ต่างเจน ต่างใจ โบสถ์เดียว! 6 วิธีแนะนำการรับใช้ร่วมกันอย่างเป็นสุขๆ

EP. 7/8

ต่างเจน ต่างใจ โบสถ์เดียว! 6 วิธีแนะนำการรับใช้ร่วมกันอย่างเป็นสุขๆ


บทความต้นฉบับ : 6 Areas Where Ministry and the Generations Collide โดย Chris Hefner

ผู้แปล: ธนบูรณ์ ธรรมศรี

เรียบเรียง: Way Wanee


 

ผมเกิดในปี 1980 (พ.ศ.2523) ซึ่งถือเป็นช่วงรอยต่อระหว่าง Gen X และ Gen Y พอดี ทุกวันอาทิตย์ ในการประชุมที่โบสถ์ของเรา ผมจะพบว่ามีทั้งทารกตัวน้อยและกลุ่มคนที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1990 มาร่วมนมัสการกับเรา  ความจริงก็คือคริสตจักรบางส่วนเกิดจากการรวมตัวกันของคนมากกว่าหนึ่งรุ่นเสมอ เช่น คริสตจักรเก่าแก่มักเต็มไปด้วยคนในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง (เกิดในช่วงปีค.ศ.1920-1940) กับคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ (เกิดในช่วง ค.ศ.1940-1960) ในขณะที่คริสตจักรเกิดใหม่อาจจะประกอบไปด้วยคนจาก Gen X (เกิดในช่วงค.ศ. 1960-1980) และ Gen Y (เกิดในช่วงค.ศ.1980-2000) เป็นหลัก ภาพโบสถ์ที่เต็มไปด้วยคนหลากหลายวัยคือภาพในอุดมคติของผมเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความงดงามของพระกายของพระคริสต์ ในฐานะศิษยาภิบาลและผู้นำ เราต้องรับผิดชอบด้านการดูแลฝ่ายจิตวิญญาณรวมไปถึงการต้องนำพี่น้องทุกคนไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่วัยไหน นี่ก็คือพันธกิจที่เราต้องทำร่วมกับคนอื่นที่อาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปเนื่องจากอายุและประสบการณ์ชีวิตที่เท่ากัน

 

‘คริสตจักร’ ในคำจำกัดความของแต่ละเจน

จากการสังเกตผู้คนหลายช่วงวัยนะครับ คนเจนที่เกิดในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง (Silent Generation) เคยผ่านยุคที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงวัยเด็ก คนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมและชอบการนมัสการแบบเป็นพิธีการมากกว่า หากจะมีสักคำเพื่อจำกัดความระหว่างคนกลุ่มนี้กับคริสตจักร นั่นก็คือคำว่า “สถานที่ศักดิ์สิทธิ์”

ส่วนคนในยุคเบบี้บูมเมอร์จะได้พบเจอกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและความคาดหวังที่สูง พวกเขาจึงพยายามนำเอาหลักเกณฑ์และความเชี่ยวชาญทางธุรกิจมาใช้ในคริสตจักร คำจำกัดความระหว่างคนกลุ่มนี้กับคริสตจักรคือคำว่า “วิสัยทัศน์”

ถัดมาคือกลุ่มคน Gen X กลุ่มนี้มักจะมีท่าทีเชิงลบต่อประสบการณ์ทางความเชื่อแบบเดิมๆ และเป็นกลุ่มคนที่มักจะขาดโบสถ์เสียด้วย พวกเขาสนใจเรื่องฝ่ายจิตวิญญาณนะ (หากไม่ต้องไปโบสถ์เป็นประจำ) และอยากได้ความสัมพันธ์จริงๆ ภายในคริสตจักร คำจำกัดความระหว่างคนกลุ่มนี้กับคริสตจักรก็คือคำว่า “ความสัมพันธ์” นั่นเอง

ยุคของคน Gen Y เป็นยุคที่ถูกกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีจนทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนรุ่นนี้เข้ามามีส่วนร่วมในคริสตจักรเพราะอยากจะมีความเชื่อที่ร้อนรนพร้อมกับการสร้างความแตกต่าง คำจำกัดความระหว่างกลุ่มคน Gen Y กับคริสตจักรคือคำว่า “ความจริงแท้ ”

ผมรู้ว่าข้อมูลจากการสังเกตเหล่านี้เป็นเพียงลักษณะกว้างๆ ทั่วไปเท่านั้นเอง ( แต่อย่างน้อยการได้รับรู้ถึงความแตกต่างของผู้คนแต่ละยุคก็สามารถช่วยเราในการทำงานรับใช้ต่างๆ ให้เกิดผลอย่างดีเยี่ยมได้ เราจะได้เรียนรู้จากกันและเสริมสร้างคริสตจักรของเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระกายของพระคริสต์ให้ดียิ่งขึ้นด้วยการยอมรับเรื่องต่างๆ ที่สำคัญในการรับใช้กับคนหลายช่วงวัยแบบนี้

 

 

จะทำยังให้การรับใช้ร่วมกันในโบสถ์เกิดผลและเป็นสุขๆ มากที่สุด?

 

  • การเป็นพี่เลี้ยง กลุ่มคนในยุคสงครามโลกครั้งที่สองและกลุ่มคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน คนสองกลุ่มนี้สามารถมีส่วนในการร่วมเสริมสร้างฝ่ายวิญญาณให้กับคริสเตียนรุ่นอื่นๆ ได้ ทั้งในด้านการสั่งสอนและการเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แบ่งปันจากประสบการณ์ของตัวเอง (พวกเขาถนัดงานนี้เลยแหละ) ในเวลาเดียวกันก็ได้สร้างสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ) การเป็นพี่เลี้ยงและความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นของคนต่างรุ่นดูจะเป็นภาพที่สื่อความหมายของการสร้างสาวกได้เป็นอย่างดี

 

  • การสื่อสาร คนรุ่นใหม่เป็นพวกที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking) และยังเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี จึงมีทั้งความยืดหยุ่นและความรวดเร็วในการทำงาน การแพร่หลายของเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟนยิ่งทำให้การสื่อสารรวดเร็วยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา การสื่อสารกับทั้งคริสตจักรจึงเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน แต่พวกเขาก็จะต้องไม่ลืมด้วยว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงการสื่อสารช่องทางนี้หรือเทคโนโลยีต่างๆ ได้ตลอดเวลา เช่น กลุ่มคนในยุคสงครามโลกครั้งที่สองและกลุ่มคนในยุคเบบี้บูมเมอร์อาจจะชอบการสนทนาแบบต่อหน้ามากกว่า

 

  • การทำพันธกิจ ในขณะที่กลุ่มคนในยุคสงครามโลกครั้งที่สองและกลุ่มคนในยุคเบบี้บูมเมอร์มีความพอใจที่ได้สนับสนุนเพื่อพันธกิจในรูปแบบองค์กรและนิกายต่างๆ แต่ Gen X และ Gen Y กลับอยากที่จะรู้จักข้อมูลของคนที่พวกเขากำลังสนับสนุนอยู่และอยากมีส่วนร่วมในพันธกิจนั้นๆ ด้วย ดังนั้นการทำให้พวกเขามาพบปะพูดคุยกันต่อหน้า กับกลุ่มคนหรือองค์กรที่เขาสนับสนุนอยู่ นอกจากจะได้สร้างความสัมพันธ์แล้วยังเป็นการได้เสนอโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมกับพันธกิจนั้นด้วย ซึ่งยิ่งจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีกเลยนะครับ

 

  • การเทศนา การเทศนาในที่ประชุมที่มีคนหลากหลายรุ่นจำเป็นต้องมีการเตรียมการอย่างละเอียดรอบคอบ การจะใช้ภาพประกอบและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ นั้นถึงแม้จะเหมาะกับคนกลุ่มหนึ่งมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่งและดูเป็นเรื่องยุ่งยากสักหน่อยที่ต้องพยายามใช้สื่อต่างๆ ทุกครั้งที่เทศนา แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะรู้ว่ามันคุ้มค่าเพราะคำเทศนาของคุณจะใช้ได้กับคนทุกรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

  • การเป็นผู้นำ การที่จะนำคนได้ทุกวัย คุณจำเป็นจะต้องมีความอดทนและทักษะในการรับฟัง กลุ่มคนในยุคสงครามโลกครั้งที่สองและกลุ่มคนในยุคเบบี้บูมเมอร์อาจลังเลที่จะเปลี่ยนแปลง และรู้สึกอึดอัดถ้าไปเร็วเกิน ในขณะที่คน Gen X และ Gen Y อาจยินดีกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว แต่ไม่เน้นกระบวนการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว ศิษยาภิบาลที่จะนำคนทุกรุ่นได้ดีคือคนที่ใส่ใจลักษณะเฉพาะตามวัยและบุคลิกของผู้นำแต่ละคนในโบสถ์ด้วย แต่หากเราการไม่คาดการณ์ล่วงหน้าและตอบสนองต่อท่าทีของพี่น้องในคริสตจักรอย่างทันท่วงทีแล้วล่ะก็อาจเป็นเหตุให้นิมิตนั้นเป็นอันจบลง ถ้าเราอดทนและใส่ใจสักหน่อย ก็จะทำให้เราเข้าใจถึงวิธีการที่จะใช้สื่อสารและสามารถนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่คริสตจักรของเราได้อย่างลึกซึ้ง

 

  • ความชื่นชมยินดี มาดูที่เหล่าผู้สูงวัยในคริสตจักรกับสิ่งที่พวกท่านพอจะทำได้กันนะครับ ลองนึกภาพผู้สูงอายุเหล่านี้กำลังแจกขนมให้กับเด็กๆ ในโบสถ์ดูสิครับ ภาพความดีใจของกลุ่มผู้สูงวัยที่มองดูเด็กๆ และคนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาในคริสตจักรคือความชื่นชมยินดีฝ่ายวิญญาณอย่างหนึ่งเลยนะ หรือคุณอาจได้รับกำลังใจจากการได้เห็นพวกท่านยิ้มกว้าง พร้อมกับพูดว่า “ไม่เป็นไร” เมื่อลูกของคุณไปเกเรและสร้างปัญหาให้คนอื่น

 

การรับใช้กับคนหลากหลายรุ่นเป็นสิ่งสำคัญ การให้โอกาสคนต่างวัยได้มีส่วนร่วมในคริสตจักรช่วยให้ชีวิตฝ่ายวิญญาณเติบโตขึ้นได้ แล้วคุณล่ะ คิดว่ายังมีประเด็นเรื่องวัยในด้านอื่นๆ อีกไหมที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการรับใช้ในคริสตจักรของคุณไหมครับ? ลองเสนอความคิดเห็นกันมาได้นะครับ

 

#ด้วยรักและชูใจ

 


 


Previous Next

  • Translator:
  • Jonah
  • นักแปลในชีวิตจริง และในทีมชูใจ รักพระเจ้า รักเมีย รักหมาแต่ไม่รักเด็ก เฟสบุ้คมีไว้อัพแค่เรื่องบอล หมา และเมีย อ้อ! และของกินที่เมียทำ
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • W. Wanee
  • นักแปลสาวสวยเสียงทอง ผู้ซึ่งอยากรับใช้พระเจ้าด้วยความสามารถด้านภาษาของเธอ งานใดที่ให้เธอรับผิดชอบ ไม่มีพลาดแน่นอน!