คนต้นเรื่อง : วิจิตราอ่านโยเกิร์ตแลนด์แอนด์วิจิตราทุกตอนได้ที่ : https://choojaiproject.org/category/articles/life-series/yogurtland-and-vijitra/


            เคยรู้สึกว่าตัวเอง “ต้องการ” ใครสักคนมานั่งฟังเราเล่าถึงสิ่งที่กำลังแบกอยู่ไว้มั้ยคะ ?

 

ช่วงเวลา Homesick ของวิจิตราเป็นแบบนั้นเลย อยากจะเล่าเรื่องที่ได้เจอมาให้เพื่อนคนไทยฟัง เพื่อให้เค้ารู้ว่าเราอยู่ยาก เราคิดถึงมาก เพื่อให้รู้ว่าเรากำลังโดดเดี่ยวและเพื่อที่เค้าจะได้ไม่ลืมว่า “เฮ้ๆ เรายังอยู่นะ” แต่ในเวลานั้นการแชทหรือวิดีโอคอลมันก็ไม่พอสำหรับเราเลย  ด้วยความต่างที่มันมากเกินไป เป็นเหตุให้เราค่อนข้างจะเก็บตัวและไม่พร้อมจะใช้เวลากับเพื่อนบัลแกเรียนเท่าไหร่นักในช่วงแรก

 

เดือนที่ 2 ของชีวิตในบัลแกเรีย  เราจำเป็นต้องเดินทางไปเมืองหลวง(กรุงโซเฟีย) คนเดียวเพื่อขอวีซ่า (สำหรับไปเที่ยว 5555+) คือความหดหู่ไม่สามารถขวางเราจากการเที่ยวได้จ้า   เพื่อนมิชชันนารีที่ไทยช่วยติดต่อครอบครัวมิชชันนารีอเมริกันในบัลแกเรีย (ลุงดั๊กและป้าซาร่า) ให้ก่อนมา เผื่อเราต้องการความช่วยเหลือ แน่นอนว่าเราไม่เคยเดินทางไปเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยผู้คน ความเจริญด้วยตัวคนเดียวมาก่อน (เคยแค่ลงเครื่องแล้วขึ้นรถทัวร์เลย) ลองจินตนาการชีวิตเด็กเชียงใหม่ที่วันๆ เจอแต่รถแดงกับมอไซค์ ดังนั้นนวัตกรรมที่เรียกว่ารถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินมันคือความ rare ในชีวิตเรา วิจิตราเลยตัดสินใจติดต่อครอบครัวนี้ เพื่อที่จะได้เจอกันและเพื่อขอความช่วยเหลือในการหาที่พักราคาถูกให้ด้วย เอาน่า!! อย่างน้อยก็มีเพื่อนในโซเฟีย วิจิตราต้องไม่ตาย!

 

Welcome

ลุงดั๊ก กับป้าซาร่า ไม่อยู่แต่ก็มีขนมกับจดหมายไว้ให้ด้วยน่ารักมากๆ

 

เมื่อเราติดต่อกับลุงดั๊กและป้าซาร่า เค้าบอกเราว่าวันแรกที่เราไป เค้าจะไม่ได้อยู่บ้านวันนั้นพอดี แต่จะฝากกุญแจไว้ให้เราพักอยู่ที่ห้องของเค้าได้ เห้ยย จะดีเหรอ!! เกรงใจเนอะ ให้เดาว่าไปมั้ย? ไปค่ะไป!!! 555+ จริงๆ ตอนนั้นอยากเจอครอบครัวนี้มาก ไม่รู้ว่าทำไม โอ๊ะ! ลืมบอกไปว่าครอบครัวนี้เป็นชาวอเมริกันที่เคยเป็นมิชชันนารีที่ไทยตั้ง 5 ปีก่อนที่จะย้ายมารับใช้ที่บัลแกเรียและเค้าก็พอเข้าใจวัฒธรรมไทยและภาษาไทยบ้าง  นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อยากไปเจอครอบครัวนี้เพื่อรักษาอาการโฮมซิค

 

เมื่อไปถึงเมืองโซเฟีย ลุงดั๊กให้ที่อยู่ไว้เพื่อจะบอกแท๊กซี่ได้ แต่ เย้! ครั้งนี้ไม่ใช่แค่โดนโกง แต่โดนแท๊กซี่เถื่อนใส่เลยทีเดียว!!! (รู้สึกตัวเองสึ่งตึงมาก – สาระล้านนาวันนี้ขอเสนอคำว่า สึ่งตึง แปลว่า “ทึ่ม”) เราหมดค่าแท๊กซี่คิดเป็นเงินไทยประมาณเกือบ 600 บาทด้วยระยะทางแค่ 6 กิโล คือลุงแท็กซี่ไม่มี GPS เลยไม่รู้ว่าตึกเราอยู่ไหน วนไปวนมาถามคนแถวนั้น (แต่ตอนแรกฮีดูมั่นใจว่ารู้นะ) แล้วเกือบจะปล่อยเราลงที่ไหนก็ไม่รู้เพราะตามหาตึกที่เราจะไปไม่เจอ ฟิลลิ่งของการมาโซเฟียครั้งแรกเป็นอะไรที่ อื้มม…มาก คือพูดภาษาบัลแกเรียไม่ได้เลย ลุงแท็กซี่ก็พูดอังกฤษไม่ได้ เจ้าของบ้านที่จะไปพักไม่อยู่บ้านและแถมเพื่อนอเมริกันที่เก็บกุญแจไว้ให้พึ่งมาได้ 1 อาทิตย์! โคตรกรี๊ดเลยค่ะ! แต่สุดท้ายเราก็ถึงที่หมาย เรานี่แทบร้องไห้ ค่าแท๊กซี่แพงกว่าค่ารถทัวร์ที่นั่งมาจากเมืองเราซะอีก ทีนี้วันถัดมาเราก็ต้องยอมเดินกว่า1 ชั่วโมงตาม Google map ไปสถานทูตเพราะจะไม่ยอมเสียค่าแท๊กซี่อีก 555+ แล้วกูเกิ้ลแมพก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีค่ะ หนทางเบื้องหน้าคือ…

 

ป่าบัลแกเรีย


กูเกิ้ลพาเดินลัดป่า!!!น่ากลัว แต่ขอบคุณพระเจ้าสุดท้ายก็ถึงจ้า ถึงอย่างปลอดภัยในที่สุด

หลังจากที่หดหู่จากความแตกต่างทางวัฒนธรรม และวีซ่าที่ไปขอก็ถูกปฏิเสธอีกในวันแรก เราก็รู้สึกแบบ โอ่ยยย มันจะเซ็งกว่านี้ได้อีกมั้ย บางสถานการณ์ที่มันไม่ตรงใจเรามันก็มักจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า “ทำไมมันต้องเกิดกับเราด้วย?!”

 

วันที่ 2 ครอบครัวลุงดั๊กและป้าซาร่ากลับมาถึงบ้านของเค้า โดยที่เรารออยู่ในบ้านแล้ว สรุปใครเป็นเจ้าของบ้าน 555+ ถึงวิจิตราจะไม่เคยรู้จักเค้ามาก่อนแต่พอเจอแล้วกลับอยากร้องไห้ขึ้นมาเฉยเลย ลุงและป้าสอนให้ลูกของเค้าเรียกเราว่า “พี่” โอ้ย น่ารัก เรามีโอกาสนั่งคุยกัน คำถามแรกป้าซาร่าถามเราว่า “อยู่ที่นี่ยากมั้ย” ฮือออ… โคตรยากเลยค่ะ  หลังจากนั้นวิจิตราก็พูดเรื่องที่มันค้างในใจเรา ทั้งเรื่องวัฒนธรรมที่มันแตกต่าง ที่เราอึดอัด ที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมพระเจ้านำเรามาที่บัลแกเรีย ที่เราคิดถึงอาหารไทย ที่เราถูกปฏิเสธวีซ่า ที่เราถูกโกง ที่อาหารบัลแกเรียไม่อร่อยมาก ที่คนบัลแกเรียหน้าบึ้งตลอดเวลา ที่มัน… คือมัน… มีอะไรที่มัน… อีกเยอะแยะเลย

 

แต่มันกลับเป็นช่วงเวลาที่ชูใจมากจริงๆ นะคะ ที่เราได้เจอกับคนที่สามารถฟังเรื่องราวเล็กๆ ที่มันค้างคาอยู่ในใจของเราได้

 

แบบมีคนตัวเป็นๆ มานั่งฟังเราอยู่ตรงหน้า คนที่เข้าใจและไม่ได้ตัดสินว่าเรื่องแค่นี้เองเป็นไรมากปร่ะ และนั่นเป็นช่วงเวลาที่เราระบายความอึดอัดกับคนที่เรารู้จักกันไม่ถึง 3 ชั่วโมง!

 

ภาพถ่าย โดย Pudelek

บรรยากาศช่วงกลางคืนในกรุงโซเฟีย โดย Pudelek (Marcin Szala)

 

เฮ้ย! แต่ว่าเค้าก็น้ำตาคลอกับเราเช่นกัน  ด้วยความคิดถึงประเทศไทย ลุงดั๊ก ป้าซาร่าและลูก 4 คนพึ่งมาอยู่ที่บัลแกเรียได้ปีกว่าๆ และใช่เลย แบบที่เราคิดว่าการทำงานกับคนบัลแกเรียก็ค่อนข้างยาก  เราทำให้เค้านึกถึงช่วงเวลาที่ได้ทำงานรับใช้ที่ประเทศไทย เราคุยกันเยอะมากเกี่ยวกับประเทศไทย พูดภาษาไทย ร้องเพลงชาติไทย เพลงชาติอเมริกันด้วยกัน ไปร้านอาหารเอเชีย เล่าเรื่องชีวิตกันและกัน (ครอบครัวนี้จะเริ่มต้นแต่ละวันด้วยการร้องเพลง “วันนี้เป็นวัน” ค่ะ)

 

และเรารู้สึกจริงๆ ว่า นี่แหละคือช่วงเวลาที่เรียกว่า “ซึ่งกันและกัน” เราใช้เวลาอธิษฐานด้วยกัน และสิ่งที่ทำให้เราน้ำตาไหลอีกครั้งคือการที่เราได้ร้อง เพลงโปรดของเค้าตอนอยู่ไทยคือเพลง “พักพิงในพระเจ้า”


“…เมื่อทะเลต้องพบมรสุมแปรปรวน ชีวิตคนเราก็เป็นเช่นนั้น
ยามทุกข์เจียนตายดุจดั่งโดนคลื่นซัดสาด
ขาดที่กำบังไร้ที่พักพิง แต่อย่าลืมว่าพระองค์เฝ้าดูเราอยู่ พร้อมที่จะชูใจที่อ่อนแรงระอา
อย่าหันไปจากพระพักตร์ที่แสนเมตตา มอบชีวิตให้พระองค์นำพา

พักพิงในพระเจ้า พักพิงในพระองค์ พระทรงเป็นศิลามั่นคง
พระองค์เป็นพระเจ้า พลังความรอดบาป ทรงเป็นโล่ เป็นกำบังที่เข้มแข็ง
ต่อไปนี้ ฉันจะไม่ต่อสู้เพียงลำพัง เพราะพระองค์ผู้ทรงมีชัยเหนือความตาย ความบาป
ทรงเดินไปเคียงข้างฉัน…”

 

ถึงแม้ว่าเพลงจะเก่ามากสมัยรุ่นพ่อของพ่อ  แต่เนื้อเพลงยังมีความหมาย และชูใจสำหรับคนทุกวัยรวมถึงวิจิตราด้วย เราดีใจที่ช่วงเวลา 4 วันนั้นเรามีโอกาสได้หนุนใจซึ่งกันและกัน มันเหมือนการชาร์จพลังอีกครั้งในการที่จะดำเนินชีวิตที่เหลืออีก 8 เดือนในประเทศที่มันยากมากอย่างบัลแกเรีย เพราะเราทุกคนต่างก็ต้องการความช่วยเหลือ และนี่คือเหตุผลที่เราต้องการกันและกัน ในกาลาเทีย บอกว่า

 

“จงช่วยรับภาระของกันและกัน ทำดังนี้แล้ว
ท่านก็ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระคริสต์”- กาลาเทีย 6:2

 

และนี่เป็นช่วงเวลาที่ได้เข้าใจความหมายของคำว่า “รับภาระ” ของกันและกันจริงจังเลยจ้า  วันนี้อาจจะมีใครซักคนที่ต้องการความชูใจจากยูวอยู่ก็ได้นะ อย่าพลาดโอกาสที่จะรักและช่วยเหลือเค้านะคะ ถ้าการช่วยเหลือของลุงดั๊กและป้าซาร่ายังช่วยต่อชีวิตเราในบัลแกเรียได้อีกตั้ง 8 เดือน เช่นเดียวกันค่ะ การช่วยเหลือของคุณอาจจะต่อชีวิตของใครอีกหลายๆ คนก็ได้นาจา

 

ด้วยรักและโยเกิร์ต

 


ติดตามเรื่องราวของวิจิตราและการเดินทางแสวงหาน้ำพระทัยพระเจ้าของเธอได้ใน คอลัมน์เด็กสมัยนี้  ทุกวันเสาร์ 19.30 น. ที่  Facebook: ChoojaiProject  จ้าาาาาา


Previous Next

  • Author:
  • วิจิตรา - สาวน้อยหัวใจผจญภัย กับความฝันอยากไปเมืองนอกที่ยังไม่หมดอายุของเธอ ถึงตอนนี้จะกลับมาจากบัลแกเรียแล้ว แต่ก็ยังคงเก็บตังค์เพื่อพาตัวเองออกนอกประเทศอีกครั้ง ตอนนี้เลยมาช่วยงานแปลพี่ชูใจไปก่อนเงินจะเต็มกระปุกให้ออกเดินทางงงงง
  • Illustrator:
  • Atom Pokaew
  • นักวาดภาพแนวปรัชญา นักดนตรีแนวปรัชญา ผู้รับใช้แนวปรัชญา ฯลฯแนวปรัชญา ชื่นชอบการผจญภัยไปในความคิดและการดูหนังจีนกำลังภายในเป็นชีวิตจิตใจ
  • Editor:
  • วอร์ วรรัก
  • Editor สาวเรียบเรียงหลายบทความในชูใจ เธอผู้มีภาษาละมุนละไม กระดุ้มกระดิ้ม และยังมุ่งมั่นรับใช้พระเจ้าและมีภาระใจในการทำงานด้านให้คำปรึกษากับวัยรุ่น เลยต้องดั้นด้นไปอยู่เมืองสิงโตพ่นน้ำเพื่อเรียนต่อด้านนี้!