มีอะไรอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแช็ง?

EP.1/5 [ซีรีย์ภูเขาน้ำแข็ง]

มีอะไรอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง? (สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมแย่ ๆ)


HIGHLIGHTS:

  • พฤติกรรมที่เราแสดงออก บ่อยครั้งขัดแย้งกับความรู้สึกที่อยู่ในใจ
  • ทุกการกระทำมีเหตุผล และทุกการตัดสินใจคนที่ทำเขาคิดว่ามันดีในสถานการณ์นั้นแล้ว (ทุกคนไม่สมบูรณ์แต่พยายามทำดีที่สุดแล้ว)
  • การกระทำที่แสดงออกมานั้นเปรียบได้กับยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ ไม่ว่าเป็นการแสดงออกเล็ก ๆ หรือใหญ่ ยังมีก้อนน้ำแข็งส่วนมหึมาที่จมอยู่ใต้นั้นซึ่งเรามองไม่เห็น แต่พระเจ้าเป็นผู้ทรงชันสูตรส่วนนั้น

 

 

ที่โบสถ์พี่มีคนเคยโยนข้าวของไหมครับ?

 

“เมื่อ​ข้าพ‌เจ้า​ยัง​เป็น​เด็ก ข้าพ‌เจ้า​พูด​อย่าง​เด็ก คิด​อย่าง​เด็ก ใคร่‍ครวญ​หา​เหตุ‍ผล​อย่าง​เด็ก
แต่​เมื่อ​ข้าพ‌เจ้า​เป็น​ผู้ใหญ่ ข้าพ‌เจ้า​ก็​เลิก​อา‌การ​เด็ก​เสีย” (1 โครินธ์ 13:11)

 
ผมถามพลางชำเลืองมองรุ่นพี่ที่เป็นผู้รับใช้ท่านหนึ่งก่อนจะเงี่ยหูฟังด้วยความอยากรู้อยากเห็น …

เพื่อเช็คดูว่าการกระทำดังกล่าวเกิดที่โบสถ์ผมโบสถ์เดียวไหม   เพราะมีเด็กคนหนึ่งที่โบสถ์เวลาโกรธชอบเดินเอากระเป๋าลากพื้นลงบันได ทำหน้าปั้นปึ่ง กระทืบเท้าตึงตัง บางทีก็มีการดีดรองเท้าขึ้นฟ้า บางทีก็…ตู้ม!!! เขวี้ยงของลงถังขยะไปเลยจ้า จริงๆ เด็กจอมป่วนที่โบสถ์คนนั้นก็คือผมสมัยยังเป็นเด็กอนุชนเกรียน ๆ นั่นแหละครับ พฤติกรรมน่ารักน่าชังทีเดียว

 

มีสิ พี่นี่แหละ พี่ปัดแก้วไปชนกำแพงดังเพล้งเลย

 

สิ่งที่ผมถามต่อไปก็คือ…ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น แล้วเรารู้สึกอะไรต่อเหตุการณ์นั้น ถึงตัดสินใจทำอย่างนั้นออกไป? อาจจะเป็นเพราะ การเรียนให้คำปรึกษามาบ้างผมจึงเว้นช่องว่างให้ความตกใจและไม่ด่วนตัดสินอะไร อย่างน้อยที่สุดโมเสสก็เคยทุ่มแผ่นศิลา เปโตรเคยตัดหูคน แม้แต่พระเยซูก็ทรงล้มโต๊ะในธรรมศาลา

 

ตอนนั้นเป็นตอนประชุมยืดเยื้อ  แล้วทุกคนเริ่มใช้อารมณ์กันแล้ว มันน่าโมโหมากพี่ต้องการให้ทุกคนหยุดและฟังก็เลยทำแบบนั้น  ในฐานะที่เราเป็นคนนอกและเรื่องนั้นเกิดขึ้นไปแล้ว เราอาจบอกว่า เอ้า! มันมีวิธีที่ดีกว่านั้น หรือถ้าเป็นฉัน ฉันจะไม่ทำอะไรซี้ซั้วแบบนี้

 

ในความเป็นจริงไม่มีใครอยากทำอะไรที่ดูแย่ๆ หรอกครับ แต่ในสถานการณ์บีบคั้นคนเรามักจะเลือก ท่าที ที่คิดว่าดีที่สุดแล้ว ในฐานะที่สมองของเราสร้างมาจากก้อนไขมันเหมือนกันและหัวใจก็เป็นชิ้นเนื้อก้อนใหญ่ๆ เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บ่อยครั้งพอเป็นเรื่องของตัวเองเราก็ตัดสินใจได้ไม่ดีไปกว่าคนอื่นเลย สอบตกพอกัน!

 

 

… อยากให้คนรัก แต่ทำไมกลับทำสิ่งที่ไม่น่ารัก
… อยากให้เกิดความสงบ แต่ทำไมถึงเลือกแสดงความรุนแรง

ขัดแย้ง…ย้อนแย้ง…ลักลั่น!!!

 

 

ความสับสนเป็นคุณสมบัติที่ยังสร้างไม่เสร็จของวัยรุ่นและเด็ก สำหรับคริสเตียนผู้ที่น่ารักปัญหาเด็กฝ่ายวิญญาณในร่างผู้ใหญ่ หรือเฒ่าทารกนั้นก็เกิดจากการติดขัดบางประการจนขาดความสมดุลภายในด้วยส่วนหนึ่ง โลกภายในอันซับซ้อนของคนเรานั้น ยังมีความรู้สึก(Feeling) ความปรารถนาลึกๆ (Yearning) และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่หากไม่ได้รับการเสริมสร้างให้แข็งแรงแล้วจะทำให้เราเป็นคริสเตียนขี้งอแง จอมแก่น ไม่น่ารักเลยนะครับ ☺

 

เราล้วนมีการกระทำที่เกิดจากความไม่สมดุลทางจิตใจ

 “ข้าพเจ้าไม่เข้าใจการกระทำของข้าพเจ้าเอง เพราะว่าข้าพเจ้าไม่ทำสิ่งที่ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะทำ
แต่กลับทำสิ่งที่ข้าพเจ้าเกลียดชังนั้น”  (โรม 7 :15)

การกระทำที่เกิดจากความไม่สมดุลย์ทางจิตใจ

การกระทำแย่ ๆ ที่เราทำนั้นเปรียบได้กับยอดภูเขาน้ำแข็งที่มองเห็นได้ แต่เป็นผลมาจากรากฐานเบื้องลึกในใจที่มองไม่เห็น เราส่วนใหญ่ดูเหมือนเป็นคนขาดๆ เกินๆ ไม่ใช่เพียงความบาปที่เราไม่อยากทำแต่ก็เผลอทำทุกทีเท่านั้นแต่รวมไปถึงการตัดสินใจอีกหลายพันอย่างที่แลดูไม่สมเหตุสมผล  พวกเราชาวมนุษย์ทำเรื่องประหลาดเหล่านี้กันอย่างเป็นปกติ ภาวะย้อนแย้งระหว่างความรู้สึกกับการกระทำนี้ เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ นักให้คำปรึกษาคนสำคัญ นิยามว่าเป็น  การกระทำที่ไม่สอดคล้องกลมกลืน

 

ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตจากประสบการณ์ร้ายบ้างดีบ้าง เราเรียนรู้ที่จะแสดงท่าทีที่ไม่สอดคล้องกลมกลืนเพื่อรับมือกับปัญหาความสัมพันธ์ 4 แบบ(เราจะอธิบายกันตอนหน้าครับ)  แต่ทั้งนี้ตัวตนของเราก็ยังคงดีงามและมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำสิ่งดี ๆ ปัญหามันอยู่ที่กระบวนการภายในระหว่าง ตัวตน ของเรา ไปจนถึง การกระทำ ที่แสดงออกภายนอกนั้น กลับไม่สะท้อนคุณค่าหรือความดีงามที่อยู่ภายในลึกๆ เลย มันติดอยู่ที่ตรงไหนกันน้อออออ?

 

เพราะอะไร?…

เมื่อเรารู้สึกไม่โอเค … เรากลับพูดว่าเราไม่เป็นไรเพื่อให้อีกฝ่ายสบายใจแต่เราแบกความไม่สบายใจไว้เอง

เมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองผิด … แต่เรากลับโทษคนอื่นเพื่อปกป้องตัวเอง

เมื่อเรารู้สึกเหงา … เราจึงพึ่งพาตัวเองแต่กลับยิ่งทำให้เราโดดเดี่ยวไปใหญ่

เมื่อเราหลีกเลี่ยงเผชิญหน้าปัญหา …  และทำตัวสนุกสนานคนอื่นกลับคิดว่าเราไม่เป็นไรเลยไม่ใส่ใจในความรู้สึกเรา

 

ทุกการกระทำย่อมมีสาเหตุในตัวของมัน ปัญหาก็คือคนเราไม่สามารถรับรู้ถึงสาเหตุได้ รับรู้เฉพาะการกระทำเท่านั้น บ่อยครั้งตัวของเราเองก็ยังไม่ค่อยแน่ใจในการกระทำของตัวเองเลยด้วยซ้ำไปว่าทำสิ่งต่าง ๆ เพราะอะไร เหมือนที่อาจารย์เปาโลพูดว่า “โอย ข้าพเจ้าเป็นคนน่าสมเพชอะไรเช่นนี้”

 

 

เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ ได้พูดถึง การแสดงออกที่ไม่สอดคล้องกันนี้ว่าเกิดจากการที่เราตัดสินใจผ่านองค์ประกอบอื่น ๆ จากโลกภายในของเรา โลกภายในจิตใจนั้นไม่ได้มีแต่เพียงตัวตนที่ดีงามเท่านั้น แต่ยังมีส่วนของความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ มีความคาดหวังของเราที่มีต่อตนเอง คนอื่น และสิ่งต่าง ๆ รอบข้าง ที่มักไม่ได้รับการเติมเต็ม อีกทั้งยังมีความปรารถนาลึก ๆ ที่ขาดหายและโหยหา กระบวนการภายในเหล่านี้ส่งผลต่อการตัดสินใจของเรา ส่งผลออกมาเป็นการกระทำที่บิดเบี้ยวไปจากความตั้งใจเดิมหรือ ความใฝ่ดีของเรา

 

 

ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งในจิตใจของเรามีอะไรซ่อนอยู่?

 

“อย่าตัดสินตามที่เห็นภายนอก แต่จงตัดสินอย่างยุติธรรมเถิด”  (ยอห์น 7 : 24)

 

 

เมื่อเราเองเห็นแต่การแสดงออกภายนอกเพียงส่วนเดียว เราจะตัดสินผู้อื่นได้อย่างไร?

โมเดลภูเขาน้ำแข็งที่คุ้นตานี้ เกิดจากความพยายามของ ซาเทียร์ ในการบำบัดและช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาความสัมพันธ์ เธอค้นพบว่า “คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงจากภายในได้ไม่ว่าสภาวะภายนอกของคน ๆ นั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม” ภายในโลกของจิตใจนั้นลึกลงไปและมีอะไรมากมายซ่อนอยู่ เป้าหมายของภูเขาน้ำแข็งนี้ก็เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองแล้วแก้ไขส่วนต่าง ๆ ที่บกพร่องเพื่อกลับคืนสู่สภาพที่ดี  เมื่อเราได้ค้นพบคุณค่าที่แท้จริงของตนเออันเป็นบ่อเกิดของพลังในชีวิต เราจะอยู่ในภาวะที่สมดุลในการจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต ด้วยความสงบ มีสันติสุข และเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาครับ 

 

 

 

ท่าทีการรับมือกับปัญหา ที่มีความสมดุลเป็นอย่างไร?

 

“แต่​เมื่อ​ความ​สม‌บูรณ์​มา​ถึง​แล้ว ความ​บก‍พร่อง​นั้น​ก็​จะ​สูญ​ไป”  (1 โครินธ์ 13:10)

บิงซู ซาเทียร์

 

หากเปรียบให้โมเดลภูเขาน้ำแข็งเป็นภาพพจน์ ท่าทีที่มีความสมดุลก็เปรียบได้กับ “บิงซู” (Bingsu)

ภูเขาน้ำแข็งที่ทำมาจากเกล็ดน้ำแข็งใส มีสีสันสดสวย แซมผลไม้หลากหลาย และราดซอสน่ากิ๊นน่ากิน บิงซูนั้นมีความหอมหวาน และเกล็ดน้ำแข็งละเอียดอ่อนละมุนละไม ความนุ่มนิ่มของมันเข้ากันได้กับผลไม้ทุกแบบ รวมทั้งยังเข้ากันได้กับช็อคโกแลตและของหวานอื่น ๆ ด้วย ใครก็รักใครก็ชอบ เป็นน้ำแข็งที่สามารถดึงความเย็นชุมฉ่ำของตัวเองออกมาได้และยังขับความเป็นผลไม้ให้ออกมาได้ไม่กลบกันด้วย อีกทั้งสามารถเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง และเข้าได้กับสถานการณ์หลากหลาย

ความสมดุลในชีวิตก็เป็นตามภาพนี้ครับ ภาวะที่สมดุลในชีวิตจะส่งผลคนเรา มีการกระทำที่สอดคล้องกับคำพูดและความรู้สึก เราจะตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานของความจริง ทั้งตามเหตุผลที่จริงและสอดคล้องกับอารมณ์ที่เป็นจริง โดยการมองโลกที่สมดุลนั้น จะมีความเข้าใจตนเอง(Self) ผู้อื่น(Other) และบริบทรอบๆ(Context) ตัวด้วยสายตาแห่งความจริง

  • ถ้าไม่อยากทำ ก็สามารถปฎิเสธได้อย่างสุภาพ
  • รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร
  • รู้จักคุณค่าของตัวเอง และผู้อื่น
  • เข้าหาผู้อื่นอย่างธรรมชาติ และยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวได้อย่างดี
  • เข้าใจข้อจำกัดต่างๆ ไม่เอาแต่โทษ และหาวิธีปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์ได้

 

ผู้ที่มีความสมดุลนั้นเปี่ยมด้วยพลังแห่งความรักและมีความเป็นผู้ใหญ่

ดังใน 1 โครินธ์ 13:4-7  ได้กล่าวไว้

“ความ​รัก​นั้น​ก็​อด‍ทน​นาน​และ​กระ‌ทำ​คุณ​ให้ ความ​รัก​ไม่​อิจ‌ฉา ไม่​อวด‍ตัว ไม่​หยิ่ง‍ผยอง
ไม่​หยาบ‍คาย ไม่​คิด​เห็น​แก่​ตน​เอง​ฝ่าย​เดียว ไม่​ฉุน‍เฉียว ไม่​ช่าง‍จด‍จำ​ความ​ผิด
ไม่​ชื่น‍ชม​ยิน‍ดี​เมื่อ​มี​การ​ประ‌พฤติ​ผิด แต่​ชื่น‍ชม​ยินดี​เมื่อ​ประ‌พฤติ​ชอบ
ความ​รัก​ทน​ได้​ทุก​อย่าง​แม้​ความ​ผิด​ของ​คน​อื่น และ​เชื่อ​ใน​ส่วน​ดี​ของ​เขา​อยู่​เสมอ
และ​มี​ความ‍หวัง​อยู่​เสมอ และ​ทน​ต่อ​ทุก​อย่าง”

(1 โครินธ์ 13:4-7)

 

 

ท่าทีรับมือปัญหาความสัมพันธ์ทั้ง 4 ที่มีความไม่สมดุลล่ะ?

 

แน่นอนว่าเราแต่ละคนยังไม่สมบูรณ์พร้อม และเราเองต่างได้เรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาเพื่อเอาตัวรอดในโลกใบนี้มาตั้งแต่วัยเด็ก ความไม่สมบูรณ์ได้สร้างเราขึ้นมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวของเราแต่ละคน และการตัดสินใจเหล่านั้นก็ช่วยให้เราอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ …

นอกจากการรับมือกับปัญหาด้วยความสมดุลตามพื้นฐานความเป็นจริงแล้ว ยังมีท่าทีการรับมือกับปัญหา 4 แบบ ที่คนเรามักใช้กันเมื่อเจอกับความตึงเครียดหลายคนอาจเลือก …

 

เลือกการยอมตาม เหมือน หิมะผู้ว่าง่าย
เลือกการตำหนิ เหมือน น้ำแข็งแห้งขี้โมโห
เลือกยึดเหตุผลเกินเหตุ เหมือน เจ้าน้ำแข็งก้อน
หรือ เลือก เฉไฉเบี่ยงประเด็น เหมือนน้องน้ำแข็งหลอด

 

ภูเขาน้ำแข็ง

 

แม้หนทางที่เราเลือกนั้นไม่สมบูรณ์ซะทีเดียวแต่ก็เป็นวิธีที่สร้างเราในทุกวันนี้ขึ้นมา  ท่าทีเหล่านั้นให้สามารถพัฒนากลายเป็นท่าทีที่มีความสมบูรณ์ได้อีกด้วยนะครับ  อยากรู้แล้วใช่มั้ย???

… ขอต่อตอนหน้านะครับ …

 

ซีรีย์มีอะไรอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง?
บเป็น 5 ตอน สามารถ ติดตามอ่ทความในซีรีย์นี้ แบ่งออกานตอนที่ยังไม่ได้อ่านได้ ที่ลิงค์นี่
และจะทยอยเผยแพร่ ทุกวันพุธ ตั้งแต่ วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ – 22 มีนาคม 2017 ค่ะ 

 

 

อ้างอิง

  • รศ.พญ รัตนา สายพานิชย์. (2557).  The Satir Model : Family Therapy and Beyond. กรุงเทพฯ: สมาคมพัฒนาศักยภาพมนุษย์และจิตบำบัดแนวซาเทียร์.
  • พญ. สมรัก ชูวานิชวงศ์. (2558, พฤศจิกายน). การอบรม Satir model. จัดโดย โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู, กรุงเทพ.

 


ชูใจทีมขอขอบคุณ ข้อมูลจาก พญ. สมรัก ชูวานิชวงศ์ การอบรม Satir model จัดโดย โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์สวนพลู และข้อมูลเพิ่มเติมจาก หนังสือ The Satir Model : Family Therapy and Beyond ครับ

 

 


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • เฮียกิดไจ๋
  • หนุ่มน้อยไฟแรงผู้รับใช้ เป็นคนเจนวายสาย conservative อนุรักษ์มือถือแบบปุ่มกด ไม่นิยมการใช้โซเชียล ชื่นชอบการอบคุ้กกี้ ดูเตียบ่อกี้และละครนาคีกับที่บ้าน เชี่ยวชาญทางด้านกราฟฟิกและงานครัว นี่มัน! หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ เลยนี่นา!
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง