EP.1

ทำความรู้จัก…ตัวฉัน


ผู้เขียน : ‘พี่เฟย’ ณิชา หลีหเจริญกุล (นักจิตบำบัด)

Introduction to Self

.
“เมื่อพูดถึง Self ก็คือการพูดถึงตัวเอง”

 

คำว่า Self1 มีคำพ่วงท้ายตามเยอะแยะมากมาย เช่น Self – concept, Self – understanding, Self – esteem, Self – awareness, Self – image…และอีกมากมายที่มีชื่อเรียกในทางจิตวิทยา การให้นิยามแต่ละชื่อก็มีความหมายคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกัน ชวนให้สับสนงุนงงเวลาอ่าน แต่โดยรวมแล้ว การมีคำว่า Self ขึ้นต้น คือการพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับตัวเองในแง่มุมต่างๆ เช่น มุมมองที่มีต่อตัวเอง (Self – concept), การเข้าใจรู้จักตัวเอง (Self – understanding), การนับถือตัวเอง (Self – esteem) เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวรวบรวมความหมาย คุณค่า การประเมิน หรือตัดสินตัวเองว่า

 

ฉันคือใคร / ฉันเป็นคนอย่างไร / ฉันรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจตัวเอง / ฉันมีคุณค่าหรือไม่ / ฉันรู้สึกชอบหรือไม่ชอบตัวเอง / ฉันมองว่าตัวเองเก่งหรือไม่เก่ง / ฉันมองว่าตัวเองถนัดหรือไม่ถนัดอะไร / ฉันประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว / ฉันมองว่าตัวเองมีบุคลิกหรือลักษณะนิสัยอย่างไร  

 

 

ถ้าจะมองให้กว้างขึ้นอีก คำตอบของคำถามที่ว่า “ฉันคือใคร และฉันเป็นฉันทุกวันนี้ได้อย่างไร” นั้น ล้วนมีที่มาที่ไป ซึ่งในซีรี่ส์ “Self-Esteem” นี้ “พี่เฟย” ผู้เขียนจะแบ่งการอธิบายเป็นทีละส่วนไปตามหัวข้อในแต่ละตอนดังต่อไปนี้

 

EP.1: เล่าถึงความเข้าใจเรื่อง Self แบบกว้างๆ

EP.2: ครอบครัวและการเลี้ยงดูที่ส่งผลกับการสร้างตัวตน

EP.3: ตัวตนของเรากับพระเจ้า

 

_______________

 

วันนี้มีแบบฝึกหัดสั้นๆ เกี่ยวกับ Self-Esteem ที่พี่เฟยคัดลอกและแปลมาจากหนังสือ The Self – Esteem Workbook  มาให้ลองทำค่ะ

 

คำแนะนำ: แนะนำให้ตรงไปตรงมากับตัวเอง ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องคิดนาน อ่านปุ๊บตอบเลย ไม่ต้องกลัวว่าผลลัพท์ที่ได้จะเป็นตัวตัดสินไปตลอดชีวิต เพราะตัวเราเปลี่ยนแปลงเสมอ, ตอบอย่างซื่อสัตย์เพื่อเราจะได้รู้ว่าตัวเราในตอนนี้พอใจกับตัวเองประมาณไหน, ทำสบายๆ เพราะแบบฝึกหัดนี้ไม่ได้เครียด หรือต้องลุ้นอะไรขนาดนั้น มันเป็นแค่คำถามที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นเท่านั้นเอง

 

วิธีทำ: จดคะแนนจาก 0 – 10 ว่าคุณมีความคิดหรือความเชื่อในแต่ละข้อความข้างล่างอย่างไรบ้าง (ตอบไล่ระดับตามตัวเลข จาก 0 หมายถึง ไม่จริงเลย ไปจนถึง 10 หมายถึง จริงมาก)

 

  1. ฉันเป็นคนที่มีคุณค่า
  2. ฉันมีค่าเท่าๆ กับคนอื่น
  3. ฉันมีคุณสมบัติที่ฉันต้องการซึ่งจะทำให้ฉันมีชีวิตที่ดี
  4. เมื่อฉันจ้องมองตัวเองในกระจก ฉันรู้สึกพอใจในตัวเอง
  5. ฉันไม่ได้รู้สึกว่า โดยรวมแล้ว ฉันเป็นคนล้มเหลว
  6. ฉันสามารถหัวเราะตัวเองได้
  7. ฉันมีความสุขที่ได้เป็นตัวเอง
  8. แม้ว่าจะถูกคนอื่นปฏิเสธ หรือไม่สนใจ แต่ฉันก็ยังชอบตัวเอง
  9. ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ฉันรักและพยุงตัวเองได้
  10. โดยรวมแล้ว ฉันพอใจกับวิธีที่ฉันพัฒนาจนมาเป็นตัวเอง
  11. ฉันนับถือตัวเอง
  12. ฉันพอใจที่จะเป็นตัวเองมากกว่าเป็นคนอื่น

 

เมื่อตอบครบแล้วให้เอาคะแนนทั้งหมดมารวมกันค่ะ
คะแนนไล่จากระดับ 0 คือขาดความมั่นใจในตัวเอง
จนไปถึง 120 คือมีความมั่นใจในตัวเองมาก

 

 

ถ้าใครคะแนนน้อยก็อย่าตกใจไปนะคะ เพราะมันอาจจะเป็นไปได้ว่า ตัวตนที่เราอยากจะเป็น (Ideal Self) กับตัวตนที่เราเป็นอยู่ (Actual Self) มันมีความแตกต่างกันอยู่

 

_______________

 

True vs. False Self

 

 

คุณ Rogers นำเสนอไอเดียที่ว่า มุมมองที่เรามีต่อตัวเองและพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างจะเป็นปัจจัยสำคัญอันส่งผลต่อ “การกำหนดตัวตนจริงกับตัวตนปลอม (True vs. False Self)” ในที่นี้หมายถึงการเลือกตัดสินใจว่าด้านไหนของตัวเราจะถูกแสดงออกมา และด้านไหนของเราจะถูกกลบซ่อนไว้

 

ตัวอย่างเช่น: ตัวจริงของพี่เฟยเป็นคนเสียงดังโวยวาย

 

– ถ้าอยู่ในกลุ่มคนหรือสังคมที่ไม่ยอมรับพฤติกรรมเสียงดังโวยวาย พี่เฟยก็จะสร้างตัวปลอมที่สุภาพเรียบร้อยขึ้นมา โดยที่พี่เฟยรู้ตัวว่า เรากำลังเป็นตัวปลอม และจำต้องเป็นแม้จะไม่ชอบตัวเองเท่าไหร่ก็ตาม เพราะสังคมนี้ยอมรับวิถีพฤติกรรมที่สุภาพเรียบร้อย

 

– แต่ถ้าอยู่กับคนที่ยอมรับพฤติกรรมเสียงดังโวยวายได้ พี่เฟยจะมีความสุขกับการเป็นตัวจริงของตัวเอง

 

สรุปคือ จะเห็นได้ชัดว่า บางทีกรอบคิด / ความคาดหวังของสังคม / วัฒนธรรมในบริบทต่างๆ มีผลให้เราแปลงร่างเป็นตัวปลอม ซึ่งบางทีเราอาจอยู่ในสภาวะตัวปลอมจนเราคิดไปว่านี่คือตัวจริง อันนี้ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ใจมากขึ้น เพราะเกิดความขัดแย้งในใจ แต่ถ้าเรามีสักที่ หรือสักคนที่ยอมรับตัวจริงของเราได้ เราก็อาจจะพอหยวนๆ กับการต้องเป็นตัวปลอมบ้างในบางเวลา เพราะสองอย่างนี้ต้องหาความสมดุล ไม่อย่างนั้นความทุกข์ใจจะเพิ่มสูงเมื่อน้ำหนักในการเป็นตัวปลอมมีมากกว่าตัวจริง

 

_______________

 

Actual and Ideal Self

 

 

ความต่างระหว่างตัวตนที่เราเป็น (Actual Self)

กับตัวตนที่เราอยากเป็น (Ideal Self)

จะมีผลกับการกำหนดการนับถือตัวเอง (Self-esteem) อีกที

 

ถ้าตัวตนที่ “เราอยากเป็น” มันดูห่างไกลจากตัวตนที่ “เราเป็น” การนับถือตัวเอง หรือการให้คุณค่าในตัวเองก็จะไม่ค่อยแน่นอนและอาจค่อนไปทางต่ำหน่อย แต่ถ้าตัวตนที่เราอยากจะเป็นใกล้เคียงกับตัวตนที่เราเป็น การนับถือตัวเอง หรือการให้คุณค่าในตัวเองก็จะค่อนข้างคงที่

 

ตัวอย่างเช่น:

 

สิ่งพี่เฟยอยากเป็น (Ideal Self)

  1. สาวออฟฟิศทำงานแต่งตัวเกร๋ๆ ใส่ส้นสูง หุ่นดี ทาปากสีแดงเลือดนก มีเงินเยอะๆ
  2. อยากเป็นภรรยา อยู่บ้านให้สามีเลี้ยง ไม่ต้องทำงาน (อันนี้ไม่ได้กวน ไม่ได้เหน็บใครเลย คือถ้าเป็นสองข้อนี้ได้ คือดีย์!)

 

*เมื่อเจอคนที่เป็นแบบ Ideal Self ของพี่เฟยจึงมักเกิดอาการอิจฉา

 

ความเป็นจริงของพี่เฟย (Actual Self)

  1. ใส่ส้นสูงแล้วโ_ตรเมื่อย และเดินลำบากมาก อีกอย่างคือปกติเป็นคนเดินเร็ว พอใส่ส้นสูงแล้วเดินเร็วมากไม่ได้ ทุกวันนี้เลยมีส้นสูงแค่ไม่กี่คู่ เพื่อใส่ไปงานแต่งคนอื่น ส่วนรองเท้าประจำวันคือคัชชูธรรมดาไร้ส้น มีความพุงพลุ้ย ทาปากอยู่ช่วงนึงแล้วก็เลิก เพราะขี้เกียจ เงินก็มีไม่เยอะ พยายามเก็บอยู่ด้วยความเครียด
  2. เพียงแค่อยู่บ้าน ทำกับข้าว อ่านหนังสือติดกันสองวันก็เบื่อจะแย่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยถ้าจะใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ทำกับข้าว ดูแลสามี (เพราะสามีควรจะดูแลตัวเองเป็น!)

 

สรุปคือ ความขัดแย้งระหว่าง Ideal Self และ Actual Self บังเกิดขึ้น > ทำให้พี่เฟยต้องยอมรับ Actual Self ของตัวเองตามสภาพความเป็นจริง > ซึ่งพอเริ่มมองความเป็นจริงก็ทำให้ค้นพบว่า ภาพ Ideal Self ของตัวเองเริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากยอมรับภาพ Actual Self ได้มากขึ้น และการทำงานด้านจิตบำบัดก็ให้ความสุขและความพอใจกับตัวเองได้ > ความอิจฉาชาวบ้านจึงเริ่มลดลง เพราะฉันเริ่มมีความสุขกับการเป็นตัวเองแบบนี้ > ทำให้ระดับการนับถือตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะอยู่กับความจริงของตัวเองได้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าตอนนี้ใครมีความขัดแย้งระหว่าง Ideal Self และ Actual Self ก็รู้ไว้เถิดว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา เพียงแค่เราสังเกต ค่อยๆ ยอมรับ และสำรวจดูว่า

 

“ฉันทำหรือเป็นแบบนี้เพื่ออะไร? ฉันต้องการอะไรจริงๆ?

ฉันทำเพื่อให้คนอื่นยอมรับ หรือฉันทำเพราะฉันยอมรับตัวเองได้?”

 

ไม่มีอะไรผิดหรือถูก เพราะการตัดสินใจเลือกเป็นตัวของเรา ขอให้แฮปปี้กับตัวเอง แม้ว่าบางทีใครจะไม่ชอบเราบ้างก็ตาม

 

 

“8. แม้ว่าจะถูกคนอื่นปฏิเสธ หรือไม่สนใจ แต่ฉันก็ยังชอบตัวเอง

(I like myself, even when others reject me.)”

. . .

ข้อนี้พี่เฟยให้คะแนนตัวเองเต็ม 10 ใครให้เต็ม 10 บ้าง ยกมือขึ้น!

 

อ้างอิง

  1. Santrock, J. W. (2014). The Self, Identity, Emotion, and Personality. In J. W. Santrock, Adolescence (15th ed., pp. 130-166). New York: McGraw-Hill Education.
  2. Schiraldi, G. R. (2001). Why Self-Esteem? In G. R. Schiraldi, The Self-Esteem Workbook (pp. 5-8). CA: New Harbinger Publications, Inc.
  3. Lynch, M. F., La Guardia, J. G., & Ryan, R. M. (2009). On being yourself in different cultures: ideal and actual self-concept, autonomy support, and well-being in China, Russia, and the United States. The Journal of Positive Psychology, 290-304.

(ติดตามซีรี่ส์ “Self-Esteem” ตอนต่อไปได้ในวันพฤหัสฯหน้า

เวลา 19.00 น. ทางเว็บไซด์ www.choojaiproject.org หรือ

กดติดตามทางเพจเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/choojaiproject/)


Previous Next

  • Author:
  • หลังจากเรียนจบศิลปกรรมศาสตร์ การละคร ม.ธรรมศาสตร์ ก็สนใจทำงานด้านเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากเรียนต่อปริญญาโทสาขาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นต่อปริญญาโทด้านศิลปะบำบัดที่ LASALLE College of Arts ที่ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันกลับมาทำงานประจำที่คลีนิค The Oasis (https://www.theoasiscare.com/nicha-leehacharoenkul)
  • Illustrator:
  • เฮียกิดไจ๋
  • หนุ่มน้อยไฟแรงผู้รับใช้ เป็นคนเจนวายสาย conservative อนุรักษ์มือถือแบบปุ่มกด ไม่นิยมการใช้โซเชียล ชื่นชอบการอบคุ้กกี้ ดูเตียบ่อกี้และละครนาคีกับที่บ้าน เชี่ยวชาญทางด้านกราฟฟิกและงานครัว นี่มัน! หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ เลยนี่นา!
  • Editor:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน