“คนที่ระวังปากและลิ้นของตน
ก็ปกป้องตัวเองจากความยุ่งยาก” (สุภาษิต 21:23)
ในโลกเสรี (Free Speech) ที่การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิส่วนบุคคล การห้ามนิ้วไม่ให้พิมพ์อาจยากพอๆ กับห้ามลิ้นไม่ให้พูด วันนี้ชูใจชวนสำรวจพระคัมภีร์และย้อนดูตัวเองกันหน่อย ก่อนปล่อยให้อารมณ์มันพาไปจนพิมพ์บางอย่างที่อาจส่งผลให้ชีวิตเราต้องพบกับ “ความยุ่งยาก” เพราะ ‘คำพูด’ หรือ ‘คำพิมพ์’ เมื่อส่งออกไปถึงผู้รับสาร หรือ ขึ้น Read แล้วจะเรียกกลับมาหรือลบก็ไม่ได้แล้ว
1. ยิ่งพิมพ์ยิ่งโมโหไม่เกิดปัญญา (เกิดแต่ปัญหา)
“อย่าโต้แย้งกับผู้ใดอย่างไร้เหตุผลในเมื่อเขามิได้ทำอันตรายอย่างใดแก่เจ้า” – (สุภาษิต 3:30)
เมื่อเหตุผลของคู่สนทนามันไม่ make sense ไฉนเลยผู้พิทักษ์ความถูกต้องอย่างเราจะนิ่งเฉยอยู่ได้ … เรื่องนี้ปัญญาจารย์ได้เขียนเตือน “เยาวรุ่น” ในยุคของท่านเอาไว้แล้วเต็มหนังสือสุภาษิต เช่นว่า การที่เราไปแปะป้ายให้เพื่อนบ้านเป็นขนมไทยชนิดไหนหรือเป็นตัวอะไรก็ตามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่โอเค (สุภาษิต 11:12) และถ้ามีแนวโน้มว่าบทสนทนากำลังจะพาออกทะเลและทำให้เกิดกาวิวาทะ เราไม่ควรต่อความยาวสาวความยืด (สุภาษิต 17:14)
การโต้เถียงหรือทะเลาะกันในโลกออนไลน์บ่อยครั้งก็เกิดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง บางประเด็นก็เป็นเรื่องที่ใครก็ไม่รู้เค้าแชร์มาทวิตมาอีกที ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราด้วยซ้ำไป แต่เมื่อ คุณเมนต์ > ฉันเมนต์ > คุณเมนต์ > ฉันเมนต์ ตอบโต้กันไปมากลับกลายเป็น “การโต้เถียง” วนไป สุดท้ายไม่มีใครฟังใคร ไม่มีใครได้ประโยชน์ มีแต่โกรธกันไปเปล่าๆ
ในข้ออื่นๆ ปัญญาจารย์ก็ได้เสนอไว้แล้วในสุภาษิตว่า เราควรจะ “เงียบ” ดีกว่าไม่ใช่พูดชวนทะเลาะออกมาเรื่อยๆ เพราะแบบนั้นเป็น “การไม่ฉลาดเท่าไหร่” ที่จะโต้แย้งกันไปมาแบบไร้เหตุผล (สุภาษิต 20:3) เพราะคนบางคนจะไม่เกิดการตระหนักรู้เข้าสู่ยุคของการสว่างทางปัญญา (Enlightenment) ขึ้นมาได้ทันทีหรอกนะ
นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงในใจใครสักคนไม่ได้เกิดขึ้นจากการโต้วาที ลองถามใจตัวเองดูว่าเราจะเปลี่ยนมุมมองของเราต่อสิ่งๆ นั้นไหม หากมีคนมาคอมเมนต์แบบที่เรากำลังจะพิมพ์ลงไปนี้ ถ้าสิ่งที่เขาอ่านไม่สามารถทะลุผ่าน “ใจ” เขาให้ได้ก่อน สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ผ่าน “สมอง” เขาอยู่ดี
____________________________________
2. ส่อเสียดแบบนี้เข้าข่ายคนช่างยุ
“ห้ามเทียวขึ้นเทียวล่องคอยส่อเสียดท่ามกลางชนชาติของตน” – เลวีนิติ 19:18
‘ส่อเสียด’ พฤติกรรมที่ไม่น่ารักอันนี้มีความหมายว่า ‘พูดจายุแหย่ให้คนอื่นแตกกัน’ เลวีนิติได้เขียนเอาไว้เห็นภาพอยู่แล้วว่าคนช่างยุนั้นมีลักษณะการเคลื่อนที่แบบ ‘เทียวไป-เทียวมา’ เพื่อก่อให้เกิดความแตกร้าวไม่สามัคคีในหมู่คณะ บนโลกออนไลน์ก็เช่นกัน คนช่างยุอาจปรากฎตัวในรูปแบบนักโพสต์ นักแชร์ นักอินบ็อกซ์ ที่หวังผลให้คนบาดหมางกัน
แน่นอนว่าพฤติกรรมไม่พึงประสงค์นี้ปกติคนดีๆ เค้าไม่ทำกัน แต่หลายครั้งเราก็อาจพลาดพลั้งทำตัวแบบนี้ได้โดยไม่ได้ตั้งใจ หากเราไม่ระวังในการพูดถึงผู้อื่น ถามบางอย่างโดยไม่ไตร่ตรอง อาจเพราะเราหวังดีมากเกินไปหรือบางกรณีก็ถามเพื่อไปสนองความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว
…เช่น เมื่อเห็นโพสต์ลอยๆ ของนาย A บนหน้าเฟสของเขา…
แล้วเราเกิดความคิดเชื่อมโยงคิดว่านาย A อาจจะหมายถึง นางสาว B แล้วเราก็เกิดหวังดีไปถามนางสาว B ว่า ‘เค้าหมายถึงเธอรึเปล่า เธอสองคนมีปัญหากันใช่มั้ย?’ ซึ่งผลอาจทำให้ A กับ B ทะเลาะกัน เป็นต้น
การส่อเสียดยุแยงตะแคงรั่วนี้ อาจรวมถึงการแชร์ข่าวไม่จริงหรือข่าวจริงครึ่งเดียวที่อาจส่งผลให้คนแตกคอกันโดยไม่ประสงค์ดี หรือไม่ประสงค์อะไรเลยก็ตาม (แชร์ไปงั้น) ทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างกันขึ้นจากข้อมูลที่ไม่ได้เช็คมาก่อนว่าจริงหรือดัก หากเรารีบด่วนตัดสินหรือสรุปความโดยไม่ไต่ตรอง ที่สุดแล้วอาจจะนำไปสู่ความ ‘เงิบ’ ซึ่งพระคัมภีร์ก็ได้เตือนเราไว้ว่า สิ่งที่เราเห็นนั้น อย่ารีบฟ้องหรือด่วนตัดสิน เพราะสุดท้ายมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้วเราจะเงิบ (สุภาษิต 25 : 7-8)
***ในส่วนนี้เป็นคนละประเด็นกับการพูดถึงปัญหาในสังคม การพูดถึงปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสามารถทำได้บนพื้นฐานของการการสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ แสวงหาแก้ไขร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์โดยไม่มุ่งร้ายหรือจงใจสร้างความเสียหาย ทั้งนี้การพูดถึงปัญหาเหล่านี้ก็ควรอยู่ในพื้นที่และเวลาของมัน ไม่ว่าจะเป็น หนังสือลายลักษณ์อักษร (แบบที่อาจารย์เปาโลชอบเขียน) ในโซเชียลมีเดียนั้นอาจเป็นโพสต์เฉพาะเจาะจง ห้องคลับเฮาท์ที่มีหัวข้อชัดเจน หรือในวงสนทนาต่างๆ ที่เปิดรับ ใช่แล้ว! เราไม่ควรเปิดประเด็นปัญหาสังคมใต้โพสต์ชีวิตประจำวันของเพื่อน
____________________________________
3. คอมเมนต์โดยไม่ละเมิด
“อย่าพูดสบประมาทคนมีอาวุโส แต่จงตักเตือนเขาเสมือนเป็นบิดา และคนหนุ่มๆ ทั้งหลายเป็นเสมือนพี่หรือน้อง และผู้หญิงผู้มีอาวุโสเป็นเสมือนมารดา และส่วนหญิงสาวๆก็ให้เป็นเสมือนพี่สาวน้องสาว ด้วยความบริสุทธิ์ทั้งหมด (1 ทิโมธี 5 : 1-2)”
แน่นอนว่าโลกออนไลน์เป็นที่ปะทะ – ประสาน ระหว่างเพื่อนฝูงนอกโบสถ์ และพี่น้องในโบสถ์ รวมไปถึงวงสังคมอีกมากมายของเรา (แต่ละสังคมก็มีเส้นขอบเขตไม่เท่ากัน มีวิธีปฏิบัติแตกต่างกัน) แต่ในเมื่อมารวมอยู่ในที่เดียวกันก็อาจปรับตัวไม่ทันหรือบางครั้งก็มีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นกันบ้าง เช่น สาวๆ บางคนอาจถูกเพื่อนแท็กภาพในชุดบิกินี่กับกลุ่มชะนีเพื่อนสาวตอนไปเที่ยวทะเล หรือผู้ชายอาจมีเพื่อนหวังดีแท็กภาพ 18+ มาให้ พอเราที่อยู่ในวงเพื่อนคริสเตียนเห็นเท่านั้นแหละ ถึงกับกดตามไปดู! ไม่ช่ายยยย กดแป้นพิมพ์คอมเมนต์เข้าไปเตือนเพื่อทำหน้าที่เพื่อนคริสเตียนที่เป็นคนดี!
การตักเตือนด้วยความห่วงใยอย่างบริสุทธิ์ใจนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคมคริสเตียน … แต่ในโลกออนไลน์นั้นควรมีการระมัดระวังเรื่องการแสดงออกต่อกันและกัน เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่มาอ่านเจอคอมเมนต์นั้นจะตีความไปยังไงได้บ้าง!
ในฐานะคนนอกกลุ่มสังคมนั้นๆ ควรระวังการคอมเมนต์ใต้ภาพที่อาจทำร้ายคุกคาม ทั้งทางจิตใจและเข้าข่ายล่วงละเมิดทางเพศ (sexual harassment) การตักเตือนควรตั้งอยู่บนการให้เกียรติกันอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ตักเตือนแบบขวานเรียกพี่ในหน้าฟีดเฟสบุ๊คอันเป็นที่สาธารณะ ทั้งนี้ก็ไม่ควรเตือนอ้อมค้อมเกินไป เช่น หากคุณพ่อคอมเมนต์ใต้ภาพลูกสาวในกางเกงขาสั้นอย่างตรงไปตรงมาว่า “นี่ลูกแต่งตัวประสาอะไร” เจ้าของภาพคงจะกระอักกระอ่วนไม่น้อย หรือหากอ้อมเกินไปเช่น “ขาใหญ่จังลูกสาวพ่อ” อะ นี่ก็เป็นการวิจารณ์เนื้อตัวร่างกายคนอื่น (Body Shaming) อีก
การจะไปตักเตือนใต้โพสต์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทางที่ดีควรส่งข้อความหลังไมค์ไปบอกอย่างสุภาพจะถนอมน้ำใจและใบหน้าของเจ้าของโพสต์ได้มากกว่า เช่น เดียวกันผู้ที่ถูกตักเตือนก็ไม่ควรรู้สึกเสียหน้า หากการตักเตือนนั้นอยู่บนพื้นฐานของความรักตามแบบพระคัมภีร์
_______________________________
ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์ หรือในชีวิตประจำวัน “คำพูด” หรือ “คำพิมพ์” เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้คนเรารู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น ชูใจหวังว่า “คำพูด” หรือ “คำพิมพ์” ของเราจะออกมาจากจิตใจที่ประกอบด้วยความรักและเมตตาต่อกัน
#ด้วยรักและชูใจ
วันที่เผยแพร่ : 31 สิงหาคม 2021
ภาพประกอบบทความ : โดย 8photo จาก www.freepik.com