เตือนยังไงไม่ให้ช้ำ

EP. 3

เตือนจากใจยังไงไม่ให้ช้ำ (รู้เขารู้เรา Podcast)


Podcast Project รู้เขารู้เรา : โปรเจ็คที่จะช่วยให้คุณรู้จักตัวเองและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
พูดคุยโดย : วอร์ วรรัก และ เจด เจษฎา
นักศึกษาพระคริสต์ธรรมด้านการให้คำปรึกษา


 

Highlight

  • ศิลปะของการเตือนที่ดี คือ “ถูกจังหวะและถูกคำพูด”  พบกับเคล็ดลับการแสดงความห่วงใยในเวลาที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการในพระคัมภีร์ที่ย่อยออกมาเป็นวิธีการง่ายๆ ได้ผลจริง

 


.

การเตือนมี 2 แบบ คือแบบมีศิลปะ กับแบบไม่มีศิลปะ

[นาทีที่ 3.00]

 

ในเรื่องๆ เดียวกันที่มีคนเตือน คนเราอาจตอบสนองต่อการเตือนนั้นๆ ไม่เหมือนกัน กับบางคนเราโอเคแต่กับบางคนเราไม่โอเค ที่เป็นแบบนี้เพราะองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น อายุ, ความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ของคนพูด, ความสัมพันธ์,  ความเคารพนับถือ และศิลปะในการเตือนของคนๆ นั้น

 

ผลของการเตือนที่ไม่มีศิลปะ นอกจากผู้ถูกเตือนจะรู้สึกไม่โอเคจนไม่เปิดใจฟังแล้วยังส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ด้วย คนเราเมื่อเจ็บปวดก็จะพยายามหลีกเลี่ยงในการเผชิญหน้า เมื่อถูกเตือนแบบไม่มีศิลปะบ่อยๆ อาจทำให้คนที่ถูกเตือนรู้สึกไม่ดีจนถึงขั้นหนีหน้าไปเลยเพราะเสียความรู้สึก

 

พระคัมภีร์สุภาษิตได้ให้หลักการของการเตือนแบบมีศิลปะไว้ว่า …

 

“คนที่มีคำตอบเหมาะๆ ในปากย่อมยินดี
คำเดียวที่ถูกกาลเทศะก็ดีจริงๆ ”
สุภาษิต 15:23 (THSV11)

 

เราจะพูดให้ถูกจังหวะและถูกคำพูดยังไง?

[นาทีที่ 6.45]

จากหลักการใน สุภาษิต 15:23 แบ่งองค์ประกอบในการเตือนที่ดี เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่

คำตอบเหมาะๆ ในปาก = ถูกคำพูด
คำเดียวที่ถูกกาลเทศะ  = ถูกจังหวะ

 

1. พูดให้ถูกจังหวะ 

[นาทีที่ 7.27]

 

จังหวะเป็นสิ่งสำคัญ การผิดจังหวะอาจจะทำให้คนฟังเหวอและวงแตก การพูดให้ถูกจังหวะนั้นแบ่งเป็น  2 รอ ดังนี้…

 

เตือนยังให้ไม่ให้เจ็บ

 

  •  รอดูอารมณ์ก่อน (ทั้งอารมณ์ของเค้าและอารมณ์ของเรา) – [นาทีที่ 8.45]

 

ในขณะที่อารมณ์ยังไม่พร้อมคนเราไม่สามารถตีความสารที่เราต้องการสื่อได้อย่างเป็นกลาง การเข้าไปคุยกับเขาในเวลานั้นอาจจะยิ่งทำให้เสียเรื่อง  นอกจากอารมณ์ของเค้าแล้วข้อนี้ยังหมายรวมถึงอารมณ์ของเราด้วยเพราะบางขณะที่เราเองก็ไม่นิ่ง เช่น เวลาอารมณ์ร้อนๆ เราก็อาจจะพูดอะไรที่ไม่เข้าหู  หรือแม้กระทั่งเราพูดคุยด้วยคำปกติ แต่สีหน้าและอารมณ์ก็อาจจะแสดงออกมา และคนฟังเค้าสามารถสังเกตได้

 

  • รอฟังก่อน (เพราะทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง) – [นาทีที่ 12.05]

 

เราไม่ควรรีบด่วนสรุปและตัดสินเขา แม้ว่าเหตุผลที่เขาให้มานั้นจะฟังขึ้นหรือไม่ขอให้เราเปิดใจฟังก่อน และเมื่อถึงเวลาต้องตักเตือน ถ้าเราฟังเขาก่อนแล้วเขาก็จะฟังเราเช่นเดียวกัน

 

 

2. พูดให้ถูกคำพูด

[นาทีที่ 14.05]

 

เตือนยังไงไม่ให้รู้สึกเจ็บ

 

  • พูดความรู้สึกเราก่อน – [นาทีที่ 14.17]

การพูดความรู้สึกก่อนเป็นการสื่อเข้าไปถึงจิตใจได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายสัมผัสได้ถึงความรักความห่วงใยที่มีต่อเขา การสื่อสารไปที่หัวใจก่อนจะทำให้เขาเปิดใจรับฟังเรามากกว่าการพูดความคิดเห็น

 

  • พูดความผิดเราก่อน – [นาทีที่ 16.25]

เดล คาร์เนกี ในหนังสือวิธีเอาชนะมิตรและจูงใจคนได้เขียนไว้ว่า*  “ก่อนที่จะพูดถึงความผิดของคนอื่น ให้พูดเรื่องความผิดของตัวเองก่อน”  

การพูดความผิดของเราก่อน มีข้อดีคือ เปิดใจอีกฝ่ายให้เห็นว่าทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้เหมือนกัน เราเห็นใจเขา และเป็นพวกเดียวกันกับเขาไม่ได้วางตัวอยู่เหนือกว่า เช่น  สมัยพี่อายุเท่าเราพี่ก็เคยผิดพลาดในเรื่องนี้…ดังนั้นพี่เข้าใจเรานะ … บลาๆๆ

 

  •  พูดเตือนด้วยความรัก  – [นาทีที่ 18.52]

สีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงที่ปราศจากความรัก ทำให้ผู้ฟังรู้สึกถูก “ตำหนิ” มากกว่า “การเตือน” ข้อนี้ต่อเนื่องมาจาก EP. 1 พูดตรงๆยังไงไม่ให้พัง? สามารถคลิ๊กฟังย้อนหลังได้ที่นี่ >>>  “พูดตรงๆยังไงไม่ให้พัง”

 

สรุป :

การเตือนจากใจไม่ให้เค้าช้ำนั้นบางครั้งเราก็ต้องเป็นฝ่ายเตรียมใจของเราที่อาจจะช้ำแทนด้วย เพราะบางครั้งสิ่งที่เราเตือนเค้าไปด้วยความรัก เค้าอาจจะฟังหรือไม่ฟังก็ได้ แต่ไม่ว่าจะยังไงเราก็ได้ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดและได้สำแดงความรักของพระเจ้ากับเค้าแล้ว

สิ่งสำคัญคือให้เราสำรวจใจตัวเองให้ดีด้วยว่า สิ่งที่เรากำลังเตือนเค้านั้นเป็นเพียงแค่ความรู้สึกของเรา หรือเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความจริงและวิถีของพระเจ้า

 

 

จะเตือนทั้งทีต้องเตือนด้วย ความจริง พร้อมความรัก อย่างมีศิลปะให้รู้จักรอ และรู้จักพูด” –(พี่วอร์)
[นาทีที่ 27.30]

 

“เรามีหน้าที่สื่อสารเท่านั้นแต่คนที่จะเปลี่ยนแปลงเค้าคือพระเจ้าไม่ใช่ตัวเรา หรือคำพูดของเรา” –(พี่เจด)
[นาทีที่ 28.12]

 

 

_______________________________
.

ฟังแล้วลองฝึกกัน อยากให้น้องๆ ลองถามตัวเองดูว่า…

●        เราเตือนแบบมีศิลปะ มากน้อยแค่ไหน?

●        และถ้าเราจะเตือนให้ดีขึ้น จะเริ่มต้นจากอะไรก่อน?

.

_______________________________

.

ขอขอบคุณที่ปรึกษาด้านเนื้อหา  :

อ. เจนจิต เลิศมาลีวงศ์  อาจารย์ประจำหมวดวิชาพระคัมภีร์ใหม่ โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู (TBTS)

.


.

*อ้างอิงหลักการบางส่วนจาก: หนังสือวิธีชนะมิตรและจูงใจคน (How to Win Friends and Influence People) ผู้เขียน เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) สำนักพิมพ์ แสงดาว

ชาวชูใจสามารถกดฟัง Podcast รู้เขารู้เราทุกตอนที่ผ่านๆ มาได้ทางลิงค์นี้ค่ะ >>> http://choojaiproject.podbean.com นอกจากนี้ยังสามารถกด Follow ชูใจเพื่อให้ไม่พลาด Podcast อื่นๆ ในอนาคต


Previous Next

  • Author:
  • Editor สาวเรียบเรียงหลายบทความในชูใจ เธอผู้มีภาษาละมุนละไม กระดุ้มกระดิ้ม และยังมุ่งมั่นรับใช้พระเจ้าและมีภาระใจในการทำงานด้านให้คำปรึกษากับวัยรุ่น เลยต้องดั้นด้นไปอยู่เมืองสิงโตพ่นน้ำเพื่อเรียนต่อด้านนี้!
  • Author:
  • ชายหนุ่มวัยปลายยี่สิบ ผู้ผันตัวจากการเป็นกราฟิกมือทอง มาทำงานรับใช้สายผู้ให้คำปรึกษา ต้องการจะชูใจผู้อื่นด้วยการทำให้น้องๆ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม!!!
  • Illustrator:
  • เฮียกิดไจ๋
  • หนุ่มน้อยไฟแรงผู้รับใช้ เป็นคนเจนวายสาย conservative อนุรักษ์มือถือแบบปุ่มกด ไม่นิยมการใช้โซเชียล ชื่นชอบการอบคุ้กกี้ ดูเตียบ่อกี้และละครนาคีกับที่บ้าน เชี่ยวชาญทางด้านกราฟฟิกและงานครัว นี่มัน! หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ เลยนี่นา!