สแกนเจน คุณเป็นคนเจนเนอเรชั่นไหนในโบสถ์

EP. 1/8

แสกนเจน … คุณเป็นเจนเนอเรชั่นไหนในโบสถ์ [EP.1/8]


บทความนี้ใช้เวลาในการสแกนเจนประมาณ 12 นาที


 

เพราะโบสถ์เป็นศูนย์รวมของผู้คนหลากหลายวัย  นอกจากคริสเตียนแต่ละคนจะมีความรู้สึกนึกคิดที่ต่างกันไปตามการเรียนรู้ ประสบการณ์  และพื้นเพแล้ว การที่คนเรามองโลกไม่เหมือนกัน ยังเป็นผลพวงมาจากบริบททางสังคมและสภาพสังคมในขณะที่เติบโตมาอีกด้วย  วิธีคิดที่ไม่เหมือนกันนี้อาจทำให้เกิด “ช่องว่างระหว่างวัย” (Generation Gap) ขึ้นมา

Featured วันนี้ชูใจชวนมาแสกนเจนทำความรู้จักผู้คนในหลากหลายรุ่นเพื่อเติมเต็มช่องว่างด้วยความเข้าใจ ในซีรีย์พิเศษ  Church & Generation “คนละรุ่นเดียวกัน” ประเดิมตอนแรกด้วยการสแกนเจนเบื้องต้น มาลองเช็คดูว่าคุณเป็นคน  ‘เจน’ ไหน?

 

  1. The Traditionalist หรือ Silent Generation (คนยุคเงียบ)
    [
    เกิดปี 2468-2488 อายุประมาณ 73 – 93 ปี]

 

Slient-Generation

บริบททางสังคม: คนยุคเงียบ มีความเป็นทางการสู๊งสูง เนื่องจากเกิดในยุคที่ประเทศกำลังเผชิญความยากลำบากหลายด้าน ทั้งความยากจน และสงคราม คนเจนนี้เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีจำนวนเด็กที่เกิดมาในช่วงนี้น้อยกว่ารุ่นอื่นๆ ในขณะนั้นประเทศไทยกำลังเผชิญกับการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์ และแรงกดดันจากสงคราม จนทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัยและสร้างความรักชาติ เช่น มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแต่งตัวให้เป็นเหมือนนานาอารยประเทศ เลิกนุ่งโจงกระเบนมาใส่กางเกงและกระโปรง หรือนุ่งผ้าถุงแทน และมีการสร้างวัฒนธรรมไทยขึ้นใหม่ยกชุด เช่นการกำหนดให้ “สวัสดี” เมื่อเจอกัน ผู้คนต้องใส่หมวกเวลาออกจากบ้าน ถ้าไม่ใส่เค้าไม่ได้แค่จับปรับ 400 เหมือนหมวกกันน็อคนะ ดังนั้นการแต่งกายสำหรับยุคนี้ เป็นกฎหมายซีเรียสเลยทีเดียว ขนาดที่มีคำขวัญประจำชาติว่า “มาลา(หมวก)นำไทยสู่มหาอำนาจ”

คำสอนที่คนยุคนี้ได้รับการอบรมมาเช่น

“ข้าวทุกจานอาหารทุกเม็ดอย่ากินทิ้งขว้าง”
“มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท”
“ผู้หญิงต้องเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้”
“ไทยทำไทยใช้ไทยเจริญ”

 

ลักษณะร่วม : ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนเจนนี้ จะค่อนข้างมีระบบระเบียบแบบในแผน กินข้าวหมดทุกเม็ด มีความเคร่งครัดในมารยาท การแต่งตัว และกาลเทศะ  เป็นคนประหยัดอดออม นอกจากนั้นยังถูกปลูกฝังจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเชื่อฟังผู้นำประเทศ อีกทั้งยังรักความเป็นไทย และต่อต้านวัฒนธรรมต่างชาติ ใช่แล้ว หลายคนก็พลอยต่อต้านศาสนาคริสต์ไปด้วย เพราะมองว่าเป็นศานาฝรั่ง ส่วนด้านงานของมิชชั่นนารีหรือที่เรียกกันว่าหมอศาสนานั้น ก็ได้อาศัยการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เข้ามาช่วยเหลือคน และประกาศศาสนาไปพร้อมๆ กัน  เพราะความเคร่งครัดในทุกกระเบียดแบบนี้ ถ้าใครได้มารับเชื่อแล้วเนี่ยก็จะทุ่มเทสุดตัวให้กับพระเจ้าเลยล่ะ

 

ด้านความเชื่อ : คนยุคเงียบมีรูปแบบการนมัสการแบบเงียบๆ เรียบร้อย เน้นการเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์และสำรวมตามแบบสมัยนิยมขณะนั้น ดังนั้นมุมมองต่อคริสตจักรของกลุ่มคนยุคเงียบก็คือ คริสตจักรเป็น “พระวิหารของพระเจ้า” “สถานนมัสการอันศักดิ์สิทธิ์” “ที่ประทับของพระเจ้า” “วิสุทธิสถาน” เพราะแบบนี้การมาโบสถ์ก็เท่ากับการมาเข้าเฝ้าพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ เลยต้องแต่งกายเป๊ะๆ เพื่อให้เกียรตินั่นเอง

 

  1. Baby Boomer (ยุคบุพผาชน)
    [เกิดปี พ.ศ. 2489-2507 –  อายุประมาณ  54 – 72 ปี]

 เบบี้บูมเมอร์

บริบททางสังคม :  หลังจากสงครามโลกจบลงก็เข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกัน ผู้ชายที่ไปรบก็กลับมาบ้าน ทำให้มีประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด นั่นคือที่มาของชื่อเจน Baby Boomer ซึ่งแปลกันง่ายๆ ว่า เด็กน้อยเกิดมาอย่างกะดอกเห็ด ดังนั้นคนเจนนี้จะมีพี่น้อง 8 9 10 คน ก็เป็นเรื่องธรรมด๊า และด้วยความที่มีลูกมากมายกันเช่นนี้ ครอบครัวส่วนใหญ่ก็เลย ไม่สามารถเลี้ยงลูกให้เท่าเทียมกันได้ทุกคน เช่น ต้องมีบางคนได้เรียนสูงๆ เพื่อครอบครัวจะได้สบายขึ้น ส่วนบางคนต้องออกมาทำงานส่งเสียน้องๆ ให้ได้เรียน บางคนต้องแต่งงานเพื่อครอบครัว คนเจนนี้จึงเต็มไปด้วยการแบกความคาดหวังของครอบครัวและอาจต้องทิ้งความฝันหรือความต้องการของตัวเองไป ในรุ่นนี้ผู้หญิงเริ่มมีโอกาสได้เรียนในระดับสูงเทียบเท่าผู้ชายบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคในการเติบโตในหน้าที่การงาน เพราะตำแหน่งงานที่เปิดรับผู้หญิงก็ยังไม่มากเท่าไหร่ อีกทั้งสังคมยังคงมองว่าผู้หญิงเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ควรอยู่บ้านเลี้ยงลูก แต่งงานมีครอบครัวไม่จำเป็นต้องเรียนให้มากก็ได้

 

ลักษณะร่วม : ด้วยการที่คนรุ่นนี้เติบโตขึ้นมาในครอบครัวใหญ่ เบบี้บูมเมอร์จึงถูกปลูกฝังความรัก และความเสียสละเพื่อคนในครอบครัว ถูกสอนให้รักกัน ช่วยเหลือและกัน และรู้จักทดแทนบุญคุณ พวกเขาจึงใส่ใจคนรอบข้างและทุ่มเทเพื่อองค์กรด้วยความภักดีอย่างมาก มีความซื่อสัตย์ต่อองค์กร ทำงานตามขั้นตอน และรักษาระบบ

 

ในด้านความเชื่อ : ในยุคนี้คริสตจักรมีการขยายตัวเนื่องจากมีคนมารับเชื่อมากขึ้น เพราะการศึกษามีผลต่อความคิดของผู้คนในด้านบวก ทั้งการเข้ามาเชื่อก็เป็นลักษณะมากันทั้งเครือญาติ (ก็ญาติเยอะ) หรือ ผู้เชื่อรุ่นแรกๆ ก็มีลูกมีหลานมากมาย บวกกับคริสตจักรหลายแห่งเป็นคริสตจักรก่อตั้งใหม่ ไม่ได้มีลักษณะเป็นสถานนมัสการที่มีมนต์ขลังแบบวิหารแนวโกธิคแนวฝรั่งจ๋า แต่มีลักษณะเป็นโบสถ์ไม้ โบสถ์ตึกเล็กๆ ก่อตั้งโดยคนไทยบ้าง  ภาพของคริสตจักรที่เบบี้บูมเมอร์มองจึง ลดความเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ลงมา แต่ให้ภาพของ “ครอบครัวใหญ่ๆ” คนเบบี้บูมเมอร์จึงอินกับ ความเป็น Family มากขึ้น และ อินกับคำว่า “ครอบครัวของพระเจ้า”  และ “พระกายของพระคริสต์” ที่มีความกลมเกลียว อบอุ่นและมีชีวิตชีวา

 

  1. Gen X (คนพันธุ์ X)
    [เกิดปี พ.ศ. 2508-2522 – อายุประมาณ 39 – 53 ปี]

 

บริบททางสังคม :  เจนเอ๊กซ์ เกิดมาในยุครุ่งเรืองของเศรษฐกิจ ยุคที่ประเทศไทยถูกนับว่าเป็นเสือเศรษฐกิจแห่งอาเซียน แต่พอโตมาได้หน่อยประเทศไทยก็ประสบกับภาวะล้มลายจากวิกฤตต้มยำกุ้ง  ด้วยการที่รุ่นพ่อแม่มีเวลาให้น้อยลงเพราะทำงานทั้งคู่เลยมุ่งสนับสนุนทางด้านการศึกษาเต็มที่ ประกอบกับเกิดการแข่งขันด้านการศึกษาที่สูงมากขึ้น คนเจนนี้จึงมีความทะเยอทะยานสูงปรี๊ดดดดด พวกเขาใฝ่หาความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงาน และความร่ำรวย เป็นยุคที่ผู้คนชอบทำงานเอกชนมากกว่าราชการ เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินสูงกว่า จุดเด่นของคนเจน X คือเริ่มมีความรู้ด้านการลงทุน และการบริหารจัดการองค์กร

 

ลักษณะทั่วไป : คนเจนนี้เริ่มเผชิญกับความโดดเดี่ยวเพราะครอบครัว เริ่มมีขนาดเล็กลงเพราะพ่อแม่เริ่มย้ายถิ่นที่อยู่ไปตามสถานที่ทำงาน  และมีลูกน้อยลงเพียง 2-3 คน การที่ทั้งพ่อและแม่ทำงานนอกบ้านมากขึ้นก็ส่งผลต่อลูกๆ เจน X ให้ต้องอยู่กับพี่เลี้ยงหรือปู่ย่าตายาย หรือ บางครอบครัวก็เริ่มมีบการหย่าร้างเพราะความล้มเหลวในครอบครัวที่บ้างไม่ได้เกิดจากความรัก หรือเกิดจากครอบครัวแตกแยกเพราะภาวะเศรษฐกิจที่พังทลาย ทำให้พ่อแม่ต้องออกไปทำงานหาเงิน หรือบางก็แตกแยกไปเลย  คนเจน X จึงมีความเป็นกบฏในตัว ชอบต่อต้านแสดงความคิดเห็น เรียกร้องสิทธิ์  เจน X เบื่อหน่ายการเมืองและระบบการปกครองที่ย่ำอยู่กับที่  พวกเขาหันไปใฝ่หาความสำเร็จในชีวิตตามเป้าหมายของตัวเอง  สื่อนอกเริ่มมีอิทธิพลกับพวกเขา พวกเขารักอิสระ และเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง การอยู่ก่อนแต่งเริ่มเป็นเรื่องปกติ และการหย่าร้างสำหรับคนเจน X ก็เริ่มปกติเช่นกัน

 

ในด้านความเชื่อ : ขณะที่โลกภายนอกเริ่มละทิ้งศาสนาเพราะความล้าสมัย สไตล์การรับใช้คนเจนนี้จะเป็นอิสระมากขึ้น ต้องการเปลี่ยนโลก มีนิมิตส่วนตัว หรือภารกิจส่วนตัว  พวกเขามุ่งทำให้เป้าหมายและภาระใจของตัวเองสำเร็จ สิ่งที่คนเจน X แสวงหาก็คือ เพื่อน และ ที่พักพิงใจ เพราะพวกเขาเติบโตมาในสังคมที่โดดเดี่ยวและเต็มไปด้วยการแข่งขันและความคาดหวังในความสำเร็จที่สมบูรณ์แบบ พวกเขาจึงรู้สึกเหนื่อยหน่ายและท้อแท้ ภาพของคริสตจักรที่เขามักมองจึงเป็นลักษณะของ “ที่พักพิงใจ” “ชุมชนของพระเจ้า” “ความสัมพันธ์กับพระเจ้าและพี่น้อง” ต้องการรู้ถึงจุดมุ่งหมาย ทางออก และ คำตอบของชีวิต

 

 

  1. Gen Y – มิลเลเนี่ยม
    [
    เกิดปี พ.ศ.  2523-2540 –  อายุประมาณ 21 – 38 ปี]

บริบททางสังคม:   คนรุ่นนี้เกิดขึ้นมาในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนผ่าน และเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม คนเจนวายได้เห็นการล้มหายตายจากของธุรกิจยุคก่อน และได้เห็นการเบ่งบานของโลกใหม่ ในยุคนี้โลกถูกนิยามว่าเป็น “โลกหลังสมัยใหม่” (Postmodern) เป็นโลกที่ไร้พรมแดน และวัฒนธรรมมีการหลั่งไหลและแลกเปลี่ยนจนกลมกลืนและกลายเป็นวัฒนธรรมของโลก พวกเขาจึงรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีมาก  มีความสามารถในการสื่อสาร เชื่อมต่อกับผู้คน และรักการเดินทาง

 

ท่ามกลางการพังทลายของสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก(ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งพวกเขาแทบไม่รู้ว่ามันคืออะไรด้วยซ้ำ) ครอบครัวที่ล้มเหลว (พ่อแม่หย่าร้าง แม่เลี้ยงเดี่ยว และอื่นๆ) และระบบการศึกษาที่วุ่นวาย (Entrance ,O-net A-Net และ GAT-PAT) คนเจนวายหันความสนใจจากโลกภายนอกและมองเข้าสู่ตัวเอง เพราะความว่างเปล่าของเจน X ที่ประสบความสำเร็จหน้าที่การงานแต่ไม่พบความสุขในสิ่งที่ทำ พ่อแม่เจน X จึงส่งเสริมให้ลูกเจน Y ได้ค้นหาและทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่พวกเขากลับค้นพบวิกฤตรูปแบบใหม่ภายในตัวเอง คือวิกฤตด้านตัวตน” การไม่ค้นพบตัวเอง เคว้งคว้างและล่องลอย “เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย”

 

ลักษณะทั่วไป : พวกเขาปรับตัวได้เก่ง ไม่ยึดติด และเรียนรู้ได้เร็ว ด้วยข่าวสารที่พวกเขาได้รับต่อเนื่อง จึงได้เห็นทั้งข้อดีข้อเสียของสิ่งต่างๆ มากมาย คนเจนวายจึงไม่ปักใจกับสถาบันทางสังคมใดๆ เท่ารุ่นก่อน (รวมทั้งศาสนาด้วย) สนใจเรื่องเงินน้อยกว่าอิสรภาพ ในขณะที่เจน X แยกตัวออกจากพ่อแม่ เหินห่าง บาดหมาง หรือขมขื่น แต่คนเจนวายเกาะติดพ่อแม่มากกว่า มีความสัมพันธ์กับพ่อแม่ที่ดีกว่า  และด้วยการที่ค้นหาตัวเองที่เป็นกระบวนการใช้เวลานาน พวกเขาอาจเริ่มทำงานช้า หรือ ย้ายสาขาที่เรียนและแม้จะจบมาแล้วก็ยังเปลี่ยนงานบ่อย  Keep Fighting นะ! คำถามที่พวกเขามักเผชิญก็คือ ฉันเป็นใคร ฉันเกิดมาเพื่อทำอะไร?

 

ในด้านความเชื่อ : นอกจากเจน Y จะ ยังค้นหาตัวตนไม่ค่อยเจอแล้วแล้ว ลามไปถึงมิติด้านความเชื่อ นอกจากพระมหาบัญชาที่คนรุ่นก่อนมุ่งหมายที่จะทำให้สำเร็จแล้ว คนเจนวายถูกสอนว่า ทุกคนเป็นผู้รับใช้ และรับใช้ตามของประทาน และตามน้ำพระทัย  แต่พวกเขายังค้นหาน้ำพระทัยไม่ค่อยเจออีกด้วย ทั้งในด้านของการรับใช้ และในด้านของความรัก คำว่าคู่พระพรมีอิทธิพลกับคนเจนนี้มากขึ้น ต่างกับเจนเบบี้บูมเมอร์ที่แต่งงานตามผู้ใหญ่หาให้ หรือ เจน X ที่แต่งแล้วเลิกรากันมากมายหลายคู่ คนเจน Y ต้องการรู้ว่าใครคือคนที่ใช่ อะไรคืองานที่ใช่ และโบสถ์แบบไหนคือโบสถ์ที่ใช่ รูปแบบการนมัสการแบบไหนที่ใช่ เพราะยุคนี้มีไลฟสไตล์ที่หลากหลายและเต็มไปด้วยความสับสน

 

เพราะความขาดหาย เหงาเศร้า และล่องลอย สิ่งที่เจน Y ต้องการอย่างแท้จริงคือ “เพื่อนแท้” “และใครสักคนที่เข้าใจและรู้จักเขา” ใครสักคนที่ทำให้เขารู้สึกมั่นคงและยึดเหนี่ยวได้ ภาพของคริสตจักรของเจน Y จะแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน พวกเขาถูกสอนให้เฝ้าเดี่ยว และมุ่งแสวงหาพระเจ้าเป็นการส่วนตัว และด้วยความเป็นปัจเจกที่มากขึ้นของโลกหลังสมัยใหม่ ภาพคริสตจักรของพวกเขา จึงเป็น “ตัวตนของผู้เชื่อ” เพราะเขาเรียนรู้ว่าพระเจ้าอยู่กับเขาทุกที่ ดังนั้นเจนวายอาจไม่ยึดติดกับโบสถ์ของตัวเองมาก พวกเขาอาจไปเที่ยวโบสถ์นู้นนี้บ้างตามเรื่องตามราว แต่พวกเขาก็จะกลับมาในที่ๆ พวกเขารู้ว่าเป็นที่ๆ ปลอดภัยและต้อนรับเขาอยู่เสมอ

 

 

  1. Gen Z – เซนเทนเนียล
    [
    เกิดปี พ.ศ. 2540 อายุประมาน 20 ปีลงไป]

 

บริบททางสังคม :  ในตอนที่พวกเขาเกิดโลกได้เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Post-Post Modern หรือ โลกหลังหลังสมัยใหม่ เป็นยุคที่นักวิชาการไม่รู้จะสรรหาชื่อไหนมาอธิบายความซับซ้อนของโลกได้แล้ว พวกเขาคือ Digital Native (พลเมืองยุคดิจิทัล)  เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีเฟื้องฟูที่สุด ในยุคดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบไม่มีอนาล็อกผสม เด็กยุคนี้มี 3 มือ (มือซ้าย มือขวา และมือถือ) อีกไม่กี่ปีคนเจน Z ก็จะเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน แต่พวกเขาอาจจะไม่เข้าสู่ตลาดแรงงานแบบคนรุ่นก่อนๆ เพราะรูปแบบการทำงานของโลกอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทมากจนอาจเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมแบบพลิกโฉมไปเลย

 

ลักษณะทั่วไป : คนรุ่นนี้มีลักษณะการใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการเลย เพราะสื่อสารกันผ่านตัวหนังสือ และการแชท ภาษาของพวกเขาถูกลดทอนให้สั้น และเต็มไปด้วยคำที่ถูกใส่รหัสความหมายตลอดเวลา เพราะสังคมของพวกเขามีความเฉพาะกลุ่มอย่างมากและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดมาในยุคที่มีเครื่องมือด้านการสื่อสารที่ล้ำเกินไป เด็กรุ่นนี้ขาดการใช้ทักษะการสื่อสารในโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว พวกเขาก้มหน้ามากไปหน่อย แต่ก็เรียนรู้เร็ว และเก่งหลายภาษา

 

ในด้านความเชื่อ :  แน่นอนว่าเด็กอนุชน หรือกลุ่มวัยรุ่นของแต่ละโบสถ์ไม่ใช่คนเจน Y ซะแล้ว แต่เป็นเด็กๆ เจน Z ซึ่งเกิดมาในยุคที่ทุกอย่างออนไลน์หมด และลมหายใจเข้าออกคือมาเชื่อมต่อโลกอินเตอร์เน็ต  พวกเขาใช้ App พระคัมภีร์ออนไลน์ เช็คอินเวลามาโบสถ์ แต่ก็เสียการโฟกัสได้ง่ายเพราะ การทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน (Multitask) ด้วยการที่พวกเขาโตมาในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่เขาต้องการจึงไม่ใช่ ความรู้ ข้อมูล คำเทศน์ดีๆ หรือสุนทรพจน์สร้างแรงบัลดาลใจ แต่การที่คนเจน Z จะเรียนรู้ความเชื่อนั้น พวกเขาต้องการ “แบบอย่าง” ที่มีอิทธิพลสร้างแรงจูงใจและผลักดันพวกเขา ภาพของโบสถ์ที่พวกเขามอง จึงไม่สำคัญเท่ากับชีวิตของผู้คนที่มีส่วนในชีวิตเขา เพราะแบบอย่างที่ดีจนละสายตาไม่ได้นั้นเป็นสิ่งเดียวที่จะไม่ทำให้เขาหลุดไปจากความเชื่อ

 

. . .

 

ได้รู้กันไปแล้วว่าผู้อ่านเป็นคนเจนไหน และได้เข้าใจโลกของคนแต่ละเจนกันไปแบบเบื้องต้นแล้ว ในตอนหน้า Church & Gen “คนละรุ่นเดียวกัน” จะมาเจาะลึกลงไปอีกว่า ทำไมแต่ละเจนถึงมีความแตกต่างกัน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในยุคของเขา และส่งผลต่อความเชื่อ และความคิดยังไงบ้าง?

 

… ต่างวัยไม่เป็นไร แค่มีความเข้าใจอะไรๆ ก็ชูใจทั้งนั้นแหละ …

 

 

*บทความนี้เขียนและรวบรวมขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีสำหรับคนหลายวัย โดยชี้ให้เห็นถึงบริบททางสังคมที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในแต่ละยุคอย่างกว้างๆ เพื่อให้เข้าใจถึงอิทธิพลของสังคมที่มีผลต่อมุมมองของคนแต่ละวัยเพื่อสร้างความเข้าใจแก่กันและกัน ทั้งนี้บริบททางสังคมเป็นเพียงส่วนประกอบเดียวในการรับรู้ของบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นตัวกำหนดความคิด แบบแผนพฤติกรรมทั้งหมด ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้แต่ละคนมีความแตกต่างกันด้วย

 


อ้างอิง :

ชาตรี กลั่นประทุม. 2017. เรื่องแปลกๆ สมัยจอมพล ป.พิบูลย์ สงคราม : เรื่องเก่าเล่าใหม่. (ออนไลน์). จาก https://cklanpratoom.wordpress.com/2016/เรื่องแปลกๆ-สมัยจอมพล-ป/ สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม  2018

วิกิพีเดีย. 2558. แปลก พิบูลสงคราม : วิกิพิเดีย. (ออนไลน์). จาก  https://th.wikipedia.org/wiki/แปลก_พิบูลสงคราม สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม  2018

Salinee chot. 2016. ทำการตลาด การแบ่งกลุ่มลูกค้าแต่ละ Generation. youtube. (ออนไลน์). จาก https://www.youtube.com/watch?v=iT_DpDDxWF4&t=496s สืบค้นเมื่อ 15 มกรา  2018


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Jostar
  • พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง