The Picture of Dorian Gray

EP. 33

The Picture of Dorian Gray : รูปเคารพที่เรียกว่าความเยาว์วัย [อ่านมาเล่า]


ชื่อหนังสือ : The Picture of Dorian Gray
ผู้แต่ง:  Oscar Wilde
แนวหนังสือ : นิยายเชิงปรัชญา / นิยายกอธิค
ภาพประกอบจากภาพยนตร์เรื่อง : The Picture of Dorian Gray (1945)

 

ภาพวาดโดเรียน เกรย์

_____________________________

อ่านมาเล่าวันนี้… ชูใจชวนอ่านวรรณกรรมคลาสสิกที่ทรงคุณค่าและแฝงแง่คิด “คำอธิษฐานที่ทำให้หนุ่มเฟี้ยวตลอดกาลและฝากร่องรอยแห่งกาลเวลาไว้ในภาพวาด”  … ใครชอบอ่านหนังสือพลาดไม่ได้แต่ถ้าใครไม่ชอบอ่านยาวเราจะมาเล่าให้ฟัง ^^

 

 

The Picture of Dorian Gray เป็นวรรณกรรมคลาสสิกจากศตวรรษที่ 19 มีเนื้อหากล่าวถึงความรุ่งเรืองของยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) โดยนำเสนอแนวคิดต่างๆ จากการวิพากษ์ผ่านบทสนทนาของตัวละครในประเด็นศิลปะ ความเชื่อ วัฒนธรรม ชนชั้น เพศ สิทธิเสรีภาพ โครงสร้างทางสังคม และศีลธรรม

*บทความนี้เป็นการวิเคราะห์หลังอ่าน จึงมีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่องเกือบทั้งหมด ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการทราบรายละเอียดของเรื่อง

 

_____________________________

เรื่องย่อ:

ดอเรียน เกรย์ เป็นทายาทในแวดวงชนชั้นสูงของสังคมอังกฤษ เปี่ยมด้วยรูปลักษณ์สง่างามอย่างเทพบุตร รสนิยมเป็นเลิศ ความรู้สูง และมั่งมีด้วยทรัพย์สินเงินทอง

วันหนึ่งเขาเดินทางมาเป็นแบบให้กับ “ภาพวาด” ของบาซิล ฮอลวอร์ด จิตรกรที่ลุ่มหลงในตัวเขา และได้พบกับลอร์ดเฮนรี วอตตัน ผู้ซึ่งภายหลังจะทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อชีวิตของเขาที่นั่น

 

ความประทับใจที่ดอเรียนมีต่อมุมมองชีวิตอันย้อนแย้งและแปลกใหม่ของเฮนรีทำให้เขาชื่นชมคนผู้นี้มาก อาจกล่าวได้ว่าเฮนรีเปลี่ยนทัศนคติของดอเรียนได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน สิ่งที่เปลี่ยนอย่างฉับพลันนั้น คือเขาเกิดหลงใหลในความงามของตน กระทั่งอธิษฐานขอให้ความงามคงอยู่กับเขาตลอดไปและให้ภาพเหมือนที่บาซิลวาดนั้นแก่ลงแทน

 

 

คำอธิษฐานเกิดขึ้นจริง ร่องรอยแห่งกาลเวลาและความเสื่อมโทรมของร่างกายกลับอยู่บนภาพเหมือนที่บาซิลมอบให้ ขณะที่ความเยาว์งามของเขายังเหมือนเดิมไม่แปรเปลี่ยน เมื่อเป็นอย่างนั้นดอเรียนจึงใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญ โดยให้ภาพเหมือนแบกรับความเสื่อมโทรมทั้งทางกายและจิตใจของเขาแทน เขาทำลายทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งซีบิล เวน คนรักคนแรก หญิงชายอีกหลายต่อหลายคนที่หลงรักเขา และเพื่อนทั้งหมดที่เขามี

 

หลายปีต่อมา ชื่อเสียงของดอเรียนในสังคมย่ำแย่จนทำให้บาซิลมาพบเพื่อกล่าวเตือน แต่กลายเป็นว่าเขาโมโหและเผลอฆ่าจิตรกรผู้นั้นตาย

 

 

เวลาผ่านมาได้สักพัก เขาก็นึกอยากลืมอดีตที่เหลวแหลกและเริ่มต้นชีวิตใหม่ จึงตัดสินใจใช้มีดกรีดลงบนภาพเหมือนด้วยหวังให้หลักฐานของความบาปได้หายไปจากชีวิต แต่เรื่องกลับจบลงโดยการที่ตำรวจและคนรับใช้พบศพอันแก่ชราของเขาข้างภาพเหมือนงดงามที่แขวนอยู่บนฉาก

_____________________________

 

ถ้าจะให้กล่าวถึงทุกประเด็นในหนังสือคงไม่อาจจบได้ในความยาวที่ถูกกำหนดไว้

ดังนั้นผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงเพียงเรื่องที่สนใจโดยสังเขป

 

 

ความย้อนแย้งของตัวละคร

 

 

อันที่จริงทุกตัวละครในเรื่องมีความย้อนแย้งในตัวสูงจนเหมือนกับว่าออสการ์ ไวลด์ ต้องการนำเสนอประเด็นนี้เป็นพิเศษโดยถ่ายทอดออกมาสู่คำพูดและการกระทำของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นสังคมรอบข้างที่มีลักษณะแบบมือถือศากปากถือศีล หรือบาซิลที่ยึดมั่นในกรอบศีลธรรม แต่ใจกลับหมกมุ่นกับสิ่งผิดศีลธรรมในสมัยนั้นเสียเอง (รักร่วมเพศ) หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดแบบลอร์ดเฮนรี ที่บาซิลเคยกล่าวถึงเขาว่า “คุณไม่พูดเรื่องศีลธรรม แต่ก็ไม่เคยทำอะไรผิด การเย้ยหยันโลกของคุณแค่แสร้งลีลาเท่านั้นแหละ” เป็นเรื่องจริงที่เขาพูดถึงเรื่องผิดบาปมากมายแต่กลับไม่ลงมือทำ นั่นคงเพราะต้องการเพียงประชดประชันสังคมโลกเท่านั้นเอง

 

ความย้อนแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า ในใจของเราทุกคนล้วนมี “ขั้วตรงข้าม” ด้วยกันทั้งสิ้น คำกล่าวเทียบที่ว่า “สวรรค์และนรกอยู่ในใจ” เห็นจะจริงดังนั้น เพราะเค้าความคิดในใจของมนุษย์ล้วนร้ายมาตั้งแต่เด็ก (ปฐมกาล 8:21) จึงเป็นเรื่องปกติที่ใจมักคิดบาปคิดชั่วอยู่เสมอ ในขณะเดียวกับที่จิตสำนึกก็พยายามต่อต้านความคิดเหล่านั้น

 

“ไม่ต้องพูดถึงเรื่องคิดอย่างทำอย่างหรอก แม้แต่ความคิดยังขัดแย้งในตัวมันเองเลย”

 

 

ลิทธิสุขนิยม (Hedonism)

 

หนังสือเล่มนี้เสนอแนวคิดจากความรู้ปรัชญาต่างๆ มากมาย โดยมีชุดความคิดส่วนหลักในเล่มคือลัทธิสุขนิยม ซึ่งออสการ์ทำให้เราได้เห็นถึงผลวิบัติของการไม่มีพระเจ้า แม้ตัวละครจะมีความรู้จากการศึกษาหลักปรัชญาสูงส่งเพียงใด แต่เมื่อไม่มีพระเจ้าเขาก็ไขว้เขวไปกับแนวคิดเหล่านั้นด้วยสติปัญญาอันมีจำกัดของมนุษย์

 

ลัทธิสุขนิยมจะสนับสนุนคุณค่าภายในตัวของความสุขสำราญทางกาย โดยมองว่าการกระทำทุกอย่างของมนุษย์ล้วนแสวงหาความสุขความบันเทิง (แม้แต่ศีลธรรมก็เกิดขึ้นจากการแสวงหาความสุขเช่นกัน) วัตถุประสงค์ของความสุขสำราญคือประสบการณ์ ไม่ใช่ผลของประสบการณ์ จึงต้องการสอนมนุษย์ให้จดจ่ออยู่กับทุกชั่วขณะของชีวิตที่ในตัวมันเองนั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเพียงชั่วขณะหนึ่ง

 

ตัวละครจากในเรื่องที่ยึดถือแนวคิดนี้ ได้แก่

 

 

ลอร์ดเฮนรี: อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าลอร์ดเฮนรีเป็นตัวละครที่คิดอย่างทำอย่าง ความคิดแบบสุขนิยมจึงเป็นเพียงหลักการของทัศนคติที่เขามีเท่านั้น

ดอเรียน: เฮนรีได้ถ่ายทอดแนวคิดนี้ให้กับดอเรียน เกรย์ แต่ต่างกันตรงที่ดอเรียนคิดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ลัทธิสุขนิยมจึงเกี่ยวโยงกับพฤติกรรมการแสดงออกของดอเรียนโดยตรง แทบทุกการตัดสินใจล้วนมุ่งเน้นไปที่สุนทรียภาพเป็นหลัก

 

ยุคของวัตถุนิยม

 

ความรุ่งเรืองของยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาบวกกับแนวคิดแบบลัทธิสุขนิยมทำให้ตัวละครในเรื่องหลงใหลบูชาวัตถุ จะว่าไปก็ไม่ต่างจากปัจจุบันเท่าไรนัก หนังสือเล่มนี้จึงค่อนข้างร่วมสมัย

 

ทุกตัวละครในเล่มนี้ล้วนแล้วแต่เป็นพวกวัตถุนิยม ทั้งมองบุคคลเป็นวัตถุ นับถือสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเท่านั้น บูชาเงินทอง ฝักใฝ่ในอำนาจ ใช้ทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องมือบำบัดจิตใจ ฯลฯ ขนาดในโบสถ์ก็ยังมีความเป็นศาสนาวัตถุนิยมด้วย

 

“บาปที่สวยงามจึงเป็นได้เพียงอภิสิทธิ์ของคนรวย เช่นเดียวกับของสวยงาม”

 

แม้ปากของพวกเขาจะพยายามผลักไสความเป็นวัตถุนิยมและมุ่งไปที่ศีลธรรมอันดี แต่ชนชั้นสูงกลับเสพสำราญในวัตถุ ขณะที่ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างก็ใฝ่หาวัตถุ เนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์ถูกเปิดเปลือยผ่านการกระทำอย่างที่ออสการ์ ไวลด์ เล่าออกมาในจังหวะตลกร้ายได้เจ็บแสบ

 

 

มนุษย์และรูปเคารพในใจ

เป็นคำตรัสชัดเจนแล้วว่า “ห้ามมีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา” (อพยพ 20:3)

 

ไม่ใช่เพียงพระองค์อื่น แต่เป็นสิ่งใดก็ตามที่เราให้ความสำคัญจนบูชามันไว้ในใจล้วนถือเป็นการนอกใจพระเจ้าทั้งสิ้น และแน่นอนว่าพระองค์ก็ไม่ประสงค์เช่นนั้น

 

ไม่มีมนุษย์คนไหนบนโลกไม่มีรูปเคารพในใจของตัวเอง (หากผู้ใดกล่าวปฏิเสธก็ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่าเขาอาจกำลังบูชาความเชื่อมั่นในทัศนคติของตัวเอง) รูปเคารพในใจที่ตั้งเสมอหรือเหนือกว่าพระเจ้าอาจเป็นได้ทั้งความรู้ สติปัญญา ทัศนคติ ทรัพย์สิน ตัวบุคคล สิ่งของ.. อะไรก็ตามสามารถกลายเป็นรูปเคารพได้ทั้งนั้น

 

ตัวอย่างเช่นในเรื่องนี้ ดอเรียนชูตัวเขาเองเป็นรูปเคารพในใจด้วยทัศนคติความรู้สึกนำ ทำให้เขามัวเมากับความสุนทรีย์โดยใช้หลักแนวคิดสุขนิยมมาอ้างประกอบเป็นเหตุผลและกำหนดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งจนไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น เขากล่าวโทษให้กับทุกอย่าง (ยกเว้นตัวเอง) กระทั่งส่งผลให้ใจของเขาไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ เมื่อถูกบาซิลกล่าวเตือนให้กลับใจและสารภาพบาปกับพระเจ้าเขาจึงทนไม่ได้และทำตามอารมณ์โดยการลงมือฆ่า ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของบาซิลเองที่ทำให้เขาโมโห

 

 

“ความเกรงกลัวพระเจ้าเป็นอุบายลับทางศาสนา”

 

ประโยคนี้กล่าวโดยลอร์ดเฮนรี แสดงให้เห็นถึงมุมมองบิดเบี้ยวที่อินกับความมานุษยวิทยาสูงจนเห็นว่าพระเจ้าเป็นเพียงเครื่องมือของกฎปฏิบัติทางสังคมที่ช่วยกรอบขอบเขตของคำว่าศีลธรรม

 

 

เป็นโอกาสดีที่เราจะถามตัวเองว่าการเลือกเดินตามทางของพระเจ้านั้นเป็นเพราะความกลัวหรือความรัก พระเจ้าที่เรารู้จักเต็มไปด้วยการอภัยและความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขไม่ใช่หรือ? เช่นนั้นแล้ว หากให้ความกลัวนำก็แสดงว่าคุณกำลังขาดความเชื่อมั่นในรักของพระองค์อยู่แน่ๆ อย่าให้ความกลัวหรือคำกล่าวของใครก็ตามมาบดบังความแท้จริงอันยิ่งใหญ่ของความรักไปจากใจเลย

 

เพราะใน​ความ​รัก​นั้น​ไม่มี​ความ​กลัว แต่​ความ​รัก​ที่​สมบูรณ์​นั้น​ก็​ขับไล่​ความ​กลัว​ออก​ไป​เสีย เพราะ​ความ​กลัว​เกี่ยวข้อง​กับ​การ​ลงโทษ และ​ผู้​ที่​กลัว​ก็​ยัง​ไม่มี​ความ​รัก​ที่​สมบูรณ (1 ยอห์น 4:18)

 

 

 

“กล่าวกันว่าเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ในโลกเกิดขึ้นภายในสมอง บาปยิ่งใหญ่ของโลกเกิดขึ้นที่นั่น”

 

“แต่สิ่งที่ออกจากปากก็ออกมาจากใจ สิ่งนั้นแหละทำให้มนุษย์เป็นมลทิน ความคิดชั่วร้าย การฆ่าคน การผิดผัวผิดเมีย การล่วงประเวณี การลักขโมย การเป็นพยานเท็จ การใส่ร้าย ก็ออกมาจากใจ” (มัทธิว 15:18-19)

 

เฮนรีเป็นบุคคลเฉลียวฉลาดที่เข้าใจมนุษย์ดีเหลือเกิน แต่น่าเสียดายที่เขามัวแต่หมกมุ่นกับความเป็นมนุษย์จนมองไม่เห็นพระเจ้า อาการต่อต้านศาสนาของเขาจึงเกิดขึ้นเพราะความผิดหวังในตัวมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ

 

อันที่จริงเฮนรีเป็นตัวละครที่ปากบอกว่าเกลียดชังศีลธรรม แต่ตัวเขาเองกลับมีศีลธรรมอยู่ในใจ เขาชิงชังคนบาปในคราบนักบุญกระทั่งยอมรับไม่ได้หากตัวเองจะเป็นอย่างนั้นจึงประกาศตัวเป็นคนบาปเสียเลย ทั้งนี้ก็เพราะเขาสับสนกับขั้วตรงข้ามที่ใจหนึ่งคิดบาปโดยธรรมชาติ แต่อีกใจหนึ่งกลับตักเตือนความบาปนั้นด้วยจิตสำนึก ขั้วตรงข้ามจึงกัดกร่อนจิตใจของกันและกันจนทำให้เขาหมดหวังและยอมแพ้ให้กับความบาปในใจตัวเอง

 

 

แล้วมนุษย์จะดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขได้อย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับขั้วตรงข้ามของจิตใจ?

 

เฮนรีทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเปาโล ในจังหวะที่เขาเข้าใจถึงจิตใจตัวเองและร้องขอการช่วยเหลือ

 

“ดังนั้น​ข้าพเจ้า​จึง​เห็น​ว่า​เป็น​กฎ​ธรรมดา​อย่าง​หนึ่ง คือ​เมื่อใด​ที่​ข้าเจ้า​ตั้งใจ​จะ​กระทำ​ความดี ความชั่ว​ก็​พร้อม​ที่​จะ​ผุด​ขึ้น เพราะว่า​ส่วนลึก​ใน​ใจ​ของ​ข้าพเจ้า​นั้น ข้าพเจ้า​ชื่นชม​ใน​ธรรมบัญญัติ​ของ​พระเจ้า แต่​ข้าพเจ้า​เห็น​มี​กฎ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​อยู่​ใน​กาย​ของ​ข้าพเจ้าซึ่ง​ต่อสู้​กับ​กฎ​แห่ง​จิตใจ​ของ​ข้าพเจ้า และ​ชักนำ​ให้​ข้าพเจ้า​อยู่​ใต้​บังคับ​กฎ​แห่ง​บาปซึ่ง​อยู่​ใน​กาย​ของ​ข้าพเจ้” (โรม 7:21-23)

 

และสุดท้ายเปาโลก็พบผู้ที่จะช่วยให้เขาเอาชนะความบาปได้ นั่นก็คือพระเยซู

 

ดังนั้นแล้วการพยายามกำจัดความบาปด้วยตัวเองนั้นเป็นเรื่องสูญเปล่าเพราะมันเกินความสามารถของมนุษย์ วิถีแห่งความรอดบาปนั้นคือการเชื่อในพระเยซูและติดสนิทกับพระองค์ต่างหาก

 

“การยกพระเจ้าไว้เป็นที่หนึ่งจะทำให้เราเป็นสุข
เพราะเมื่อให้พระวิญญาณนำ เราจะไม่ตอบสนองต่อความต้องการของเนื้อหนังได้เอง”

 

สัญศาสตร์ของภาพเหมือน

 

“หากผมจะดูหนุ่มตลอดไปแต่รูปภาพแก่ลงแทน! ถ้าได้อย่างนั้นผมยินดีแลกทุกอย่าง ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ผมจะสละให้ไม่ได้! ผมจะแลกมันกับวิญญาณของผม” ดอเรียน

 

รูปภาพของดอเรียนในเรื่องเปรียบแทนจิตวิญญาณ และริ้วรอยบนภาพก็เปรียบแทนมโนธรรม

 

 

เขายอมสละจิตวิญญาณเพื่อเติมเต็มความต้องการทางเนื้อหนัง เมื่อร่องรอยของมโนธรรมคอยฟ้องเตือน เขาจึงพยายามทำลายมโนธรรมนั้นเพื่อจะได้ไม่มองเห็นและรู้สึกละอายในบาปอีกต่อไปโดยการใช้มีดกรีดลงบนผืนผ้าใบ ริ้วรอยบนผืนผ้านั้นถูกทำลายลงพร้อมกับตัวภาพเหมือน แสดงให้เห็นว่ามโนธรรมและจิตวิญญาณของมนุษย์นั้นไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ ดังนั้นแล้วสองสิ่งนี้ของเขาก็ได้ถูกสังหารไปพร้อมกัน แต่การคร่าจิตวิญญาณชั่วช้านั้นกลับสะท้อนลงบนกายเนื้อเพราะสิ่งแลกเปลี่ยนที่เขาอธิษฐานขอไว้ข้างต้นได้สูญสลายไปแล้ว ทำให้ในตอนจบเขาเสียชีวิตด้วยรอยชราที่ตัวเองเกลียดชังอันเป็นเครื่องระลึกถึงรอยบาปของตน

 

_____________________________

ในความเป็นจริง แน่นอนว่าตัวเราไม่สามารถมองเห็นจิตวิญญาณบนภาพได้อย่างดอเรียน หมายความว่าร่องรอยของการกระทำบาปจะไม่เห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมเสียทีเดียว แต่โปรดพึงระลึกเสมอว่าพระเจ้าสามารถรับรู้สิ่งนั้นได้ ดังนั้นแล้วเราจะอยากให้พระองค์เห็นภาพวาดของเราเป็นแบบไหน

 

 

ด้วยความรัก ความเชื่อ และชูใจ


ติดตามบทความในคอลัมน์ #Featured คอลัมน์ในกระแสที่หยิบจับเอาเรื่องทั่วไปมาพูดคุยกันในมุมมองของคริสเตียน มีประเด็นน่าสนใจเมื่อไหร่เจอกันแน่น๊อนนนน ☺


Previous Next

  • Author:
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน
  • Illustrator:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน
  • Editor:
  • Perapat T.
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)