7 Future Skills ที่เราควรมีรับโลกอนาคต

7 Future Skills ที่เราควรมีรับโลกอนาคต


บทความนี้ใช้เวลาในการอ่านประมาณ  5 นาที
วันที่เผยแพร่  :3 พฤษภาคม 2021 


 

 

สังคมโลกกำลังจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะการชะงักซ้อนสอง
หรือ “Double disruptions”

 

การชะงักครั้งแรกเกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และการชะงักงันระรอกที่สองที่มาซ้ำเติมก็คือการระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนในโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นภาวะการล่มสลายของวิถีชีวิตและธุรกิจรูปแบบเดิมๆ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและใกล้ตัวเรา มีทั้งรูปแบบการจัดกิจกรรมทางศาสนา , การทำงานจากที่บ้าน (work from home) , การกลายเป็นสังคมไร้เงินสด และที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องของ “การทำงาน” ซึ่งแม้แต่เราคริสเตียนเองก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเหล่านี้เหมือนกัน

 

 

 

เริ่มเรียนรู้ทักษะที่ไม่แพ้หุ่นยนต์

 

จากข้อมูลของที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic forum) มีการคาดการว่ารูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของคนในโลกอีก 5 ปีข้างหน้า (2025) จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง มีตัวเลขที่น่าสนใจ เช่น อัตราส่วนระหว่างการจ้างงานมนุษย์และหุ่นยนต์จะมีการเปลี่ยนแปลง จากการจ้าง มนุษย์ 71% ต่อหุ่นยนต์ 29% ไปเป็น 58% ต่อ 42% ในปีหน้า (2022) และในไม่กี่ปี ชั่วโมงทำงานของหุ่นยนต์และเครื่องจักรก็จะมากกว่ามนุษย์เรา

ในรายงานยังระบุว่า 54 จาก 100 คน ของพนักงานในธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทักษะในการทำงานของตน (Re-skill) เพื่อให้สามารถทำงานในโลกที่พัฒนาไปข้างหน้าและไม่เสียเก้าอี้ทำงานแสนรักให้กับเหล่าบรรดาเครื่องจักรรุ่นใหม่ๆ ที่แหมเก่งกันซะเหลือเกิน

 

ทีมา : รายงานจากที่ประชุมเศรษฐกิจโลก ปี 2018 (weforum.org)

 

นอกจากเรื่องงานและชีวิตประจำวัน งานรับใช้ก็เป็นสิ่งที่ถูกกระทบด้วยจากภาวะ Double disruptions และแม้ว่างานรับใช้อาจไม่ใช่อะไรที่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรจะมาทำแทนกันได้ แต่เมื่อบริบทโลกเปลี่ยนไปวิธีการบางอย่างก็อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง

 

วันนี้ชูใจชวนขบคิดในเรื่องของทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคต (Future Skills) ว่าทักษะไหนที่นอกจากการทำงานทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีความน่าสนใจที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและการรับใช้ ภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปเน้นทางเทคโนโลยีมากขึ้น

 

เริ่ม…

 

 

1. ทักษะการเล่าเรื่อง (Story telling)

แน่นอนว่า เรื่องของความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ส่งทอดกันผ่านการเล่าในรูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว  แต่วิธีการ โอกาส และช่องทางในการเล่าก็ได้เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย

ในเมื่อผู้คนใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมงต่อวันในช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook , Instagram , YouTube และอื่นๆ การพัฒนาทักษะการเล่าเรื่องในโลกออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้ในการทำพันธกิจ  หากเรามีวิธีการเล่าเรื่องที่ดีเราก็สามารถสอดแทรก หรือนำเสนอเนื้อหาพระกิตติคุณหรือเรื่องราวที่เราอยากจะสื่อได้แตะใจผู้คนนั่นเอง

 

 

 

 

2. ทักษะทางดิจิทัล และการใช้งานอุปกรณ์สื่อสาร (Digital Skill)

 

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความรู้ในการใช้งานเครื่องไม้เครื่องมือดิจิทัลจึงจำเป็น  ไม่ว่าจะเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าหรือไม่ก็ตามเมื่อเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงมาถึง คริสตจักรจำนวนมากต้องปรับตัวภายใต้สถานการณ์ที่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น การสอนพระคัมภีร์ออนไลน์  การจัดนมัสการและการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ

ทักษะทางดิจิทัลเรียกได้ว่าแทบจะเป็นทักษะที่ติดตัวเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาในสังคมที่พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยี ส่วนผู้ใหญ่ก็สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ด้วยการเปิดใจเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ

การทำงานด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ นอกจากความสะดวกสบายแล้ว ยังช่วยจัดระเบียบการทำงาน รวมถึงช่วยให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ลดขั้นตอนและความผิดพลาดที่จะเกิดจากงานได้อีกด้วย ดังนั้นยิ่งเราใช้งานโปรแกรมและอุปกรณ์ต่างๆ ได้คล่องเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีในการทำงานในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น

 

3. ทักษะการอ่านและตีความข้อมูล (Data Analysis)

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคริสตจักรมีมากมาย การรู้ว่า มีคนกี่คน เป็นเพศอะไร หรือ มียอดเงินรับจ่ายเท่าไหร่  ข้อมูล “Data” เหล่านี้นอกจากประโยชน์ในการแปะฝาผนังแล้วยังสามารถนำมาวิเคราะห์หาแนวโน้มทางพฤติกรรม ชี้ให้เห็นช่องโหว่ในการจัดกิจกรรม ทำให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งในการบริหารจัดการ  และอื่นๆ

การเก็บข้อมูล ต่างๆ แต่ไม่ได้รับการตีความอาจไม่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูลจนถึงอาจเกิดความเสียหายต่อการทำงานได้

 

 

 

 

4. ทักษะการเป็นพี่เลี้ยง และให้คำปรึกษา (Coaching and Counselling Skill)

แม้ว่าโลกจะพัฒนาไปไกลแค่ไหนคนเราก็ยังคงต้องการการชี้นำและที่ปรึกษาอยู่ดี ด้วยภาวะความเครียดและการแข่งขันในโลกที่สูง การดูแลเอาใจใส่จากพี่เลี้ยง และผู้ให้คำปรึกษาชีวิตจึงยังคงเป็นสิ่งสำคัญและยิ่งจำเป็นมากขึ้นๆ ทั้งในในแง่ของการแนะนำเพื่อพัฒนาตัวเอง และในแง่ของการให้คำปรึกษาด้านจิตใจ รวมทั้งด้านจิตวิญญาณ

 

5. การเรียนรู้เชิงรุก และการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ (Active Learning)

ผู้คนในยุคดิจิทัลต่างไม่หยุดที่จะพัฒนาความรู้และทักษะของตัวเองโดยไม่ได้รีรอให้สถาบัน ที่ทำงาน โรงเรียน หรือแม้กระทั่งโบสถ์ หยิบยื่นความรู้ใส่หัว

เช่นเดียวกันในเรื่องของการพัฒนาและเติบโตทางความเชื่อ คริสตจักรก็อาจจะต้องพัฒนาและสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ออกมาให้เหมาะสมกับวิถีการดำเนินชีวิตผู้คนที่พัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง  เพราะในโลกยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 นี้ ผู้คนไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวของพระเจ้าผ่านคริสตจักรของตนเองที่สังกัดเท่านั้นแต่พวกเขายังสามารถเรียนรู้และแสวงหาความเข้าใจ ผ่านการรับรู้คอนเทนท์จากสื่ออื่นๆ ที่คริสตจักรหรือองค์กรต่างๆ ผลิตขึ้นมาได้ด้วย

แน่นอนว่าแต่ละคริสตจักรก็มีคอนเทนท์ที่ดีอยู่แล้ว การมีทักษะในการทำคอนเทนท์เหล่านั้นให้ออกมาสู่สมาชิกและคนทั่วไปได้จึงจะช่วยให้ผู้คนได้รับประโยชน์มากขึ้น เป็นการขยายขอบเขตของพระพร และความรู้เรื่องพระเจ้าให้กว้างขวางออกไปได้มากยิ่งขึ้น

 

 

6. การคิดเชิงวิพากษ์ และ การคิดอย่างมีเหตุผล (Critical thinking and Systematic thinking)

 

ข้อมูลและความรู้มากมายนั้นถูกนำเสนออยู่เต็มไปหมดในโลกออนไลน์จนเฟ้อ ความสามารถในการตั้งคำถามและคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผล จึงเป็นทักษะที่สำคัญมากในเวลาเช่นนี้ ทั้งเพื่อปกป้องตัวเราเองจากข้อมูลที่บิดเบือน และช่วยให้เรานำข้อมูลต่างๆ มาใช้กับการพัฒนาตัวเองได้อย่างเป็นระบบ

 

ความคิดเชิงวิพากษ์ไม่เพียงแต่ ก่อให้เกิดการทบทวน และตรวจสอบในประเด็นต่างๆ แต่ยังก่อให้เกิด การค้นพบแนวทางหรือการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ หรือ การแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

 

 

7. ทักษะการรับรู้ทางสังคม (Social Perceptiveness)

 

การรับรู้ทางสังคม คือ การตระหนักได้ถึงปฏิกิริยาของผู้อื่นและเข้าใจว่าเหตุใดพวกเขาจึงตอบสนองในรูปแบบนั้น เป็นความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น และรับรู้ความเป็นไปในสังคม

เพราะโลกนั้นเปลี่ยนแปลงเร็วจึงต้องอาศัยการปรับตัวอยู่เสมอ คนที่มีทักษะการรับรู้ทางทางสังคมจะมีข้อได้เปรียบในการสังเกตุพฤติกรรม แรงจูงใจ และความสนใจของผู้คนได้ดีกว่า จึงสามารถนำไปปรับใช้ในการวางแผน การประเมิน และการออกแบบกิจกรรม หรือ กำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อสามารถเข้าใจความต้องการของผู้คนได้ชัดเจนกว่า ก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้อย่างตรงจุดมากกว่า

 

 

______________________________

 

 

นอกจาก 7 ทักษะนี้ยังมีทักษะอีกมากมายที่จำเป็นต่อการทำงาน รวมทั้งการรับใช้ในทั้งในปัจจุบันและอนาคต 7 ทักษะนี้เป็นเพียงส่วนนึงที่อาจช่วยให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างราบรื่น

ณ จุดสุดท้าย หัวใจของการทำงาน หรือ การรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่หรือสมัยไหนนั้นก็ยังเป็นเรื่องของ “ความรัก” และ “ความเต็มใจ” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกว่าอะไรทั้งหมด (อ้างใน 1 โครินธ์ บทที่ 13)  “ความรัก” นั้นไม่ใช่ทักษะแต่เป็น “หัวใจ” ในการทำทุกสิ่งของชีวิตคริสเตียน และเป็นสิ่งที่ทำให้ผลของงานหรือการรับใช้นั้นมีคุณค่าในสายพระเนตรของพระเจ้าเพราะพระเจ้าทรงดูที่หัวใจ

 

 

ชูใจ“ไม่ว่าพวกท่านจะทำสิ่งใด ก็จงทำด้วยความเต็มใจ
เหมือนทำถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่เหมือนทำต่อมนุษย์” – โคโลสี 3:23

 

#ด้วยรักและชูใจ

 

 

 


 

ข้อมูลอ้างอิง :

 

  • Machines Will Do More Tasks Than Humans by 2025 but Robot Revolution Will Still Create 58 Million Net New Jobs in Next Five Years , online.   https://www.weforum.org
  • Machines to ‘do half of all work tasks by 2025’   , online. https://www.bbc.com
  • ทำความรู้จักกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4: รวดเร็วและ disrupt ในวงกว้างกว่าครั้งไหนๆ , ออนไลน์ https://www.finnomena.com 

Photo :

  • ภาพปกต้นฉบับ by Guilherme Stecanella on Unsplash.com
  • ภาพประกอบเนื้อหา  freepik.com

Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Narit
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก