ผู้เขียน : ‘พี่เฟย’ ณิชา หลีหเจริญกุล (นักจิตบำบัด)
บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
อ่านตอนอื่นๆ ของซีรีส์นี้ได้ทาง : https://choojaiproject.org/category/articles/life-series/me-and-another-me/
*บทความตอนพิเศษเพื่อความเข้าใจโรคซึมเศร้า จากบุคลากรคริสเตียนที่ทำงานด้านจิตบำบัด
จากซีรีส์ Me & Another Me ที่เปิดเผยที่มาของเด็กต้นเรื่องคนหนึ่งถึงความเป็นไปเป็นมาของตัวเองกับโรคซึมเศร้า และการรักษาทั้งจากหมอและจากพระเจ้า ในฐานะที่พี่เฟยเป็นนักจิตบำบัด บทความนี้เลยอยากจะมาเล่าให้น้องๆ เข้าใจมากขึ้นถึงหนึ่งในสาเหตุของโรคซึมเศร้า ซึ่งเห็นได้จากเรื่องราวของเด็กต้นเรื่องนี้ด้วย นั่นก็คือบาดแผลทางใจในวัยเด็ก หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Trauma (อ่านว่า ทรอม่า) อันที่จริงแล้วสาเหตุของ โรคซึมเศร้า1 มีหลากหลายและแตกต่างกันในรายละเอียด แต่โดยหลักๆ แล้วจะมีความคล้ายกันอยู่ เช่น เผชิญกับการสูญเสีย2 จะทั้งคนที่เรารัก สูญเสียอวัยวะในร่างกาย เผชิญกับโรคทางกายเรื้อรัง เผชิญภาวะยากลำบากในการเลี้ยงดู หรือมีบาดแผลทางใจ3
Trauma คืออะไร?
คุณ Allen กับ คุณ Fonagy4 อธิบายว่า บาดแผลทางใจมี 2 แบบ Single trauma กับ Complex trauma สองอย่างนี้ต่างกันตรงที่ Single trauma คือ การเผชิญกับ ‘หนึ่งเหตุการณ์’ ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ไม่ทันได้ตั้งตัว สะเทือนใจ อันตรายถึงชีวิต บาดเจ็บสาหัส มีความรุนแรงมาก จึงทำให้เกิดความหวาดกลัว เครียดมากๆ หรือสิ้นหวัง ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือภัยที่เกิดจากมนุษย์ เช่น อุบัติเหตุรถชน เครื่องบินตก หรือการถูกคุมคามทางเพศ ส่วน Complex trauma จะคล้ายกับ Single trauma ตรงที่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อชีวิต สะเทือนใจ แต่เกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง ซ้ำๆ ยาวนานหลายปีติดต่อกันในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น เช่น การเลี้ยงดูและสัมพันธภาพระหว่างเด็กกับผู้ดูแลไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย เช่น มีความรุนแรงในครอบครัวต่อเนื่องยาวนาน การทำร้ายร่างกายในครอบครัว หรือถูกข่มขู่คุกคามทางเพศต่อเนื่อง ผลกระทบจากบาดแผลทางใจนี้แหละ จะทำให้ความคิด ความรู้สึก ความทรงจำ ประสาทสัมผัสในร่างกาย ความสัมพันธ์กับคนอื่นเกิดอาการรวนไปหมด มันจะเหมือนกับว่า แม้เหตุการณ์มันจบไปแล้ว แต่เรายังไม่จบ เพราะเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับเรา ทำให้รู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย สิ้นหวัง ไปจนถึงไม่อยากมีชีวิตได้เช่นกัน
ภาพเปรียบเทียบระหว่างแผลใจ กับ แผลกาย
สมมติว่าเราต้องถูกผ่าตัด ขณะที่ผ่าหมอจะทำให้เราสลบด้วยยา หรือฉีดยาชาเพื่อให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด ในขณะที่ผ่าตัดเสร็จใหม่ๆ หมอก็จะให้ยาแก้ปวด หรือมอร์ฟีนเพื่อบรรเทาความเจ็บจากแผลผ่าตัด พอเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง แผลผ่าตัดที่เคยเจ็บเคยปวดก็จะเริ่มผสาน เริ่มหายเจ็บ แล้วก็กลายเป็นแผลเป็นที่เหลือไว้เพื่อเตือนความจำว่ารอยแผลนี้มีที่มาอย่างไร อันนี้เป็นภาพของการรักษาบาดแผลทางกาย แต่พอเป็นบาดแผลทางใจ มันจะเหมือนกับว่า แผลนั้นในความรู้สึกมันสดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเมื่อวาน วันนี้ วันพรุ่งนี้ แผลอิชั้น ‘ใหม่-สด-เสมอ’ ตอนผ่าแผลใจไม่มีหมอดมยาสลบหรือยาชาให้ฉีดด้วยนะจ๊ะ ผ่าสดกันเลยทีเดียว กรีดร้องกันไป หลังผ่าก็ไม่มีมอร์ฟีนช่วยบรรเทาความปวดของแผล ต้องอดทนต่อบาดแผลในใจนั้นเอง ซึ่งความอดทนกับความเจ็บปวดของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน… พอเวลาผ่านไป บางคนก็อาจจะลดระดับความเจ็บปวดลงได้ ในขณะที่อีกคนกลับเพิ่มระดับขึ้นไปอีก หรือบางคนกลับรู้สึกว่าทุกนาทีคือกำลังโดนผ่าตัดอยู่ บางคนก็ชาชินจนไม่รู้สึกรู้สาอะไรแล้ว อ่อนไหวเปราะบางจนอยากจะตัดความเจ็บปวดทรมานนี้ออกไป บางทีก็ไม่อยากจะทนอยู่รับรู้ความเจ็บปวดอีกแล้วก็มี…
ผลกระทบของบาดแผลทางใจกับโรคซึมเศร้า
หรือที่เรียกกันว่า Post Traumatic Stress Disorder5 (PTSD) เป็นภาวะที่จิตใจเราสับสน งงๆ หลงๆ เบลอๆ ซึ่งมันเป็นปฏิกิริยาปกติของจิตใจที่ตอบสนองกับภาวะหรือเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ คนที่เผชิญภาวะนี้จะหลงเวลา เหมือนอย่างที่พี่เฟยเปรียบเทียบให้ฟังว่า จะวันไหนเวลาไหนก็ยังรู้สึกเหมือนโดนผ่าตัดอยู่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเหตุการณ์นั้นได้จบไปแล้ว แต่เราจะรู้สึกเหมือนกับว่า ความทรงจำทั้งเสียง ภาพเหตุการณ์ ความรู้สึก อารมณ์ ณ ตอนนั้นมันยังอยู่ และถ้ามีอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ความทรงจำเหล่านี้กลับมา มันจะเหมือนกับว่า เราหลงเวลากลับไปอยู่ในช่วงเวลานั้น จะยกตัวอย่างให้เข้าใจขึ้นจากอาการ Phobia เช่นว่าพี่เฟยเกลียดและกลัวสัตว์จำพวกกบมาก ยิ่งคางคกนี่ ไปให้ไกลเลย เพราะเคยมีประสบการณ์แย่ๆ กับพวกมัน แค่พิมพ์หรือนึกก็ยังอี๋เลย แล้วยิ่งถ้าได้ยินเสียงกบร้องแม้จะไม่เห็นตัว แต่ร่างกายพี่เฟยจะรู้สึกไม่ปลอดภัย ขนลุก และจินตนาการย้อนกลับไปเห็นภาพเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นว่า มีปาดอยู่ระยะประชิดใกล้หน้า หรืออึ่งอ่างเกาะอยู่ปลายเท้า แล้วจะหายใจช้าลง น้ำตาจะร่วง เวลาเดินก็ช้ามาก และต้องเดินระวังสุดๆ ทั้งๆ ที่ ไม่มีเขียดกบคางคกปาดสักตัว! แต่ถ้าบังเอิญเห็นมันโผล่มา แม้มันจะอยู่ของมันนิ่งๆ แต่ร่างกายพี่เฟยจะขยับไม่ได้เลย จะน้ำตาคลอ ยืนนิ่งไม่ไหวติงจนแทบหยุดหายใจ หรือแม้แต่จะกินน้ำเต้าหู้ก็จะไม่ใส่เม็ดแมงลักเด็ดขาดเพราะมันกระตุ้นให้นึกถึงกบ แอว๊ะอ่ะ!!!
ยกอีกตัวอย่างที่เชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้า เช่น เด็กที่ถูกทำร้ายเกิดขึ้นแบบต่อเนื่องยาวนานหลายปี ไม่ว่าจะถูกทำร้ายร่างกาย ปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง ไม่ดูแล แล้วการช่วยเหลือไปไม่ถึงเด็ก ก็จะทำให้พัฒนาการของเด็กหยุดชะงัก ทั้งด้านความคิด อารมณ์ ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้อื่น และการเติบโตด้านอื่น เช่น เด็กที่ถูกพ่อแม่ทำร้ายร่างกาย โดนตีหนักๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เด็กจะเกิดอาการหวาดกลัวพ่อแม่ มีภาพจำและความเข้าใจว่า โลกนี้ไม่ปลอดภัย คนใกล้ชิดไว้ใจไม่ได้ มีความกังวลสูงและสับสนว่าความรักของพ่อแม่คืออะไร สงสัยในความรัก หรือความรักคือการใช้ความรุนแรง มุมมองต่อตัวเองก็จะติดลบ ไม่มีคุณค่า ไม่มีอะไรดี เพราะพ่อแม่ไม่เห็นคุณค่าของตัวตนเด็ก เมื่อเด็กเติบโตขึ้นและยังคงแบกภาพความทรงจำและความคิดที่มีต่อตนเองแบบนี้ไปจนวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ บาดแผลทางใจเหล่านี้ แม้เหตุการณ์ความรุนแรงจะจบไปแล้วแต่ก็จะยังอยู่ในความทรงจำ แล้วมันก็หลบอยู่นอกการรับรู้ของเรา ซึ่งถ้ามีตัวกระตุ้นที่เหตุการณ์ หรือความรู้สึก หรือตัวบุคคลที่คล้ายคลึงกับต้นเหตุบาดแผลทางใจในอดีต คนนั้นก็จะตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นคล้ายเดิม หรือใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ จนมันไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ผสมกับปัญหาบุคลิกภาพที่สร้างสัมพันธ์กับคนอื่นลำบาก จึงทำให้ในบางคนอาจทำให้เกิดภาวะหรือโรคซึมเศร้าได้นั่นเองงงงงงง ขอเน้นตรงนี้อีกรอบ อย่าอ่านบทความของพี่เฟยแล้ว มานั่งวินิจฉัยตัวเองว่า ฉันเป็นนั้นเป็นนี้ เว้นเสียแต่ว่า จะให้จิตแพทย์ช่วยดูอีกแรงนะคะคุณน้องๆ
ทำไมถึงต้องเป็นช้านนนนนน?
อันที่จริงเรื่องเลวร้ายต่างๆ เกิดขึ้นได้กับทั้งคนที่มีและไม่มีพระเจ้า ตั้งแต่ที่พี่เฟยทำงานด้านนี้มา ไม่ว่าจะรวยหรือจน ตำแหน่งใหญ่โตหรือจะทำงานเล็กน้อย เป็นคริสเตียนหรือไม่ ‘ทุกคน’ มีปัญหาหมด และถ้าถามว่า “ทำไมเรื่องแย่ – โคตรแย่แบบนี้ถึงเกิดขึ้นกับเรา?” อันที่จริงมีคริสเตียนหลายคนที่ตั้งคำถามนี้ เมื่อเจอกับภาวะโคตรทุกข์ว่า ทำไมเราถึงต้องทนทุกข์ถึงขั้นมีคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของตัวเรา คุณค่าของตัวตน คุณงามความดีของคน และมุมมองความรักของพระเจ้าที่มีต่อเรา ต่อโลกใบนี้ เพราะถ้าพระเจ้าดี พระเจ้ายิ่งใหญ่ และพระเจ้าเป็นความรัก มันก็ต้องไม่เกิดเรื่องเหล่านี้กับเราสิ!
พระเจ้าอยู่ไหนนนนน?
ส่วนตัวพี่เฟยแล้วก็เคยถามพระเจ้าแบบนี้เหมือนกันนะคะ เวลาทำงานแล้วต้องเจอเคสหนักๆ มันเข้าใจไม่ได้ว่า เพราะอะไรเรื่องแย่ๆ ถึงต้องเกิดขึ้นกับคนๆ หนึ่งที่ไม่สมควรจะได้รับ หรือทำไมเด็กต้องมารับผลจากบาดแผลหรือการกระทำของพ่อแม่? พี่เฟยเองก็วนเวียนกับคำถามนี้อยู่หลายปีมาก แล้วก็รู้สึกว่า “พระเจ้า มันแย่จังเลยอะ!” จนวันหนึ่งพี่เฟยได้อ่านปฐมกาล 1:1-4 ว่า
“ในปฐมกาล พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน แผ่นดินก็ว่างเปล่า ความมืดอยู่เหนือน้ำ และพระวิญญาณของพระเจ้าปกอยู่เหนือน้ำนั้น พระเจ้าตรัสว่า “จงเกิดความสว่าง” ความสว่างก็เกิดขึ้น พระเจ้าทรงเห็นว่าความสว่างนั้นดี และทรงแยกความสว่างออกจากความมืด”
ความมืดอยู่เหนือน้ำ แต่พระวิญญาณของพระเจ้าอยู่เหนือน้ำนั้นไปอีก! ซึ่งหมายความว่าแม้ในความมืด ความว่างเปล่า ความเลวร้าย แต่พระวิญญาณของพระเจ้าก็อยู่ที่นั่นด้วยกันกับเรา แล้วการที่พระเจ้าสั่งให้เกิดความสว่าง ก็คือ พระเจ้าให้เรามีความหวัง รวมทั้งเรียนรู้ที่จะเอาแสงสว่างของพระเจ้านั้น มาใส่ในตัวเราเพื่อให้เราเป็นแสงสว่างนั้นเอง
‘ความมืดมีจริงและพระเจ้าก็มีจริงด้วย ดังนั้นเมื่อยอมรับความมืดที่เกิดขึ้น
ก็เท่ากับว่าเราได้เผชิญความมืดนั้นอย่างกล้าหาญ ‘
พี่เฟยจึงคิดว่า เมื่อเราหันมาเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น โดยที่รู้ว่าพระเจ้าอยู่ด้วยและกำลังเผชิญความเจ็บปวดนี้ไปด้วยกันกับเรา บางทีมันเชื่อยากจนถึงโคตรยากเลยพี่เข้าใจ เพราะเรามองไม่เห็นพระเจ้า แต่… ‘ความหวังและแสงสว่าง’ ที่พระเจ้าคอยส่องไว้ให้ มันเพียงพอที่จะเป็นคบเพลิงให้เราถือเดินผ่านความมืดที่ดูยาวนานแสนนาน ไม่มีใครดับคบเพลิงนี้ได้ ถึงใครจะมาดับ หรือเราดับมันเอง พระเจ้าก็จุดให้ใหม่ เริ่มใหม่ได้เสมอ เมื่อเราพร้อม พี่เฟยคิดว่า วัตถุประสงค์หนึ่งของพระเจ้าที่ให้เราเผชิญกับความทุกข์ทรมาน คือ ‘การเติบโตในด้านจิตใจและจิตวิญญาณ’ เหมือนต้นกล้าอ่อนที่โตทะลุผ่านกำแพงคอนกรีต หรือข้างกองขยะเน่าๆ ถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้างดูแย่และไม่เอื้อกับการเติบโต แต่ก็ยังมีต้นไม้บางชนิดที่โตและแข็งแรงได้ แม้เราอาจจะหยุด หรือโดนหยุดการเติบโต แต่พระเจ้าไม่เคยสิ้นหวังที่จะหยุดให้เราเติบโต มีเด็กในโลกหลายคนที่เผชิญชีวิตลำบากมากมายแต่เขาเติบโตได้ เมื่อมีใครสักคนมองเห็นความหวังในชีวิตของเขา และนำพาเขาไป เชื่อมั่นในศักยภาพ สร้างสัมพันธภาพที่ปลอดภัยและไว้ใจได้
ความซึมเศร้า ความเลวร้าย ความมืดนั้นมีอยู่จริง และการที่มนุษย์ทำร้ายมนุษย์ด้วยกันจนก่อโรคทางจิตใจก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ถึงอย่างไร พระเจ้าได้ให้แสงสว่างที่แยกออกจากความมืดไว้ด้วย และพระเยซูก็มาเพื่อช่วยเป็นทั้งคบเพลิงและแสงที่ปลายอุโมงค์ เป็นความหวังที่พร้อมอยู่เสมอ ไม่ว่าน้องหรือผู้อ่านคนไหนจะเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก่อนหรือกำลังเผชิญอยู่ มีคนรู้จักที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือตัวเองกำลังเผชิญอยู่ก็ตาม ก็อย่าให้เราสูญเสียความหวังไป
ขอให้เราทุกคนจงมี ‘ความหวัง’ เพราะถึงแม้เราตกอยู่ในความมืดมิด
แต่พระเจ้าก็อยู่ด้วยกันกับเราในความมืดมิดนั้นด้วยนะคะ
ด้วยรักและชูใจ
Clinical terms:
- Depressive Disorders
- Loss, Grief, Bereavement & Mourning
- Childhood Trauma and Maltreatment
Reference:
- Allen, J.G., & Fonagy, P. Trauma. In P. Luyten, L. C. Mayes, P. Fonagy, M. Target, & S. J. Blatt (Eds.), Handbook of Psychodynamic Approaches to Psychopathology. New York: The Guilford Press.
- American Psychiatric Association. (2013). Trauma and Stressor Related Disorder. In Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) (Fifth ed.). Virginia: American Psychiatric Association.
Related Posts
- Author:
- หลังจากเรียนจบศิลปกรรมศาสตร์ การละคร ม.ธรรมศาสตร์ ก็สนใจทำงานด้านเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากเรียนต่อปริญญาโทสาขาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นต่อปริญญาโทด้านศิลปะบำบัดที่ LASALLE College of Arts ที่ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันกลับมาทำงานประจำที่คลีนิค The Oasis (https://www.theoasiscare.com/nicha-leehacharoenkul)
- Illustrator:
- Emma C.
- เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน
- Editor:
- Jick
- บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง