6

[พระคัมภีร์ไม่ไหลย้อนกลับ] The12 ep.6 มีคาห์


 

 

มีคาห์

เป็นชื่อทเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยรู้เลยว่า มีคาห์ พูดถึงอะไร

มีคาห์มี เจ็ดบท มีอยู่ร้อยห้าข้อ สั้นๆ แต่เป็นเล่มที่มีความหมายลึกซึ้งและดียอดเยี่ยม กลับไปอ่านก่อนแล้วค่อยกลับมาอ่านยังทัน

พอเริ่มอ่านอาจเจอข้อสงสัย? ว่าโฟกัสของเรื่องอยู่ตรงไหน หนังสือเล่มนี้เปิดด้วยการพิพากษาสะมาเรีย ตั้งแต่ข้อสองถึงเจ็ด แต่พอถึงข้อแปด กลายเป็นการกล่าวโทษยูดาห์ ที่ผ่านมาเราจะเห็นรูปแบบในหนังสือผู้เผยพระวจนะอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าให้ผู้เผยพระวจนะไปที่ไหน เช่นตอนที่เปิดบทก็จะบอกชัดว่าผู้เผยพระวจนะอยู่ในสมัยของใครซึ่งถ้าเราไปย้อนดูในพงษ์กษัตริย์ก็จะรู้ว่านี่เป็นเรื่องราวของฝั่งเหนือ(อิสราเอล) หรือฝั่งใต้(ยูดาห์) หรือไปต่างชาติอย่าง เอโดมในโอบาดีห์ โยนาห์ไปนีนะเวห์ ฯลฯ

แต่ในข้อหนึ่ง ชื่อของกษัตริย์ยูดาห์ถึงสามพระองค์ถูกวางไว้ นั่นหมายความว่าเรื่องนี้กำลังมาถึงอาณาจักรใต้แน่นอน ดังนั้นการเปิดเรื่องด้วยการพิพากษาสะมาเรีย นั่นก็เพราะ พระคัมภีร์ตอนนี้กำลังจะทำให้เห็นภาพว่าความบาปมัน “ลาม” ได้

 

“เพราะว่ารอยแผลของเมืองนั้นรักษาไม่หาย และ ได้ ‘ลาม’ มาถึงยูดาห์”

 

มีคาห์กำลังเปิดเผยว่า การลุกลามนี้เป็นคุณลักษณะของความชั่วร้าย เราจะเห็นการเคลื่อนที่ของความบาปจากประเทศที่ชั่วร้ายมักจะส่งต่อความชั่วร้ายจากประเทศใหญ่ๆ ไปสู่เมืองเล็กๆ จากเมืองไปสู่ชนบท แล้วลงไปสู่ชุมชน จนสุดท้ายมันก็ลามไปถึง ครอบครัว

พระคัมภีร์มีคาห์มีการเล่าให้เห็นว่า ความบาปของสะมาเรีย อาณาจักรเหนือลามมายังอาณาจักรใต้ พอมาข้อสิบ เราจะได้ยินชื่อเมืองที่ไม่เคยได้ยิน เมืองกัท เมืองเบธเลอัฟราห์ เมืองชาฟีร์ เพราะเหล่านี้เป็นเมืองเล็กๆ และ ท่อนนี้ใช้คำอย่างสละสลวยและเสียดแทง

“ผู้คนในเมืองเบธเลอัฟราห์ก็จะกลายเป็นฝุ่น” เพราะ เบธ แปลว่า บ้าน อัฟราห์ แปลว่า ฝุ่น แต่ตอนนี้ผู้คนจะกลายเป็นฝุ่นแทน

“ผู้คนในเมืองชาฟีร์จะเปลือยเปล่าและอับอาย” ชาฟีร์ แปลว่า เปิดออกให้เห็นความงาม แต่ในตอนนี้จะถูกทำให้เปลือยเปล่าและอับอาย

“ผู้คนในเมืองศานันก็จะออกมา” ศานัน แปลว่า ออกมา มีคาห์ก็ใช้คำว่า ศานัน ที่แปลว่าถูกขับออกมาหมายถึงการตกไปเป็นเชลย

การเล่นคำกับชื่อที่คุ้นเคยแบบนี้ตั้งใจให้ผู้ฟังรู้สึกสะเทือนใจขึ้นมาโดยตรง

และนี่ยังเป็นภาพที่สะท้อนว่า ความชั่วร้ายตอนนี้ได้ลามจากระดับประเทศลงมายังเมืองเล็กๆระดับชนบทแล้ว แต่นี่ก็ยังไม่สุดเพราะความชั่วร้ายนี้มันยังลงลึกไปได้อีก ลงไปจนถึงระดับครอบครัว

 

อย่าวางใจเพื่อนบ้านอย่านอนใจในสหาย
จงเฝ้าประตูปากของเจ้า
อย่าเผยแก่เธอที่อยู่ในอ้อมอกของเจ้า
เพราะว่าลูกชายดูหมิ่นพ่อ
และลูกสาวลุกขึ้นต่อสู้แม่ของเธอ
ลูกสะใภ้ต่อสู้แม่ผัว
ศัตรูของใครๆ ก็คือคนที่อยู่ร่วมเรือนของเขาเอง

มีคาห์ 7:5-6

 

ความบาปลามมาถึงข้างบ้าน ลามเข้ามาถึงในครอบครัว ทั่วทุกสังคมในยูดาห์จึงเต็มไปด้วยความบาป ถ้าหน่วยที่เล็กของสังคมยังเต็มไปด้วยความชั่วร้าย ความหวังของชนชาตินั้นก็ไม่เหลือแล้ว

ด้วยเหตุนี้พระเจ้าผู้ยุติธรรมจึงไม่สามารถปล่อยได้ จึงส่ง ยูดาห์ มาเพื่อประกาศการพิพากษาของพระเจ้า

………..……..……..……..……..……..

คำว่ายุติธรรมเป็นพระลักษณะของพระเจ้า
ที่พระเจ้าให้มีคาห์มาประกาศพระลักษณะของพระองค์ก็เพราะในตอนนี้คนอิสราเอลกำลังทำบาปมากมาย

………..……..……..……..……..……..

ตั้งแต่บทที่หนึ่งถึงหก เต็มไปด้วยลิสท์ของความบาปของยูดาห์ เช่น การกราบไหว้รูปเคารพ การกราบไหว้รูปเคารพเป็นเหมือนการตบหน้าพระเจ้า เพราะเป็นสิ่งที่พระเจ้าห้ามตามพันธสัญญา แต่คนอิสราเอลตอนนี้กลับทำสิ่งที่พระเจ้าห้าม

การยึดทรัพย์ของคนจน เมื่อคนจนคืนไม่ได้ ก็ยึดบ้านยึดนา ยึดลูกเมียไปเป็นทาส พระเจ้าบอกว่านี้เป็นความบาปท่ามกลางประชากรของพระเจ้า การคอรัปชั่นจากผู้นำฝ่ายการการเมืองที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรม ความโลภของผู้นำฝ่ายวิญญาณ และแม้แต่ผู้นำฝ่ายพระวจนะก็เผยพระวจนะแบบเทียมเท็จ จนมาถึงประชาชนที่มีแต่ความเชื่อแบบเปลือกนอก ที่ทำความบาป แล้วก็คิดว่าเดี๋ยวก็ไปถวายเครื่องบูชาก็จบแล้ว

เมื่อความอยุติธรรมเต็มไปทุกหย่อมหญ้า และ เมื่อพระลักษณะหนึ่งของพระเจ้าคือ ความยุติธรรม เรื่องนี้จึงถูกปล่อยไม่ได้ “มีคาห์” เลยถูกใช้มาเพื่อสำแดงความยุติธรรมของพระเจ้า  ซึ่งมีคาห์ก็มีการใช้ภาษาที่ไม่ธรรมดาเลยในการแถลง

 

จงสดับฟังสิ่งที่พระเจ้าตรัส
จงลุกขึ้นแถลงคดีของเจ้าต่อภูเขาทั้งหลาย

 

จงให้เนินเขาฟังเสียงของเจ้า
ภูเขาทั้งหลาย ทั้งรากฐานที่ทนทานของพิภพเอ๋ย

 

จงฟังคดีของพระเจ้าเถิด
เพราะว่าพระเจ้าทรงมีคดีกับประชากรของพระองค์
และพระองค์จะทรงสู้ความกับอิสราเอล

 

ตรงนี้ มีคาห์ ใช้คำเป็น “ทางการ” เป็นเหมือนกับการเรียกคนมาฟังการตัดสินคดี เป็นเหมือนภาษากฏหมาย เพื่อให้เห็นว่าอิสราเอลกับพระเจ้ากำลังมีคดีความ

ในโลกโบราณ เวลามีคดีความจะเรียกพยานมาซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเทพ แต่พระเจ้าเป็นพระเจ้าผู้สร้างผู้เที่ยงแท้ ไม่มีเทพใดมาเป็นพยานได้ จึงใช้ ภูเขา  ซึ่งวิธีการใช้ภาษาแบบนี้เหมือนใน เฉลยธรรมบัญญัติ

ถ้าเป็นภาษาหนังในปัจจุบัตต้องเรียกการเรียบเรียงแบบนี้ว่าเป็นฉากหนัง Courtroom หรือ ฉากว่าคดีความกันในห้องพิจากรณาคดีนั้นเอง ซึ่งจะมีการโต้แย้งกันระหว่างโจทย์และจำเลย งานเขียนในลักษณะเดียวกันนี้ยังมีปรากฏในเล่มอื่นๆอย่างเช่นใน “โยบ” ก็เป็นฉากพิจารณาคดีเช่นเดียวกัน

…….…….…….…….…….…….…….

โยบ…

เมื่อโยบมาถึงจุดหนึ่งที่เชื่อว่าตัวเองไม่ได้รับความไม่ยุติธรรม โยบก็เรียกร้องคำอธิบายต่อพระเจ้า โยบสาบานว่าเขาไม่ได้ทำผิด และไม่ควรได้รับความอยุติธรรม และถ้าโยบไม่ผิด ดังนั้นผู้ที่ผิดในเรื่องนี้ต้องเป็นพระเจ้าสิ!  “ขอองค์ผู้ทรงมหิทฤทธิ์นั้นทรงตอบ” นั่นคือเรื่องที่โยบขอคำอธิบาย ซึ่งโยบก็ใช้ภาษาศาล เป็นเหมือนกับการโต้แย้งคดีกัน

ในพระธรรมมีคาห์นี้ก็เป็นภาพในห้องพิจารณาคดีแบบเดียวกัน เพื่อจะให้เห็นว่านี่เป็นการว่าคดีกันอย่างยุติธรรม ไม่ใช่การพิพากษาที่เกิดตามอารมณ์ แต่พระเจ้ากำลังพิพากษาตามพระลักษณะของพระเจ้าในความยุติธรรม นี่คือประเด็นใหญ่ของพระธรรมมีคาห์

…….…….…….…….…….…….…….

ในพระคัมภีร์มักจะเปรียบความยุติธรรมของพระเจ้า เป็นเหมือนสายดิ่ง ลูกตุ้ม หรือ ตราชั่งที่เที่ยงตรง แต่ตอนนี้ อิสราเอลลามจนทุกหย่อมหญ้า ลามไปถึงครอบครัว ถ้าพระเจ้าจำเป็นจะต้องตอบสนองตามความยุติธรรมของพระองค์ ใครจะรอดได้?

แต่ในมีคาห์ยังเปิดเผยอีกพระลักษณะหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าความยุติธรรม คือ ความเมตตา

ในพระธรรมมีคาห์ พระเจ้าจำเป็นต้องพิพากษาอิสราเอลเพราะเป็นไปตามพระลักษณะของพระเจ้า คือ “ความยุติธรรม” ในขณะเดียวกันในพระธรรมเล่มนี้ก็ให้ความหวังด้วย เป็นความหวังใน “พระเมตตา” ของพระเจ้า ในเล่มนี้จึงมีหลายตอนที่พูดถึง ความหวังในการรื้อฟื้นของพระเจ้าอีกด้วย

ซึ่งถ้าจะอ่านให้เข้าใจในเรื่องนี้ควรแวะมาเข้าใจโครงสร้างของหนังสือกันสักเล็กน้อย

ในมีคาห์มีการแบ่งเรื่องด้วยคำว่า จงฟัง

1

(1:2)
ชนชาติทั้งหลายเอ๋ย ทุกคนจงฟัง
โอ พิภพเอ๋ย และสารพัดที่อยู่ในนั้นจงฟัง…

2

(3:1)
และข้าพเจ้ากล่าวว่า
ท่านทั้งหลายผู้เป็นประมุขของยาโคบ
คือบรรดาผู้ครอบครองพงศ์พันธุ์อิสราเอล จงฟัง…

3

(6:1)
จงสดับฟังสิ่งที่พระเจ้าตรัส
จงลุกขึ้นแถลงคดีของเจ้าต่อภูเขาทั้งหลาย…

 

เนื้อหาแต่ละก้อน เป็นเหมือนการเผยพระวจนะสามรอบ ซึ่งแต่ละเรื่องยังแบ่งเป็นสองส่วน ซึ่งเริ่มด้วย “พระวจนะแห่งการพิพากษา” และ จบด้วย “พระสัญญาแห่งการรื้อฟื้น” ทั้งสามส่วน

ในพระธรรมมีคาห์ แม้จะมีเนื้อหาหลักอยู่ที่เรื่องการพิพากษาตามความยุติธรรมตามพระลักษณะของพระเจ้า แต่ก็ยังมี ความหวัง คือการรื้อฟื้น และคืนกลับมา โดยในมีคาห์ใช้คำว่า “คนที่เหลืออยู่” Ramnant

เพราะอย่างนั้น คนที่เหลืออยู่ ก็ยังมีหวัง ในความสัตย์ซื่อตามพระลักษณะความเมตตาของพระเจ้าด้วย

ถ้าเราอ่านจะเห็นในส่วนที่พูดเรื่องการพิพากษาจะใช้ภาษาศาล เหมือนอยู่ในห้องพิจารณาคดี มีความจริงจัง ขึงขัง แต่ในส่วนที่เป็นเรื่องของพระเมตตา เราจะเห็นว่าภาษาที่ใช้ถูกต่างออกไป จากฉากในห้องพิจารณาคดีย้ายไปอยู่ในทุ่งหญ้าริมน้ำแดนสงบ เพื่อให้เห็นว่าพระเจ้าจะรื้อฟื้น เปรียบภาพเป็นภาพผู้เลี้ยงแกะ ที่ผู้เลี้ยงจะพาฝูงแกะไป แม้จะเจอปัญหา แต่พระเจ้าก็จะพาฝูงแกะที่เหลืออยู่ฝ่าไป

ความยุติธรรม และ พระเมตตา เป็นพระลักษณะของพระเจ้าที่ปรากฏตลอดพระคัมภีร์ผู้เผยพระวจนะน้อย ถึงสองประเด็นนี้ดูเหมือนไม่เข้ากัน แต่กลับเป็นพระลักษณะของพระเจ้าที่สอดประสานกันอยู่

พระเจ้าพิพากษาด้วยความยุติธรรม ในขณะเดียวกันก็ยังทรงมีพระเมตตาอยู่เสมอ

………..……..……..……..……..……..

พระธรรมมีคาห์กลับมาใช้ภาษา “ผู้เลี้ยง” เปรียบภาพพระเจ้าเป็นเหมือนกับผู้เลี้ยงแกะ เหตุหนึ่งที่เป็นได้ที่มีคาห์ใช้ภาพเปรียบเทียบนี้ก็อาจเป็นเพราะมีคาห์มาจากเมือง โมเรเชท ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในเขตทุ่งหญ้าเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีคาห์น่าจะคุ้นเคย จึงใช้ภาพนี้ในการเปรียบเทียบกับการรื้อฟื้นของพระเจ้า ซึ่งในฉากของทุ่งหญ้านี้ต่างจากภาพของสะมาเรียในช่วงแรก

สะมาเรีย เป็นเมืองที่อยู่บนถนนหลักของเส้นทางการค้า ซึ่งอุดมด้วยความมั่งคั่ง ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นศูนย์รวมรับเอาความบาปจากหลายชนชาติ และ ความบาปชั่วนี้ก็กำลังลามมาถึงยูดาห์ และ ลามมาถึงหมู่บ้าน

ภาพของพระเจ้าผู้ที่จะเป็นผู้เลี้ยงแกะจึงปรากฏเป็นประเด็นเด่นชัดขึ้นในมีคาห์

 

โอ เบธเลเฮม เอฟราธาห์ แต่เจ้า
ผู้เป็นหน่วยเล็กในบรรดาตระกูลของยูดาห์
จากเจ้าจะมีผู้หนึ่งออกมาเพื่อเรา
เป็นผู้ที่จะปกครองในอิสราเอล
5:2

 

ถ้าคิดเร็วๆเราต้องคิดว่า พระคัมภีร์ตอนนี้เล็งถึงพระกุมารในรางหญ้าเกิดที่เมืองเบธเลเฮมนั่นเอง แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า พระธรรมตอนนี้เป็นเรื่องที่เกิดก่อนพระเยซูอีก ถ้าข้อคามมันมาก่อนกาลแล้ว ข้อนี้กำลังจะบอกอะไร

คำสัญญาที่ปรากฏนี้ในมีคาห์ เป็นคำสัญญาสู่อนาคต ว่าจะมีผู้หนึ่งออกมาจากเบธเลเฮม ซึ่งเบธเลเฮมเป็นเมืองของเจซซี ซึ่งเราก็รู้ว่าเจซซีเป็นบิดาของกษัตริย์ดาวิด

ในมีคาห์ตอนนี้จึงหมายถึงพระสัญญาของพระเจ้าต่อดาวิดนั้นจะไม่ได้หายไป

ที่ว่ามานี้จึงหมายถึง อิสราเอลหรือยูดาห์ที่ทำความบาป จะถูกพิพากษา ทำให้กระจัดกระจาย ตกเป็นเชลย และทนทุกข์ แต่วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาของพระเจ้า พระเจ้าจะให้มีกษัตริย์ที่เป็นผู้เลี้ยง ซึ่งมาจากราชวงศ์ของดาวิด จากเบธเลเฮม นั่นหมายความว่า พระเจ้ายังคงสัตย์ซื่อต่อพระสัญญาของพระองค์ ที่มีต่อดาวิดไม่เคยแปรเปลี่ยนไปนั่นเอง

 

พระเจ้าตรัสว่า ในคราวนั้น
เราจะรวบรวมคนขาพิการ
และจะรวบรวมบรรดาผู้ที่ถูกขับไล่ไป
และบรรดาผู้ที่เราได้ให้ทุกข์ใจ

 

คนที่ขาพิการนั้น เราจะให้เป็นคนที่เหลืออยู่
คนที่ถูกทิ้งไปนั้นเราจะให้เป็นชนชาติที่เข้มแข็ง
และพระเจ้าจะทรงปกครองเหนือเขาที่ภูเขาศิโยน
ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนชั่วกัลปาวสาน

 

โอ หอคอยที่เฝ้าฝูงสัตว์เอ๋ย
เจ้าผู้เป็นเนินเขาบุตรีศิโยน
ราชอำนาจจะมาสู่เจ้า
อาณาจักรดั้งเดิมจะกลับมา
คือราชอาณาจักรแห่งบุตรีเยรูซาเล็ม
4:6-8

 

แกะที่หลงไปจากฝูงมักจะถูกขย้ำ และ หลงหายไป เมื่อพบมันสะบักสะบอม ข้อความที่ใช้ในตอนนี้จึงใช้ภาพเปรียบเป็นคนพิการที่ขาหัก คือคนที่หลงจากพระเจ้าจนสะบักสะบอม แต่พระเจ้าก็จะนำเขากลับมา เพราะ พระองค์เป็นผู้เลี้ยงที่ดี

ดังนั้น เมื่อมัทธิวพูดถึงการบังเกิดถึงพระเยซู จึงบอกว่านี่เป็นสิ่งที่สำเร็จตามพระธรรมมีคาห์ เป็นภาพ พระเยซูเป็นกษัตริย์ผู้เลี้ยง ส่วนอิสราเอลเปรียบเหมือนแกะ

 

ดังนั้น แกะควรจะใช้ชีวิตอย่างไร ก็คือดำเนินชีวิตตามผู้เลี้ยงโดยถ่อมใจ มีความสุข ตื้นตันใจ และ มั่นใจในความดีของผู้เลี้ยงที่จะพาไปยังริมน้ำแดนสงบ แม้จะเจอหุบเขาเงามัจจุราจ เขาก็จะไม่กลัวเพราะผู้เลี้ยงก็จะดูแลเขา

 

 

พระเจ้าทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสน
พระองค์ทรงกระทำให้ข้าพเจ้านอนลงที่ทุ่งหญ้าเขียวสด
พระองค์ทรงนำข้าพเจ้าไปริมน้ำแดนสงบ…

 

…แม้ข้าพระองค์จะเดินไปตามหุบเขาเงามัจจุราช
ข้าพระองค์ไม่กลัวอันตรายใดๆ…

 

คทาและธารพระกรของพระองค์เล้าโลมข้าพระองค์

 

… แน่ทีเดียวที่ความดีและความรักมั่นคงจะติดตามข้าพเจ้าไป
ตลอดวันคืนชีวิตของข้าพเจ้า
และข้าพเจ้าจะอยู่ในพระนิเวศของพระเจ้าสืบไปเป็นนิตย์
สดุดี 23

 

นี่คือภาพ ผู้เลี้ยง ที่มีคาห์ตั้งใจให้อิสราเอลดำเนินชีวิตอย่างที่เป็น เดินไปกับพระเจ้าด้วยความวางใจ เป็นแกะที่วางใจผู้เลี้ยง

 

………..……..……..……..……..……..

 

มนุษย์เอ๋ย พระองค์ทรงสำแดงแก่เจ้าแล้วว่าอะไรดี
และพระเจ้าทรงมีพระประสงค์อะไรจากเจ้า
นอกจากให้ กระทำความยุติธรรม และ รักสัจกรุณา
และ ดำเนินชีวิตด้วยความถ่อมใจไปกับพระเจ้าของเจ้า
6:8

 

สำหรับข้อนี้เป็นเหมือนข้อสรุปของพระธรรมมีคาห์

 

ไม่ค่อยมีข้อพระคัมภีร์ที่บอกว่าพระเจ้าคาดหวังอะไรจากเรามากนัก แต่ข้อนี้ค่อนข้างชัดเจนที่พระเจ้าคาดหวังในชีวิตของเรา คือมีชีวิตที่ทำความยุติธรรม สำแดงความรักเมตตา และ เดินกับพระเจ้าด้วยความถ่อมใจ นี่คือ สามอย่างที่พระเจ้าคาดหวังจากเรา

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่พูดกันมาตั้งแต่ต้น คือ พระเจ้ามีความยุติธรรม สำแดงความรักเมตตา และ พระองค์เป็นผู้เลี้ยง เพราะฉะนั้นสิ่งที่อิสราเอลตอบสนองได้ คือ เขาต้องมีความยุติธรรม ความอยุติธรรมในสังคมต้องถูกจัดการ และเขาก็ต้องมีความรักเมตตาเช่นเดียวกับที่พระเจ้าเมตตา และสุดท้ายคือพระเจ้าเป็นผู้เลี้ยง เขาก็ต้องดำเนินชีวิตด้วยความตื้นตันและถ่อมใจในการดำเนินชีวิตกับพระเจ้า นี่คือประเด็นหลักของพระธรรมมีคาห์

เรื่องราวนี้เลยมาบรรจบกันที่ พระสัญญา ที่พระเจ้าจะกลับมาเป็นผู้เลี้ยงตามวงศ์วานของดาวิด ซึ่งนำไปสู่ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือ “พันธสัญญา” เพราะเรื่องที่ยูดาห์ทำผิดไม่ใช่เรื่องการผิดศีลธรรม แต่เป็นเรื่องพันธสัญญาที่ยูดาห์ทำผิด

เป็นพันธสัญญาที่ทำไว้ตั้งแต่ที่พระเจ้าไถ่อิสราเอลออกมาจากอียิปต์และทำพันธสัญญาที่ภูเขาซีนาย พระเจ้าบอกว่า เราจะยอมเป็นพระเจ้าของเจ้า และเจ้าจะเป็นประชากรของเรา จะเอาไหม? ซึ่งอิสราเอลก็ตอบรับว่า “เอา” ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือสัญญาในการเป็นประชากรของพระเจ้า อย่างเรื่อง การโกงตราชั่ง จงเห็นแก่แม่ม่าย ลูกกำพร้า อย่าคิดดอกเบี้ยอย่ายึดของคนจน พวกนี้ก็ล้วนเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในสัญญา ดังนั้นส่ิงที่ มีคาห์ คัดเอาความผิดของอิสราเอลออกมาเป็นข้อๆ ไม่ใช่เพราะว่าผิดะศีลธรรม หรือ จริยธรรม แต่สิ่งที่เขาทำกำลังผิด “พันธสัญญา” ในการเป็นประชากรของพระเจ้า

สิ่งที่เขาควรเป็นคือการสำแดงความรักความเมตตา สำแดงความยุติธรรมตามพระลักษณะของพระเจ้าในฐานะการเป็นประชากรของพระเจ้า แต่อิสราเอลไม่ได้ทำตาม นั้นหมายความว่าอิสราเอลกำลังไม่สนใจในพันธสัญญาที่มีกับพระเจ้าเลย

 

มีคาห์เลยใช้เรื่องของ “ผู้เลี้ยง” มาบอกกับ “คนที่เหลืออยู่” ว่าพระเจ้าผู้เป็นกษัตริย์ผู้เลี้ยงจะนำเขากลับมาอยู่ในฝูง กลับมาดูแลเหมือนที่เคยอยู่ในพันธสัญญา เพราะพระเจ้ายังคงมั่นคงและสัตย์ซื่อต่อพระสัญญาของพระองค์

ในความสัตย์ซื่อตามพันธสัญญานี้ พระเจ้าก็สัตย์ซื่อทั้งสองด้านด้วย เพราะเมื่ออิสราเอลละเมิดพันธสัญญา พระเจ้าก็จำเป็นจะต้องลงโทษ เหมือนกับในปัจจุบันถ้าเราทำผิดสัญญา เราก็ต้องรับผล ดังนั้นพระเจ้าก็สัตย์ซื่อในแง่ของการลงโทษเมื่อเกิดการละเมิด แต่ในขณะเดียวกัน พระเจ้าก็มีความสัตย์ซื่อในอีกด้านหนึ่ง คือการรื้อฟื้นเมื่อเขากลับใจ

การลงโทษเมื่อทำผิดเรียกว่า “ความยุติธรรม” การรื้อฟื้นเมื่อกลับใจเรียกว่า “พระเมตตา”  ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่ดูย้อนแย้งดังที่เคยกล่าวไปแล้ว ว่าสองเรื่องนี้ดูเหมือนไปด้วยกันไม่ได้

ลองคิดถึงฆาตกรที่ทำผิดต่อเนื่องถูกจับได้ กำลังยืนต่อหน้าผู้พิพากษา แล้ว ผู้พิพากษาก็บอกว่า “ผมมีเมตตา ดังนั้นจะไม่ลงโทษนะ กลับบ้านได้” เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยเพราะผู้พิพากษาจะกลายเป็นคนไม่ยุติธรรมทันที แต่เขามีความรักนะ จึงเมตตาไม่ลงโทษ ย่ิงฟังก็จะยิ่ง เอ๊ะ!เอ๊ะ!เอ๊ะ!เอ๊ะ!เอ๊ะ! เพราะมันฟังดูย้อนแย้งและไปด้วยกันไม่ได้

แต่ในพระธรรมมีคาห์ กำลังจะบอกว่าสองเรื่องนี้เป็นไปได้ ที่ “พระคุณ” ของพระเจ้า

 

ใครเล่าจะเป็นพระเจ้าเสมอเหมือนพระองค์ผู้ทรงยกโทษ
และทรงให้อภัยการทรยศ
แก่คนที่เหลืออยู่อันเป็นมรดกของพระองค์
พระองค์มิได้ทรงถือพระพิโรธเนืองนิตย์
เพราะว่าพระองค์ทรงพอพระทัยในความรักมั่นคง

พระองค์ทรงเมตตาเราทั้งหลายอีก
พระองค์จะทรงเหยียบความผิดของเราไว้
พระองค์จะทรงเหวี่ยงบาปทั้งหลายของเรา
ลงไปในที่ลึกของทะเล

พระองค์จะทรงสำแดงความเที่ยงตรงให้ประจักษ์แก่ยาโคบ
และความรักมั่นคงต่ออับราฮัม
ดังที่พระองค์ทรงปฏิญาณต่อบรรพบุรุษของเรา
ตั้งแต่สมัยโบราณกาล
7:18-20

 

นี่คือพระลักษณะของพระเจ้าที่เปิดเผยในสามข้อสุดท้ายในพระธรรมมีคาห์ พระเจ้าผู้เป็น “ความรักมั่นคง”

ถ้าพระเจ้ามีเพียงความยุติธรรม เมื่อเราทำผิด เราก็โดนพิพากษา เรื่องราวทุกอย่างก็จบ เพราะ “ความยุติธรรม” คือการตอบสนองต่ออย่างสมควรตามกรอบของสิ่งที่ระบุไว้ แต่ “พระเมตตา” และ “พระคุณของพระเจ้า” เป็นการตอบสนองต่อส่ิงที่เราไม่คู่ควร และมันไปไกลเกินกว่ากรอบที่เขียนเอาไว้

ดังนั้นพระธรรมมีคาห์เลยมาจบที่ พระเจ้าเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักมั่นคง เป็นความรักแบบ เฆร็-เสร็ด แบบเดียวกับใน โฮเชยา เป็นความสัตย์ซื่อในความรัก ในความผูกพัน ในพันธสัญญาซึ่งมารวมกันเป็นคำนี้ ส่วนในภาษาไทยไม่รู้จะแปลยังไงเลยเรียกว่า “ความรักมั่นคง”

 

พระธรรมมีคาห์จึงมาจบอย่างงดงามที่ว่า “ใครเล่าจะเป็นเหมือนพระองค์”

เช่นเดียวกับชื่อของ “มีคาห์” พระธรรมมีคาห์เริ่มต้นด้วยชื่อของพระธรรมมีคาห์เอง

ซึ่งมีคาห์มาจากคำว่า ‘มี-คา-ยาห์ ‘มี’ แปลว่า ‘ใคร’   ‘คา’ แปลว่า ‘ดังเช่น’   ‘ยาห์’ มาจาก ‘ยาเวห์’ รวมกันเข้าแปลว่า “จะมีใครเป็นดังเช่นพระยาเวห์”(สรรพนามบุรุษที่สาม) และ สุดท้ายพระธรรมมีคาห์มาจบที่ “มีใครเล่าจะเหมือนพระองค์”

จากชื่อในตอนเริ่มต้น เป็นการใช้สรรพนามบุรุษที่สาม คือจากคนนอกพูดและมองไปที่พระเจ้า “มีใครเล่าจะเป็นเหมือนกับพระองค์” แต่เมื่อผ่านประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับพระคุณของพระเจ้า พระธรรมมีคาห์มาจบด้วยคำเดียวกันในบุรุษที่สอง คือเป็นมุมมองจาก มีคาห์ เองที่ได้รับประสบการณ์ตรงกับพระเจ้า “จะมีใครเล่าเป็นเหมือนกับพระองค์เอง” เป็นคำอธิษฐานที่บรรยายความเข้าใจอันลึกซึ้งนี้ออกมา

ผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตา การอภัยบาป ทั้งที่ อิสราเอลสมควรจะได้รับผลตามกรอบความยุติธรรมของพระเจ้า แต่พระองค์กลับสำแดงสิ่งที่อิสราเอลไม่ควรจะได้รับไปไกลเกินกว่ากรอบของความยุติธรรม ไปสู่พระคุณ

มีคาห์ได้แต่อธิษฐาน เป็นคำอธิษฐานที่เต็มไปด้วยความหวัง และซาบซึ้งในประสบการณ์ต่อความรักที่ยิ่งใหญ่ พระคุณที่เขาไม่ควรจะได้

 

“ ใ ค ร เ ล่ า จ ะ เ ป็ น เ ห มื อ น พ ร ะ อ ง ค์ ”

…………………………………

กษัตริย์ผู้เลี้ยงที่มาจากเชื้อสายของดาวิดตามพระสัญญาจากความรักมั่นคง ที่จะนำแกะที่หลงหายกลับมา และ ยังคงดำรงความยุติธรรมด้วยชีวิตของพระองค์เองที่ไม้กางเขน เป็น พระเมตตา ที่เกินกว่าสิ่งที่เราสมควรได้รับ

…………………………………

.

.

“ ใ ค ร เ ล่ า จ ะ เ ป็ น เ ห มื อ น พ ร ะ อ ง ค์ ”

.

.

.

.

.


Previous Next

  • Author:
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
  • Author:
  • อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS) หรือ พี่ใช้ รุ่นพี่ผู้รับใช้ผู้มีไฟ และมีเป้าหมายที่จะสืบสาน และ ส่งต่อความเข้าใจในพระคัมภีร์ให้กับพี่น้องคริสเตียน และ ผู้รับใช้รุ่นใหม่ๆต่อไป