เศฟันยาห์
หลังจบประเด็นเรื่องความยุติธรรมในฮาบากุก เมื่อฮาบากุกตั้งคำถามกับพระเจ้าว่าทำไมพระเจ้าไม่ทำอะไรสักที? แต่เมื่อพระเจ้าตอบว่าจะใช้บาบิโลนมาพิพากษายูดาห์ ฮาบากุกก็รับไม่ได้ แต่ในท้ายที่สุด ฮาบากุก ก็เลือกที่จะเชื่อ และ วางใจด้วยการใช้ชีวิตที่ “สัตย์ซื่อ” และรอคอย วันแห่งการพิพากษาที่จะมาถึงแน่ๆ
ในความต่อเนื่องของ ฮาบากุก และ เศฟันยาห์ ก็มีความต่อเนื่องในเรื่องการพิพากษาที่จะมาถึงแน่ๆ แต่ในเรื่องเวลา หนังสือ ฮาบากุก มาหลัง เศฟันยาห์ เพราะในหนังสือผู้เผยพระวจนะ 12 เล่ม ไม่ได้วางเรื่องราวไว้ตามลำดับเวลา แต่ใช้วิธีการวางลำดับตาม “แนวคิด” ด้วย
……………………………………..
ฮาบากุก พูดถึงเรื่องการพิพากษาที่จะมาถึงแน่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ปรากฏเป็นประเด็นในเศฟันยาห์ด้วยเช่นกัน วันแห่งพระพิโรธ เป็นประเด็นหลักที่ถูกพูดถึง หรือ วันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า (The day of the LORD) วันแห่งพระยาเวห์ วันแห่งความมืด ฯลฯ ซึ่งมีปรากฏใน เศฟันยาห์เยอะมาก ซึ่งทั้งหมดก็คือ วันแห่งพระยาเวห์ ที่จะมาถึงแน่ๆ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเศฟันยาห์
พระวจนะของพระเจ้าซึ่งมาถึงเศฟันยาห์บุตรคูชี ผู้เป็นบุตรเกดาลิยาห์ ผู้เป็นบุตรอามาริยาห์ ผู้เป็นราชโอรสของเฮเซคียาห์ ในรัชกาลโยสิยาห์ ราชโอรสของอาโมน กษัตริย์ของยูดาห์
ที่ผ่านมาส่วนมากหนังสือหมวดผู้เผยพระวจนะ อย่างมากก็บอกว่า คนนี้นะ พ่อคือใคร ให้พอรู้ที่มาที่ไป โยนาห์บุตรอามิทัย อิสยาห์บุตรอาโมส แต่ทำไมในเล่มนี้ถึงต้องบ่งชี้ย้อนกลับไปหลายรุ่น
ก็เป็นไปได้ว่าการย้อนแบบนี้เพื่อจะชี้ว่า เศฟันยาห์ อาจเป็นเชื้อพระวงศ์ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น เขาก็สามารถเข้าถึงพระราชวังได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเผยพระวจนะของเขาก็อาจมีผลกับกษัตริย์ โยสิยาห์
……………………………………..
โ ย สิ ย า ห์ . . .
โยสิยาห์ เป็นกษัตริย์ตั้งแต่ 8 ขวบ เดาได้เลยใช่ไหมว่าเรื่องนี้ไม่ธรรมดา! การได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งแต่อายุน้อย หรือ ยุวกษัตริย์ มักมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองเข้ามาเกี่ยวอย่างแน่นอน ลองคิดถึงหนังจีนที่มีศึกชิงบัลลังก์ ฮ่องเต้ถูกฆ่า แล้วตั้งลูกขึ้นมาเป็นหุ่นเชิดอะไรทำนองนั้น แล้วในเรื่องของ โยสิยาห์ เกิดอะไรขึ้น!
ในเรื่องนี้เราต้องขอพาย้อนกลับไปดูใน สองพงษ์กษัตริย์(22) และ สองพงศาวดาร(34) ที่เกี่ยวกับเบื้องหลังการเมืองการปกครองในตอนนี้ ถ้าเราแว่บกลับไปเปิดดูเร็วๆ เราจะพบเรื่องของกษัตริย์ “โยสิยาห์” ซึ่งมีชื่อเสียงมากในการปฏิรูปสังคม และ ความเชื่อ เรียกได้ว่าเป็น มาร์ติน ลูเธอร์ ของพระคัมภีร์เดิมก็ว่าได้ เพราะในสมัยนั้นคนอิสราเอลไม่ต่างจากคนต่างชาติที่มัวเมาหลงใหล ฟุ้งเฟ้อในวัตถุ เสื่อมโทรมทางศีลธรรม เต็มไปด้วยการกราบไหว้รูปเคารพ กษัตริย์โยสิยาห์ได้ทำการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อนำคนอิสราเอลกลับมาสู่ทางของพระเจ้าที่เขาต่างก็ทิ้งไป
แต่ถ้าเราย้อนกลับขึ้นไปดูต้นตระกูลของ “โยสิยาห์” เราจะพบว่า โยสิยาห์เป็นลูกของ “อาโมน” ซึ่งก็เป็นกษัตริย์ที่ชั่วร้าย อาโมนก็เป็นลูกของ “มนัสเสห์” ซึ่งก็เป็นกษัตริย์ที่ชั่วร้ายหนักยิ่งกว่า (ถ้าจำได้นี่เป็นแนวทางอิทธิพลของความชั่วร้ายที่สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น)
ถ้าย้อนขึ้นไปอีกนิด “มนัสเสห์” เป็นลูกของ “เฮเซคียาห์” ซึ่งตอนแรกก็เป็นกษัตริย์ที่ดี แต่ในตอนท้ายของชีวิตก็แกว่งไปหน่อย ด้วยความที่หยิ่งผยอง และ อยากอวดของท่าน จึงได้เปิดท้องพระคลังให้ทูตบาบิโลนดูทุกอย่าง สุดท้ายผู้เผยพระวจนะก็มาบอกว่าสิ่งที่บาบิโลนเห็นจะถูกกวาดไปหมดโดยผู้เข้าชมของฝ่าบาทนั่นแหละ
เมื่อเฮเซคียาห์เสียชีวิต มนัสเสห์ ก็ขึ้นครองบัลลังก์แทน พระคัมภีร์บอกว่ามนัสเสห์เป็นคนชั่วร้าย ถ้าจะเปรียบเทียบความชั่วร้าย ในพระคัมภีร์ก็มักแทนด้วยชื่อกษัตริย์สองคน ถ้าเป็นอิสราเอลอาณาจักรเหนือ ก็จะเรียกว่า บาปของเยโรโบอัม ส่วนความบาปของอาณาจักรใต้ก็เรียกว่า บาปของมนัสเสห์ ได้ชื่อมาขนาดนี้ ก็คิดดูเอาเองละกันว่ามนัสเสห์ได้ทำอะไรลงไปบ้าง
มนัสเสห์ มีลูกชื่อ “อาโมน” ซึ่งก็เลวร้ายเหมือนกัน (เขาทำตามอย่างพระราชบิดา) ความชั่วของ อาโมน ไปถึงจุดที่ข้าราชการร่วมมือกันก่อกบฏ และสังหารอาโมน แล้วเอาลูกของอาโมนคือ โยสิยาห์ ขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทน (คนที่ปกครองจริงๆช่วงนั้นคือปุโรหิต ฮิลคียาห์) เพราะฉะนั้นในแง่นี้เราจะเห็นแนวอิทธิพลของความชั่วร้ายที่เคลื่อนผ่านรุ่นสู่รุ่น จาก เฮเซคียาห์ มาสู่ มนัสเสห์ จาก มนัสเสห์ มาสู่ อาโมน ส่วนลูกของ อาโมนคือ โยสิยาห์ ซึ่งถ้าจะมาตามจังหว่ะแบบนี้แล้ว ชีวิตของ โยสิยาห์ ก็มีแนวโน้มที่จะจบไม่ต่างกัน คือเติบโตมากลายเป็นคนที่ชั่วร้าย
แต่ทว่าในสมัยของ โยสิยาห์ เขากลับกลายมาเป็นกษัตริย์ ผู้ปฏิรูปสังคม และ ความเชื่อ ซะอย่างนั้น? อะไรคือจุดพลิกผันให้เขาเป็นแบบนี้?
ถ้าเรากลับไปอ่านในพงศาวดาร เราจะยิ่งเห็นชีวิตของโยสิยาห์ที่ต่างออกไป เพราะเขาเติบโตขึ้นมาด้วยใจที่อยากแสวงหาพระเจ้า? (เริ่มแสวงหาพระเจ้าตั้งแต่อายุ 16 ทีเดียว) อะไรคือจุดเปลี่ยนชีวิตของเขา ที่อยากแสวงหาพระเจ้า จนนำไปถึงการปฏิรูป?
เรื่องนี้ เ ศ ฟั น ย า ห์ อาจมีส่วน
……………………………………..
เ ศ ฟั น ย า ห์ . . .
เศฟันยาห์ ได้กล่าวโทษความบาปของยูดาห์ว่าดำเนินชีวิตเหมือนกับคนต่างชาติ ละทิ้งพระบัญญัติ เสื่อมลงทางศีลธรรม กราบไหว้รูปเคารพ ถ้าเรากลับไปอ่าน สองพงศาวดาร กับ สองพงษ์กษัตริย์ เราจะเห็นว่างานของ โยสิยาห์ ในการปฏิรูปได้จัดการกับเรื่องนี้โดยตรง คือ รื้อการกราบไหว้รูปเคารพออกไปจากอิสราเอล
เป็นไปได้ว่าคำเผยพระวจนะของเศฟันยาห์ บทที่ 1-3 เป็นรากฐานของการกลับใจของกษัตริย์โยสิยาห์ซึ่งในไปสู่การเกิดการปฏิรูป
……………………………………..
ก่อนที่เราจะไปต่อ ลองมาดูภาพรวมกันสักนิด ว่าหนังสือเศฟันยาห์แบ่งออกเป็นสามบทอย่างไร
บทที่ 1 วันแห่งพระพิโรธของพระเจ้า
เรื่องนี้ดำเนินเรื่องราวมาต่อจาก ฮาบากุก ที่จบด้วยวันแห่งพระเจ้าจะมา เศฟันยาห์มาบอก นี้เป็นวันแห่งพระเจ้า
บทที่ 2 การพิพากษาประชาชาติที่ชั่วร้าย
มีใครบ้างมาดูกัน
บทที่ 3 วันแห่งพระผู้เป็นเจ้า The day of the LORD
วันแห่งพระเจ้า ในเศฟันยาห์ที่ต่างจากเล่มอื่นอย่างไร
.
.
.
……………………………………..
บทที่ 1
วั น แ ห่ ง พ ร ะ พิ โ ร ธ ข อ ง พ ร ะ เ จ้ า
……………………………………..
แนวคิดเรื่อง วันแห่งพระยาเวห์ เป็นแนวคิดหลักของหนังสือผู้เผยพระวจนะที่เราผ่านด้วยกันมา ตั้งแต่ อาโมส โยเอล ฯลฯ ส่วนในเศฟันยาห์ บทที่ 1 เต็มไปด้วย “วัน” “วันแห่งพระเจ้า” “วันแห่งพระยาเวห์” “วันแห่งพระพิโรธ” ฯลฯ ถ้าเราลองกลับไปอ่านแล้วเอาปากกาไฮไลท์ขีดเอาไว้ เราจะพบว่าหนังสือที่มี 3 บทนี้มีการเน้นย้ำคำว่า “วัน” ถึง 21 ครั้ง เลยทีเดียว
และการเน้นย้ำนี้เป็นการเน้นย้ำว่า “วันแห่งพระยาเวห์” เป็น “วันแห่งพระพิโรธ” ซึ่งกลายเป็น “วัน” ที่กลับตาลปัตรแนวความคิดเรื่อง “วันแห่งพระยาเวห์” จากผู้เผยพระวจนะเล่มอื่น!
“วันแห่งพระยาเวห์” ที่เข้าใจก่อนหน้านี้เป็นวันที่คนอิสราเอลตั้งน่าตั้งตารอคอย เพราะเป็นวันที่พระเจ้าจะเข้าข้างเขา เป็นวันที่พระเจ้าจะมาปลดปล่อยเขาจากศัตรู ทำลายศัตรู เป็นวันแห่งการรื้อฟื้น เป็นวันที่จะพิสูจน์ว่าเขาถูกต้องท่ามกลางประชาชาติ เขาจึงเฝ้ารอคอย “วันแห่งพระยาเวห์” แต่ในตอนนี้ เศฟันยาห์ แค่เปิดเรื่องมาบทที่ 1 ก็กำลังจะบอกว่า วันที่พวกเขารอคอย คือ “วันแห่งพระพิโรธ” และเป็นความพิโรธต่อ ยูดาห์!
~เซอร์ไพร์ซ!!!
ก็รอกันมาตั้งนาน แต่เรื่องกลับผิดคาด แทนที่พระเจ้าจะมาทำลายศัตรู และ ยกชูอิสราเอล แต่กลับกลายเป็นว่า วันนั้น เป็นวันที่พระเจ้าจะมาทำลาย “ยูดาห์” แบบทุกซอกทุกมุม จากบนลงล่าง
…กำจัดคนเหล่านั้นที่กราบลงบนดาดฟ้าหลังคาตึก
ดาดฟ้าหลังคาตึก หมายถึงคนที่นับถือรูปเคารพ เขาจะเอาขึ้นไปกราบไหว้บนที่สูง นั่นก็คือวางไว้บนดาดฟ้าหลังคาตึก
…และ บรรดาผู้ที่ตกแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายต่างด้าว
นี่ไม่ได้หมายถึงแฟชั่น หรือ การตำหนิติเตียนเรื่องการแต่งกาย แต่หมายถึงอิสราเอลตอนนี้ใช้ชีวิตอย่างคนต่างชาติแบบแยกไม่ออก
…ในวันนั้น เราจะลงโทษทุกคนที่กระโดดข้ามธรณีประตู
ยังหมายถึงพระต่างชาติ คือ หมายถึงคนที่ไหว้พระดาโกนของคนฟิลิสเตีย
…วันนั้นจะได้ยินเสียงร้องจากประตูปลา และ เสียงร่ำไห้จากแขวงสอง
เราจะเห็นผู้เผยพระวจนะอยู่ที่แขวงสองในเรื่องของโยสิยาห์ (2พศด34, 2พกษ22) และ ในเรื่องของประตูปลา ที่ชี้ไปยังประชาชนคนอิสราเอล
ป ร ะ ตู ป ล า . . .
คนอิสราเอลชอบกินปลา คือปลาถึงเป็น สินค้าของสูงไฮโซ ภาพนี้ชัดขึ้นถ้าเราไปอ่าน เนหะมีย์ ที่พูดถึงพ่อค้าปลาที่เอาปลามาขายวันสะบาโต! เนะหะมีย์โกรธมาก ที่แม้จะยังไม่ถึงเวลาเปิดประตู แต่พวกพ่อค้าเอาปลามารอขาย ประเด็นนี้เนหะมีย์ไม่ได้โกรธเพราะพ่อค้าอยากจะขายมากเท่ากับที่โกรธคนอิสราเอลที่อยากจะละเมิดวันสะบาโต เพราะวันสะบาโตไม่ให้ขาย แต่ก็ยังมีคนที่อยากจะลอดประตูเมืองออกไปซื้อ นี่เป็นเรื่องที่ทำให้ เนหะมีย์ โกรธมาก
ประตูปลากับแขวงสองยังสะท้อนความเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ เป็นเขตที่เจริญ จะเรียกว่าเป็น ย่านสีลม ของเมืองนั้นก็ได้
…โอชาวตำบลครก จงร่ำไห้เถิด เพราะพ่อค้าทั้งปวงก็ไม่มีเหลือแล้ว ผู้ที่ชั่งเงินค้าขายก็ถูกกำจัดเสียแล้ว
การพิพากษามาถึงทั้งสามัญชนธรรมดา พ่อค้า ชาวบ้าน
คำพิพากษาของพระเจ้าจึงลงมาตั้งแต่บนยันล่าง
ไล่ตั้งแต่ราชวงค์ ผู้นำศาสนา พ่อค้า จนถึงชาวบ้าน ชาวสวน
สิ่งที่เศฟันยาห์เน้นย้ำในบทที่ 1 คือ การเน้นย้ำว่า วันแห่งพระเจ้าไม่ได้มีด้านเดียว เพราะในความคิดของคนอิสราเอล วันแห่งพระเจ้ามีด้านเดียว คือด้านที่พระเจ้าจะพิพากษาคนต่างชาติและ ยกชูอิสราเอล แต่ไม่เคยเตรียมตัวกับอีกด้านที่เศฟันยาห์กำลังจะบอก ว่า การพิพากษานั้น เริ่มต้นที่คนของพระองค์ก่อน!!!
เมื่ออิสราเอลไม่ทันตั้งตัว เพราะคิดมาตลอดว่าจะเป็นวันที่พระเจ้าเข้าข้างเขา โดยลืมพระลักษณะที่สำคัญของพระเจ้าคือ “ความยุติธรรม” ไป ลืมไปว่าพระเจ้าไม่สามารถปล่อยความบาปชั่วนั้นไปได้ โดยเฉพาะความชั่วร้ายท่ามกลางคนของพระองค์
วันนั้นเป็นวันแห่งพระพิโรธ
เป็นวันแห่งความทุกข์ใจและเป็นวันระทม
เป็นวันพินาศและวันเริศร้าง
เป็นวันแห่งความมืดและความมืดครึ้ม
เป็นวันที่มีเมฆและความมืดทึบ
เป็นวันที่มีเสียงเขาสัตว์และวันโห่ร้อง…
ส่วนข้อที่ต่อจากนี้ถ้ากลับไปอ่านดูเราก็จะพบกับรายละเอียดซึ่ง ยัดสันแน่นพูนล้น และ น่ากลัว
พระเจ้าตรัสว่า “เราจะกวาดทุกสิ่งทุกอย่างให้เกลี้ยงจากพื้นพิภพ”
พระเจ้าตรัสว่า “เราจะกวาดมนุษย์และสัตว์เดียรัจฉานไปเสีย
เราจะกวาดนกในอากาศไปเสีย
ทั้งปลาในทะเลด้วยเราจะกวาดล้างคนอธรรม
เราจะกำจัดมนุษยชาติเสียจากพื้นพิภพ”
พระเจ้าจะกวาดทุกอย่าง แบบย้อนกลับ เป็นการใช้ภาษาย้อนกลับไปสมัยก่อน ปฐมกาล และนั้นคือการพิพากษาที่จะเกิดขึ้น
วิธีการของ เศฟันยาห์ ในเรื่องการพิพากษา เขียนด้วยเทคนิค inclusio คือการ ประกบบนล่าง แล้วเน้นเรื่องตรงกลางเป็นเหมือนแซนด์วิช
การพิพากษาในบทที่หนึ่ง ข้อสาม ถึง ข้อที่สิบเจ็ด คือความพินาศที่จะเกิดขึ้น ถูก แซนด์วิชแห่งความพินาศใน บทที่หนึ่งข้อสอง และ บทที่หนึ่งข้อ สิบแปดประกบเอาไว้
(2)พระเจ้าตรัสว่า “เราจะกวาดทุกสิ่งทุกอย่างให้เกลี้ยงจากพื้นพิภพ”
(3-17) (เนื้อหา…)
(18)พระองค์จะทรงกระทำให้ชาวพื้นพิภพทั้งสิ้นถึงที่สิ้นสุด เออ ถึงที่สิ้นสุดอย่างกะทันหัน
ด้วยเทคนิคนี้ เศฟันยาห์ จึงได้วาง แซนด์วิช แห่งความพินาศจากพระพิโรธของพระเจ้า เสริฟ์วางไว้ข้างหน้าผู้อ่านตั้งแต่บทที่หนึ่ง
.
.
.
……………………………………..
บทที่ 2
ก า ร พิ พ า ก ษ า ป ร ะ ช า ช า ติ ที่ ชั่ ว ร้ า ย
……………………………………..
พอเข้าบทที่สอง เรื่องก็ดำเนินมาสู่การพิพากษาบรรดาประชาชาติ แต่ก่อนจะเข้าเรื่องการพิพากษา ก็มีการแอบแวะพูดถึงคนที่ถ่อมใจ คนที่ทำตามพระบัญชาของพระเจ้า
ทุกคนที่ใจถ่อมในแผ่นดินนี้ คือผู้ที่กระทำตามพระบัญชาของพระองค์
จงแสวงหาพระเจ้า
จงแสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความถ่อมใจ
ชะรอยเจ้าจะได้รับการกำบัง
ในวันแห่งพระพิโรธของพระเจ้า
เรื่องนี้สอดคล้องกับ ฮาบากุก ที่บอกให้ใช้ชีวิตอย่างสัตย์ซื่อ ซึ่งฮาบากุกก็ยอมรับ และ เชื่อวางใจว่าแผนการของพระเจ้าเป็นแผนการที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ในเศฟันยาห์บทที่สอง ก็พูดถึงคนเหล่านั้นแหละ ที่ดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อ ในฐานะคนชอบธรรม เขาจะถ่อมใจ แสวงหาพระเจ้า เพื่อว่าเขาอาจรอดพ้นในวันพิพากษาของพระเจ้า นี่คือความต่อเนื่องในพระธรรม ฮาบากุก ที่มาถึง เศฟันยาห์
แล้ว การพิพากษาบรรดาประชาชาติ ก็เริ่มต้นตั้งแต่บทที่สองข้อสี่
เพราะว่าเมือง กาซา จะถูกทอดทิ้ง
และเมือง อัชเคโลน จะเป็นที่เริศร้าง
ชาวเมือง อัชโดด จะถูกขับไล่ในเวลาเที่ยงวัน
และเมือง เอโครน จะถูกถอนราก
วิบัติแก่เจ้า ชาวเมืองชายทะเล
เจ้าผู้เป็นประชาชาติ เคเรธี
พระวจนะของพระเจ้ามีมากล่าวโทษเจ้า
โอ คานาอัน แผ่นดินของคนฟีลิสเตีย
นี่คือ ห้าเมืองใหญ่ของ ฟิลิสเตีย ชาวฟิลิสเตีย เข้ามายังแผ่นดินแถวนี้(คานาอัน) ใกล้เคียงกับยุคที่โยชูวาเข้ามาสู่คานาอัน ฟิลิสเตียเป็นเหมือนหอกข้างแคร่ของอิสราเอลมาโดยตลอด และ พระเจ้ามักใช้ฟิลิสเตีย ในการเป็นอุปกรณ์เรียกคนอิสราเอลให้กลับใจ
ชาวฟิลิสเตียยังเป็นชนชาติที่แข็งแกร่งในด้านสงคราม เพราะเทคโนโลยีในด้านอาวุธที่เขาผลิตขึ้นจาก “เหล็ก” นับว่านำหน้าคนแถวนั้นไปไกล ส่วนพื้นเพหลักแหล่งที่มาของเขา มาจากเกาะครีต ซึ่งทำให้เขาเก่งเรื่องการรบทางทะเล และ ถูกเรียกว่าชาวทะเล
หลังจากนั้นพระธรรมเศฟันยาห์ก็ไล่ชื่อเมืองต่างๆ ชนชาติต่างๆที่เป็นศัตรูกับอิสราเอล
คน โมอับ อัมโนน..
เอธิโอเปีย..
อัสซีเรีย..
นีนะเวห์..
วันแห่งพระเจ้าก็จะพิพากษาคนต่างชาติ ที่ชั่วร้ายเหล่านี้ ทีละเมือง ทีละเมือง คือถ้าเรากำลังไล่อ่านมาเรื่อยๆตั้งแต่บทที่สองเพลินๆ จนมาถึงบทที่สามข้อหนึ่ง แล้วเราก็จะพบว่า “วิบัติแก่เมืองนี้ที่เป็นกบฏ” และเมืองนี้เมืองกบฏที่ว่า กลายเป็น “ยูดาห์”
อ่าาววววววว! เรื่องพลิก! ไหนว่าพระเจ้าจะพิพากษาคนต่างชาติ!?
การเรียงลำดับนี้ ก็เป็นประเด็นของเศฟันยาห์ด้วย คือถ้าเราอ่านไล่มาเรื่อยๆ จากการพิพากษาคนต่างชาติแบบไม่มีคั่น เมื่อเราอ่านตอนนี้เข้าไป เราก็จะพบว่าตอนนี้ ยูดาห์ ก็กลายเป็นเหมือนคนต่างชาติที่ชั่วร้ายไปเสียแล้ว
และ บรรดาผู้ที่ตกแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายต่างด้าว
อย่างที่บอกในบทที่หนึ่งว่านี่ไม่ใช่เรื่องของแฟชั่น หรือ การตำหนิเรื่องการแต่งตัว แต่กำลังบอกว่าตอนนี้คนอิสราเอลใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนต่างชาติเสียแล้ว ทั้งการมีความเชื่อแบบคนไหว้รูปเคารพ การนับถือรูปเคารพ การปรึกษาแม่มดหมอผี
เวลานี้เขากำลังเดินออกจาก “พันธสัญญา”
พระเจ้าเรียกอิสราเอลออกมาจากชนชาติอื่นๆ เพื่อแยกไว้ให้เป็นชนชาติที่บริสุทธิ์ เป็นพันธสัญญาตั้งแต่อับราฮัมที่พระเจ้าเรียกออกมา เพื่อเขาจะเป็นพระพรสู่บรรดาประชาชาติ ผ่านทางอิสราเอล ซึ่งการจะเป็นอย่างนั้นได้ เขาต้องยอมรับ “สถานภาพ” ของตัวเอง ในการแยกตัวออกเพื่อพระเจ้า เพื่อเป็นชนชาติบริสุทธิ์ และ เมื่อนั้นคนต่างชาติก็จะได้เห็นความบริสุทธิ์ของพระเจ้า แล้วจะได้กลับเข้ามาหาพระองค์ ผ่านทางอิสราเอล
แต่ตอนนี้ อิสราเอล ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียแล้ว
ลำดับการพิพากษาในตอนนี้ กำลังจะบอกว่าพระเจ้าแยกไม่ออกแล้วว่ายูดาห์นั้นเป็นประชากรของพระเจ้าหรือคนต่างชาติ ในตอนนี้ยูดาห์จึงถูกพิพากษาในฐานะคนต่างชาติด้วย ไม่ใช่ในฐานะประชากรของพระองค์
เศฟันยาห์จึงเปรียบว่า เหรียญของพระพิโรธมีสองด้าน ไม่ใช่แค่การพิพากษาคนต่างชาติ แต่พิพากษาคนอิสราเอลด้วย
……………………………………..
ข้อสังเกตเล็กน้อย
เวลาอ่านพระคัมภีร์ เราจะเห็นการแบ่ง “บท” หรือ “หัวข้อ” ของทางสำนักพิมพ์ หรือ ผู้จัดทำพระคัมภีร์ เป็นการแบ่งเพื่อช่วยให้ผู้อ่านจับประเด็นได้ง่ายขึ้น ไม่หลงทาง
ซึ่งตรงนี้เราต้องเข้าใจ ว่าพระคัมภีร์ในสมัยก่อนไม่มีการแบ่งบท หรือใส่หัวข้อเพื่อสรุปประเด็น
เรื่องราวในตอนนี้ถ้าเราจะอ่านให้ได้อรรถรสและจับประเด็นที่ผู้เขียนเรียบเรียงไว้ จึงควรอ่านบทที่สอง จนถึงบทที่ 3 ข้อ 7 ให้เป็นก้อนเดียวกัน แล้วเราจะเห็นภาพ การวางการพิพากษาคนต่างชาติ โดยวางให้ ยูดาห์ไว้เป็นส่วนท้าย เพื่อให้เห็นว่าตอนนี้ยูดาห์ไม่ต่างจากคนต่างชาติ และ ต้องถูกพิพากษาในฐานะคนต่างชาติ
ข้อแนะนำอีกนิด คือถ้าเราอ่านแบบจับประเด็นได้มากขึ้น ลองอ่านพระคัมภีร์ แบบปิดบทปิดหัวข้อ เพื่อไม่ให้เกิดการชี้นำ อาจช่วยให้เรามองเห็นบริบทได้ชัดเจนมากขึ้น
.
.
.
……………………………………..
บทที่ 3
วั น แ ห่ ง พ ร ะ ผู้ เ ป็ น เ จ้ า
T h e d a y o f t h e LORD
……………………………………..
ความคาดไม่ถึง ในตอนนี้ คือ อิสราเอลไม่ต่างจากคนต่างชาติ และพระเจ้ากำลังจะพิพาษาคนของพระองค์ ถ้าเรามาดูกันในตอนนี้ พระเจ้าจะพิพากษาใครบ้าง? ใน ข้อสามกับสี่ ของบทนี้ พูดถึงสถาบันหลักของ อิสราเอล ทั้งหมด ทั้งด้านการปกครอง ด้านพระวจนะ และ ด้านจิตวิญญาณ
เจ้านายที่อยู่ในเมืองนี้
ก็เหมือนสิงห์ที่คำราม
ผู้พิพากษาของเธอก็เหมือนหมาป่ายามเย็น
ด้านการปกครอง คือ เจ้านายและผู้พิพากษา แทนที่จะเป็นผู้เลี้ยงแต่เขากลับกลายเป็นสิงโต เป็นหมาป่า ที่กัดกินแกะ
ผู้เผยพระวจนะของเธอเป็นคนพาล เป็นคนทรยศ
ด้านพระวจนะ โดย ผู้เผยพระวจนะ แทนที่เขาจะต้องเผยความจริง แต่ตอนนี้เขาเป็นคนพาล คนทรยศ คือคนพาลที่ไม่สนใจความจริง
บรรดาปุโรหิตของเธอก็กระทำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นสาธารณ์
เขาฝ่าฝืนต่อธรรมบัญญัติ
ด้านจิตวิญญาณ คือ บรรดาปุโรหิต ที่ควรถวายความบริสุทธิ์ต่อพระเจ้า แต่ตอนนี้เขาทำให้ความบริสุทธิ์เป็นสาธารณ์ คือเขาดูหมิ่นพระเจ้า และ ฝ่าฝืนพระบัญญัติ
วันแห่งพระยาเวห์มาถึงยูดาห์ เพราะความคอรัปชั่นทุกหย่อมหญ้า ความอธรรมที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถาบันหลัก ยันประชาชน(ตั้งแต่บทแรก) เป็นการพิพากษาที่จะต้องได้รับผลกันถ้วนหน้า เพราะความผิดของทุกคน แบบชี้นิ้วโทษกันไม่ได้
วันแห่งพระเจ้าเป็นวันแห่งพระพิโรธ เป็นเหรียญสองด้านที่คนยูดาห์กำลังจะต้องเรียนรู้ว่า “พระเจ้ายุติธรรม” และ พระพิโรธของพระเจ้าที่เปรียบเหมือนไฟเผาผลาญ
แต่ในขณะเดียวกัน เศฟันยาห์กำลังจะทำให้ผู้อ่านเห็นว่า พระพิโรธ ของพระเจ้าก็เป็นเหรียญสองด้านในอีกแง่ด้วย คือ ไฟแห่งพระพิโรธของพระเจ้าเป็นไฟที่เผาผลาญก็จริง แต่การเผาผลาญนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะทำให้พินาศ แต่เป็นการเผาผลาญเพื่อ “ชำระให้สะอาด” เป็นการ “ทำให้บริสุทธิ์” อีกด้วย นี่เป็นเรื่องที่เศฟันยาห์ย้ำและเติมให้ชัดขึ้นจากเล่มอื่นๆ ในเรื่องของพระพิโรธของพระเจ้า ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นอยู่อีกด้านมากกว่าคือด้านของการพิพากษา
นี่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ในเรื่อง “การพิพากษา” ก็จะมาคู่กับ “การรื้อฟื้น” เสมอ อย่างเช่นใน ฮาบากุก ที่ฮาบากุกยอมรับเรื่องการพิพากษาแล้วก็จะรอคอยแล้วเรื่องก็จบ ส่วนในเศฟันยาห์ที่เป็นเล่มต่อมาก็พูดถึงการพิพากษาที่จะมา แต่ย้ำเติมเพิ่มในเรื่องนี้ คือการที่พระเจ้าจะใช้การพิพากษามาเป็น “อุปกรณ์” ในการชำระอิสราเอลให้สะอาดอีกด้วย
นี่เป็นแนวคิดที่คนอิสราเอลอาจคาดไม่ถึง ว่าพระเจ้าจะใช้การลงโทษ เพื่อชำระพวกเขาให้สะอาด
ในบทที่สามตอนกลาง เราจึงเห็นพระเจ้าจะเผาผลาญพวกเขา ไม่ใช่ไฟที่เผาผลาญให้พินาศ แต่ เผาให้บริสุทธิ์
เพราะว่าพิภพทั้งสิ้นถูกเผาผลาญ
ในไฟแห่งความหวงแหนของเรา
เออ ในคราวนั้น เราจะเปลี่ยนริมฝีปากของชนชาติทั้งหลาย
ให้เป็นริมฝีปากบริสุทธิ์
และ ในตอนนี้พระเจ้าจะไม่ได้ชำระแค่ยูดาห์ แต่พระเจ้าใช้ไฟของพระเจ้าชำระประชาชาติ เพื่อให้เขาบริสุทธิ์ด้วย
นี่คือการรื้อฟื้นอิสราเอลขึ้นใหม่ รื้อฟื้นบรรดาประชาชาติขึ้นใหม่
ดูเถิด ในคราวนั้นเราจะทำโทษผู้ที่ บีบบังคับเจ้าทุกคน
เราจะช่วยคนขาพิการและรวบรวมคนที่ กระจัดกระจายไป…
ในคราวนั้น เราจะนำเจ้ากลับเข้ามา
คือในคราวที่เรารวบรวมพวกเจ้าเข้าด้วยกัน
พระเจ้าบอกว่าเราจะรวมพวกเจ้ากลับมา “วันแห่งพระเจ้า” ในตอนต้นที่เต็มไปด้วยความน่ากลัว จะกลายเป็นวันแห่งความหวังด้วย วันแห่งพระเจ้าไม่ได้จบลงด้วยความเศร้าโศก แต่เป็นวันที่จบด้วยความยินดี
พระองค์ทรงเปรมปรีดิ์เพราะเจ้าด้วยความยินดี
พระองค์จะทรงรื้อฟื้นเจ้าใหม่ด้วยความรักของพระองค์
พระองค์จะทรงเริงโลดเพราะเจ้าด้วยร้องเพลงเสียงดัง
พระเจ้าจะร้องเพลงเสียงดัง พระเจ้าจะเริงโลด พระเจ้าจะเต้นรำด้วยความชื่นชมยินดี นี่เป็นภาพงานเฉลิมฉลอง เมื่อคนของพระองค์ถูกชำระให้สะอาด และเมื่อนั้นประชาชาติจะได้เข้ามาหาพระองค์ และ พันธสัญญาที่ทำไว้กับอับราฮัมก็จะสำเร็จ
แ ต่ มั น จ ะ สำ เ ร็ จ ไ ด้ ยั ง ไ ง !
เมื่อในเวลานี้คนของพระเจ้ายังไม่ต่างจากคนต่างชาติเลย ด้วยเหตุนี้พระเจ้าต้องชำระคนของพระองค์ก่อน แล้วเมื่อพระเจ้าชำระคนของพระองค์แล้ว พระองค์ก็จะนำบรรดาคนต่างชาติเข้ามาหาพระองค์ แล้ว พันธสัญญาของพระเจ้าก็จะสำเร็จเป็นจริงโดยคนของพระองค์
……………………………………..
เริ่มเรื่องด้วยการพิพากษา แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งในการชำระคนของพระเจ้าให้บริสุทธิ์ เพื่อเขาจะออกไปเป็นพรไปสู่บรรดาประชาชาติ
……………………………………..
ในที่สุด เศฟันยาห์ก็จบลง แต่แล้วทำไม เศฟันยาห์ ถึงมาจบที่คนขาพิการ คนกระจัดกระจาย คนที่อับอาย คนที่ถูกบังคับ? ซึ่งคำเหล่านี้เป็นคำศัพท์ในการพยากรณ์ของ อิสยาห์ เช่นกัน ปรากฏใน อิสยาห์บทที่ 61:1-2
พระวิญญาณแห่งพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า
เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้
เพื่อนำข่าวดีมายังผู้ที่ทุกข์ใจ
พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาให้เล้าโลมคนที่ชอกช้ำระกำใจ
และร้องประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย
และบอกการเปิดเรือนจำออก ให้แก่ผู้ที่ถูกจำจอง
เพื่อประกาศปีแห่งความโปรดปรานของพระเจ้า
และวันแห่งการแก้แค้นของพระเจ้าของเรา
เรื่องนี้คล้ายกับตอนจบใน เศฟันยาห์ คือ วันที่พระเจ้าจะรวบรวมคนที่ด้อยค่าในสังคม คนที่ถูกกดขี่ คนที่พิการ พระเจ้าจะรวบรวมคนพวกนี้เข้ามาใน “วันแห่งพระเมสสิยาห์”
เรื่องที่น่าสนใจคือ ในลูกาบทที่ 4 เมื่อพระเยซูเข้าไปในธรรมศาลาในวันสะบาโต ณ บ้านเกิดของพระองค์ คือ นาซาเร็ธ เขาก็ยื่นคัมภีร์ให้พระองค์ยืนขึ้นอ่าน แล้วพระเยซูก็อ่านข้อนี้แหละ อิสยาห์บทที่ 61 และ เมื่ออ่านจบ พระเยซูก็บอกต่อว่า
“คัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูของท่านก็สำเร็จในวันนี้แล้ว”
คนนาซาเร็ธก็ลุกฮือด้วยความไม่พอใจ หมายจะผลักพระองค์ให้ตกเขา แต่สำหรับพระเยซู นี่คือการประกาศชัดๆว่า สิ่งที่ อิสยาห์เคยบอก เศฟันยาห์เคยบอก ได้สำเร็จแล้วในพระองค์ พระองค์มาเพื่อคนเหล่านี้ คนชายขอบ คนพิการ คนที่สังคมรังเกียจ คนยากจน คนที่ถูกบีบบังคับ พระองค์จะรวบรวมเขาเข้ามา
“วันแห่งพระผู้เป็นเจ้า” จึงเป็นวันที่พระเจ้าจะชำระคนของพระองค์ก่อน เพื่อจะได้นำบรรดาประชาชาติเข้ามาหาพระองค์ นี่เป็นเรื่องที่เขียนไว้โดย
เศฟันยาห์
……………………………………..
เศฟันยาห์ ก็มาจบลงตรงนี้ ก็เชื่อนะว่า ชื่อของเขา ตามมุมมองของเรา(ผู้จัด) ก็สอดคล้องกับเรื่องนี้ เพราะชื่อของ เศฟันยาห์ แปลว่า
พ ร ะ เ จ้ า ท ร ง ซ่ อ น ไ ว้
{ H i d d e n by GOD }
กล่าวคือ โยสิยาห์ เป็นกษัตริย์ผู้นำการปฏิรูป เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ในประเทศอิสราเอล และ เราเชื่อว่า หนังสือของเศฟันยาห์มีอิทธิพลต่อ โยสิยาห์ อย่างมากจนทำให้เขามีใจที่แสวงหาพระเจ้า ต่างจากพ่อ และ ตา ของเขา จนพระเจ้าได้นำเขาให้พบกับหนังสือม้วน ซึ่งนำไปสู่การกลับใจใหม่ และ การปฏิรูป โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับรูปเคารพ แต่ทั้งหมดในเรื่องเหล่านี้กลับไม่มีบันทึกถึงชื่อของ เศฟันยาห์ เลย
ในความคิดเห็นของพวกเรา(ผู้จัด) ในการรับใช้พระเจ้า เราสร้างผลกระทบกับชีวิตผู้อื่น แต่ชื่อของเราถูกซ่อนไว้โดยพระเจ้า ชื่อของเราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะปรากฏให้คนยอมรับ หรือ ชื่นชม แต่ “ผลกระทบ” ที่เรายอมให้พระเจ้าใช้ต่างหาก ที่สำคัญกว่าชื่อเสียงของเรา
“
พระเจ้าซ่อนชื่อของ เศฟันยาห์ ไว้ไม่ต้องมีใครรู้
แต่พระเจ้ารู้ว่าเขานี้แหละมีอิทธิพลในชีวิตจนส่งผลต่อการปฏิรูปของโยสิยาห์
“
ถ้าชีวิตในการรับใช้ของเราไม่มีใครชื่นชมก็ไม่เป็นไร ขอให้เรายอมให้อิทธิพลที่พระเจ้าใช้เรา สิ่งที่มีผลต่อชีวิตของผู้อื่น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ขอให้งานของพระเจ้านำหน้าเรา และ มอบชื่อเสียงของเรานั้นให้
พระองค์ ทรงซ่อนไว้
เ ช่ น เ ดี ย ว กั บ
.
.
.
.
เ ศ ฟั น ย า ห์
.
.
.
.
Related Posts
- Author:
- เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
- Author:
- อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS) หรือ พี่ใช้ รุ่นพี่ผู้รับใช้ผู้มีไฟ และมีเป้าหมายที่จะสืบสาน และ ส่งต่อความเข้าใจในพระคัมภีร์ให้กับพี่น้องคริสเตียน และ ผู้รับใช้รุ่นใหม่ๆต่อไป