บทความนี้ใช้เวลาในการอ่านประมาณ 5 นาที
วันที่เผยแพร่ : 18 มิถุนายน 2021 (เนื่องในวัน Stop Bullying day)
“ทุกวันมีคนถูกแกล้ง”
การกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyberbullying) เป็นประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากและนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ตามหน้าสื่อมีเหยื่อของการกลั่นแกล้งมากมายตั้งแต่เด็กนักเรียนตัวเล็กๆ จนถึงผู้ใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่ดาราหรือคนดังในสังคม เรียกว่าแทบไม่มีใครรอดพ้นจากการถูกกระทำความรุนแรงออนไลน์ได้เลย
ด้วยการเล็งเห็นปัญหานี้ มูลนิธิ Cybersmile องค์กรไม่แสวงหากำไรนี้ถูกตั้งขึ้นและได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนของทุกปีเป็นวันหยุดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Stop Cyberbullying Day) การกลั่นแกล้งในลักษณะต่างๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงยิ่งพื้นที่ออนไลน์เติบโตขึ้นการบูลลี่ก็ยิ่งขยายขอบเขตจากโรงเรียนและโลกภายนอกเข้ามาสู่พื้นที่ออนไลน์เป็นเงาตามตัว
ภาพจากหนัง– Love, SImon อีเมล์ลับฉบับไซมอน (Fox 2000 Pictures 2018) : ตัวเอกของเรื่องซึ่งมีชีวิตปกติต้องเปลี่ยนไปหลังจากถูกรู้ความลับและถูกขู่ที่จะเปิดเผยความลับ เรื่องรสนิยมทางเพศของเขา
______________________________
ทำไมการบูลลี่ออนไลน์ถึงอันตราย?
เพราะว่าการบูลลี่ออนไลน์ จะเกิดที่ไหนก็ได้เกิดเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่เมื่อเราอยู่ที่บ้าน หรือในเวลาที่เราอยู่คนเดียว ตราบใดที่มีการเชื่อมต่อโลกออนไลน์แล้ว เราก็อาจตกเป็นเหยื่อหรือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรุนแรงเหล่านี้ได้
เหยื่อ หรือ ผู้ถูกกระทำ สามารถถูกกระทำซ้ำซ้อนโดยไม่มีผู้พบเห็น สามารถถูกบูลลี่จากคนที่เขาเองไม่รู้จัก และไม่รู้แม้กระทั่งเหตุผลของการถูกคุกคาม
ประเทศไทยเรา นอกจากจะเป็นประเทศผู้ใช้งานสื่อออนไลน์อันดับต้นๆ ของโลกแล้ว ในเรื่องการบูลลี่เราก็เป็นอันดับต้นๆ ของโลกเหมือนกัน วันนี้เราจะมาคุยกันในเรื่องการบูลลี่ และดูว่าเราจะมีส่วนช่วยให้สังคมนี้น่าอยู่ขึ้นได้ยังไง
ภาพจากซีรีส์ – เด็กใหม่ Girl form nowhere (SOUR Bangkok 2018) : ซีรีส์ที่รวบรวมเหตุการณ์การบูลลี่ที่เหยื่อเป็นนักเรียนหญิง 13 ข่าวมาสร้างเป็นซีรีส์ชุด
______________________________
การบูลลี่อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่เราๆ คิด
“จากสถิติ พบว่ารั้วโรงเรียนของประเทศไทยไม่ปลอดภัยเพราะมีการกลั่นแกล้งกันภายในโรงเรียนเรียนมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น”
ในการเสวนาหัวข้อ “BULLYING” กลั่นแกล้ง ความรุนแรงที่รอวันประทุ” จัดโดยเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
นาย อธิวัฒน์ เนียมมีศรี เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เปิดเผยผลสำรวจว่า เด็กกว่า 91% เคยถูกบูลลี่ และเด็ก 68.93 % มองว่าการบูลลี่ถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง 43 % คิดจะตอบโต้เอาคืนซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงขึ้น
โดยวิธีที่เด็กถูกบูลลี่ คือ
1. ถูกตบหัว (62.07%)
2. ถูกล้อชื่อพ่อ-ชื่อแม่ (43.57 %)
3. ถูกพูดจาเหยียดหยาม (41.78 %)
4. อื่นๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสี กลั่นแกล้งในสื่อออนไลน์
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเหยื่อที่เห็นได้ชัด คือ 42.86% คิดจะโต้ตอบเอาคืน 26.33% มีความเครียด 18.2 %ไม่มีสมาธิกับการเรียน 15.73 % ไม่อยากไปโรงเรียน 15.6% เก็บตัว และ 13.4% เกิดภาวะซึมเศร้า (อ้างจากกรมสุขภาพจิต)
______________________________
ภาพจากซีรีส์ – Who are you เธอคนนั้นคือฉันอีกคน (GMMTV ปี 2020) :
ตัวเอกซึ่งเรียนในโรงเรียนหญิงล้วนถูกบูลลี่เพราะเป็นเด็กกำพร้า เธอถูกพุ่งเป้าหลังจากเข้าไปช่วยหนักเรียนคนอื่นที่เคยถูกบูลลี่มาก่อน
คนเราบูลลี่กันแบบไหนบ้าง?
- ทางกาย : กระทำต่อร่างกายโดยตรง ให้ได้รับอันตราย บาดเจ็บ เช่น การทำร้ายร่างกาย จิกหัว หยิกมือ เอานิ้วดันหัว ถมน้ำลายใส่ บังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ยินยอมและให้ทำสิ่งที่อับอาย
- ทางคำพูด : ด้วยวาจาหรือข้อความ เช่น การด่าทอ เสียดสี ประชดประชัน นินทาว่า สร้างเรื่องโกหกป้ายสี เขียนโต๊ะ ขู่ด้วยจดหมาย
- ทางสังคม : ด้วยการสร้างความเข้าใจผิด หรือใช้แรงกดดันทางสังคม เช่น การเมิน การทำให้กลายเป็นอากาศ การมองผ่าน การกีดกัน การไม่ให้ร่วมกลุ่ม การผลักใส การแบนหมู่ การโห่ไล่
- ทางออนไลน์ : ผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียและข้อความอิเล็คโทรนิค เช่น การกระทำให้เสียหาย รู้สึกแย่ หมิ่นเกียรติ ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย หรือ ด้วยการส่งข้อความ และรูปภาพ การตัดต่อรูปภาพ โพสภาพหรือข้อความเพื่อประจาน เป็นต้น
______________________________
พระคัมภีร์พูด อย่างไรเกี่ยวกับ การบูลลี่
- “โอ เยาวชน จงเปรมปรีดิ์ในวัยหนุ่มสาวของเจ้า และให้จิตใจของเจ้าทำตัวเจ้าให้ร่าเริงในวัยหนุ่มสาวของเจ้า เจ้าจงดำเนินชีวิตตามจิตใจของเจ้าและตามที่ตาของเจ้าเห็นควร แต่จงรู้เถิดว่าเพราะทุกอย่างเหล่านี้พระเจ้าจะทรงนำเจ้าเข้ามาถึงการพิพากษา“ – (ปัญญาจารย์ 11:9)
- “บุคคลผู้เป็นสุขคือ ผู้ไม่เดินตามคำแนะนำของคนอธรรม ไม่ยืนอยู่ในทางของคนบาป ไม่นั่งอยู่ในที่นั่งของคนที่ชอบเยาะเย้ย” – (สดุดี 1 :1)
- “จงให้ใจขมขื่น และใจขัดเคือง และใจโกรธ และการทะเลาะเถียงกัน และการพูดให้ร้าย กับการคิดปองร้ายทุกอย่างอยู่ห่างไกลจากท่านเถิด และท่านจงเมตตาต่อกัน มีใจเอ็นดูต่อกัน และอภัยโทษให้กัน เหมือนดังที่พระเจ้าได้ทรงโปรดอภัยโทษให้แก่ท่านในพระคริสต์นั้น” – (เอเฟซัส 4:31-32 TH1971)
- “อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากท่านเลย แต่จงกล่าวคำที่ดีและเป็นประโยชน์ให้เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อจะได้เป็นคุณแก่คนที่ได้ยินได้ฟัง” – (เอเฟซัส 4:29)
- “ขอให้ความรักมาจากใจจริง จงเกลียดชังสิ่งที่ชั่ว จงยึดมั่นในสิ่งที่ดี” – (โรม 12:9 THSV11) (Ver. TKJV บอกว่า จงให้ความรักปราศจากมารยา)
ส่วนหนึ่งของการส่งต่อการบูลลี่ออนไลน์ เกิดจากเราเอง
บางครั้งเราอาจจะกลั้นแกล้งโดยไม่ตั้งใจ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการกลั่นแกล้งโดยไม่รู้ตัว
- การนิ่งเฉย และการมีส่วนร่วมทางอ้อม เช่น การกดไลค์ กดแชร์ (สดุดี 1:1)
- การละเลยไม่สอดส่อง : พบเห็นการละเมิด และความรุนแรงแต่ไม่แจ้งผู้ดูแด หรือปล่อยให้มีคอนเทนท์บูลลี่ในหน้าเพจ หรือเว็บไวด์ที่ตัวเองสารถจัดการดูแลได้ แต่ไม่จัดการให้เด็ดขาด (1 ซามูเอล 2:12)
- สนใจความจริงโดยปราศจากความรัก บางคนกดแแชร์สิ่งที่เป็นความจริง คิดว่ามันเป็นความจริงไม่เห็นมีอะไรต้องปิด เพราะสักวันความจริงก็จะเปิดเผยออกมาเอง ความจริงก็เป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ แต่ความจริงบางอย่างก็อาจทำร้ายคนอื่นได้ หรือ การตัดเตือนด้วยความจริงโดยไม่ถนอมน้ำใจ (โรม 12:9)
- การมุ่งเอาชนะและการไม่ให้อภัย ความขุ่นเคือง มุ่งเอาชนะอาจทำให้คนเรา โพสหรือบูลลี่คนอื่นโดยไม่รู้ตัว (เอเฟซัส 4:31-32)
- การไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ เค้าก็ทำกัน หรือทำถูกต้องแล้วตามกฏเกณฑ์ หรือ เห็นว่าเป็นเรื่องขำๆ (เอเฟซัส 4:29)
สุดท้ายนี้ท่ามกลางสังคมที่รุนแรงต่อกันทั้ง คำพูดและการกระทำไม่ว่าจะเป็นในโลกออนไลน์ หรือในชีวิตประจำวันนั้น พระคัมภีร์เรียกร้องให้เราทุกคนแสดงความรักผ่าน คำพูด การกระทำด้วยความจริงใจ และประกอบด้วยความรัก
“ลูกทั้งหลายเอ๋ย อย่าให้เรารักกันด้วยคำพูดและด้วยปากเท่านั้น
แต่จงรักกันด้วยการกระทำและด้วยความจริง” – (1 ยอห์น 3:18 THSV11)
Cyberbullying หยุดได้เริ่มที่ตัวเรา
#ด้วยรักและถนอมน้ำใจ
อ้างอิง ::
กรมสุขภาพจิต, บูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ!!! ,
ออนไลน์. https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30150
กรมสุขภาพจิต, หยุด Cyberbullying กลั่นแกล้ง โจมตีผ่านโซเชียล คิดต่างได้ แต่ควรเคารพในความต่าง ,
ออนไลน์. https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30362
Nkiruka Ezedinugwu , When bullies make school hell ,
online. https://www.nationallightngr.com/2019/04/18/when-bullies-make-school-hell
Photo :
- ภาพปก www.louvre.fr และ freepik
Related Posts
- Author:
- Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)