Rule book กะ Bible - Cover

แชร์เรื่องโดย : คุณ นริศ
วันที่เผยแพร่ : 9 มิถุนายน 2021


 

 

“ผมเป็นคนชอบเล่น “บอร์ดเกม” ซึ่งแต่ละเกมจะมีคู่มือไว้อธิบายวิธีการเล่นที่เรียกว่า Rule book
และในฐานะที่ผมเรียกตัวเองว่าเป็นคริสเตียน มีอีกสิ่งที่เปรียบเป็นคู่มือเหมือนกันเรียกว่า พระคัมภีร์  Bible

 

 

ตอนเด็กๆ ผมโตมากับสังคมคริสเตียน ทั้งอ่านทั้งฟัง Bible หลายต่อหลายรอบ แต่บอกเลยไม่ได้เข้าใจอะไรมากนัก ที่ผมอ่านคงเพราะมันเป็นจารีตแบบหนึ่งไม่ได้รู้สึกอินเท่าไหร่ แถมถ้าไม่อ่านก็จะพลอยรู้สึกผิด  กลัวจะดูไม่เป็นคนดีทำนองนั้น … ส่วนหนึ่งที่อ่านแล้วไม่อินอาจเพราะตอนนั้นผมมองว่ามันเป็นเรื่องราวแบบตัดแปะ  บางทีก็มองว่า Bible เป็นเพียงหนังสือ “กฏ” ที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์

 

 

…กับ Rule Book ผมมองต่างไป…

 

 

พอโตขึ้นผมได้รู้จักกับบอร์ดเกมมันเป็นอะไรที่เปิดโลกมาก  การได้เปิดกล่องบอร์ดเกมออกมามันโครตน่าตื่นเต้น ความรู้สึกมันเหมือนได้นั่งอยู่บนพรมแล้วเปิดเพลง “A whole new world”  แต่ก็ยังมีอุปสรรคหนึ่งที่ต้องเผชิญและมันเป็นอุปสรรคที่ใหญ่มากสำหรับผม  คือการต้องอ่าน “กฏ” ของเกม ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้เลยว่าจะเล่นเกมนี้ได้ยังไง และที่หนักใจที่สุดคือคู่มือเหล่านั้นมันเป็น  “ภาษาอังกฤษ”

 

 

“เว่อร์มากกกกกก” เสียงลากยาวจากปากภรรยาของผมตอนที่เห็นผมนั่งอ่าน Rule book อย่างขมักเขม้น

 

เธออาจพยายามหลีกเลี่ยงคำว่านี่มัน  “ปาฏิหาริย์” เพราะ

 

  1. เธอเรียนจบมนุษย์ศาสตร์ภาษาอังกฤษ
  2. เธอรู้ว่าผมอ่อนภาษาแค่ไหน

 

ถึงกับเคยเปรยไว้อย่างทีเล่นทีจริงว่าการใช้ภาษาอังกฤษของผมไม่สมศักดิ์ศรีดีกรีการศึกษาของเธอ (แน่ะ เจ็บจี๊ด)  แต่ถึงอย่างนั้นผมกลับอ่านคู่มือภาษาอังกฤษเหล่านี้อย่างเป็นวรรคเป็นเวร แต่ก็สามารถอ่านจนจบได้เฉพาะคู่มือบอร์ดเกมเท่านั้น ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่สามารถอ่านหนังสือภาษาอังกฤษอื่นๆ หรือ แม้แต่ Bible ภาษาอังกฤษได้ขนาดนี้เลย

 

 

…ผมอ่านเพราะผมอยากเข้าใจและถ่ายทอด…

 

 

ก็นั้นแหละการที่ผมอยู่ทีมอ่านนั่นก็เพื่อมาสอนคนอื่นเล่น เจตนาที่อยากสอนลึกๆ ก็เพราะไม่มีขา(เล่น) สิ่งที่ผลักดันมันคือ “ความอยากเล่น” อยากรู้ว่าเกมนี้มันเล่นยังไง

 

ความบันเทิงในการอ่าน Rule book คือการได้จินตนาการว่า เกมนี้มันจะเคลื่อนไปอย่างไร แต่ละผู้เล่นโต้ตอบกันยังไง มันจบลงตรงไหน ความสนุกอยู่ตรงไหน ทั้งหมดนี้ทำให้ผมตั้งตารอคอย เวลาที่จะได้กางกระดาน  และได้ลงมือเล่นจริงๆ

 

 

แต่ว่าพอเล่นครั้งแรก สิ่งที่เรามักเจอก็คือ “อ่าวเล่นผิด”

 

 

 

 

เมื่อเกิดความรู้สึกตะหงิดๆ ระหว่างเล่น  เวลารู้สึกว่ามีบางอย่างไม่เท่าเทียมแปลกๆ  ผู้เล่นบางคนที่เสียประโยชน์ต้องยกมือท้วงและขออ่านกฎการเล่นใหม่  เมื่อก่อนเรื่องนี้ทำให้ผมหงุดหงิด “ทำไมมึงถึงไม่อ่านเองแต่แรกฟร่ะ” ผมแค่คิดไม่ได้พูด เก็บไว้ในใจ

 

“เออ ผิดจริงด้วย”

 

บางครั้งผมก็ต้องยอมรับว่าเราอ่านไม่ครบถ้วนจริงๆ ด้วยคำไม่กี่คำที่วางไว้อย่าง and/or อะไรมาก่อนหรือหลัง ทำได้หรือไม่ได้ ฯลฯ คำเล็กๆ เหล่านี้กลับเป็นกุญแจไขความเข้าใจที่ผิดที่ทำให้เล่นผิดไป หลังจากเจอแบบนี้เยอะๆ เข้าผมจึงยอมรับมากขึ้นว่ามันผิดกันได้และไม่อายถ้าจะต้องเปิดอ่าน  ผมได้เรียนรู้ว่ารการอ่าน Rule book มักไม่จบที่รอบเดียว อายเพราะอ่านไม่ครบ ดีกว่าทนเล่นเกมผิดไปเรื่อยๆ!

 

เรื่องนี้จึงทำให้ผมค้นพบว่าเวลาเราเล่นเกมกระดาน บางครั้งผิดก็ได้ อายก็ได้ ไม่เข้าใจวิธีก็วนกลับไปอ่านกฎอีกครั้งได้ ทั้งหมดก็เพราะผมอยากเล่นเกมนี้ อยากเล่นให้ถูกและได้รับชัยชนะแบบแฟร์ๆ หรือแพ้แบบสมศักดิ์ศรี

 

 

…ผมกลับไปอ่าน Bible ด้วยมุมมองเดียวกัน…

 

 

ก่อนจะสังเกตว่าเรื่องที่เคยเหมือนตัดแปะ มันกลับมีความตั้งใจของผู้เขียนที่ตั้งใจวางเอาไว้ คำเล็กๆ น้อยๆ ค่อยๆ ไขความเข้าใจมากขึ้น

 

ผมพบว่ากับพระคัมภีร์เล่มนี้ หลายครั้งหลายทีผมเองก็อ่านมันผิดไปแต่ผมไม่ได้มีความหงุดหงิดใจและไม่ขะมักเขม้นมากพอที่จะหาคำตอบเดี๋ยวนั้น  Bible จึงไม่สนุก   เพราะลึกๆแล้วผมไม่ได้อยากอ่านมันและผมไม่ยอมอ่านมันด้วยตัวเอง  ผลก็คือผมเลยตัดสินใจรอให้คนที่เขาอ่านจบแล้วมาอธิบายให้ดีกว่า

 

เมื่อความรู้สึกที่เคยคิดว่า Bible เป็นเพียงเรื่องแปลกๆที่ตัดแปะไว้ค่อยๆ คลายออก มองเห็นความตั้งใจที่จะเล่าสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนผู้เล่ากำลังจะบอกถึงวิถีทางที่เรื่องราวถูกจัดวางให้เคลื่อนไป (How it flow) เหมือนการเล่นเกมกระดานหนึ่งๆ ที่เคลื่อนไหลไปตามการออกแบบเกมที่บอกไว้ในคู่มือของเกม

 

เหมือนหนังในจอมยุทธ์ที่พอเริ่มเข้าใจเทคนิคการเคลื่อนไหวเหล่านี้  กระบวนท่าต่างๆจะค่อยๆ สอดประสานเป็นเรื่องราวเดียวกัน พอแตกฉานแล้วเราก็จะเริ่มพลิกแพลงกระบวนท่าต่างๆ ได้

 

 

“การอ่าน Rule book เลยกลับทำให้ผมเข้าใจถึงการร้อยเรียงของ Bible
ส่วน Bible ทำให้ผมเข้าใจ Rule book”

 

 

 

 

ผมพบสิ่งที่เขียนไว้มันไม่ใช่แค่หนังสือกฏ!”  ถ้าเรามองเห็นเพียง “กฏ” เราจะเห็นมันเป็นเพียง “กรอบ” เป็นขอบที่เราข้ามไปไม่ได้

 

ผมเคยมีเพื่อนหลายคนที่ใจไม่อยากเล่นบอร์ดเกมแต่โดนเพื่อนลากมาเล่น พอฟังอธิบายกฎเขาเลยก็ไม่ได้ใส่ใจ พอเริ่มเล่นจริงบางคนก็จะมีคำถามว่า “ทำไม” ถึงทำแบบนี้แบบนี้แบบนั้นไม่ได้  บางคนก็ฝืนเล่นไปทั้งที่ไม่เข้าใจ บางคนก็แหกกฏมันเสียเลย สุดท้ายก็โวยวายออกจากเกมปล่อยให้เพื่อนที่เหลือนั่งเล่นกันไปเอง และแน่นอนว่าถ้าเราลองแหกบาง “กฏ” ของเกมออก เราจะพบว่ามันไม่สนุกเลย

 

การมองเห็นเกมเป็นเพียงแค่ “กฏ” จึงห่างไกลจาก “ความอยากจะเล่น” อยู่มาก

 

“ผมทำแบบนี้ได้ไหม” “ทำไมทำไม่ได้” คำถามดูไม่ต่างกัน แต่คนที่ถามเพราะอยากเล่นเกมไม่ได้หาขอบและรู้สึกว่าถูกกรอบเอาไว้ แต่เขาอยากรู้ “กฏ” เหล่านี้ เพื่อหาวิถีทางเท่าที่เขาจะไปได้ในการเล่นเพราะยังอยากที่จะอยู่ในเกมนี้

 

Rule book ที่ดีจึงไม่ได้บอกแค่ “กฏ” แต่กำลังสอนว่า เกมนี้มันจะเคลื่อนไปได้ยังไง แต่ละคนจะมีปฏิสัมพันธ์กันยังไง เราจะทำอะไรได้บ้าง และมันจะสนุกยังไง  ลึกๆ แล้ว  คู่มือเกมคือข้อความจากหัวใจคนสร้าง เป็นการบอกด้วยความปราถนาดีที่อยากให้เราสนุกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงขณะที่เราได้อยู่ในเกม  เป็นข้อความจากนักออกแบบที่รู้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งที่เขาอาจจะไม่ได้มานั่งอธิบายอยู่ข้างๆ แต่ “คู่มือ” จะช่วยผู้เล่นได้ จึงต้องเรียบเรียงทุกอย่างลงในคู่มือฉบับนี้ให้เพียงพอเพื่อผู้เล่นจะได้รับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

 

 

Rule book ที่ดีจึงไม่ได้ทำงานเพียงเพื่อบอก “กฏ” แต่เป็นภาพสะท้อนความคิดถึงต่อคนที่อยู่อีกฝั่งนั้นคือผู้เล่น

จากการเรียบเรียงด้วยความห่วงใยของนักออกแบบ

เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน กับ Bible ก็เช่นกันมันถูกออกแบบไว้อย่างดีเชียวล่ะ

 

 

 

ด้วยความรักและความชูใจ

 

 


 

เรื่องราวที่เป็นพระพรเหล่านี้สามารถหนุนใจผู้คนได้มากมาย ร่วมส่งต่อพระพรของพระเจ้าด้วยการแบ่งปันเรื่องราวของคุณกับชูใจได้ ด้วยการส่งเรื่องราวมาทางเพจเฟสบุ๊คของชูใจ หรือทาง Email
อ่านรายละเอียดเพิ่มได้ที่ >> https://choojaiproject.org/choojai-forward  ด้วยรักและชูใจนะคะ : )

 


Previous Next

  • Author:
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก