ชื่อหนังสือ : เด็กชายในชุดนอนลายทาง (The Boy in the Striped Pyjamas)
ผู้แต่ง: John Boyne
แนวหนังสือ: วรรณกรรมเยาวชน/นวนิยายอิงประวัติศาสตร์/นวนิยายยุคหลังสมัยใหม่
ภาพประกอบจากภาพยนตร์เรื่อง: The Boy in the Striped Pyjamas (2008)
อ่านมาเล่า ชุด วรรณกรรมเยาวชน วันนี้ขอหยิบ…
The Boy in the Striped Pyjamas หรือ เด็กชายในชุดนอนลายทาง ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ประพันธ์ขึ้นในปี 2006 เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนอ่าน แต่ขณะเดียวก็ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ใหญ่ ด้วยเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สองในประเทศเยอรมนี ภายใต้การปกครองของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โดยมีฉากหลังของเรื่องเป็นค่าย Auschwitz ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นค่ายกักกันใช้แรงงานและสังหารมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดของนาซี มาเล่าให้ฟัง
*บทความนี้เป็นการวิเคราะห์หลังอ่าน จึงมีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่องเกือบทั้งหมด
ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการทราบรายละเอียดของเรื่อง
_______________
เรื่องย่อ:
บรูโน เด็กชายอายุราว 9 ขวบ ต้องย้ายจากบ้านในกรุงเบอร์ลินไปอยู่บ้านใหม่ที่ห่างไกลจากตัวเมือง ใครต่อใครเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า “เอาท์วิธ” บ้านหลังเล็กที่มีแต่ความเงียบเหงาทำให้เขาคิดถึงโรงเรียน เพื่อนสนิททั้งสามคน และบ้านที่จากมา แต่ก็ไม่อาจโต้แย้งอะไรได้ ด้วยเหตุผลสำคัญของครอบครัวที่อธิบายว่าจำเป็นต้องย้ายมาตามงานของพ่อ ซึ่งเป็นนายทหารใหญ่ของกองทัพ
ไม่นานนัก เขาก็ได้ค้นพบจากหน้าต่างห้องนอนในบ้านใหม่ว่าที่จริงแล้วบ้านของเขาไม่อาจเรียกว่าเงียบเหงาได้เสียทีเดียว เพราะเมื่อมองพ้นสวนดอกไม้ในบริเวณบ้านไปถึงรั้วหนามสูงใหญ่ที่ทอดยาวไปไกลเกินกว่าจะมองเห็นที่สิ้นสุดก็พบว่าเขามีเพื่อนบ้านนับร้อยคน ทั้งเด็ก คนหนุ่ม และคนแก่ ต่างยืนรวมกันเป็นกลุ่มๆ คนบางกลุ่มถูกล่ามโซ่เอาไว้ บางกลุ่มเข็นรถเข็นแล้วหายลับไปในกระท่อม บางกลุ่มแบกพลั่วโดยมีทหารเดินนำ กลุ่มคนทั้งหมดล้วนเป็นผู้ชายที่โกนผมออกจนหมด และสวมเสื้อผ้าเหมือนกัน คือชุดนอนและหมวกลายทางสีเทา
…
วันหนึ่งบรูโนออกเดินสำรวจไปตามริมรั้วหนามกระทั่งได้เจอกับ ชมูเอล เด็กชายในชุดนอนลายทางที่นั่งอยู่อีกฟากของรั้ว หลังจากนั้นกิจวัตรของบรูโนก็คือการไปนั่งคุยกับชมูเอลพร้อมกับหยิบเอาขนมและอาหารไปให้ แล้วมิตรภาพของทั้งคู่ก็งอกเงยผ่านรั้วหนามจนกระทั่งเกือบปีผ่านไป ในที่สุดพ่อของบรูโนก็ตกลงให้ย้ายลูกๆ กลับไปเบอร์ลิน
บรูโนได้บอกเรื่องนี้กับชมูเอลล่วงหน้าหนึ่งวันก่อนที่จะย้ายออก ขณะเดียวกันเขาก็พบว่าชมูเอลกำลังเศร้าเสียใจเรื่องการหายตัวไปของพ่อ ระหว่างที่ทั้งสองพูดคุยปรึกษากันก็เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ที่บรูโนจะข้ามไปสำรวจอีกฝั่งของรั้ว โดยให้ชมูเอลหยิบชุดนอนลายทางที่เก็บอยู่ในกระท่อมมาให้เขาเปลี่ยน ซึ่งเวลานั้นก็เป็นช่วงจังหวะพอดีกับที่เขาเพิ่งถูกโกนหัวเพราะติดเหา ทำให้การได้ผจญจัยร่วมกันเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อตามหาพ่อของชมูเอลกลายเป็นสัญญาที่ทำได้จริงในวันถัดมา
บรูโนที่เปลี่ยนเสื้อผ้ามุดตัวลอดผ่านรั้วเข้าไปกับชมูเอล ไม่นานนักเสียงนกหวีดจากทหารดังขึ้นให้พวกเขาเดินแถวเพื่อเข้าห้องขนาดยาวที่แม้แต่อากาศก็ดูจะลอดผ่านเข้ามาไม่ได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะมืดสนิทไป
…
และเรื่องราวของทั้งคู่ก็จบลงตรงนี้
_____________________________
ถ้าจะให้กล่าวถึงทุกประเด็นในหนังสือคงไม่อาจจบได้ในความยาวที่ถูกกำหนดไว้
ดังนั้นผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงเพียงเรื่องที่สนใจโดยสังเขป
ค่านิยมของโลก
สังคมนิยม ชาตินิยม อำนาจนิยม อิสรนิยม
คตินิยม ทุนนิยม กษัตริย์นิยม อนุรักษนิยม ฯลฯ
มนุษย์บัญญัติศัพท์เหล่านี้ขึ้นเพื่ออธิบายถึงแนวคิด อุดมการณ์ และจุดยืน ของค่านิยมแบบต่างๆ เพื่อจำแนกความนิยมของตนโดยการแบ่งออกเป็นกลุ่ม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เคยกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดสงครามโลกมาแล้วทั้งสองครั้ง เช่นเดียวกับฉากหลังในหนังสือเล่มนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือ ฟือเรอร์ (ผู้นำ) ของเยอรมนีขณะนั้นจำกัดค่านิยมของตนโดยแสดงจุดยืนแบบ “ชาติสังคมนิยม” อย่างสุดโต่งด้วยการฆาตกรรมมนุษย์หลายล้านคน
จากในเรื่อง พ่อของบรูโนที่อยู่ในตำแหน่งผู้การก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมแบบเดียวกันกับฟือเรอร์ เห็นได้ชัดจากการส่งต่อแนวคิดนั้นให้ลูกชาย เช่น การสอนให้ทำความเคารพด้วยคำว่า “ไฮล์ ฮิตเลอร์” ซึ่งแสดงออกถึงลัทธิชาตินิยมและอำนาจนิยมฝ่ายขวา, การสอนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์อันเป็นที่มาของเชื้อชาติตนสำคัญเป็นที่หนึ่ง, การสอนให้เห็นว่างานที่ตนกำลังทำนั้นเป็นงานสำคัญที่แสดงถึงความรักชาติ โดยการพยายามแก้ไขประวัติศาสตร์ (ในทางที่ฟือเรอร์เห็นว่าถูกต้อง)
“แต่บ้านเมืองของเรานั้นอยู่ที่สวรรค์
เรารอคอยผู้ช่วยให้รอด ซึ่งจะเสด็จมาจากสวรรค์คือพระเยซูคริสตเจ้า”(ฟิลิปปี 3:20)
พระคัมภีร์ข้อนี้ย้ำเตือนให้เราเข้าใจว่าบ้านเมืองที่แท้อยู่ที่สวรรค์ ไม่ใช่บนโลกนี้ เช่นนั้นแล้วเท่ากับว่าค่านิยมบนโลกทั้งหลายก็จะไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลยในแผ่นดินสวรรค์ และหากใครจะจำแนกค่านิยมของคริสเตียนเราว่าเป็นศาสนนิยม เทวนิยม หรืออะไรก็ตาม ก็ขอให้มองข้ามคำจำกัดความเหล่านั้นไปที่จุดประสงค์ของการรักษาค่านิยมฝ่ายวิญญาณเพื่อชีวิตใน “บ้านเมือง” ที่แท้จริงของเรามากกวาการบัญญัติศัพท์ของมนุษย์
ว่าด้วยข้อกำหนดทางกฎหมาย
บริบทอันเป็นฉากหลังในหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในช่วงที่กฎหมายเนือร์นแบร์ก (Nuremberg Laws) เริ่มบังคับใช้จริงในยุคนาซีเยอรมัน (ไรซ์เยอรมัน) ที่เน้นคตินิยมเชื้อชาติ โดยเฉพาะการต่อต้านยิว และยกให้เชื้อชาติอารยันเป็นชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นผลให้เกิดการริดรอนสิทธิและเสรีภาพของชาวยิว ต่อมาขยายไปสู่ชาวโรมานี แอฟริกันเยอรมัน และชาวยิปซี
คริสเตียนส่วนมากคงเคยได้ยินข้อพระคัมภีร์หลายข้อที่สนับสนุนให้ทำตามกฎหมาย อย่างเช่นที่ อ.เปาโลได้บอกให้เราทำตามกฎหมายบ้านเมืองในพระธรรมโรม 13:1-2
“ทุกคนจงยอมอยู่ใต้บังคับของผู้ที่มีอำนาจปกครอง เพราะว่าไม่มีอำนาจใดเลยที่มิได้มาจากพระเจ้า และผู้ที่ทรงอำนาจนั้น พระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น เหตุฉะนั้นผู้ที่ขัดขืนอำนาจนั้น ก็ขัดขืนผู้ซึ่งพระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น และผู้ที่ขัดขืนนั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ”
…
แต่ อ. ก็ลงท้ายประโยคในข้อ 7 บทเดียวกันนั้นว่า
“ความยำเกรงควรแก่ผู้ใด จงยำเกรงผู้นั้น จงให้เกียรติแก่ผู้ที่ควรจะได้รับ”
เราจะเห็นสถานการณ์ตัวอย่างจากในพระคัมภีร์ช่วงที่เปาโลขัดขืนกฎหมายบ้านเมืองโดยประกาศเรื่องราวของพระเยซู แต่อย่างไรก็ต้องยอมรับว่าผลของกฎหมายยังมีอยู่ อย่างที่เปาโลก็ต้องยอมรับผลของการขัดขืนด้วยการถูกโบยตี
“ข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์”
(กิจการ 5:29)
กล่าวคือ หากกฎหมายบ้านเมืองไม่ได้ขัดแย้งกับกฎของพระเจ้าเราก็ควรจะน้อมรับและเชื่อฟังเพราะอำนาจนั้นมาจากพระเจ้าแน่ แต่หากกฎหมายบ้านเมืองขัดแย้งกับกฎของพระเจ้าก็จงเลือกที่จะยึดถือกฎของพระเจ้าก่อน
เป็นเรื่องที่พูดกันยากในทางปฏิบัติหากต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นในยุคของหนังสือเล่มนี้ แต่เมื่อผ่านมาแล้วผู้เขียนจึงขอให้มองในแง่กรณีตัวอย่างของกฎหมายที่ขัดแย้งกับกฎของพระเจ้าในเชิงเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ
ความต่างอยู่ที่ไหน?
“ความแตกต่างอยู่ที่ไหนแน่นะ เขาสงสัยในใจ
แล้วใครกันที่เป็นคนตัดสินว่าคนพวกไหนจะสวมชุดนอนลายทาง
และพวกไหนสวมเครื่องแบบ”
บรูโนคิดสงสัยขึ้นในใจเมื่อเขามองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นว่าคนสองพวกอยู่ด้วยกันแต่ฝั่งทหารดูเหมือนจะเป็นใหญ่ ตอนที่เขาเคยถามพ่อว่าคนพวกที่สวมชุดนอนลายทางเป็นใคร เขาก็ได้คำตอบจากพ่อของเขาว่า “คนพวกนั้นน่ะ… เขาไม่ใช่คนหรอกบรูโน”
ผู้เขียนคิดว่า จอห์น บอยน์ พยายามเลียนแบบมุมมองของเด็กที่ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจตัดสินคนเหล่านี้ และใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสิน รวมถึงคำตอบของผู้ใหญ่ในเรื่องที่พยายามอธิบายให้ง่ายต่อการเข้าใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองของตัวละครที่ทำให้เกิดความรู้สึกสลดหดหู่ในการเหยียดเชื้อชาติ และชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามถึงอุดมการณ์อันนำมาซึ่งความไม่เท่าเทียม
ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ มีหลายข้อที่พูดถึงความเป็นหนึ่งเดียวในพระคริสต์ และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ดังเช่น
“อย่างนี้ไม่เป็นพวกกรีกหรือพวกยิว ไม่เป็นผู้ที่เข้าสุหนัตหรือไม่ได้เข้าสุหนัต
พวกคนต่างชาติหรือชาวสิเธีย ทาสหรือไทก็ไม่เป็น
แต่ว่าพระคริสต์ทรงเป็นสารพัด และทรงดำรงอยู่ในสารพัด”
(โคโลสี 3:11)
เป็นธรรมดาที่มนุษย์มักจะมองเห็นความแตกต่างมากกว่าจะสังเกตเห็นความเหมือน แต่หากเชื่อถึงความเหมือนที่ยิ่งใหญ่กว่าสีผิว เชื้อชาติ หรือเพศ เช่นว่ามนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน เพราะทุกคนมีพระเจ้าเป็นพระบิดาองค์เดียวกัน ก็จะมองข้ามสิ่งเล็กน้อยอันทำให้เกิดความต่างเหล่านั้นไปได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์หรือเสื้อผ้ามาสวมใส่เพื่อแบ่งแยก แต่ให้พระบัญญัติมาหลอมรวมเราให้เป็นหนึ่ง
“ ท่านจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง ความรักไม่ทำอันตรายเพื่อนบ้านเลย เหตุฉะนั้นความรักจึงเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน”
(โรม 13:9-10)
เราเป็นใคร?
“ถ้าเราไม่ใช่ยิว แล้วเราเป็นอะไร?”
บรูโนถามเกรเทล พี่สาวของเขา ที่สุดท้ายแล้วเธอก็ไม่ค่อยแน่ใจนักว่าคำตอบของคำถามข้อนี้คืออะไรกันแน่ เธอยืนยันแต่เพียงว่าตัวเองไม่ใช่ยิว และไม่ชอบยิว เพราะฐานะของตนคือ “ฝ่ายตรงข้าม” ตามในบริบทของเรื่อง เกรเทลถูกสอนมาให้เข้าใจตามสิ่งที่คนรอบตัวเชื่อกันว่าถูกต้อง ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังเชื่ออยู่เท่าไรนัก เพียงแต่จำต่อกันมาอย่างที่พ่อแม่ หรือครูบอกกับเธอ
เชื้อชาติเป็นสิ่งบ่งบอกตัวตนจริงหรือ? หากบรูโนเติบโตในครอบครัวคริสเตียนเขาก็จะเข้าใจว่าบรรพบุรุษของเราล้วนมีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์คู่แรกเช่นเดียวกัน ดังนั้นความต่างทางชาติพันธุ์หรือสภาพร่างกายภายนอกไม่อาจบ่งบอกที่มาของเราได้
เราทุกคนล้วนมีที่มาเดียวกันโดยเริ่มจากมนุษย์คู่แรก (ปฐมกาล 1:26) เราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ประกอบการดี (เอเฟซัส 2:10) เราถูกสร้างและออกแบบมาอย่างพิเศษ (สดุดี 139:14) เราเป็นคนต่างแดนที่อาศัยอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว (1เปโตร 2:11) เราเป็นลูกของพระเจ้า (ยอห์น 1:12) เรามีคุณค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้า พระองค์จึงรักและใส่ใจเราเหลือเกิน (ลูกา 12:7, ยอห์น 3:16, ยอห์น 17:13) ฯลฯ
มีพระคัมภีร์อีกหลายข้อที่อธิบายว่าเราเป็นใคร ดังนั้นเมื่อเกิดสงสัย มีคำถามในใจ หรือต้องการคำจำกัดความ ผู้เขียนก็แนะนำให้กลับไปศึกษาในพระคัมภีร์มากกว่าจะเชื่อตามสิ่งที่ “ใครเขาว่ากันว่า”
_____________________________
สิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตบนโลกคือการเตือนสติตัวเองด้วยพระคำของพระเจ้า ก่อนที่จะรับอุดมการณ์อะไรสักอย่างเข้ามาในใจก็ให้ตรวจสอบดูก่อนว่าพระเจ้าว่ายังไงกับสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าตัวบุคคลจะน่ายกย่องหรือน่าเชื่อถือสักเพียงไหน แต่มนุษย์ก็คือมนุษย์ที่มักทำผิดบาปเสมอ ดังนั้นก็อย่ายกให้ใคร (รวมถึงตัวเอง) มีอิทธิพลเหนือพระเจ้าเลย
ด้วยความรัก ความเชื่อ และชูใจ
พบกันทุกวันพฤหัสฯต้นเดือนกับ คอลัมน์อ่านมาเล่า:ชุดวรรณกรรมเยาวชน คอลัมน์วิพากษ์หลังอ่านที่จะหยิบยกหนังสือสำหรับผู้ใหญ่วัยเยาว์มาเปิดกว้างโลกทรรศน์เพื่อส่งเสริมการใช้วิจารณญาณและการคิดวิเคราะห์แยกแยะตามหลักพระคัมภีร์ ให้คริสเตียนไทยใช้ชีวิตบนโลกปัจจุบันได้อย่างเข้าใจและเปิดกว้าง <3
Related Posts
- Author:
- เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน
- Illustrator:
- Emma C.
- เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน