัว) แต่พอเอาไปแขวนกลายเป็นดาวเคราะห์น้อย ลำบากต้องปลดลงมาแก้ใหม่อัพไซด์ให้มันใหญ่บึ้มกว่าเดิมอีก เพราะว่ามันใช้ในละครด้วย
ยังมีสายตาที่จ้องมองเราอยู่ห่างๆ
ตอนนั้นผมสวมหมวกหลายใบ นอกจากฝ่ายสถานที่ ผมก็เป็นผู้ช่วยผู้กำกับละครด้วย เวลาซ้อมละครไปก็นั่งร้อยลูกปัดไป ตกเย็นผมนั่งร้อยลูกปัดต่ออีก ห้องอนุชนมีลูกปัดห้อยย้อยเต็มไปหมดเหมือนใยแมงมุม ทุกอย่างดูเยอะ แต่พอย้ายออกไปไว้ในโบสถ์ก็ดูน้อยไปเลย กลับมาร้อยลูกปัดใหม่ ทากาวติดกระดาษเหมือนเดิม วนอยู่แบบนี้หลายสัปดาห์
คุณยายที่พักที่โบสถ์คนหนึ่งชื่อยายเล็กแกชอบแอบมาส่องผมที่ห้องอนุชน แกชอบมาถามช่วยอยู่เรื่อยทีแรกก็ไม่รู้จะให้ช่วยอะไรในที่สุดผมเลยสอนแกร้อยลูกปัด พอนั่งทำไปซักพักแกก็บ่นเมื่อยแล้วก็เลยขอเอากลับไปทำที่ห้องเปิดทีวีดู ผมก็เลยจัดของเป็นชุดๆ ใส่ถุงให้แกไป ตอนนั้นเองที่ผมตาสว่าง ถึงเวลาที่ผมจะเลิกร้อยลูกปัดเองแล้ว ผมเริ่มจัดของเป็นชุดๆ แทน วันต่อมาคุณยายเดินมาเกาะที่ประตูและบอกว่า “ยายเอาการบ้านมาส่ง มันยากมากเลยนะดิ้นมันอ่อนแทงไม่เคยเข้ารูเลย ดูสิมือมันไม่ค่อยนิ่ง” พอเห็นแบบนั้นผมก็ไปซื้อสายเอ็นเบอร์เล็กมาให้แก
จากนั้นทุกครั้งที่มีคนเดินมาถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม ผมจะแจกชุดร้อยลูกปัดให้ 5 ชุด และเริ่มเดินสายแจกชุดร้อยลูกปัดแบบพกกลับบ้านได้ในกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มอนุชน ผมรู้แล้วว่ามันไม่จำเป็นต้องเป๊ะ จะใส่ลูกปัดสีอะไรก็ได้ เพราะตอนนี้ผมต้องการวอลุ่มเยอะๆ เพื่อจะทำให้โบสถ์เต็มไปด้วยของจุกจิกเหล่านี้
“สองคนดีกว่าคนเดียว เพราะว่าเขาทั้งสองได้รับรางวัลดี
สำหรับการตรากตรำของพวกเขา” – (ปัญญาจารย์ 4:9)
หลังๆ ยายเล็กแกชักชวนเพื่อนๆ วัยรุ่นของแกมานั่งทำงานที่ห้องอนุชน ผมก็เดินลงไปเตรียมน้ำให้เอาไว้กินกัน พอขึ้นมาก็แอบส่องอยู่หน้าห้องก่อน เห็นสาวๆ นั่งอยู่ห้องไปหมดหัวเราะคิกคักๆ ทำงานกันสนุกเชียว คุณยายคุณป้าบางคนก็ของานติดไม้ติดมือกลับบ้านไปทำผมจัดให้คนละ 5 ชุดบางคนก็จะโกรธบอกว่าไม่พอ ประมาณว่าบ้านแกไกลนะเอาไปทีต้องเอาไปเยอะๆ ให้คุ้มๆ แล้วก็จะเอาไปแบ่งลูกหลานที่บ้านทำด้วย
ข้อดีของการทำแบบนี้ก็คือ ทุกคนได้มีส่วนร่วม วันอาทิตย์ผมแอบเห็นผู้ใหญ่ชี้กันว่าเส้นนี้เหมือนของฉันเลยฉันร้อยกับมือ เส้นนี้ของฉัน บางคนอวดว่าทำไป 10 เส้นบ้าง 20 เส้นบ้าง พอได้ยินแบบนั้นมันน่าชื่นใจนะ อย่างน้อยๆ มันก็เป็นผลรวมของคนทั้งโบสถ์ และเชื่อไหมว่าในที่สุดโบสถ์ทั้งโบสถ์ก็เต็มไปด้วยดาวระยิบระยับ กับลูกปัด และกล่องของขวัญ ทุกวันนี้ของพวกนั้น ยังถูกเอามาใช้ตกแต่งโบสถ์อยู่เลยนะแม้จำนวนมันจะน้อยลงมากเลยก็ตาม แต่มันก็ยังช่วยให้ประหยัดงบปีต่อๆ มาได้มากโขเลย
“เราทุกคนน่าจะร้อยลูกปัดไปประมาณ 2 กิโลเมตรได้ ^^”
มุมมองที่ต้องเติบโตขึ้น
มันใหญ่เกินไปรึเปล่า? คือคำถามที่ผมเฝ้าถามตัวเองตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โครตตตตตเหนื่อย เวลาเห็นเพื่อนรุ่นเดียวกันมาเตะบอล ตีแบต เล่นเกมสะกดคำ นั่งจั่วอูโน่ (UNO) หรืออนั่งกระดึกนิ้วรอซ้อมละครที่โบสถ์ผมอิจฉามาก พี่เลี้ยงของผมบอกว่า
“งานมันใหญ่ขึ้นก็ต้องคิดมากขึ้น ดีแล้วจะได้มีประสบการณ์
ถ้าคิดว่ามันใหญ่เกินตัวเราก็ดีแล้ว
เพราะเราจะได้รู้ว่า ไอ้ที่ทำๆ อยู่น่ะพระเจ้าเป็นคนทำไม่ใช่เราทำ”
ฟังดูมีเหตุผลนะ… สเกลขนาดใหญ่ขึ้นก็ต้องใส่ใจรายละเอียดน้อยลง เมื่อหน้างานของเราใหญ่ขึ้นเราก็จำเป็นต้องคิดใหญ่ขึ้นตามด้วย เมื่อก่อนผมเคยตกแต่งห้องเรียนเล็กๆ ทุกอย่างดูง่าย แต่พอเราต้องรับผิดชอบมากขึ้น ก็ควรตัดเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยออกไปบ้าง เมื่อพระเจ้าใช้เราให้ทำงานที่มันใหญ่ขึ้นเราก็ต้องคิดให้มันใหญ่ขึ้นด้วย จะทำแบบเดิมตลอดไปไม่ได้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต คือ รู้จักสิ่งที่เราทำและจัดการกับงานอย่างคนที่เป็นผู้ใหญ่ควรทำ อย่าใส่ใจกับสิ่งหยุมหยิมคำนินทาหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ แม้กระทั่งคำชมเชย เราไม่ได้เติบโตจากผลสำเร็จของงานหรือคำชม แต่เราเติบโตขึ้นจากการได้แก้ไขปัญหาเพื่อให้งานสำเร็จต่างหากเล่า!
“เพราะงานรับใช้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนอื่นที่มีต่อเรา
แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองของเราที่มีต่อพระเจ้าด้วย!”
ติดตามคอลัมน์ #เด็กสมัยนี้ ตอน คริสต์มาสไดอารี่ EP. หน้าได้ทางเว็บไซด์ www.choojaiproject.org วันศุกร์เวลา 19.00 น. นะคะ สุขสันต์วันคริสต์มาส และสวัสดีปีใหม่ ^^
Related Posts
- Author:
- คริสต์เตียนธรรมดาที่ผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวกับงาน Event แบบคริสต์ๆ มานับไม่ถ้วน จนได้เรียนรู้ว่าการทำกิจกรรมไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เค้าเติบโต แต่การได้รู้จัก ความรัก ความเจ็บปวด การถ่อมใจ และการให้อภัย ผ่านการทำกิจกรรมพวกนั้นต่างหากล่ะ :)
- Illustrator:
- Narit
- เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
- Editor:
- Emma C.
- เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน