Joel
ปลายปี 2019 มีข่าวตั๊กแตนฝูงมหึมาระบาด และทำลายพืขและอาหารในแอฟริกา ก่อนจะมายังตะวันออกกลาง อินเดีย และ ช่วงที่กำลังอัดพอดแคสตอนนี้ กลางปี 2020 มันลามมาถึงพม่าแล้ว และ มันอาจมาถึง ประเทศไทย!
“มาก็มาเหอะ มาถึงไทยจะจับกินหมด” ผมได้ยินคนท้องถิ่นบางคนให้สัมภาษณ์ในข่าว ซึ่งในความคิดแว่บหนึ่งผมก็เห็นด้วย จนไปหาข้อมูลในเวปไซด์ของ เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค ระบุว่า ฝูงตั๊กแตนที่ไปรุมทึ้งพืชผักก่อนหน้านี้นั้น ประเมินว่ามีอยู่ราวๆ 70,000 ล้านตัว! ถ้าให้คนไทยมากิน คงต้องช่วยกันกินคนละพันตัวทีเดียว
อ้างอิง >> ข่าวตั๊กแตน
เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของพืชจะถูกทำลายโดยฝูงตั้กแตนที่มากันอย่างมืดฟ้ามัวดิน คิดภาพง่ายๆว่ามันแห่กันมาแบบทัวร์ลง และ ใช้เวลาไม่กี่วินาทีทำลายทุกอย่างก่อนจะบินหายไป เหลือทิ้งไว้แต่ตอ
ภาพเหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงความน่ากลัวของ “ตั๊กแตน” ในพระคัมภีร์โยเอลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และ อย่าพึ่งทำหน้างง ถ้าใครยังไม่เคยอ่านพระธรรมโยเอล เพราะพระคัมภีร์เล่มนี้มี “ตั๊กแตน” โผล่มาตั้งแต่บทแรกแว่บๆยันบทสุดท้าย นั่นก็เพราะว่าพระเจ้ากำลังจะใช้ “ตั๊กแตน” ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยพระวจนะ
…………..
ทำไมต้องเป็นตั๊กแตน? ตั้กแตนมาเป็นส่วนหนึ่งของการเผยพระวจนะได้ยังไง?
…………..
เราค่อยๆมาคลี่พระคัมภีร์ตอนนี้ดูกัน
เริ่มจากชื่อพระคัมภีร์เล่มนี้เลย คือ โยเอล
“โย” มาจาก “ยาเวห์” ส่วน “เอล” แปลว่า “พระเจ้า”
“โยแอล” จึงมีความหมายว่า “พระยาเวห์เป็นพระเจ้า” ในทางกลับกัน ชื่อของพระคัมภีร์ตอนนี้ก็กำลังเตือนเราด้วยว่า มนุษย์ไม่ใช่พระเจ้านะ พระยาเวห์ต่างหากที่เป็นพระเจ้า
ในโลกโบราณตั๊กแตนเป็นศัตรูที่น่ากลัวมาก เพราะมันทำลายพืชผลลงอย่างราบคาบ ขนาดสมัยนี้ยังแทบทำอะไร ยิ่งไม่ต้องคิดถึงยุคที่เกษตรกรรมยังไม่มียาฆ่าแมลง และ ความยากลำบากกว่าจะเพาะปลูกขึ้นมาได้ แล้วถูกทำลายลงโดยแมลงที่รวมกันจนเป็นเงาดำทะมึนเข้าเล่นงาน คงได้แต่มองตาปริบๆ
แค่หายนะที่เกิดขึ้นจาก “ตั๊กแตน” เล็กๆเหล่านี้ ก็ทำให้พบตัวเองแล้วว่า เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย
ในพระคัมภีร์เดิม เราจะเห็นว่า พระเจ้ามักจะใช้สิ่งเล็กๆในการเตือน อย่างเช่นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นที่อียิปต์ อย่าง ลิ้น เหลือบ และ ตั๊กแตน ซึ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นสิ่งเล็กน้อย ที่พระเจ้ามักใช้ในการเตือนความเย่อหยิ่งของมนุษย์ เพื่อให้ระลึกได้ว่า แม้จะเป็แค่แมลงตัวเล็กๆ แต่มนุษย์กลับไม่อาจทำอะไรได้
…………..
แล้วพระเจ้าส่ง หายนะจากตั๊กแตน มาเตือนเรื่องอะไร ใน “โยเอล”
…………..
เรามักเห็นการกล่าวโทษและตักเตือนซึ่งจากความบาปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอล แต่ตอนนี้ดูเหมือนไม่ชัดเท่าไหร่ จนไปถึงข้อที่ 5
“พวกขี้เมาเอ๋ย ลุกขึ้นร้องไห้เถิด นักดื่มเหล้าองุ่นทุกคนเอ๋ย จงคร่ำครวญเถิด…”
พวกขี้เมา? นักดื่ม? หรือ อิสราเอล กำลังจะถูกพิพากษา เพราะพวกเขา เมา!
เรื่องนี้ทำให้เราต้องหันมามองบริบทของอิสราเอลในตอนนี้กันสักนิด ในช่วงนี้ อิสราเอลกำลัง เต็มไปด้วยความบันเทิง เพราะมีความมั่นคงทางทหาร เศรษฐกิจก็ดี ทำให้เขาลุ่มหลง เมามาย กับสิ่งที่มองเห็น โดยไม่แยแสกับเรื่องที่มองไม่เห็น ตอนนี้คนอิสราเอลกำลังมัวเมาฟุ้งเฟ้อกับสิ่งที่อยู่ในโลก โดยลืมไปว่า “มีพระเจ้า”
และนี่คือเหตุผลที่พระเจ้าส่งตั๊กแตนมาเตือนว่า “ตื่นได้แล้วนะ คุณไม่ใช่พระเจ้า ที่จะมาควบคุมชีวิตของตัวเองนะ มันมีอะไรที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ตัวคุณควบคุมได้อยู่” “อย่าลืมว่ามีพระเจ้า”
……………….
“
สิ่งใดที่ตั๊กแตนวัยเดินกินเหลือ
ตั๊กแตนวัยบินก็กินเสีย
สิ่งใดที่ตั๊กแตนวัยบินกินเหลือ
ตั๊กแตนวัยกระโดดก็กินเสีย
สิ่งใดที่ตั๊กแตนวัยกระโดดกินเหลือ
ตั๊กแตนวัยคลานก็กินเสีย
“
ในบทที่ 1 ข้อ 4 นี้เราจะเห็นว่ามีฝูงตั๊กแตนที่มาเป็นรุ่นๆ มาเป็นระลอก คงกะจะกินไม่ให้เหลือระดับเหี้ยน 100% ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำเตือนของพระเจ้าด้วย ว่ามันจะมาเป็น “ระลอก” ซึ่งหมายความว่า ตั๊กแตนเป็นแค่ ระลอง “แรก” เท่านั้น ตั๊กแตนเป็นคำเตือน “แรก” เพื่อให้กลับใจ กลับมาหาพระเจ้า และ ดำเนินชีวิตในแบบที่ควรจะเป็นตามพันธสัญญา ก่อน จะมี “เวฟ ที่ สอง”
ถ้าเราดูความบาปของอิสราเอลในตอนนี้ เราจะเห็นว่าเขามัวเมากับเครื่องดื่ม อาหาร ซึ่งนำไปสู่บาป พระเจ้าใช้ให้ตั๊กแตนเป็นเครื่องมือในการเล่นงาน พืชพรรณธัญญาหาร ให้ถูกทำลายหมดไป หรือ กำลังดึงต้นเหตุอันเป็นสิ่งที่ทำชีวิตให้ลุ่มหลงออกไป
“
ธัญญบูชาและเครื่องดื่มบูชาได้ถูกตัดขาดเสีย
จากพระนิเวศของพระเจ้า
ปุโรหิตก็โศกเศร้า
คือผู้ปรนนิบัติของพระเจ้า
“
สิ่งเหล่านี้พระเจ้าถูกดึงออกเพื่อให้รู้ว่า “นี่เป็นคำเตือน” เพราะมีบัญญัติให้ถวาย “ธัญญบูชา” เพื่อทุกครั้งที่เขาเอามาถวาย จะทำให้เขาระลึกได้ว่า พืชพรรณ และ อาหาร เหล่านี้ได้มาจากการที่ “พระเจ้า” ได้อวยพรให้แก่เขา
เรื่องที่เกิดขึ้นในตอนนี้ยังบอกกับเราอีกด้วยว่า พวกเขากำลังมัวเมากับสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ หรือ เขากำลังมัวเมากับพระพรของพระเจ้า มากกว่าจะระลึกได้ว่า สิ่งเหล่านี้มาจาก “พระเจ้า”
ถ้าเขาเข้าใจว่า ตั๊กแตน ที่ดึงเอาต้นเหตุแห่งความลุ่มหลงออกเพื่อไม่ให้เขาทำบาป เป็นคำเตือน เพื่อที่เขาจะกลับใจ และ ระลึกขึ้นได้ว่า “พระเจ้า” เป็นผู้ประทานสิ่งเหล่านี้ให้กับเขา มากกว่ามองที่สิ่ง “ของ” ที่เขาได้รับ ตั๊กแตนกำลังเป็นข้อความสั้นๆที่เตือนเขาว่า
“ อ ย่ า ลื ม พ ร ะ เ จ้ า ”
….
ก่อนจะไปต่อ ขอวกกลับมาที่คำว่า “เมามาย” ซึ่งในบริบทตอนนี้ไม่ได้ความว่ากินเหล้าแล้วผิด จนถึงขั้นต้องพิพากษา
เพราะในพระคัมภีร์ก็ไม่ได้สั่งห้ามให้กินเหล้าซะทีเดียว ในสมัยก่อนไม่ได้มีนำ้สะอาดให้ดื่ม จึงมีการทำน้ำองุ่นหมัก เพื่อกินแทนน้ำ ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ได้เข้มข้น ซ่านซ่า สปริงเคิลในปากอะไรแบบนั้น แต่เป็นนำ้องุ่นหมักที่เจือจางมากเพื่อใช้ดื่มแทนน้ำ แต่ก็นั้นแหละ รสชาติมันดี คนสมัยก่อนก็ทำให้มันเข้มข้นขึ้น เพื่อใช้ในการเฉลิมฉลอง ซึ่งนั้นก็เป็นดีกรีระดับกินกันจนเมาได้
แต่ในพระคัมภีร์ตอนนี้กำลังเน้นว่า อย่ามัวเมากับสิ่งที่พระเจ้าให้ จนนำไปสู่ความบาป ซึ่งเรื่องนี้มีตัวอย่าง เช่น เรื่องของ “โนอาห์” ในตอนที่น้ำลด และ ลงจากเรือ สิ่งแรกที่เขาเริ่มทำเมื่อตั้งรกรากใหม่ก็คือ “ทำสวนองุ่น” และบรรทัดต่อมาก็นำไปสู่ ความบาป และ คำแช่งสาปทีเดียว ซึ่งในตอนนี้โนอาห์ก็ใช้พระพรของพระเจ้า “มาก” เกินจนผิดทาง และ นำไปสู่ความบาป นั่นเอง
ดังนั้น พระคัมภีร์โยเอลบทที่หนึ่ง กำลังเตือนว่า พระพรที่พระเจ้าให้ ถ้าเราใช้ให้ถูกจะเป็นพร แต่หากเราใช้อย่างไม่ถูกต้อง ดื่มด่ำกับพระพรนั้นจนลืม “พระเจ้า” ที่เป็นผู้ให้ หายนะที่เป็นคำเตือนก็จะมาถึง ทีละระลอก
บาปของเขาที่เมามาย ในตอนนี้ จึงไม่เท่ากับการกินดื่มแล้วบาป แต่เป็นการที่มัวเมากับพระพรที่ได้จน ลืม “พระเจ้า”
ถึงอย่างนั้น คำเตือนนี้ ก็ดูเหมือนจะไม่ทำให้เขา “เก็ท” นะ จึงนำมาสู่ เซ็กเคิลเวฟ หรือ ระลอกที่สอง
…..
รอบนี้ หายนะมาเป็น “กองทัพ”
ตั้กแตน มันมาเป็นระลอกๆในบทแรก ค่อยๆคืบคลานเข้ามา แต่ในบทที่สองนี้ ก็มีกองทัพที่มาเป็นระลอกด้วย แต่น่ากลัวกว่ามาก
ประชากรจำนวนมากและมีกำลังยิ่ง
ปกคลุมอยู่บนภูเขาดำทะมื่นไปหมด
ตั้งแต่สมัยโบราณก็ไม่เคยมีเหมือนอย่างนี้
และตั้งแต่นี้ไปก็จะไม่มีอีก…
ร่างของมันทั้งหลายเหมือนร่างของพวกม้า
มันวิ่งเหมือนกับม้าสงคราม…
…มันเผ่นอยู่บนยอดเขา
เหมือนเสียงแตกของเปลวไฟที่ไหม้ตอข้าว
เหมือนกองทัพอันเข้มแข็ง…
มันทั้งหลายวิ่งเหมือนทหาร
และ ปีนกำแพงเหมือนนักรบ
ต่างก็เดินไปตามทางของตัว…
…มันตะลุยฝ่าอาวุธไม่มีอะไรยับยั้ง
….มันกระโดดเข้าในเมือง
มันวิ่งอยู่บนกำแพงเมือง
มันปีนเข้าไปในบ้านเรือน
มันเข้าไปทางหน้าต่างเหมือนกับโจร…
ภาพการเคลื่อนพลที่ถูกบรรยายแบบไม่รู้กี่ระลอกต่อกี่ระลอก ที่ไม่ใช่แค่คลานเข้ามา แต่พุ่งเข้ามาอย่างรวดเร็วตั้งแต่ภูเขาด้านนอก จนปีนหน้าต่างเข้ามาถึงปลายเตียงนอน
ถ้า “อิสราเอล” ไม่ฟัง “เวฟแรก” จากตั๊กแตน ก็จะต้องเจอกับ “เวฟที่สอง” ของศัตรูที่จะมากวาดเอาทุกย่างไปจากเขา ไม่เหลืออะไรเลย
ถึงอย่างนั้น ในแต่ละช่วงท้ายของทั้งสองระลอก โยเอลก็แนบ “การเรียกร้อง” และ “ให้โอกาส” ในการกลับใจ ถ้าเขา “เก็ท” และ “กลับใจ” พระเจ้าก็จะยังให้โอกาส และตอบสนองเขาด้วยพระลักษณะของความรักที่มั่นคง
และถ้ายังไม่ “เข้าใจ” อีก ก็ยังจะมี “เวฟที่สาม” ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเทคำพิพากษาลงบนอิสราเอลแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่จะมาถึง “คนทั้งโลก” ด้วย ซึ่งนี่เป็นคำเตือนมาถึงคนในปัจจุบันทุกวันนี้ ว่าถ้าคุณ “เก็ท” เรื่องนี้ และ “กลับใจ” หันกลับจากชีวิตที่เมามาย แล้วกลับมาหาพระเจ้าผู้เที่ยงแท้ พระเจ้าก็จะอยู่ด้วยตามความรักมั่นคงตามพระสัญญา เพื่อทำให้เราระลึกได้ว่า “โยเอล”
“ พ ร ะ ย า เ ว ห์ เ ป็ น พ ร ะ เ จ้ า ”
……………………..
พระคัมภีร์โยเอล มีเทคนิคในการนำเสนอที่น่าสนใจ ถ้าเราสังเกต การวางโครงเรื่อง จะมี ส่วน A และ B วางคู่กัน เช่น
A หายนะจากกองทัพตั๊กแตน B เรียกร้องให้กลับใจ
A กองทัพมหึมา B เรียกร้องให้กลับใจ
A คำเตือน B เรียกร้องให้กลับใจ
การวางเรื่องด้วยโครงสร้างแบบคู่ขนานนี้จะปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ตอนนี้ทั้งเล่ม
ส่วนที่น่าสนใจคือ หลังบทที่สองเป็นต้นไป เราจะเห็นว่ามีเนื้อหาที่เป็นเหมือนบานพับที่เชื่อมเรื่องทั้งคู่เข้าด้วยกันอยู่ เรื่องในส่วนแรกคือสิ่งที่คำเตือน(หายนะที่เกิดขึ้น)พร้อมพระเจ้าเรียกร้องให้กลับใจ(A) และ ส่วนที่สองคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเขากลับใจ(B) บทที่สองซึ่งเป็นตรงกลางของเรื่อง และ เป็นเหมือน ถ้อยคำที่เป็นใจความหลักของพระธรรมโยเอลทั้งเล่ม ก็คือ การตอบสนองของพระเจ้าต่อการกลับใจ เริ่มตั้งแต่ข้อ 18-19
แล้วพระเจ้าทรงหวงแหนแผ่นดินของพระองค์
และทรงสงสารประชากรของพระองค์
พระเจ้าทรงตอบประชากรของพระองค์ว่า
“ดูเถิด เราจะส่ง ข้าว เหล้าองุ่น
และน้ำมันให้แก่เจ้า
เจ้าทั้งหลายจะได้อิ่มหนำสำราญ
เราจะไม่กระทำให้เจ้า
เป็นที่เขาประณามกันท่ามกลางประชาชาติต่อไปอีก”
ในส่วนท้ายของเล่มเอง ก็ยังใช้เทคนิคแบบเป็นชุดๆ A B เหมือนกัน
พระเจ้าจะทำลายตั๊กแตน (ผู้รุกราน)(A) และ พระเจ้ารื้อฟื้นให้สมบูรณ์(B)
พระเจ้าจะพิพากษา ประชาชาติ(A) และ พระเจ้าจะรื้อฟื้นสิ่งทรงสร้าง(B)
ทำให้เราเห็นโครงสร้าง แบบเป็นส่วนๆของที่โยเอลต้องการจะนำเสนอ ส่วนที่เป็นเหมือนหัวใจของพระคัมภีร์ทั้งเล่มจึงถูกวางไว้ที่บานพับที่สำคัญตรงนี้ เป็นเหมือนเนื้อที่อยู่ตรงกลางของแฮมเบอร์เกอร์ นั้นก็คือในข้อที่ 27
เจ้าจะรู้ว่าเราอยู่ท่ามกลางอิสราเอล
และ ‘เรานี่แหละคือพระเยโฮวาห์เป็นพระเจ้าของเจ้า’ (TH1971) ไม่มีอื่นใดอีก
ประชากรของเราจะไม่ต้องขายหน้าอีก
ตรงนี้แหละ ที่เป็นใจความสำคัญที่สุด และ ยังเป็นเหมือน “ชื่อ” ของพระคัมภีร์โยเอลเอง “พระยาเวห์เป็นพระเจ้า” จะอยู่ท่ามกลางเขา เมื่อเขากลับใจ แล้วพระองค์จะอยู่ท่ามกลางเขายังไง?
ต่อมาภายหลังจะเป็นอย่างนี้
คือเราจะเทพระวิญญาณของเรามาเหนือมนุษย์ทั้งปวง
บุตรชายบุตรหญิงของเจ้าทั้งหลายจะเผยพระวจนะ
คนชราของเจ้าจะฝัน
และคนหนุ่มของเจ้าจะเห็นนิมิต
ในกาลครั้งนั้น เราจะเทพระวิญญาณของเรา
มาเหนือกระทั่งคนใช้ชายหญิง
พระเจ้าจะตอบสนองต่อการกลับใจ โดยการอยู่ท่ามกลางประชาชนของพระองค์ ด้วยการเทพระวิญญาณลงมายังทุกๆคน ทุกคนจะสัมผัสถึงการทรงสถิตอยู่ด้วยอย่างลึกซึ้ง
หัวใจของ โยเอล คือ ถ้าเขา “เก็ท” ในคำเตือนเหล่านี้แหละกลับใจ พระเจ้าก็จะสถิตอยู่กับเขา แต่ถ้าไม่ “เก็ท” ก็จะเจอกับหายนะ ระลอก สอง สาม สี่…..
คนโบราณ มีการออกแบบวิธีการเล่าเรื่อง มีการออกแบบโครงสร้างของงานเขียน ไม่ใช่แค่คิดแล้วก็เขียน เหมือนงานตัดแปะ เทคนิคที่ใส่ลงไปเหล่านี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งขึ้น ซึ่งถ้าเราสังเกตและพิจารณาเห็นโครงสร้าง ก็จะช่วยให้เราเข้าใจ เจตนา ข้อความ เรื่อง ที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อสารมากขึ้นด้วย
……
ในช่วงสุดท้าย การพิพากษาในส่วนหลังของเรื่องนี้ก็ ไม่ได้จบแค่ที่อิสราเอล สังเกตว่า
A พระเจ้าจะพิพากษาอิสราเอล B การรื้อฟื้นอิสราเอล
A พระเจ้าจะพิพากษาประชาชาติ B การรื้อฟื้นสิ่งทรงสร้างทั้งหมด
ภาพบรรยาย ในการรื้อฟื้นของพระเจ้า เป็นเหมือนกับภาพสวนเอเดน จุดเร่ิมต้นของการทรงสร้าง เรื่องของพระคัมภีร์โยเอล จึงไม่ได้เตือนแค่อิสราเอล แต่เป็น “ข้อความ” มาถึงคนในปัจจุบันด้วยว่า ถ้าเข้าใจคำตักเตือนและกลับใจ พระเจ้าก็จะสถิตอยู่ด้วย แต่ถ้าไม่เขาก็ต้องเผชิญกับหายนะที่จะเข้ามาเป็น ระลอกๆ เช่นเดียวกับที่ อิสราเอลเจอ
……
แต่เราก็พบว่า อิสราเอล ยังไม่ “เก็ท” ในเรื่องนี้
และ รับผลที่ตามมา สะมาเรียแตก เยรูซาเล็มแตก และ ประชาชนถูกกวาดไปเป็นเชลย ไม่เหลืออะไรอีก ตามคำเตือนที่ว่าไว้
…….
ดังนั้น ในสมัยพระคัมภีร์ใหม่ พระธรรมโยเอล จึงกลายมาเป็นพระคัมภีร์เล่มสำคัญที่ผู้คนรอคอย เพราะพูดถึงการรื้อฟื้น เมื่อเขากลับใจ พระเจ้าจะกลับมาสถิตอยู่ท่ามกลางเขา พระองค์จะทำตามพระสัญญาที่ให้ไว้ใน โยเอล
เมื่อพระเยซูฟื้นจากความตาย และ เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พวกสาวกก็มารวมตัวกันอธิษฐานที่เยรูซาเล็ม แล้วตอนนั้นก็เกิดเหตุการณ์ขึ้น มีลมพัด มีเสียงดังก้อง พระคัมภีร์ก็บันทึกว่า แล้วพระวิญญาณก็มาประทับอยู่เหนือผู้เชื่อ
คนที่เห็นก็บอกว่า “พวกเขากำลังเมาเหล้าองุ่น”
แต่ เปโตร ก็บอกว่าไม่ใช่นะ เขาไม่ได้เมาเหล้าองุ่น แต่ “เขาประกอบด้วยพระวิญญาณ” ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นใน โยเอล ในพระธรรมโยเอล ความบาปที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาเมามาย ปล่อยให้เหล้าองุ่นครอบคุมความคิดและการกระทำของเขา แต่ ถ้าเขา “เก็ท” กับคำเตือนในเรื่องนี้ และตอบสนอง “พระเจ้าจะมาสถิตท่ามกลางเขา” ผ่านทาง “พระวิญญาณ”
เปโตร เห็นภาพนี้เป็นจริง ในวันเพนเทคอส ที่พระเจ้าเสด็จมาอยู่ท่ามกลางเขาผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์
นอกจากนี้ในพระธรรมโยเอลตอนท้ายว่า เมื่อพระเจ้าเสด็จมาในตอนท้าย จะไม่มีการแบ่งแยก ชาย หญิง ยิว คนต่างชาติ จนมาถึงข้อสรุปที่ว่า ใครก็ตามที่ร้องออกพระนามของพระเจ้าก็จะรอดได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหล่าผู้เชื่อในวันเพนเทคอส จนถึงที่พระธรรมโรมนำมาย้ำว่า ชนชาติไหนก็แล้วแต่ที่กลับมาหาพระเจ้าผู้เที่ยงแท้ผ่านทางพระเยซูคริสต์ก็จะรอดได้ ซึ่งที่คือการทำให้สำเร็จตามพระสัญญาที่พระองค์ทำไว้ตั้งแต่ในพระธรรมโยเอลนั่นเอง
และอย่าเมาเหล้าองุ่นซึ่งจะทำให้เสียคน แต่จงประกอบด้วยพระวิญญาณ
เอเฟซัส 5:18
คำเตือนที่เป็นประเด็นนี้จึงถูกวางไว้ให้เปรียบเทียบกันตั้งแต่สมัยผู้เผยพระวจนะ ถ้าเราเมา เหล้าก็ควบคุมเรา แต่ถ้าเราประกอบด้วยพระวิญญาณ พระวิญญาณก็ควบคุมเรา ถ้าใคร “เก็ท” ในเรื่องนี้ก็จะได้รับการประกอบด้วยพระวิญญาณ นี่คือคำเตือนของ โยเอล ซึ่งนำไปสู่เรื่อง “ความรอด”
………….
พระเจ้า พระองค์ชอบใช้สิ่งเล็กๆมาเตือนเรา
………….
ในสมัย โยเอล พระเจ้าใช้ตั๊กแตน มากิน ผลผลิต ส่ิงที่ทำให้เขามัวเมา ให้หายไป เป็นการสะกิดเพื่อให้ระลึกว่า ชีวิตเราไม่อาจวางไว้บนสิ่งที่ดูเหมือนจะมั่นคงและน่าวางใจแบบนี้ได้ จนกระทั่ง เหตุการณ์เล็กๆ ทำลายสิ่งเหล่านี้ไปหมด
วันนี้ สิ่งที่เราเคยไว้วางใจ เปลี่ยนไปแทบทุกอย่างเมื่อเจอสถานการณ์ “โควิท” ทุกอย่างเปลี่ยนไปไม่ใช่แค่บางประเทศ แต่กำลังเกิดขึ้นระดับโลก สิ่งที่เราเคยดำเนินชีวิต เคยไว้วางใจ ต้องรื้อ ต้องเปลี่ยนกันใหม่ให้เป็นชีวิตแบบ “นิว นอร์มอล” หรือ เรื่องนี้กำลังสะกิดเรา ให้รู้ตัวว่ามีหลายอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ เราไม่ใช่พระเจ้าที่ควบคุม เรากำลังยึดติดกับสิ่งที่เรามองเห็นมากเกินไปหรือเปล่า? แม้บางอย่างก็เป็นพระพรของพระเจ้าด้วยซ้ำ อย่ามัวเมากับเรื่องเหล่านี้ จนลืมว่ามี “พระเจ้า” ถ้าเรา “เก็ท” พระเจ้าก็จะสถิตอยู่กับเรา เหมือนกับชื่อพระธรรมในตอนนี้ โยเอล
พ ร ะ ย า เ ว ห์ เ ป็ น พ ร ะ เ จ้ า
………………
.
.
.
.
Related Posts
- Author:
- เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
- Author:
- อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS) หรือ พี่ใช้ รุ่นพี่ผู้รับใช้ผู้มีไฟ และมีเป้าหมายที่จะสืบสาน และ ส่งต่อความเข้าใจในพระคัมภีร์ให้กับพี่น้องคริสเตียน และ ผู้รับใช้รุ่นใหม่ๆต่อไป