7

[พระคัมภีร์ไม่ไหลย้อนกลับ] The12 ep.7 นาฮูม


 

นาฮูม

เล่มนี้เริ่มด้วยการแก้แค้นต่อนีนะเวห์! พระเจ้าเป็นพระเจ้าที่หวงแหนและแก้แค้น!?

เปิดมาดูดุเดือดเหมือนหนังที่ต้องมีฉากบู๊ล้างแค้น แต่ฟังดูไม่ค่อยเหมือนกับพระลักษณะของพระเจ้าที่ผ่านมาเลย พระธรรมนาฮูมกำลังบอกอะไรกับเรา?

…………………………………………………………………..

การอ่านนาฮูมต้องอ่านร่วมกับโยนาห์ ซึ่งระยะเวลาของสองเล่มนี้ประมาณว่าน่าจะห่างกันอยู่สักร้อยกว่าปี ถ้าให้เรียบเรียงเป็นไทม์ไลน์ง่ายๆก็ได้ว่า นีนะเวห์เกือบเสียเมืองเพราะบาบิโลนอยู่แล้ว แต่พระเจ้าให้โยนาห์ไปประกาศที่นีนะเวห์เพื่อเขาจะกลับใจ แล้วชาวนีนะเวห์ก็กลับใจจริงๆ เลยรอดพ้นจากการถูกทำลาย ซึ่งเราก็จะจำได้ด้วยว่า โยนาห์ไม่พอใจเพราะรู้อยู่แล้วว่าพระเจ้าจะอภัยให้ ซึ่งนั้นเป็นการเปิดเผยพระลักษณะหนึ่งของพระเจ้าด้วย คือ “กริ้วช้า”

 

พอมาอ่าน นาฮูม พระลักษณะ “กริ้วช้า” นี่ก็ยังต่อเนื่องมาอยู่ และเปิดเรื่องคลุมไว้ ว่าถึงจะดุเดือด มีพระพิโรธ ล้างแค้ง แต่ทรง กร้ิวช้า มาก่อนแล้วนะ ไม่ได้อยู่ๆก็โผล่มา

 

พระเจ้าทรงกริ้วช้า ทรงฤทธานุภาพใหญ่ยิ่ง
พระเจ้าจะไม่ทรงงดโทษเลย
1:3

 

พระธรรมนาฮูมก็ยังคงคอนเซ็ปต์นี้ต่อมาจากพระธรรมโยนาห์ คือยังคงพระลักษณะของพระเจ้า “กริ้วช้า” ให้โอกาส แต่ไม่ได้หมายความว่าจะ “งดโทษ”  เนื้อเรื่องในพระธรรมนาฮูมก็ไม่ได้เป็นเรื่องของการเรียกร้องให้กลับใจ แต่เป็นเวลาที่จะถูกลงโทษเพราะหมดเวลากลับใจแล้ว นี่คือเนื้อหาในพระธรรมนาฮูมที่อ่านคู่กับโยนาห์

 

…………………………………………………………………..

ถ้าอย่างนั้น คำว่า พระเจ้าทรงหวงแหน ทรงแก้แค้นในตอนนี้หมายความว่าอย่างไร? พอถึงเวลาที่พระเจ้าจะพิพากษาแล้ว จึงเต็มไปด้วยความแค้นงั้นหรือ?

 

พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงหวงแหนและทรงแก้แค้น
พระเจ้าทรงแก้แค้นและทรงมีพระพิโรธ
1:2

 

ในบทที่หนึ่งข้อสองก็พูดถึงพระลักษณะของพระเจ้า หวงแหน แก้แค้น พิโรธ อาจฟังดูไม่คุ้นเพราะเรามักจะได้ยิน พระเจ้าเป็นความรัก พระเจ้าสัตย์ซื่อ พระเจ้าแสนดี มาถึงตรงนี้เราอาจต้องแวะกลับไปสำรวจ และทบทวนตัวเองกันก่อนสักนิด ว่าเราเลือกเชื่อเฉพาะพระลักษณะที่เราชอบหรือเปล่า? พระธรรมนาฮูมตอนนี้กำลังจะเปิดเผยพระลักษณะของพระเจ้าตามอย่างที่พระองค์เป็น ซึ่ง “นาฮูม” ก็ใช้คำอธิบายพระลักษณะของพระเจ้าได้อย่างน่าสนใจ ให้เราตามมาดูกัน

…………………………………………………………………..

หวงแหน

ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Jealous ซึ่งแปลว่า อิจฉา หรือ หึงหวง ก็ได้ ถึงจะใช้คำเดียวกัน แต่ความหมายไม่เหมือนกัน ในขณะที่ อิจฉา เกิดจากความรู้สึกที่เราไม่มี แต่เห็นคนอื่นมี ซึ่งไม่เหมือนกับ หึงหวง ซึ่งหมายถึงของที่เราเป็นเจ้าของแต่กำลังถูกคนอื่นเอาไป ในพระคัมภีร์ตอนนี้ พระเจ้ากำลังหวงแหน อิสราเอล เพราะอิสราเอลเป็นคนของพระเจ้า แต่กำลังถูกกดขี่จากอัสซีเรีย

 

ในแง่นี้ถ้าจำในเรื่องที่ผ่านๆมา เราน่าจะจำได้ว่าความโหดเหี้ยมของอัสซีเรียนั้นมาถึงอิสราเอล เริ่มจากตีสะมาเรียแตก ต่อมาก็ลงมาเพื่อตียูดาห์ต่อ ในแง่หนึ่งยูดาห์ก็โดนโจมตี แต่เมืองหลวง เยรูซาเล็ม ในเวลานี้ยังไม่แตก ความรู้สึกของนาฮูมจึงบรรรยายถึงความรู้สึกของพระเจ้าที่มีต่ออิสราเอลในเวลานี้

 

แต่ความหวงแหนของพระเจ้าไม่ได้จบแค่ในเรื่องของอิสราเอล ถ้าเราอ่านต่อไปเราจะพบว่า พระเจ้ายังหวงแหน มนุษย์ ที่พระองค์ทรงสร้างตามพระฉายของพระองค์ รวมไปถึงโลกที่พระองค์ทรงสร้างด้วย เพราะตอนนี้ความชั่วร้ายและความบาปได้ส่งผลให้มนุษย์โหดเหี้ยมมากขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์เต็มไปด้วยความอยุติธรรม ความทารุณ ห่างไกลจากพระประสงค์ดั้งเดิมของพระเจ้าคือให้มนุษย์ดำเนินชีวิตสะท้อนพระลักษณะของพระเจ้าและดูแลโลกใบนี้ แต่ความบาปที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ปฐมกาลบทที่สาม ได้ทำให้มนุษย์เต็มไปด้วยความโหดเหี้ยมที่มากขึ้นเรื่อยๆ

 

การหวงแหนในตอนนี้จึงไม่ใช่แค่อิสราเอล แต่หมายถึง โลกทั้งหมดที่เป็นสิ่งทรงสร้าง เป็นสิ่งที่เป็นของพระองค์ทั้งหมด

 

…………………………………………………………………..

แก้แค้น

พระเจ้าทรงแก้แค้น จริงๆคำนี้เป็นคำต่อมาของคำว่า พระพิโรธ  ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า พระพิโรธ ในที่นี้ไม่ใช่อารมณ์โกรธแบบมนุษย์ แต่เป็นภาษาที่เอาความรู้สึกของมนุษย์ไปบรรยายพระลักษณะของพระเจ้าเพราะด้วยความจำกัดของเรา เราก็อธิบายได้เท่าที่มนุษย์เป็นนั่นแหละ ดังนั้นคำว่าพระพิโรธในพระคัมภีร์ไม่ได้หมายถึงอารมณ์โกรธ แต่กำลังบรรยายถึงพระลักษณะของพระเจ้า คือ ความยุติธรรม คำว่าพระพิโรธ จึงหมายถึง พระเจ้ากำลังไม่พอใจ ทรงโกรธ ทนไม่ได้ต่อความอยุติธรรม ความชั่วร้าย ที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงแก้แค้น คือ การตอบแทนสิ่งที่ชั่ว

 

ต้องเข้าใจด้วยว่า การตอบแทนนี้เป็นไปตามสมควร ไม่ใช่การแก้แค้นแบบ เขาต่อยมาต่อยกลับ แต่พระลักษณะของความยุติธรรมของพระเจ้ากำลังตอบสนองต่อความชั่วตามที่สมควรจะได้รับ ซึ่งทำให้ พระเจ้า กลายเป็นผู้พิพากษาด้วย เป็นผู้บังคับกฏหมาย เมื่อผู้บังคับกฏหมายจับคนที่ทำผิดได้ ก็ต้องลงโทษตามความผิด พระเจ้าแก้แค้น จึงอยู่ในฐานะผู้พิพากษาผู้ลงโทษต่อผู้ที่กระทำผิดบาป

 

เรื่องนี้ไม่เหมือน “ลาเมค” ในปฐมกาล ที่เมื่อมีคนมาทำร้าย เขาเลยตอบสนองคนที่ทำร้ายเขาด้วยการ ฆ่า ซึ่งเรื่องลาเมคก็สะท้อนภาพความรุนแรงของมนุษย์ด้วย ที่มักจะเอาคืน “แรง” กว่าที่ควรจะเป็น สำหรับเรื่องนี้เลยพัฒนาไปเป็นพื้นฐานในหมวดบัญญัติเช่นเรื่อง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ถ้าอ่านเผินๆก็เหมือนการ แก้แค้น แต่ที่จริงแล้วไม่ได้หมายถึงการเอาคืนแบบนั้น แต่หมายถึงเท่าเทียมอย่างยุติธรรม เพราะถ้าเป็นการแก้แค้นของเรา ถ้ามีคนจิ้มตา เราอาจกลับไปเอาคืนด้วยการจิ้มตาแล้วตัดแขนขาเขาอีกด้วย ซึ่งนี่ไม่ใช่ “ตาต่อตา” แล้ว เรื่องนี้คือการเอาคืนด้วยความโหดเหี้ยมของเรา

 

ในแง่ของพระเจ้า ก็ไม่ใช่เอาคืนด้วยความโหดเหี้ยมตามอารมณ์ แต่เป็นการที่พระเจ้าตอบแทนความอยุติธรรมด้วยพระลักษณะอันยุติธรรมของพระองค์ เป็นดั่งผู้พิพากษา

 

…………………………………………………………………..

พระพิโรธ

พระเจ้าโกรธต่อความอยุติธรรมของอัสซีเรีย ในพระธรรมนาฮูมตั้งแต่ข้อแปดเป็นต้นไปก็ใช้ภาษาเหมือนกับใน อิสยาห์ ที่กำลังพยากรณ์ต่อความพินาศของบาบิโลน ซึ่งในเวลาเดียวกันนี้ บาบิโลนยังไม่โดดเด่นขนาดนั้น คือยังไม่ได้กลายเป็นมหาอำนาจด้วยซ้ำ การพยากกรณ์เรื่องความพินาศของบาบิโลนจึงเป็นภาพอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่การที่นาฮูมกำลังพูดถึงการล่มสลายของอัสซีเรีย โดยใช้ภาษาของ อิสยาห์ ที่พูดถึงการล่มสลายของบาบิโลน คือพูดง่ายๆได้ว่า นาฮูม กำลังมองว่า

 

การพิพากษาอัสซีเรีย หรือ นีนะเวห์ ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่เป็นเพียงแค่ต้นแบบของเมืองที่ชั่วร้าย ซึ่งจะถูกพิพากษา ซึ่งในภายหลังก็จะมีอาณาจักรที่โหดกว่าเกิดขึ้น และ ถูกพิพากษาเช่นกัน

 

ถ้าเรามองตามประวัติศาสตร์ เราก็จะพบว่าพระวจนะตอนนี้ ไม่ได้จบที่อัสซีเรียจริงๆ ความโหดเหี้ยม และ อยุติธรรม ที่พระเจ้ารับไม่ได้ และทรงมีพระพิโรธ ยังคงเกิดขึ้นต่อมา อัสซีเรียที่ว่าโหดแล้วยังเจอบาบิโลนที่โหดเหี้ยมยิ่งกว่า แต่นั่นก็ไม่ใช่ตอนจบเหมือนกัน เพราะเปอร์เซียที่กำราบบาบิโลนได้ก็โหดยิ่งกว่า และผู้ที่ปราบเปอร์เซียลงได้ ก็คือ กรีก และกรีกก็ขยายพื้นที่ทำสงครามออกไปไกลยิ่งกว่าเปอร์เซียอีก ถึงอย่างนั้น กรีก ก็ยังเจออาณาจักรที่โหดร้ายยิ่งกว่าคือ โรมัน ฯลฯ

 

ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรที่โหดเหี้ยม จะถูกแทนด้วยอาณาจักรที่โหดกว่า อาณาจักรที่โหดกว่าจะถูกแทนด้วยอาณาจักรที่โหดเหี้ยมยิ่งยิ่งกว่า และเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ การล่าอาณานิคม การจับคนไปขายเป็นทาส การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ ฯลฯ

 

นาฮูม ใช้ภาษาของอิสยาห์ที่อ้างถึงการพิพากษาบาบิโลนในอนาคต เพราะ นาฮูมมองว่า สำหรับนีนะเวห์แล้วนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการพิพากษาชนชาติที่ชั่วร้ายที่จะตามมา

 

…………………………………………………………………..

 

เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของพระเจ้าอีกด้วย พระเจ้าทรงโกรธ ทรงพิโรธ ตามความยุติธรรมของพระเจ้า พระองค์กริ้วช้า ให้โอกาสกลับใจ แต่ ไม่ได้งดโทษนะ และ เมื่อเขาไม่กลับใจ พระเจ้าก็จะไม่ปล่อยความอยุติธรรมเอาไว้แน่ๆ เราจึงเห็นอาณาจักรที่ชั่วร้ายถูกโค่นลงด้วยอาณาจักรที่โหดร้ายยิ่งกว่าต่อเนื่องกันไป

 

ภาพอาณาจักรที่โหดเหี้ยมกว่ามาลงโทษอาณาจักรที่โหดเหี้ยม เหมือนกับในพระธรรมดาเนียล ที่กษัตริย์เนบูคัสเนซาร์ ฝันเห็นอาณาจักรที่เติบโตขึ้นมาแล้วมายึดเอาอาณาจักรเก่าไป

 

นาฮูม ในตอนนี้จึงกำลังสะท้อนให้เห็นว่าพระเจ้าเป็นพระเจ้าแห่งประวัติศาตร์ด้วย พระเจ้าลงโทษยูดาห์โดยอัสซีเรีย แต่ก็ไม่ได้ปล่อยอัสซีเรียนะ ซึ่งอัสซีเรียก็จะถูกชนชาติที่โหดยิ่งกว่าในภายหลังจัดการ นั่นก็คือบาบิโลน

 

พระเจ้ารู้สึกโกรธ ต่อความโหดเหี้ยมนี้ และพระเจ้าก็จะเข้าแทรกแซง ในการแทรกแซงของพระเจ้า จะเป็นทั้งข่าวดี และ ข่าวร้าย

…………………………………………………………………..

 

ข่าวร้ายเป็นของคนชั่วร้าย

เพราะ พระเจ้าจะมาเพื่อพิพากษาความชั่ว ถ้าเราอ่านให้ดีๆ พระคัมภีร์ นาฮูม กำลังเฉลิมฉลองการแทรกแซงของพระเจ้า อย่างเช่นในบทแรก เป็นบทเพลงของการแก้แค้น คือ การเฉลิมฉลองการพิพากษาของพระเจ้า ภาษาที่ใช้เป็นภาพเดียวกับที่ภูเขาซีนายเมื่อพระเจ้าเสด็จมา แต่ตอนนี้ไม่ได้มาทำสัญญา แต่เป็นการมาเพื่อพิพากษา จึงเป็นข่าวร้ายของคนอัสซีเรีย เพราะหมดเวลากลับใจแล้ว

 

บทที่หนึ่งจึงเป็นบทเพลงแห่งการเฉลิมฉลองเพราะพระองค์ทรงพระพิโรธต่อการแก้แค้น(ความยุติธรรม) ของพระองค์

 

บทที่สอง เป็นภาพนิมิตของนาฮูม เป็นภาพระดับ 4K ขนาดเห็นสีเสื้อผ้าเครื่องแบบของซึ่งผู้ที่จะมาล้อมนีนะเวห์ในอนาคตคือ ทหารบาบิโลน มีเอฟเฟค รถรบวิ่ง และ ดาบแวววับ เต็มไปด้วยภาพการบรรยายให้เห็นสภาพอันน่าสะพรึงกลัวของการที่นีนะเวห์ถูกล้อม เรื่องนี้เป็นเพียงนิมิตที่ไม่เป็นจริงจนกระทั่ง ปี 612 ก่อน ค.ศ. ซึ่งบาบิโลนเข้ายึดนีนะเวห์อย่างเต็มรูปแบบ

 

ภาพที่นาฮูมบรรยายได้อย่างชัดเจนแม้ยังไม่เกิด มีทั้งคนได้ยิน ได้อ่านมาก่อน จนกระทั่งสิ่งนั้นเกิดขึ้นก็ยิ่งทำให้เห็นถึงสิทธิอำนาจของพระเจ้าได้อย่างแจ่มชัด

 

การแทรกแซงของพระเจ้าจึงเป็นข่าวร้ายสำหรับอาณาจักรที่ชั่วร้าย ว่าพระเจ้าจะไม่งดโทษแน่นอน

…………………………………………………………………..

 

ข่าวดีสำหรับคนที่เหลืออยู่

การเห็นชนชาติที่เป็นศัตรูถูกพิพากษาไม่ใช่เนื้อหาของข่าวดีที่ว่า เพราะไม่เช่นนั้นอิสราเอลก็จะไม่ต่างจากโยนาห์ที่รอดูศัตรูถูกทำลายโดยพระเจ้า ถ้าเราอ่านพระธรรมโยนาห์เทียบในเรื่องการพินาศนีนะเวห์ การเห็นคนมากมายต้องล้มตายเพราะถูกพิพากษา ไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้า

 

ไม่สมควรหรือที่เราจะหวงเมืองนีนะเวห์นครใหญ่นั้น ซึ่งมีพลเมืองมากกว่าหนึ่งแสนสองหมื่นคน ผู้ไม่ทราบว่าข้างไหนมือขวาข้างไหนมือซ้าย และมีสัตว์เลี้ยงเป็นอันมากด้วย

 

แต่ข่าวดีในตอนนี้เป็นเรื่องของความสัตย์ซื่อของพระเจ้า ในการรื้อฟื้นชนชาติของพระองค์ขึ้นใหม่ เหมือนชื่อของ “นาฮูม” ซึ่งแปลว่า “ผู้ปลอบประโลม” การล่มสลายของนีนะเวห์ ไม่ใช่ข่าวดีที่เต็มไปด้วยความสะใจที่นีนะเวห์ที่พังพินาศ แต่เป็นข่าวดีที่เห็นการปลอบประโลมคนของพระเจ้า ด้วยการสำแดงความยุติธรรมต่อคนที่ทำชั่ว ถ้าพระเจ้า มั่นคง ที่จะลงโทษความอยุติธรรม แสดงว่าพระเจ้าก็จะ มั่นคง ที่จะรื้อฟื้นคนที่สัตย์ซื่อในทางของพระองค์ด้วยเช่นกัน คนที่สัตย์ซื่อในทางของพระเจ้า นาฮูมใช้คำว่า ผู้ที่เหลืออยู่ (Ramnant)

 

การแทรกแซงของพระเจ้า จึงเป็น “ข่าวดี” สำหรับผู้ที่ดำเนินชีวิตสัตย์ซื่อและรอคอยพระเจ้า และกลายเป็น “ข่าวร้าย” สำหรับผู้ที่ไม่กลับใจ

…………………………………………………………………..

 

ใน นาฮูม พระเจ้าดูไม่ปล่อยให้ความชั่วร้ายลอยนวล แต่ในโลกปัจจุบัน เรากลับเห็นความอยุติธรรมมากมาย หรือ เป็นเพราะพระเจ้ากริ้วช้า? ช้าจนตอนนี้พระองค์ไม่ได้ทำอะไรหรือเปล่า ในความอยุติธรรมความวุ่นวายในโลก พระเจ้าอยู่ที่ไหน? ทำไมพระเจ้าถึงเงียบ? พระเจ้ารู้สึกยังไงกับเหตุการณ์นี้?

 

ทำไมโลกยังมีผู้อพยพหนีภัยสงคราม การกันดารอาหาร ทำไมดูเหมือนพระเจ้าไม่ทำอะไร?

 

ในเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่ พระเจ้ารู้สึกอย่างไรกับอัสซีเรีย?

 

เราต้องไม่ลืมถึงพระลักษณะของพระเจ้า ที่พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่หวงแหน พระองค์หวงแหนสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง ย้อนกลับไปตอนที่พระเจ้าจะล้างโลกใบนี้ด้วยน้ำในสมัยของโนอาห์ พระเจ้าเห็นความบาปที่เกิดขึ้นมากจนเกินไป แต่ถึงอย่างนั้นเราก็จะเห็นว่า พระองค์เสียพระทัย

 

แม้จะเลวร้าย แต่เราก็อย่าลืมเรื่องที่ว่า พระเจ้ายังให้เวลาคนได้กลับใจเสมอ แม้จะเป็นผู้คนที่เลวร้ายแต่ทุกคนก็ล้วนเป็นคนที่พระองค์ทรงสร้าง พระองค์รักและให้โอกาส แต่ถึงอย่างนั้นพระองค์ก็ยังคงพิโรธต่อความชั่วร้าย และ จะพิพากษาความชั่วร้ายอย่างยุติธรรม

 

พระเจ้าประเสริฐ
ทรงเป็นที่กำบังเข้มแข็งในวันยากลำบาก
พระองค์ทรงรู้จักผู้ที่เข้ามาลี้ภัยอยู่ในพระองค์
1:7

 

ถ้าเราอ่านในบทที่หนึ่งข้อเจ็ด ข้อนี้ได้ ซ่อน อีกพระลักษณะหนึ่งของพระองค์ไว้ คือ พระเจ้าประเสริษฐ์(GOOD) คือพระองค์เป็นพระเจ้าที่ดี ซึ่งความดีงามนี้เริ่มมาตั้งแต่ ปฐมกาลบทที่หนึ่งด้วยซ้ำ ซึ่งนี้เป็นพระลักษณะที่สำคัญของพระเจ้า แม้สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจะดูเหมือนไม่อาจยอมรับได้ แต่สิ่งที่เราควรตอบสนองคือการเชื่อวางใจในความดีงามของพระองค์

 

การปลอบประโลมของนาฮูมจึงมาจบลงที่ เราควรวางใจในความสัตย์ซื่อของพระเจ้า เพราะพระองค์จะตอบสนองตามพระลักษณะของพระองค์ คือ ตามความยุติธรรม ในเวลาของพระองค์ และ ความดีงามของพระองค์ นี่คือ บทสรุปของนาฮูม

 

ถึงอย่างนั้น ถ้าหากเรายังเห็นว่ามันไม่ทันใจเรา ในสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ทำไมพระเจ้าเหมือนจะไม่ทำอะไร? พระเจ้าคิดอย่างไรกับเราต่อความอยุติธรรมในโลกทุกวันนี้? ทำไมถึงปล่อยให้เป็นแบบนี้

 

มาถึงตรงนี้ผมคงได้แต่เพียงบอกว่า นาฮูม ตั้งใจเปิดประเด็นนี้ขึ้นมาโดยไม่ได้สรุป เพราะ คำตอบในคำถามนี้จะมาในเล่มถัดไปคือ ฮาบากุก

 

ถ้าดูช้าไป ก็จงคอยสักหน่อย
มันจะบังเกิดขึ้นเป็นแน่
ฮาบากุก 2:3

 

ถ้าตอนนี้คำตอบมาช้าก็รอสักหน่อย เพราะคำตอบอยู่ที่เล่มถัดไป

.

.

.


Previous Next

  • Author:
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
  • Author:
  • อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS) หรือ พี่ใช้ รุ่นพี่ผู้รับใช้ผู้มีไฟ และมีเป้าหมายที่จะสืบสาน และ ส่งต่อความเข้าใจในพระคัมภีร์ให้กับพี่น้องคริสเตียน และ ผู้รับใช้รุ่นใหม่ๆต่อไป