เผลอแป็บๆ ตอนนี้ก็ดำเนินมาถึงผู้เผยพระวจนะคนที่สิบอย่างรวดเร็ว ถ้าใครติดตามมาตั้งแต่ตอนแรกก็ยินดีด้วยเพราะตอนนี้เราใกล้จะจบหมวดผู้เผยพระวจนะน้อยที่เมื่อก่อนอาจเป็นอะไรที่อ่านยาก อ่านผ่านๆ แต่ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่สามเล่มสุดท้ายแล้วววว เย้
ฮักกัย
จากเรื่องราวผู้เผยพระวจนะที่ผ่านมาเริ่มต้นด้วยคำเตือนถึงพระพิโรธที่กำลังจะมาหากไม่กลับใจ และมาถึงในเศฟันยาห์ ส่วนตั้งแต่เล่มนี้ ฮักกัย และ อีกสองเล่มสุดท้าย เป็นเรื่องราวหลังการกลับมาจากการเป็นเชลยที่บาบิโลน
ก่อนจะไปต่อขอสรุปย่อเรื่องประวัติศาสตร์ที่สอดคล้องกับพระธรรมเล่มอื่นๆ กันก่อนสักนิด
พระเจ้าเตือนอิสราเอลให้กลับใจในช่วงต้นๆของหนังสือผู้เผยพระวจนะ เรื่องราวเหล่านี้อยู่ใน “เอเสเคียล” ด้วย ซึ่งในที่สุดบาบิโลนก็เข้าตีอิสราเอลตามคำเผยพระวจนะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพิพากษาตามความยุติธรรมของพระเจ้า เราก็จะพบกับ “ดาเนียล” ที่อยู่บาบิโลน “เยเรมีย์” ที่บอกว่าจะต้องเป็นเชลย 70 ปี และก็เป็นตามนั้นจริงๆ คืออยู่กัน 70 ปี เรียกได้ว่า ใครที่ไปเกิดที่นั่นก็แก่หง่อมหรืออาจเสียชีวิตก่อนจะได้หวนคืนกลับแผ่นดินเสียอีก
ในที่สุดก็ถึงยุคของกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซีย เมื่อเปอร์เซียเรืองอำนาจเข้าตีบาบิโลน นโยบายหนึ่งในการปกครองของไซรัสคือการปล่อยเชลยกลับคืนภูมิลำเนา ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือชาวอิสราเอลด้วย
ส่วนจำนวนคนอิสราเอลที่กลับคืนสู่ดินแดนในครั้งนี้มี 50,000 คน ตัวเลขนี้เอาเข้าจริงถือเป็นคนจำนวนน้อยมาก ยิ่งถ้าเทียบกับสมัย อพยพ ซึ่งตอนนั้นคือออกมาหมดจริงๆ มีการวิเคราห์ว่ามีคนที่ไม่อยากกลับออกมาด้วย เพราะชีวิตที่บาบิโลนสะดวกสบายกว่า การลงหลักปักฐานในช่วงเวลาที่เป็นเชลย และ คนมากมายที่น่าจะผลัดรุ่นไปแล้ว ตอนนี้บางคนอาจทำงานจับเครื่องคิดเลขด้วยซำ้ แต่การให้กลับไปสู่ดินแดนปาเลสไตน์ เหมือนกลับไปเริ่มต้นใหม่จากเศษซากปรักหักพัง อาจต้องเริ่มตั้งแต่การทำกสิกรรม สร้างชุมชน สร้างเมืองกันใหม่ มายด์เซ็ตเปลี่ยน โลกทรรศเปลี่ยน
ดังนั้นคนที่กลับมาจำนวน 50,000 คนนี้ จึงน่าจะเป็นคนที่ตั้งใจจะกลับมาจริงๆ
………………………………
ฮักกัย และ หนังสือสามเล่มหลัง อาจดูเหมือนเรื่องราวมันกระโดดไปสู่ช่วงกลับมาหลังการเป็นเชลย ส่วนพระคัมภีร์ที่ควรต่อตรงนี้ตามลำดับเวลาคือ เอเสเคียล ดาเนียล ซึ่งเป็นเรื่องช่วงเป็นเชลย แต่สองเล่มดังกล่าวอยู่ในหมวดผู้เผยพระวจนะใหญ่ (หมายถึงเนื้อหายาวกว่ามาก) แต่ในแง่ของ “concept” ยังคงต่อเนื่องอยู่ โดยในสามเล่มหลังจะพูดถึงเหตุการณ์หลังจากการกลับมาเป็นเชลย
รูปแบบของสามเล่มหลังจะต่างจากผู้เผยพระวจนะก่อนหน้านี้ ในขณะที่ เก้าเล่มก่อนหน้าจะเขียนด้วยรูปแบบร้อยกรอง เป็นกลอน คำรำพึงรำพัน ภาพเปรียบเทียบ ให้อารมณ์ความรู้สึก แบบลงลึก แต่สามเล่มหลังเป็นงานเขียนแบบมีหลักการ เรื่องราว ข้อเท็จจริง ไม่เน้นอารมณ์ความรู้สึก แต่เน้นเหตุผล ใคร่ครวญ
ดูเหมือน ฮักกัย กำลังจะนำผู้อ่านให้กลับมาใคร่ครวญพื้นฐานบางอย่าง รูปแบบที่ตั้งใจให้ผู้อ่านไตร่ตรอง หาเหตุผล ให้ผู้อ่าน “ได้คิด”
ในสามเล่มหลังนี้ อาจมีฉากการโต้เถียง แต่เป็นการถกเถียงด้วยคิด ข้อมูล และ เหตุผล ราวกับกำลังจะบอกว่า การคิด เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นประชากรของพระเจ้า ซึ่งฉากโต้เถียงเหล่านี้จะไปสู่จุดสูงสุดในพระธรรม “มาลาคี”
………………………………
เศฟันยาห์ จบลงที่ พระพิโรธของพระเจ้าและนำไปสู่การพิพากษา แต่ถึงอย่างนั้นพระองค์ก็สัญญาว่าจะรื้อฟื้น “ให้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเจ้า”
ในคราวนั้น เราจะนำเจ้ากลับเข้ามา
คือในคราวที่เรารวบรวมพวกเจ้าเข้าด้วยกัน
เออ เราจะกระทำให้เจ้ามีชื่อเสียงและเป็นที่สรรเสริญ
ในท่ามกลางบรรดาชนชาติทั้งหลายของโลก
คือเมื่อเราให้เจ้ากลับสู่สภาพเดิมต่อหน้าต่อตาเจ้าพระเจ้าตรัสดังนี้แหละ
ศฟย 3:20
สรุปสั้นๆก็คือ พระเจ้าจะรื้อฟื้นชาวอิสราเอลที่ไปเป็นเชลยที่บาบิโลน “แน่ๆ” ซึ่งพอเรื่องดำเนินมาถึง “ฮักกัย” เมื่อเรื่องเปิดขึ้นก็บอกเลยว่า
ณ วันที่หนึ่ง เดือนที่หก ปีที่สองแห่งรัชกาลพระราชาดาริอัส พระวจนะของพระเจ้ามาโดยทางฮักกัย…
พระวจนะของพระเจ้ามาทาง “ฮักกัย” มีการระบุวันเดือนปีชัดเจน
1 เดือน 6
24 เดือน 6
21 เดือน 7
24 เดือน 9
ทั้งหมดเกิดขึ้นในปีที่สองของรัชกาล ดาริอัส ส่วนตอนที่คนอิสราเอลได้รับการปล่อยให้กลับภูมิลำเนาอยู่ในสมัย ไซรัส 538 ก่อน ค.ศ. (ถ้านับย้อนกลับไป เยรูซาเล็มแตก ปี 586 ดูยังไม่ถึงเจ็ดสิบปีจริง ดูไม่เหมือนที่เยเรมีย์บอก?)
ดาริอัสขึ้นครองราชย์ปี 522 ส่วนพระคัมภีร์บอกว่าเรื่องราวตอนนี้เกิดในปีที่สองของรัชกาล “ดาริอัส” พอลองนั่งนิ้วมือดู ก็พบว่าเรื่องราวของพระคัมภีร์ตอนนี้เกิดในปี 520 และเรื่องทั้งหมดเกิดในช่วงเดือน 6-9 คือกินระยะเวลาเพียงสี่เดือน
ทำไมต้องระบุเวลาชัดเจนขนาดนี้?
นี่ก็เป็นจุดที่ต่างจากพระคัมภีร์เล่มก่อนๆหน้า ที่จะระบุระยะเวลาแบบคร่าวๆ แต่เล่มนี้กลับมีการระบุเวลาที่เกิดอย่าง ชัดเจน ซึ่งก็อาจเป็นได้ว่านี่เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องจากเศฟันยาห์ ที่จบด้วยเรื่องที่ว่า “วันนั้น” “เราจะจะรื้อฟื้นยูดาห์”
พอเรื่องราวเร่ิมต้นขึ้นในฮักกัย การระบุเวลาก็กำลังจะบอกเป็นนัยๆว่า “วันนั้น” วันแห่งการรื้อฟื้นที่ว่า ก็คือ “วันนี้” ที่ระบุในฮักกัยนั้นแหละ ฮักกัย กำลังบอกว่า
เวลานั้นมาถึงแล้ว!
ถึงแม้วันนั้นจะมาถึง แต่ประชาชนอิสราเอลดูจะไม่อินกับเรื่องนี้เท่าไหร่ พวกเขาไม่ได้คิดแบบนั้น
พระเจ้าจอมโยธาตรัสดังนี้ว่า
ประชาชนเหล่านี้กล่าวว่า เวลาที่จะสร้างพระนิเวศของพระเจ้านั้น “ยังไม่มาถึง”
(1:2)
ยังมาไม่ถึง!!! นี่คือส่ิงที่ประชาชนบอก พระวจนะจึงมาถึงฮักกัย ที่ตั้งคำถามว่า “ควรหรือจะปล่อยให้พระนิเวศน์พังทลาย” หรือ กำลังจะบอกว่า “นี่ไงเวลาของการรื้อฟื้นนั้นมาถึงแล้ว” แต่สำหรับประชากรของพระเจ้า พวกเขากลับบอกว่า “ยังไม่ถึงเวลา”
ดูเหมือนว่า การระบุวันนั้นมีความหมายว่า “การรื้อฟื้นถูกกำหนดไว้” แต่สำหรับชาวยิวที่กลับมาเขากลับมองเห็นว่าไม่ “ยังไม่ถึงเวลา”
อิสราเอลถูกปล่อยกลับมาปี 537 ส่วนเรื่องในตอนนี้เกิดในปี 522 หรือเรื่องราวในตอนนี้ผ่านมา 15 ปีแล้ว ถ้าเรากลับไปอ่านเรื่องของ “เอสรา” ผู้ที่นำการรื้อฟื้นสู่การสร้างพระวิหาร ตอกเสาเข็ม แต่แล้ว ก็จบเพียงแค่นั้น โครงการหยุดชะงักเป็นเสาโฮปเวล! ไม่ได้ทำอะไรอีกกว่าสิบปี
ก็เป็นไปได้ว่า เมื่อเขากลับมาในช่วงต้น แล้วพบว่า มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ไม่มีทั้งเงินทอง ขาดเวลา สถานการณ์ไม่ได้สะดวกสบายอย่างที่คิด เมื่อสิ่งที่เขาคาดหวังไม่เป็นจริงอย่างที่เขาเห็น แม้จะเริ่มต้นด้วยความคาดหวังมากมายในการรื้อฟื้น แต่พอมาถึง เมื่อพวกเขาต้องพบกับความจริงเรื่องปากท้อง การกันดารอาหาร ทุนทรัพย์ที่ขาดแคลน เมื่อทุกคนต้องห่วงเรื่องปากท้อง จึงวางมือจากการสร้างวิหาร สุดท้าย “วิหาร” จึงถูกทิ้งร้างไว้ไปกว่าสิบปี เพราะต่างคนต่างก็ต้องเอาชีวิตรอด
เพราะฉะนั้นบัดนี้พระเจ้าจอมโยธาจึงตรัสว่า
จงพิจารณาดูว่าเจ้ามีความเป็นอยู่อย่างไร
เจ้าหว่านมาก แต่เกี่ยวน้อย
เจ้ารับประทาน แต่ไม่เคยอิ่ม
เจ้าดื่ม แต่ก็ไม่เคยหายอยาก
เจ้านุ่งห่ม แต่ก็ไม่มีใครอุ่น
ผู้ที่ได้ค่าจ้าง ก็ได้ค่าจ้างมาใส่ถุงที่มีรู
ในแง่นี้ เชลยที่กลับมาได้ประสบกับความเป็นจริงที่ไม่เป็นตามฝัน จึงหยุดชะงักไปถึงสิบปี ไม่สามารถที่จะสร้าง “วิหาร” ได้ สิ่งที่เขาพอพูดได้ก็คือ “ยังไม่ถึงเวลา” รอสถานการณ์ดีขึ้น รอตั้งตัว และนี่คือ ประเด็นแรกของ ฮักกัย
วันที่ 1 เดือน 6 ปีที่ 2 รัชกาลดาริอัส
พระเจ้าจอมโยธาตรัสดังนี้ว่า
จงพิจารณาดูว่าเจ้ามีความเป็นอยู่อย่างไร
พระเจ้าตรัสว่า จงขึ้นไปที่เนินเขาและนำไม้มาสร้างพระนิเวศ
เราจะมีความพอใจในพระนิเวศนั้น และเราจะได้รับเกียรติ
ทำไมพระเจ้าถึงต้องบอกว่า “แล้วเราจึงจะพอใจ” “แล้วเราจะได้รับเกียรติ” เป็นไปได้ว่าอิสราเอลในเวลานี้สนใจแต่ความพึงพอใจของตัวเอง ฮักกัยบอกว่า “เจ้าบอกว่าถึงเวลาแล้วที่สร้างบ้านที่มีไม้บุ” สังเกตได้ว่า บ้านในยุคนั้นใช้ดินเป็นหลัก ส่วนการบุด้วยไม้คือการตกแต่งให้สวยงามแล้ว นั่นหมายความว่า ณ เวลานี้ สิบปีที่ผ่านไป เขาไม่ได้แค่เอาตัวรอดได้ แต่ตั้งตัวอยู่กันได้อย่างสมบูรณ์ถึงขนาดคิดถึงเรื่องการตกแต่งบ้านให้สวยงามได้แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นสำหรับการสร้าง “พระวิหาร” เขาก็บอกกันว่า “ยังไม่ถึงเวลา”
การที่ ฮักกัยบอกว่า “เอาไม้มาสร้างพระวิหารเราจึงจะพอใจ” คำพูดในตอนนี้อาจสะท้อนให้เราเห็นได้ว่าคนอิสราเอลไม่ได้สนใจแล้วว่า “พระเจ้ารู้สึกอย่างไร” พระเจ้าจะมีพระประสงค์อย่างไร? น้ำพระทัยของพระองค์คืออะไร? เขาแค่ใช้ชีวิตตามความพอใจของตัวเอง ต่างคนต่างสาละวนอยู่กับบ้านของตัวเอง
และ นี่คือคำเผยพระวจนะแรก
……………………………………
ในที่สุด พระเจ้าก็เร้าใจ เศรุบาเบล (ข้าราชการฝ่ายปกครอง ไม่ได้อยู่ทีมปุโรหิต) นำชาวอิสราเอลกลับมา 50,000 คน เมื่อนำไปสักพักประชาชนก็ไม่เอาด้วย จึงนำต่อไม่ได้ งานต่างๆก็หยุดไปเป็นสิบปี พระเจ้าจึงใช้ “ฮักกัย” และ “เศคาริยาห์” มาหนุนน้ำใจ “เศรุบาเบล” ให้เขามีไๆ ฮึดขึ้นมาใหม่ และ นำประชาชนกลับมาสร้างพระวิหาร ในที่สุดเขาก็ได้เริ่มสร้างพระวิหารของพระเจ้า 24 เดืออน 6 ภายในเวลายี่สิบสามวัน
21 เดือน 7
ณ วันที่ยี่สิบเอ็ด เดือนที่เจ็ด พระวจนะของพระเจ้ามาโดยทางฮักกัย
ผู้เผยพระวจนะว่าจงกล่าวแก่เศรุบบาเบลบุตรเชอัลทิเอล
ผู้ว่าราชการเมืองยูดาห์ และ แก่โยชูวาบุตรเยโฮซาดักมหาปุโรหิต
และแก่ประชาชนที่เหลืออยู่เถิด ว่า ใครบ้างที่เหลืออยู่ท่ามกลางพวกท่านนี้ที่เห็นพระนิเวศนี้
ครั้งเมื่อมีสง่าราศีเดิมนั้น บัดนี้ท่านเหล่านั้นเห็นเป็นอย่างไร มองดูแล้วเปรียบกันไม่ได้เลยใช่ไหม
ห่างจากเดือนเก่า ยี่สิบสามวัน ประชาชนคนที่เคยได้ยินเรื่องราวของพระวิหารหลังเก่าในยุคของซาโลมอนที่สวยสุดยอด มื่อเทียบกับวิหารที่กำลังสร้างตอนนี้ ถึงกับร้องไห้! ท้อใจกับภาพที่เห็น ในเอสราก็ระบุเรื่องนี้ว่าคนที่เคยเห็นพระวิหารหลังเก่าถึงกับร้องไห้ เพราะวิหารที่กำลังสร้างนี้เทียบไม่ได้เลย แล้วพระวจนะของพระเจ้าจึงมาในวันที่ 21
โอ เศรุบบาเบลเอ๋ย แม้กระนั้นก็ดี จงกล้าหาญเถิด โอ โยชูวาบุตรเยโฮซาดักมหาปุโรหิตเอ๋ย จงกล้าหาญเถิด ราษฎรทั้งสิ้นเอ๋ย จงกล้าหาญเถิด พระเจ้าตรัสดังนี้แหละ พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า จงทำงานเถิดเพราะเราอยู่กับเจ้า
จงกล้าหาญเถิด เพราะว่าเราอยู่กับเจ้า
บางทีคนทำงานก็ทำงานไป มองเห็นขนาดงานก็ท้อ ดูงบที่เหลือก็ท้อ ดูวัสดุที่เอามาใช้ก็ท้อ วัสดุก่อสร้างที่เหลือก็ท้อ มองเห็นความจำกัดต่างๆก็ยิ่งท้อใจ แถมในหนังสือเอสรายังบอกว่ามีปฏิปักษ์เข้ามาขัดขวาง ถ้ามองเรื่องเหล่านี้เทียบกับชีวิตที่บาบิโลนอันสะดวกสบายแล้ว คงมีบ้างที่อยากเลิก อยากเท สิ่งที่กำลังทำ ฮักกัยจึงเผยพระวจนะ
โอ เศรุบบาเบลเอ๋ย แม้กระนั้นก็ดี จงกล้าหาญเถิด
โอ โยชูวาบุตรเยโฮซาดักมหาปุโรหิตเอ๋ย จงกล้าหาญเถิด
ราษฎรทั้งสิ้นเอ๋ย จงกล้าหาญเถิด
จงกล้าหาญเถิด!
พระเจ้าหนุนใจว่าจงกล้าหาญเถิดถึงสามครั้ง เรื่องนี้ทำให้นึกถึง “โยชูวา” ที่พระเจ้าได้ย้ำเตือนว่า “จงกล้าหาญเถิด” ถึงสามครั้งเช่นกันเพื่อให้เขารู้ว่า โดยตัวเขาเองนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปรบกับคานาอัน แต่สำหรับพระเจ้ามันเป็นไปได้ พระเจ้าจึงหนุนน้ำใจเขาว่า “จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด เราอยู่กับเจ้า” สิ่งที่ฮักกัยกำลังหนุนใจอิสราเอลคือ “จงกล้าหาญเถิด” แม้สายตาเจ้าจะมองว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่จงกล้าหาญเถิด เพราะเราอยู่กับเจ้า เราจะทำให้สำเร็จเป็นจริงได้
อีกสักหน่อยเราจะเขย่าท้องฟ้าและโลก ทะเลและแผ่นดินแห้งอีกครั้งหนึ่ง
เราจะเขย่าประชาชาติทั้งสิ้น เพื่อทรัพย์สมบัติของประชาชาติทั้งสิ้นจะได้เข้ามา
เราจะบรรจุนิเวศนี้ให้เต็มด้วยสง่าราศี
ที่บอกว่าไม่มีงบ ไม่มีเงิน ไม่มีคน เดี๋ยวพระเจ้าจะเขย่าให้เข้ามา สิ่งที่น่าสนใจคือ พระเจ้าจะเขย่าฟ้าสวรรค์ และ แผ่นดินโลก ทะเล และ แผ่นดินแห้ง ถ้าเราจำกันได้นี่คือ ภาษาใน “ปฐมกาล”
ฮักกัย ใช้ภาษาที่ย้อนไปในโยชูวา และ ยังใช้ภาษาย้อนกลับไปยัง ปฐมกาล หรือในตอนนี้พระเจ้ากำลังให้อิสราเอลได้หวนย้อนกลับไปคิดถึงจุดเร่ิมต้นของความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระเจ้าที่จุดเร่ิมต้น ซึ่งจุดเริ่มต้นของอิสราเอลนั้นก็คือ ตัวของพระเจ้าพระองค์เอง ผู้สร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก และตอนนี้พระองค์ผู้นั้นกำลังจะทำให้วิหารนี้สำเร็จ การย้อนใช้ภาษาแบบนี้ก็เพื่อสะกิดใจให้เกิดคำถาม
พระเจ้าของคุณคือใคร?
คิดสิ คิดสิ…
เมื่อตอนแรกที่พวกเขากลับมายังแผ่นดินแห่งพันธสัญญาในอดีต แต่แล้วก็ต้องเผชิญกับภาวะกันดารอาหาร ดูเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลงมือทำอะไรที่มากกว่าการทำให้ตัวเองอยู่รอด ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จึงต้องการเวลาตั้งตัว เรื่องพระเจ้าทิ้งไว้ก่อน แล้วละมือวางจากการสร้างวิหารไป แต่ฮักกัยกำลังชี้กลับไปที่จุดเริ่มต้น เพื่อตั้งคำถามให้คิด ว่าจุดเริ่มต้นจริงๆของพวกเขาคือที่ “พระเจ้า”
ถ้าคนอ่านภาษาฮีบรู จะพบวลี
“ในปฐมกาลพระเจ้าทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก”
ในฮักกัย วลีนี้กลับมาอีกครั้ง
“พระเจ้าจะเขย่าฟ้าสวรรค์ และ แผ่นดินโลก”
นี่เป็นประโยคเดียวกัน ที่เมื่อคนฮีบรูเห็น เขาจะนึกถึงประโยคนี้ในปฐมกาลทันที
ฮักกัยกำลังเผยพระวจนะว่า “ทำงานเถิด อย่ากลัวเลย” สิ่งที่เจ้าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ในสายตาของเจ้า แต่เราเป็นพระเจ้าผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก เราเคยทำอย่างนี้มาแล้ว เดี๋ยวเราจะทำอีก เราจะเขย่าฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก พระองค์ก็จะสัญญาว่าจะช่วยให้การสร้างวิหารนี้สำเร็จ ถึงแม้มันจะไม่ใหญ่โต แต่มันจะมีความสำคัญมาก!
และ นี่คือคำเผยพระวจนะที่สอง
……………………………………
24 เดือนที่ 9
พวกเขาก็ดำเนินการสร้างๆๆ กันไป ราวๆสองเดือนกับสามวัน จนมาถึงวันนี้ แต่ดูเหมือนอยู่ๆ ฮักกัยก็เข้ามาโวยวายอะไรสักอย่าง
พระเจ้าตรัสว่า
ในสายตาของเรา ชนชาตินี้เป็นอย่างนั้นและประชาชาตินี้ก็เป็นอย่างนั้น
ผลงานทุกอย่างที่มือของเขากระทำเป็นอย่างนั้นด้วย
และสิ่งใดๆที่เขาถวายบูชาที่นั่น ก็ เป็นมลทิน
เ ป็ น ม ล ทิ น !!!
อ้าว! ที่สร้างๆกันมาคืออะไร ที่หนุนใจให้สร้างคืออะไร ก็อุตส่าห์ลุกขึ้นมาทำตามแล้วนี่ แต่พอผ่านไปได้แค่สองเดือนกลับกลายเป็นว่า “ใช้ไม่ได้!” กลายเป็น “มลทิน!” WHAT!!?
เรื่องมลทินเหล่านี้ชวนให้เราคิดย้อนกลับไปที่ “เลวีนิติ” เรื่องกฎหมายแห่งความบริสุทธิ์ ซึ่งถ้าเราเคยอ่าน ก็จะเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ส่วนถ้าอยากจะเข้าใจสถานการณ์ในตอนนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปดูกันสักนิดว่า คนที่มาร่วมสร้างกำลังเผชิญกับสถานการณ์อะไร?
ก่อนสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
เมื่อผู้ใดมายังกองข้าวคิดว่า จะตวงได้ยี่สิบถัง ก็มีแต่สิบถัง
เมื่อผู้หนึ่งมาถึงบ่อเก็บน้ำองุ่น เพื่อตักเอาห้าสิบถัง ก็มีแต่ยี่สิบถัง
นี่คือสถานการณ์ตอนที่เกิดขึ้น ในขณะที่สร้างอยู่ เมื่อเขาสร้างๆๆกัน แล้วก็เริ่มมีคนมาพูดกับฮักกัย
“ท่านบอกว่าให้เราสร้างแล้วพระเจ้าจะพอใจ แต่ทำไมเราตวงข้าวน่าจะได้ยี่สิบถัง ทำไมเราได้แค่สิบ”
“ทำไมเราหมักน้ำองุ่นน่าจะได้ห้าสิบ แต่ได้แค่ยี่สิบ มันน่าจะได้สักครึ่งสิ แต่นี่ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ”
“ไหนบอกว่าถ้าทำแล้วพระเจ้าจะอวยพร?”
นี่คือประเด็นในการเผยพระวจนะครั้งที่สาม
ถ้าทำงานของพระเจ้า พระเจ้าก็น่าจะอวยพรสิ!?
เราทำส่วนของเราแล้ว พระเจ้าสัญญาว่าจะอวยพรไม่ใช่หรือ? ทำไมชีวิตเรายังตกอยู่ในความยากลำบาก? แถมยังหายไปด้วยซ้ำ และไม่ได้หายแค่ครึ่ง แต่หายไปมากกว่าครึ่ง! นี่คือสิ่งที่ประชาชนเริ่มตั้งคำถาม แล้วฮักกัยจึงเริ่มตอบประชาชน เป็นคำอุปมา ถ้ามีของสกปรกไปวางกับของสะอาดไปรวมกัน เหมือน ผ้าขาวไปวางกับโคลน
ผ้าขาว จะทำให้ โคลน สะอาด? หรือ โคลน จะทำให้ ผ้าขาว เปื้อน?
คำตอบก็น่าจะเป็นอย่างหลัง ซึ่งฮักกัยก็ใช้สิ่งนี้เป็นคำอุปมาเปรียบเทียบ
“สิ่งที่คุณสร้างก็ดี แต่ว่าถ้าเกิดตัวเราเป็นมลทิน สิ่งที่เราทำก็เป็นมลทินไปด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การสร้าง แต่ยังรวมไปถึงท่าทีในการสร้างด้วย”
ฮักกัยกำลังลงลึกในพระวจนะก้อนที่สาม
จากแค่เรียกร้องว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญในชีวิต “แสวงหาพระเจ้าก่อนสิ” สร้างพระวิหารก่อนสิ แล้วพระเจ้าจะอวยพร ซึ่งเขาก็ทำตาม แสวงหา สร้างพระวิหาร แต่เมื่อทำไปแล้ว ผลกลับไม่เป็นอย่างที่คิด ฮักกัยบอกว่า ปัญหามันลึกมากกว่าสิ่งที่คุณทำ มันไม่ได้อยู่แค่ที่คุณสร้างอะไร แต่อยู่ที่คุณสร้างอย่างไร
คุณกำลังสร้างพระวิหารด้วยท่าทีอย่างไร?
คิดสิคิดสิ…
พระเจ้าใช้เหตุการณ์ของความแห้งแล้งมาเตือนพวกคุณไม่ใช่หรือ?
พระเจ้าตรัสว่า เราได้โจมตีเจ้าและผลงานของเจ้าด้วยให้ข้าวม้าน และขึ้นรา และด้วยลูกเห็บ แต่เจ้าทั้งหลายไม่มาหาเรา
คือพูดง่ายๆว่าเหตุการณ์ที่เขาตวงข้าว ย่ำองุ่นที่ได้ต่ำกว่าที่ควรได้ เพราะพระเจ้ากำลังย้ำว่า เราเตือนเจ้า เราเรียกเจ้าให้กลับมา แต่เจ้าไม่ได้กลับมาหาเรา
คิดสิคิดสิ…
ในขณะที่เขากำลังสร้างวิหาร เขากำลังสร้างด้วยท่าทีที่ไม่ถูกต้อง ฮักกัยกำลังนำประชาชน ไม่ใช่แค่วิหาร แต่เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าพระวิหาร?
เรื่องนี้อาจเริ่มต้นด้วยการที่พระเจ้าเร้าให้สร้างพระวิหาร แต่พอมาถึงตรงนี้กลายเป็นว่า “วิหาร” ไม่ใช่ประเด็นหลักของเรื่อง มันไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญอย่างที่คิด แม้วิหารมันจะเล็กกว่าเดิม จะไม่สวยเท่าเดิมก็ไม่เป็นไร พระเจ้ายังคงใช้ฮักกัยให้ย้ำว่า “ทำงานเถิด” นี่ยิ่งยืนยันว่า ที่จริงแล้วดูเหมือนว่าพระเจ้าจะไม่ได้ซีเรียสกับผลงานที่จะออกมาเสียด้วยซ้ำ แต่เป็นประชาชนอีกเสียต่างหากที่กลับร้องไห้แล้วบอกว่ามันเล็ก มันไม่สง่า มันไม่มีราศีเท่าของเดิม แล้วพระเจ้าก็ตอบสนอง ยิ่งหนุนใจว่า “ทำงานไปเถิด ไม่ต้องกังวล เพราะเราอยู่กับเจ้า”
“วิหาร” กลับไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
เรื่องนี้เราต้องกลับไปสังเกตตั้งแต่ต้นกันอีกครั้ง เรื่องของพระวิหาร
…………………….
พ ร ะ วิ ห า ร
…………………….
ตอนที่อิสราเอลเจริญรุ่งเรือง ดาวิด จะสร้างพระวิหาร ซึ่งไปสำเร็จในยุคของซาโลมอน ณ เวลานั้นพระเจ้าเคยบอกว่า เจ้าจะมาสร้างอะไรให้เรา โลกทั้งใบยังไม่พอรองพระบาทเลย เมื่อในอดีต ในสมัยถิ่นทุรกันดาร พระเจ้าก็ไปๆมาๆกับชาวอิราเอลใน เต้นท์(พลับพลา) ไม่ใช่หรือ?
พอ ดาวิด ซาโลมอน สร้างวิหารสำเร็จ วิหารหลังนี้ก็ใหญ่โตมโหฬาร สวยงามมีสง่าราศี จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของอิสราเอล จนกระทั่งเขาลืมไปว่ามีสิ่งที่ สำคัญ กว่าวิหาร เมื่อเขาลืม เขาก็ละทิ้งพระเจ้า
เมื่อเขาใช้ชีวิตที่ผิดเพี้ยนไปเพราะละทิ้งพระเจ้า พระองค์จึงทรงส่งผู้เผยพระวจนะมาเตือน ให้กลับใจ ไม่อย่างนั้นพระองค์จะต้องทำสิ่งที่พระองค์สัญญาไว้คือ ถ้าเขาไม่เชื่อฟัง ก็จะถูกศัตรูโจมตี ถูกจับไปเป็นเชลย และ พระวิหารจะถูกทำลาย และ ในที่สุดก็เป็นเช่นนั้น เขาถูกจับไปเป็นเชลย และ พระวิหารถูกทำลายลง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเขาลืม สิ่งที่ “สำคัญ” ไป
…
เ ข า ลื ม
“ พ ร ะ เ จ้ า ”
ลืม
“ พั น ธ สั ญ ญ า ”
เขาหักพันธสัญญาที่ได้ทำไว้ จึงนำไปสู่การถูกทำลายลงของพระวิหาร
ฮักกัยกำลังนำคนสร้างวิหารขึ้นใหม่ แต่หัวใจของประชาชนเหล่านั้นไม่ได้ร่วมก่อสร้างด้วย เขาสร้างสิ่งก่อสร้าง สร้างตัวอาคาร แต่หัวใจของเขาไม่ได้กลับมาที่ “พันธสัญญา”
เขาอาจมองว่า ถ้ามีพระเจ้าก็สร้างพระวิหารเป็นศูนย์กลางสิ ก็เท่านั้น แต่ไม่ได้เกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์” คือกล่าวได้ว่าตั้งแต่วิหารเมื่อหลังซาโลมอนเป็นต้นมา วิหารกลายเป็นอัตลักษณ์ เป็น “ไอคอนอิสราเอล” คือ มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง เป็นความภาคภูมิใจทางวัตถุ แต่ ชีวิตของเขา ความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า “ไม่มี” พระเจ้าอยู่ตรงกลางของหัวใจ เขาลืมไปว่า พระเจ้าเรียกเขาให้เป็นประชากรของพระองค์
…………………………….
ในฮักกัย เราเจอคำศัพท์เกี่ยวกับพันธสัญญาหลายครั้ง
“พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเขาทั้งหลาย”
พระเจ้าของเขาทั้งหลายก็คือคำใน “พันธสัญญา” รวมถึงการพูดถึงสิ่งที่ “บริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์” ก็เป็นเรื่องในพันธสัญญาด้วย
ในการเผยพระวจนะที่สามนี้ ฮักกัย กำลังพาชาวอิสราเอลกลับมาสู่จุดเริ่มต้น Back to basic นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระเจ้าในพันธสัญญากับพระองค์ ไม่ใช่เรื่องวิหาร
“ที่คุณสร้างวิหารนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว แต่มีเรื่องที่สำคัญกว่า คือ การดำเนินชีวิตในการทรงสถิตของพระเจ้า นั่นแหละสำคัญกว่าตัววิหารที่คุณสร้างเสียอีก ถ้าคุณไม่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า สิ่งที่คุณสร้างก็ไม่มีประโยชน์อะไร”
นั่นคือประเด็นที่ฮักกัยกำลังจะบอก สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ให้เขากลับไปที่จุดเริ่มต้น ตั้งแต่ที่พระเจ้าสร้างโลก ที่พระเจ้าเลือกอับราฮัม ที่พระเจ้าเลือกอิสราเอล เพื่อจะได้ทำพันธสัญญา เพื่ออิสราเอลจะได้ดำเนินชีวิตตามพันธสัญญา เพื่อเขาจะได้ไปเป็นแสงสว่าง เป็นพระพรกับบรรดาประชาชาติ แต่อิสราเอลก็ได้ฉีกพันธสัญญา เขาจึงต้องไปเป็นเชลย ซึ่งตอนนี้เวลานี้เขาได้กลับมา แทนที่เขาจะกลับไปสู่จุดเร่ิมต้น คือเรื่องของความสัมพันธ์ แต่พวกเขากำลังสร้างวิหาร โดยปราศจากเรื่องของ “ความสัมพันธ์”
…………………………….
เมื่อเขาเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว ในที่สุดเขาก็กลับใจ พระเจ้าจึงบอกว่า ตั้งแต่วันนี้ เราจะอวยพรเจ้า ซึ่งก่อนหน้านี้พระเจ้าใช้การกันดารขัดสนมาเป็นเครื่องเตือนใจที่จะเรียกเขากลับมา ว่าเขาต้องมีท่าทีที่ถูกต้อง และ เมื่อเขากลับมาพระเจ้าจึงอวยพรพวกเขา
นี่คือพระวจนะในก้อนที่สาม
……………………………………………..
ทีนี้มาถึงส่วนสุดท้าย ในข้อยี่สิบถึงข้อยี่สิบสาม
เรากำลังจะคว่ำพระที่นั่งของบรรดาราช อาณาจักร เรากำลังจะทำลายเรี่ยวแรงของบรรดาราชอาณาจักร แห่งประชาชาติอยู่แล้ว และคว่ำรถรบกับผู้ขับขี่ม้าและผู้ขับขี่จะต้องล้มลง คือทุกคนจะต้องล้มลงด้วยดาบแห่งเพื่อนของเขา
พระเจ้าจอมโยธาตรัสว่า ในวันนั้นเราจะรับเจ้า โอ เศรุบบาเบลบุตรเชอัลทิเอล ผู้รับใช้ของเราเอ๋ย พระเจ้าตรัสว่า เราจะกระทำเจ้าให้เป็นดังแหวนตรา เพราะเราได้เลือกสรรเจ้าแล้ว พระเจ้าจอมโยธาตรัสดังนี้แหละ
พระวจนะในก้อนที่สี่นี้ มาถึงวันเดียวกับที่พระวจนะของพระเจ้ามาถึง เศรุบาเบล ผ่านทาง ฮักกัย พระเจ้ากำลังจะรื้อพระที่นั่งของราชอาณาจักร นี่หมายถึง พระเจ้ากำลังจะรื้อฟื้นการครอบครองของพระเจ้าทางราชวงค์ของดาวิดผ่านทางเศรุบาเบล
ชื่อของ เศรุบบาเบล แปลว่า เชื้อสายแห่งบาบิโลน เพราะเขาเคยเป็นเชลยที่บาบิโลน แต่จริงๆแล้ว เศรุบาเบลเป็นเชื้อสายของดาวิด และ เขาจะเป็นคนสำคัญของพระเจ้าในการรื้อฟื้นราชวงค์ของดาวิดขึ้นมาใหม่
ดังนั้นพระวจนะก้อนสุดท้ายนี้ กำลังมาเกี่ยวข้องกับเศรุบาเบล คือการครอบครองไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับ การที่พระเจ้าจะตั้งเชื้อสายของดาวิดขึ้นใหม่
…………………………..
คำสำคัญคำหนึ่งในพระธรรม ฮักกัย เป็นคำที่ต้องใช้ภาษาเดิมนิดนึง คือคำว่า Set (จัดวาง ในภาษาอังกฤษ) มันมาจากคำว่า “ซีม” ที่แปลว่า “วาง” ในภาษาฮีบรู คำนี้ปรากฏหลายครั้งในเล่มนี้ ซึ่งการวางคำนี้เอาไว้ค่อยๆ สร้างอารมณ์ร่วมมาสู่ใจความสำคัญในตอนท้ายของเล่มนี้ ยกตัวอย่างเช่นง
จงพิจารณาใจของเจ้า ซึ่งในภาษาเดิมจะอ่านได้ว่าง
“จง Set ใจของเจ้า และ ถ้า Set ใจของเจ้า เราจะ Set พระวิหาร ขึ้นมาใหม่ อ่านไปเรื่อยๆ บิ้วท์กันไปเรื่อยๆ มันก็จะมาจบที่ “พระเจ้าจะ Set เศรุบาเบล ให้เป็นแหวนตรา”
พระคัมภีร์เล่มนี้วางคำกริยา Set อันนี้ เอาไว้ทั้งเล่ม
ถ้าประชาชนอิสราเอล Set ใจของเขาให้ถูก พระองค์ก็จะ Set วิหารขึ้นใหม่ และเมื่อนั้นพระเจ้าจะ Set เศรุบาเบลให้เป็น แหวนตรา
“แหวนตรา” นี้หมายถึงอะไร
ในเยเรมีย์ ตอนที่อิสราเอลกำลังจะถูกต้อนไปเป็นเชลย มีคำว่า พระเจ้าจะถอดแหวนออก เป็นสัญลักษณ์ว่า อิสราเอลจะไม่มีกษัตริย์ในช่วงเป็นเชลย แต่ตอนนี้การ “เซ็ท” โดยใช้คำว่า “แหวนตรา” แบบเดียวกับในเยเรมีย์ การที่พระเจ้ากำลังจะตั้ง เศรุบาเบล ให้เป็นแหวนตรา จึงหมายถึง กำลังจะมีกษัตริย์องค์ใหม่จากราชวงค์ดาวิดผ่าน เศรุบาเบล
แต่ปัญหาก็คือ ตอนนั้นอยู่ในสมัยกษัตริย์ ดาริอัส แห่งเปอร์เซีย เศรุบาเบล ไม่มีทางเป็นกษัตริย์ได้ เป็นได้ก็แค่เจ้าเมือง หรือ ไม่ก็ผู้ปกครอง(Governer)
แล้วพระวจนะของพระเจ้าตอนนี้จะเป็นจริงได้อย่างไร
ถ้าเราสังเกตก่อนหน้านี้ จะมีการใช้คำว่าตั้งแต่วันนี้… ตั้งแต่วันนี้… แต่ตอนที่บอกกับเศรุบาเบล ใช้คำว่า ในวันนั้น… เรื่องนี้ผู้เผยพระวจนะฮักกัยได้มองไปไกลแล้วว่า เศรุบาเบล จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของพระเจ้า แต่อาจไม่ใช่ตอนนี้
ประเด็นของเศรุบาเบลอาจชวนครุ่นคิด แม้กับต่อตัวของเศรุบาเบลเองที่อาจใช้ชีวิตแล้วก็จบลงไปโดยไม่เห็นเรื่องที่บอกกับเขาว่า จะให้เขาเป็นแหวนตรา อยู่ตรงไหน
อันที่จริงแล้ว เรื่องราวหลังจากนั้น หากเราได้เห็นเชื้อสายของพระเยซู เราจะเห็นชื่อ เศรุบาเบล อยู่ด้วย เป็นเชื้อสายตั้งแต่อับราฮัม ดาวิด ผ่านมาถึงโยเซฟ
ครั้นต้องถูกกวาดไปยังกรุงบาบิโลนแล้ว
เยโคนิยาห์ก็มีบุตรชื่อเชอัลทิเอล
เชอัลทิเอลมีบุตรชื่อเศรุบบาเบลเศรุบบาเบล มีบุตรชื่ออาบียุด ...
…ยาโคบมีบุตรชื่อโยเซฟ สามีของนางมารีย์
มัทธิว 1:12
ในแง่นี้พระเยซูเป็นเชื้อสายของดาวิดผ่านทางเศรุบาเบล
และเรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างคือใน ลูกา ก็มีการไล่เรียงลำดับพงษ์พันธ์ ผ่านทาง มารีย์
โยดาเป็นบุตรโยอานันๆ เป็นบุตรเรซาๆ เป็นบุตรเศรุบบาเบลๆ
ลูกา 3:27
ก็ปรากฏว่า มีเศรุบาเบลด้วย เพราะฉะนั้นในแง่นี้ เศรุบาเบล เป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างเชื้อสายของดาวิดมาสู่ เศรุบบาเบล มาถึงพระเยซูคริสต์ ซึ่งผ่าน เศรุบาเบลเป็นตรงกลางส่งต่อมาผ่านทั้งทาง โยเซฟ และ มารีย์ เรื่องนี้จึงเป็นจริงในแง่ที่ว่า เศรุบาเบล เป็นแหวนตราของพระเจ้า ผ่านทางกษัตริย์เชื้อสายของดาวิดผ่านมายังพระเยซูนั่นเอง
………………………………
เรื่องราวทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ ฮักกัยกำลังเน้นย้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องวิหาร แต่กำลังนำผู้ฟังกลับไปสู่จุดเริ่มต้น เห็นได้จากการใช้ภาษาที่พาไปทั้งปฐมกาล อพยพ เลวีนิติ จนถึงโยชูวา นี่เป็นการเรียกสติ ให้คิดถึงจุดเริ่มต้น กลับไปสู่เรื่องที่พื้นฐานที่สุด
ค ว า ม สั ม พั น ธ์
กั บ พ ร ะ เ จ้ า
เราต้องมองข้ามวัตถุ มองข้ามธรรมเนียม ความเคยชิน เพื่อไปสู่ ความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้า
วิหาร อาจเป็นความภาคภูมิใจของอิสราเอล แต่เมื่ออิสราเอลล้มเหลวในความสัมพันธ์กับพระเจ้า พระเจ้าก็พังพระวิหารทิ้ง และ เมื่อเขาสร้างขึ้นใหม่ ถึงจะสร้างเล็กก็ไม่เป็นไร เพราะประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่พระวิหาร ประเด็อยู่ที่การที่เขาดำเนินชีวิตในการทรงสถิตของพระเจ้า นั่นคือเรื่องที่สำคัญทีสุด
ในฮักกัยบอกว่า วิหารที่เขาสร้างอาจดูไม่มีสง่าราศีในตอนนี้ แต่ภายหลังพระเจ้าสัญญาไว้แล้วว่ามันจะยิ่งใหญ่กว่าในสมัยก่อนเสียอีก คือ ยิ่งใหญ่กว่าในสมัยของซาโลมอนอีก ซึ่งมันก็เป็นจริงในสมัยของพระเยซู
ในสมัยกษัตริย์เฮโรด เฮโรดใช้เวลาอย่างยาวนาน ลงไปกับการบูรณะพระวิหาร จนวิหารนั้นย่ิงใหญ่กว่าในสมัยของซาโลมอนจริงๆ แม้แต่สาวกของพระเยซูก็ยังภาคภูมิใจ บอกกับพระเยซูว่า “พระเยซู! ดูสิวิหารนี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน” แต่แล้วพระเยซูก็ตอบว่า
“หินสองก้อนมันจะซ้อนกันก็หามิได้”
“ถ้าพังวิหารนี้เราจะสร้างขึ้นใหม่ในสามวัน”
เมื่อพระเยซูคุยเรื่องนี้กับคนยิว ก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจ ลือกันไปทั่ว เพราะพระองค์กำลังบอกว่า จะมีวันหนึ่งที่พระองค์จะพังพระวิหาร!
พระเยซู กำลังนำไปสู่สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดด้วยเช่นกัน ก็คือ ความสัมพันธ์กับพระเจ้า
วิหารในยุครุ่งเรือง วิหารในยุคเชลย จนถึงวิหารในยุคพระคัมภีร์ใหม่ วิหารที่เขาภาคภูมิใจล้วนเป็นสัญลักษณ์เชิงวัตถุ แต่ส่ิงที่สำคัญที่สุดคือ ความสัมพันธ์กับพระเจ้า ในหายไป
ในทุกความหมายของวิหาร อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่อยู่ใจกลางพระวิหารนั้น? นั่นก็คือ การทรงสถิตของพระเจ้า
ส่ิงที่พระเยซูกำลังบอก “ถ้าพังวิหารนี้เราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” คือการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและการฟื้นพระชนม์ในวันที่สามของพระองค์ กำลังเปิดโลกให้กับเราไปสู่พระประสงค์ดั้งเดิมของพระเจ้า นำเราไปสู่สิ่งที่เป็นพื้นที่สุด คือ ความสัมพันธ์ในการทรงสถิตของพระเจ้า
คือการที่ไม่ต้องมีวิหาร(ตัวอาคาร)อีกแล้ว เพราะพระองค์จะเป็น “พระวิหาร”
ในเอกสาร หรือ งานเขียนช่วงหลัง จะเน้นประเด็นที่นำกลับสู่แนวคิดในการเป็นประชากรของพระเจ้า ไม่ใช่เรื่องพระวิหาร ไม่ใช่เรื่องบัญญัติที่เป็นตัวอักษร แต่จะเน้นไปที่การทรงสถิตของพระเจ้า หัวใจที่ปราถนาที่จะเชื่อฟัง พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงหัวใจของเราให้เป็นประชากรของพระองค์จริงๆ
นี่คือส่ิงที่ ฮักกัย กำลังท้าทายเรา
อะไรสำคัญที่สุด?
คิดสิ คิดสิ…
พระคัมภีร์ก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าอิสราเอลถูกพิพากษาเพราะเขาหักพันธสัญญา แต่ ฮักกัย กำลังชี้ประเด็นที่สำคัญกว่า คือ ความสัมพันธ์กับพระเจ้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เมื่อความสัมพันธ์กับพระเจ้าไม่ดี เขาจึงไม่ได้ปฏิบัติอย่างที่ควรเป็นตามพันธสัญญา ซึ่งนั่นจึงนำสู่การพิพากษา
สิ่งที่ฮักกัยกำลังบอกกับเชลยที่กลับมา คือ อย่าเดินซ้ำอีก อย่าละทิ้งพันธสัญญา อย่าลืมความสัมพันธ์กับพระเจ้า ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง
คิดสิ คิดสิ…
………………………………..
ฮักกัย ชื่อของเขาแปลว่า เทศกาล
เทศกาลในอดีตที่ถูกตั้งขึ้นล้วนถูกตั้งขึ้นเพื่อให้ระลึกถึง “พันธสัญญา” และ พันธสัญญา คือ เรื่องราวระหว่างพระเจ้า ประชากรของพระองค์ และ สิ่งทรงสร้างทั้งสิ้น
ฮักกัย จึงพาเรามา “จบ” ที่ “จุดเริ่มต้น” ซึ่งสำคัญที่สุด ที่
.
.
.
ค ว า ม สั ม พั น ธ์
กั บ พ ร ะ เ จ้ า
.
.
.
.
.
Related Posts
- Author:
- เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
- Author:
- อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS) หรือ พี่ใช้ รุ่นพี่ผู้รับใช้ผู้มีไฟ และมีเป้าหมายที่จะสืบสาน และ ส่งต่อความเข้าใจในพระคัมภีร์ให้กับพี่น้องคริสเตียน และ ผู้รับใช้รุ่นใหม่ๆต่อไป