Obadiah
พระคัมภีร์ โอบาดีห์สั้นมาก มีเพียงแค่ 21 ข้อ หรือสองหน้าเท่านั้น และ มีเนื้อหาสั้นที่สุดในพระคัมภีร์เดิม ในตอนนี้พระเจ้าเผยพระวจนะผ่าน โอบาดีห์ เป็นคำพิพากษา “เอโดม” . . .
ว่าแต่ว่า “เอโดม” เป็นใครทำไมต้องพิพากษา?
ในทางภูมิศาสตร์ “เอโดม” อยู่ทางตะวันออกของยูดาห์ จุดเด่นของเขาคือเมืองที่ถูกสลักลงไปในภูเขาหิน ถ้าเคยได้ยินชื่อเมือง “เพตรา” ก็คือเมืองที่ถูกสร้างในแผ่นดินของคนเอโดมนี่แหละ “วิหารสีชมพู” ก็เป็นชื่อเล่นของเมืองนี้ เพราะ ฝุ่นทรายของดินแดนนี้ที่มีสีแดง
By Al_Khazneh_Petra.jpg: Graham Racher from London, UKderivative work: MrPanyGoff – Al_Khazneh_Petra.jpg, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=94374000
แล้วทำไมพระเจ้าต้องพิพากษา “เอโดม”
ก็ต้องมาติดตามกันในพระธรรม โอบาดีห์ สั้นๆเล่มนี้
โอบาดีห์เป็นผู้เผยพระวจนะ ในภาษาเดิมอ่านว่า โอ-หวัด-ยาห์ คำนี้มาจากภาษาฮีบรูมาจากคำว่า “โอเบส” หรือ “โอเวทห์” แปลว่า “ผู้รับใช้” กับคำว่า “ยาห์” ซึ่งมาจากคำย่อ “ยาเวห์” พระนามของพระเจ้า รวมกันแปลว่า “ผู้รับใช้พระยาเวห์” นั่นเอง
พระเจ้าใช้ “โอบาดีห์” ไปเผยพระวจนะกับชนชาติ “เอโดม”
เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตอนนั้น “ยูดาห์” ซึ่งติดกับเอโดมกำลังถูกบาบิโลนโจมตี ซึ่งบาบิโลนมาจากทางเหนือ จาก อัสซีเรีย ลงมา สะมาเรีย และ อีกช่องทางคือทางตะวันออก ซึ่งต้องผ่านเอโดม และ เอโดมนี่แหละที่ให้กองทัพบาบิโลนผ่านเข้ามาโจมตียูดาห์
ความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งระหว่างเอโดมกับอิสราเอล ไม่ได้เริ่มแค่ในยุคนี้ แต่มีมานานกว่านั้น ถ้าไม่นับชนชาติใหญ่ที่ถูกพิพากษา อย่าง “นีนะเวห์” “บาบิโลน” ชนชาติที่ไม่ใช่มหาอำนาจอย่าง “เอโดม” ก็เป็นชนชาติหนึ่งที่ติดอยู่ในลิสท์นี้ด้วย ชนชาติที่ดูเหมือนเป็นไม้เบื่อไม้เมา เป็นเหมือนหอกข้างแคร่ของอิสราเอล แต่อันที่จริงไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เพราะถ้านับย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น เราจะพบว่า แท้จริงแล้วเขาเป็นพี่น้องกัน! และความขัดแย้งนี้ มันเริ่มต้ังแต่ในท้องแม่?
ป ฐ ม ก า ล บ ท ที่ ยี่ – สิบ – ห้า
ลูกแฝดของอิสอัค ตีกันอยู่ในท้องของเรเบคาห์ สองคนก็ถีบกันจนเรเบคาห์ต้องอุทานว่า “ฉันจะอยู่ไปทำไม” “ฉันตายดีกว่า” พระเจ้าจึงสัญญาบอกว่า “ชนสองชาติจะอยู่ในท้องเจ้า พี่จะรับใช้น้อง”
ตั้งแต่เขาออกมาจากท้องแม่ เขาก็เริ่มสู้กัน ทั้งสองสู้กันในศึกแย่งสิทธิบุตรหัวปี ยาโคบต้มอาหารแดง ล่อ เอซาว ที่กำลังหิว เอซาวที่หิวก็ขายสิทธิบุตรหัวปี แล้วยาโคบก็ฉวยเอาสิทธิบุตรหัวปี และ พรจากอิสอัคไป
อ่านมาถึงตอนนี้ เราคงรู้แล้วว่าต้นกำเนิดของสองชนชาตินี้ก็คือ เอซาว(เอโดม) กับ ยาโคบ(อิสราเอล) นั่นเอง
เวลาก็ผ่านไปจนถึงสมัยของโมเสส เมื่อ โมเสสผ่านมาทางเอโดม เพื่อจะขึ้นเหนือไปยังคานาอัน โมเสสก็ขอผ่านทางโดยสัญญาว่าจะไม่ก้าวล่วงอะไร แต่ เอโดมก็ใจจืดใจดำไม่ให้ผ่าน ทำให้อิสราเอลต้องเดินทางอ้อมทะเลทรายต่อไป มิหนำซ้ำยังมีการจัดทัพมาตีกันเป็นช่วงๆอีก
ในแง่นึงการปฏิเสธนี้ก็เหมือนชาวเอโดมไม่แยแสในความเป็นพี่น้องเลย ทำให้เอโดมกับอิสราเอลเป็นไม้เบื่อไม้เมากันต่อไป
ในสมัยที่ดาวิดเป็นกษัตริย์ เอโดมก็มีสงครามหลายช่วงหลายตอนกับอิสราเอล จนมาถึงสมัยที่บาบิโลนเข้ามาโจมตียูดาห์ เอโดมก็เปิดช่องให้บาบิโลนไปโจมตี เมื่อเมืองหลวงแตก บาบิโลนก็จับคนอิสราเอลไปเป็นเชลย ส่วนคนเอโดมก็ยังเข้าตีซ้ำ ปล้นเชลยไปเป็นเชลยเพื่อเอาไปขายต่ออีก
เอโดมกลายเป็นตัวแสบสำหรับอิสราเอล
……………………………………
แล้วพระเจ้าพิพากษาเขาในเรื่องอะไร
คำตอบนี้อยู่ในบทที่หนึ่งข้อสามเลย คือ
ใ จ ที่ ห ยิ่ ง จ อ ง ห อ ง
ความเย่อหยิ่งของเขาทำให้เขาปฏิบัติต่อยูดาห์เหมือนคนไม่รู้จัก จนกลายเป็นผู้ที่แย่ยิ่งกว่าศัตรู สาเหตุที่นำเขามาสู่จุดนี้คือ ความมั่นใจในตัวเอง
เริ่มจากเมืองที่เขาสร้าง เขาไม่ได้สร้างกำแพง แต่สร้างในภูเขาหิน เป็นความมั่นใจทางด้านภูมิศาสตร์ เทคโนโลยีและความฉลาดของเขาที่สามารถเจาะเมืองเขาไปอยู่ในภูเขาได้ กลายเป็นความแข็งแกร่งทางยุทธศาสตร์ได้อีก
ความมั่นใจในความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจ เพราะที่ตั้งของเขาคือทางผ่านของถนนหลวงของพระราชา ซึ่งลากผ่านตั้งแต่ ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ จากบาบิโลนในเขตอุดมสมบูรณ์อย่างเมโสโปเตเมีย ผ่านด้านตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนลงทางใต้ผ่านเอโดมไปสู่แอฟริกาซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองคำ เป็นเหมือนเส้นทางสายไหมของโลกโบราณ นั้นทำให้เขาร่ำรวย จากการเป็นเมืองบนเส้นทางการค้า เป็นความมั่นใจทางเศรษฐกิจ
ความมั่นใจทางการทหาร พระคัมภีร์โอบาดีห์ มีการใช้คำว่า วันหนึ่งนักรบของเจ้าจะต้องขยาด แสดงให้เห็นว่า เขามั่นใจในกองทัพของเขามาก เป็นนักรบที่เขามั่นใจ
ความมั่นใจทางการเมือง เมื่อเขาคุมเส้นทางการค้า การมีอิทธิพลทำให้เขามีพันธมิตร เขาเป็นพันธมิตรกับทั้งบาบิโลน และ อียิปต์ เมื่อบาบิโลนยกทัพมาโจมตีอิสราเอล เอโดมก็เปิดทางให้บาบิโลนผ่านเข้าตียูดาห์อย่างง่ายดาย
ความมั่นใจในสติปัญญา คนเอโดมในโลกโบราณ เป็นสัญลักษณ์ของนักปราชญ์ ในโอบาดีห์แปดบอกว่า ในวันนั้นเราจะกำจัดคนมีปัญญาให้สิ้นจากเอโดม ในแง่หนึ่ง เอโดม ก็เป็นสัญลักษณ์ของคนมีปัญญา หรือ ในพระคัมภีร์เราจะเห็นว่า เอโดมตั้งอยู่ทางตะวันออกของ อิสราเอล คนมีปัญญาจึงเดินทางมาจากตะวันออก
เช่น โยบ เพื่อนโยบมาจากตะวันออก เอลีฟัสเป็นคนเทมาน เทมานเป็นเมืองหนึ่งของ เอโดม เอโดมจึงเป็นภาพสะท้อนคนมีปัญญา
ด้วยเหตุที่ว่ามาทำให้เขามีความมั่นใจ เขามองตัวเองสูงกว่า เมื่อเขามองตัวเองอย่างนั้น เขาก็เหยียดอิสราเอล ดูหมิ่น เพราะเขามองว่าเขาเหนือกว่า และนี่กลายเป็นเหตุให้พระเจ้าส่งโอบาดีห์ไปเผยพระวจนะ
………………………………..…….
ในโอบาดีห์ใช้คำว่า เอโดม ปฏิบัติไม่ดีกับน้อง ในพระคัมภีร์มีคำว่า “พี่น้องก็ควรช่วยเหลือกันในวันที่ยากลำบาก”
แต่สำหรับ เอโดมแล้ว ยูดาห์ในวันที่ยากลำบาก แทนที่เขาจะช่วย กลับกลายเป็นว่าเขาช่วยศัตรูทำร้ายพี่น้องของตน ในพระคัมภีร์ตอนนี้จึงปรากฏคำว่า
เจ้าไม่ควร…
เจ้าไม่ควร…
เจ้าไม่ควร…
เจ้าไม่ควรยืนยิ้มอยู่ด้วยความพอใจ
ในเมื่อน้องชายของเจ้ารับเคราะห์ในครั้งนั้น
เจ้าไม่ควรเปรมปรีดิ์เย้ยประชาชนยูดาห์
ในเมื่อเขาทั้งหลายถูกทำลาย
เจ้าไม่ควรจะโอ้อวด
ในวันที่เขาตกทุกข์ได้ยาก
เจ้าไม่ควรเข้าประตูเมืองแห่งประชากรของเรา
ในวันนั้น เมื่อเขาถูกทำลาย
เออ เจ้าไม่ควรยืนยิ้มอยู่ในเรื่องภัยพิบัติของเขา
ในวันนั้น เมื่อเขาถูกทำลาย
เจ้าไม่ควรจะเข้าริบทรัพย์สินของเขาไป
ในวันนั้น เมื่อเขาถูกทำลาย
เจ้าไม่ควรจะยืนสกัดทางแยกของเขา
เพื่อจะดักจับพวกหลบหนีของเขา
เจ้าไม่ควรมอบผู้ที่รอดมาได้ให้แก่ศัตรูของเขา
ในวันที่เขาตกทุกข์ได้ยาก
นี่คือส่ิงที่เอโดมปฏิบัติไม่ดีกับน้อง และ หากมองในอีกแง่หนึ่งพระเจ้าก็คาดหวังให้ เอโดม ปฏิบัติต่อพี่น้องในแบบที่เขาไม่ได้ทำในตอนนี้ เพราะพระองค์ไม่ได้มองเอโดมเป็นศัตรู
ถ้าเรามองย้อนกลับไป ตอนที่โมเสสขอผ่านทาง ก็มีเขียนไว้ว่าอย่าโจมตีเอโดม เพราะเขาเป็นพี่น้องกับเรา หรือ ในเฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ยี่สิบสามข้อเจ็ด ก็บอกว่าอย่าเกลียดคนเอโดมเพราะเขาเป็นพี่น้องของเรา
แต่คนเอโดมไม่ได้มองแบบนี้ เขาไม่ได้มองว่าอิสราเอลเป็นพี่น้อง คำพิพากษาจึงมาถึงเอโดมโดยเฉพาะ ว่าสิ่งที่เขาทำกับอิสราเอลก็จะมีคนทำกับเขาแบบนั้นเช่นกัน และเขาจะไม่สามารถกลับมารุ่งเรืองจนรวมกันเป็นชาติได้อีก
คำเผยพระวจนะนี้กลายเป็นจริงในสมัยต่อมา ในสมัยปลายพระคัมภีร์เดิม เอโดมถูกทำลายอย่างราบคาบโดยพวกอาหรับ จนกลายเป็นเพียงซากปรักหักพัง
หนึ่งร้อยกว่าปีหลังจากยุคโอบาดีห์ ชาวนาบาเทียน(อาหรับ) เข้ายึดเอโดม แล้วตั้งเอาเมือง เพตรา เป็นเมืองหลวง (ซึ่งขุดเจาะโดยคนเอโดม) ส่วนคนเอโดมที่เหลือรอดอพยพไปอยู่ทางตอนใต้ของยูดาห์ คือ ที่เนเกบ พอสิ้นชาติแล้วคนที่เหลือก็กลายเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย ซึ่งถูกเรียกว่า ชาว อีดูเมีย
ซึ่งชาวอีดูเมียและความสัมพันธ์ที่เป็นแบบไม้เบื่อไม้เมากับอิสราเอลก็ยังคงไปปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่อีกครั้ง
……………………………..…
เมื่อเป็นชนกลุ่มน้อยนั้น ชาวอีดูเมียถูกชาวยิวบังคับให้มาถือศาสนายิว ซึ่งเขาก็ต้องยอมเพราะเป็นชนกลุ่มน้อย เขาก็กลายเป็นคนที่ถูกบังคับให้เชื่อ ต่อมาเมื่อโรมันเข้ามายึดปาเลสไตน์ “แอนติพาเธอร์” ชาวอีดูเมียมีส่วนช่วยโรมในระหว่างยุคสงครามกลางเมืองของโรม ทำให้เขามีเส้นสายและสนิทสนมกับผู้นำของโรมจนถูกแต่งตั้งให้ปกครองอิสราเอล ทั้งๆที่แท้จริงแล้วเขาไม่ใช่ชาวยิว เมื่อเขามีลูก อำนาจนั้นก็ถูกส่งต่อให้ลูกเขาขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง นั่นก็คือ เฮโรด
เฮโรดคือผู้ออกคำสั่งให้ฆ่าทารกชาวยิวในตอนที่พระเยซูเกิดนั่นเอง นี่เป็นความขัดแย้งที่เป็นเรื่องราวต่อเนื่องระหว่างสองชนชาตินี้ที่ยาวจนมาถึงพระคัมภีร์ใหม่
……………………………………
แล้วเรื่องราวของ เอโดม ก็มาจบลงตรงที่พระเจ้าพิพากษาความเย่อหยิ่งของเขา และ มันก็เป็นจริงตามนั้น ภายหลังสิ่งที่เขามั่นใจก็ไม่เหลือ และไม่เคยได้รับการรื้อฟื้นอีกเลย
เมืองเพตรากลายเป็นเพียงซาก เพราะเส้นทางการค้าเปลี่ยน จากผลทั้งสงคราม และ แผ่นดินไหว ทิ้งให้กลายเป็นเมืองร้างอยู่ใต้ฝุ่นของทะเลทราย
ความมั่นใจที่เขาเคยคิดว่าไม่เคยถูกโค่นล่มได้ แม้แต่ความมั่นใจในสติปัญญา พันธมิตร เศรษฐกิจ สุดท้ายก็ไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้เลย
ความมั่นคงจอมปลอมไม่อาจเป็นความมั่นคงที่แท้จริงได้ และ ความมั่นคงที่เขาเคยมั่นใจไม่สามารถรักษาชีวิตของเขาได้เลย
นี่คือเรื่องราวของพงษ์พันธ์ของ “เอซาว”
แล้ว “ยาโคบ” หล่ะ?
………………………
อันที่จริงแล้วยาโคบก็ไม่ได้ต่างจากเอซาว ถ้าเราเคยฟัง podcast เรื่องชีวิตของยาโคบ (จากศูนย์ถึงร้อย) (from zero to hundred) เราก็จะพบว่า ยาโคบก็มีความมั่นใจไม่ต่างกัน เพียงแต่เมื่อเขามีประสบการณ์กับพระเจ้า จากความมั่นใจ 100% ในตัวเอง และ พระเจ้าเป็น 0 เมื่อถูกเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ความมั่นใจของเขาก็ลดลงจนเป็น 0 และ ย้ายไปมั่นใจในพระเจ้า 100% แทน จนกลายเป็นต้นกำเนิดอิสราเอล
ส่ิงที่ต่างกันระหว่าง ยาโคบ กับ เอซาว คือ การที่เขาค่อยๆเคลื่อนจากความมั่นใจในตัวเอง มามั่นใจในพระเจ้า
เรื่องในพระธรรมโอบาดีห์ เลยกลายเป็นภาพคู่ขนาน ระหว่าง ความเย่อหยิ่งของเอโดมที่นำไปสู่หายนะ กับ เรื่องราวของอิสราเอลที่ได้รับการทรงเลือกให้เป็นชนชาติของพระเจ้า
เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่า อิสราเอล มีสิทธิพิเศษเหนือกว่า เพราะการหักพันธสัญญาของเขาก็นำเข้าสู่การถูกพิพากษาเหมือนกัน เพียงแต่ ในตอนท้าย พระเจ้าสัญญาว่าจะรื้อฟื้นอิสราเอลขึ้นมาใหม่
พระคัมภีร์พูดถึงการลี้ภัยใน ศิโยน ในขณะที่คนเอโดม สร้างเมืองในภูเขา แต่สำหรับอิสราเอลจะมีการลี้ภัยไปยังภูเขาศิโยน เป็นภาพคู่ขนาน เมื่อความปลอดภัยของคนเอโดม อยู่ในภูเขาที่เขาขุด แต่พระคัมภีร์กำลังบอกว่าความปลอดภัยที่แท้จริงอยู่ที่ ศิโยน คือ การลี้ภัยในพระเจ้า
ในแง่หนึ่งพระคัมภีร์ตอนนี้ กำลังยืนยันว่าพระเจ้ายุติธรรม พระเจ้าพิพากษา ทั้งคนเอโดม และ ก็พิพากษาอิสราเอล เพราะทำผิด และ เย่อหยิ่ง เช่นเดียวกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง พันธสัญญาระหว่างประชากรของพระเจ้ากับคนของพระองค์ไม่ได้ขาดหายไป พระองค์ยังสัตย์ซื่อต่อสัญญาของพระองค์ จึงนำไปสู่การรวบรวมและรื้อฟื้นต่อคนของพระองค์ นั้นคือตอนจบของ โอบาดีห์
……………………………………….
เรื่องนี้ดูไม่ยุติธรรมหรือเปล่า?
ทำไมพระเจ้าเลือกยาโคบ?
ทำไมไม่เลือกเอซาว?
พระเจ้าใช้อะไรในการเลือก?
อันที่จริงในพระคัมภีร์มีคำที่แรงกว่านี้อีก เพราะมีคำที่ว่า เรารักยาโคบแต่เอซาวเราชัง
ถ้าอย่างนั้นพระเจ้าเลือกที่รักมักที่ชังหรือเปล่า? อันที่จริงประเด็นนี้ถูกนำมาพูดโดย อ.เปาโล ในพระคัมภีร์ใหม่ว่าพระเจ้าเลือกอิสราเอลด้วยความลำเอียงหรือเปล่า
ในโรม บทที่เก้า ได้ตอบคำถาม ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในการทรงเลือกด้วยสิทธิอำนาจของพระองค์ อ.เปาโล ตอบเรื่องนี้ ท่ามกลางพี่น้องผู้เชื่อที่มีปัญหา ระหว่างคนยิวและคนต่างชาติ ว่าการทรงเลือกของพระเจ้า ขึ้นอยู่กับพระเมตตา ดังนั้นจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเลย
การทรงเลือกของพระเจ้าจึงไม่ได้เกิดจากความลำเอียง ไม่ได้มีอคติ หรือ เพราะยาโคบดีกว่าเอซาว การที่พระเจ้าเลือกอิสราเอลเป็นชนชาติของพระองค์ ก็ไม่ได้เป็นเพราะคุณงามความดีของอิสราเอล เพราะเราต่างก็เห็นว่าอิสราเอลล้มเหลวในการเป็นชนชาติของพระเจ้าที่เกิดขึ้นตลอดในพระคัมภีร์ และ เมื่อไม่ใช่เพราะการกระทำ เราจึงควรมองว่านี่คือ “พระคุณ” ของพระเจ้า
ถ้าอย่างนี้แล้ว พระคุณของพระเจ้าทำให้อิสราเอลได้รับสิทธิเป็นพิเศษมากกว่าชนชาติอื่นหรือเปล่า?
ถ้ามองเพียงแค่นี้ พระเจ้าต้องลำเอียงแน่นอน หากแต่ว่า เราควรมองภาพรวมทั้งหมดก่อน เราจึงจะเห็นประเด็นที่สำคัญที่สุด
การเลือกของพระเจ้าไม่ได้เรียกอิสราเอลเพื่อให้เข้ามารับสิทธิพิเศษเป็นสำคัญ แต่ การเรียกให้มาเป็นชนชาติของพระเจ้า มาพร้อมกับ “ความรับผิดชอบ” อีกด้วย เป็นการทรงเรียก เพื่อ
“ ก า ร เ ป็ น พ ร ะ พ ร สู่ บ ร ร ด า ป ร ะ ช า ช า ติ ”
นี่เป็นพันธสัญญาที่ทรงเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยอับราฮัม จนถึงการ ทำพันธสัญญาที่ภูเขาซีนาย
เป็นพันธสัญญาที่สำคัญ เพราะต่างมี “ความรับผิดชอบ” ที่ต่างฝ่ายต่างต้องทำ เราจึงเห็นความสำคัญนี้ได้จากเนื้อหาของผู้เผยพระวจนะส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่มาถึงเพื่อ เตือน กล่าวโทษ และ ชี้ให้เห็นผลของ “ความรับผิดชอบ” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อ อิสราเอลไม่ทำตาม พันธสัญญา
และเราก็ได้เห็นว่าในที่สุด ผลของ “ความรับผิดชอบ” นั้นเกิดขึ้นในรุนแรงแค่ไหนต่อชนชาติที่ได้รับการทรงเลือกนี้
…………………………………………..
เมื่อเราพูดถึงการทรงเลือก เรามักจะนึกถึงแต่สิทธิพิเศษที่บางคนได้รับและบางคนไม่ได้ ฟังดูแล้วเต็มไปด้วยความลำเอียง แต่ เรามักไม่ได้มองเห็นว่า มันมาพร้อมกับความรับผิดชอบด้วย
พระเจ้าเลือก อิสราเอล แต่แท้จริงแล้วพระเจ้ารักคนทั้งโลก จึงเลือกอิสราเอลก่อน เพื่อเป็นต้นแบบแห่ง “ประชากรของพระเจ้า” ที่ดำเนินชีวิตในแสงสว่างแห่งความเชื่อเพื่อเป็นตัวอย่างแก่คนในโลก เพื่อจะนำคนกลับมาสู่พระเจ้า
แต่ เราก็รู้ว่าในที่สุดแล้ว อิสราเอล ก็ล้มเหลว ในการเป็นต้นแบบนั้น
ในตอนท้ายพระธรรมโอบาดีห์จึงพูดถึงสัญญาแห่งการรื้อฟื้นคนของพระเจ้าขึ้นใหม่ แต่การรื้อฟื้นอิสราเอลไม่ได้จบแค่การรื้อฟื้นจากการเป็นเชลยเท่านั้น การรื้อฟื้นนี้มาจบสมบูรณ์ในพระคัมภีร์ใหม่ ผ่านทาง พระเยซูคริสต์
อิสราเอล ล้มเหลวในการเป็นแสงสว่างแห่งบรรดาประชาชาติ แต่พระเยซูกำลังเป็นอิสราเอลใหม่ ที่จะดำเนินแผนการต่อจากอิสราเอลที่ล้มเหลวพระองค์ประกาศว่าเราเป็นแสงสว่างแห่งโลก เพื่อเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตในความเชื่อ ด้วยการถ่อมใจลงเชื่อฟัง จนกระทั่งยอมตายบนไม้กางเขน และผู้ที่เชื่อวางใจในพระองค์ก็จะดำเนินชีวิตในความเชื่อโดยพระองค์กลายเป็น อิสราเอลใหม่
คริสเตียนผู้เชื่อจึงกลายเป็นอิสราเอลใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ได้ถูกเรียกมาเพียงเพื่อรับสิทธิพิเศษในเรื่องความรอด แต่เรากำลังมี “หน้าที่” เพื่อนำคนอื่นมาสู่ความรอดด้วยเช่นกัน
เมื่อเราได้มาถึงความรอด ผ่านทางความเชื่อในพระเยซูคริสต์ เพื่อเป็นประชากรของพระเจ้า ชีวิตของเราจึงกลายเป็นเช่นเดียวกับชื่อของพระธรรมตอนนี้ คือ “โอบาดีห์” หรือ “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” ซึ่งการรับใช้นี้ยังมีความหมายว่า “ผู้นมัสการ” และการนมัสการ คือการ “อุทิศชีวิต” ต่อพระเจ้าอีกด้วย
ชีวิตคริสเตียน จึงต้องเรียนรู้ที่จะถ่อมใจ และ วางใจในพระเจ้า เพราะหากเรามั่นใจในส่ิงที่ดูเหมือนมั่นคงกว่าพระเจ้า สุดท้ายมันจะพังลง ไม่ต่างจากคน เอโดม
เพราะความมั่นใจที่แท้จริงมีเพียง ความมั่นใจในแผนการของพระเจ้า คือ ความรอดในพระเยซูคริสต์ผ่านทางความเชื่อ เท่านั้นเอง
……………………………………
.
.
.