[พระคัมภีร์ไม่ไหลย้อนกลับ]The12 episode 0 ผู้เผยพระวจนะพูดเรื่องอะไร


รู้จักกันคร่าวๆ
ก่อนอ่านผู้เผยพระวจนะ

เนื้อหาของหนังสือผู้เผยพระวจนะมีเกือบจะเท่ากับพระคัมภีร์ใหม่ เป็นเรื่องที่ยืนยันว่า หนังสือชุดนี้มีเนื้อหาที่อัดแน่นและสำคัญ แต่หลายครั้งอ่านแล้วไม่เข้าใจ อ่านง่ายๆผ่านๆก็ดูเหมือนจะคล้ายกันไปหมด แต่ก็รู้ในใจว่าคงไม่ได้เขียนซ้ำๆวนไปวนมา ถ้าอย่างนั้นพระคัมภีร์ชุดนี้กำลังจะพูดเรื่องอะไร?

 

เมื่อพระคัมภีร์เดิมพาผู้อ่านเดินมาจบตรงที่พระสัญญา ถึงการจะรื้อฟื้นอิสราเอลขึ้นมาใหม่ การรื้อฟื้นสิ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ พอ ยอห์น เริ่มประกาศที่แม่น้ำจอร์แดน คนจึงแห่กันมา เพราะผู้คนต่างรอคอย “พระเมสสิยาห์” ตามที่ผู้เผยพระวจนะเคยบอกไว้ ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจหนังสือผู้เผยพระวจนะ เราก็จะเข้าใจความหมายของการเสด็จมาของพระเยซูอีกด้วย

………………………………

I.

การจะเข้าใจเรื่องผู้เผยพระวจนะ ต้องเข้าใจที่มาที่ไปของผู้เผยพระวจนะก่อน

จะเรียกได้ว่าตั้งแต่สมัยโมเสสพาออกมาจากอียิปต์ พระเจ้าตั้งโมเสสขึ้นมาเป็นผู้นำ ต่อมาก็เป็นโยชูวา พอหลังจากนั้นอิสราเอลก็แยกกันอยู่ตามเผ่าของตัวเอง การจะรวมกันเป็นปึกแผ่นก็ยาก ในหนังสือผู้วินิจฉัยก็บอกว่า พวกเขาก็ต่างคนต่างทำตามที่ตนเห็นชอบ ซึ่งก่อนหน้านั้นพระเจ้าก็เคยบอกไว้ก่อนแล้วว่าพระองค์จะตั้งผู้นำแบบโมเสสขึ้นมาอีก  ท่ามกลางประชากรของพระองค์ เพื่อนำประชาชนให้มาหาพระเจ้า ดังนั้น ตัวโมเสสเองก็เหมือนต้นแบบของผู้เผยพระวจนะเช่นกัน

 

ต่อมาในสมัยหลังผู้วินิจฉัย อิสราเอลก็เรียกร้องอยากมีกษัตริย์เป็นของตัวเอง พระเจ้าก็อนุญาติให้มี แต่ก็เตือนไว้ว่า กษัตริย์ที่ดี ก็จะนำประชากรเชื่อวางใจในพระเจ้า ส่วนกษัตริย์ที่ไม่ดี ก็จะเป็นเหมือนผู้เลี้ยงที่แย่ที่ไม่ดูแลจิตวิญญาณของประชาชน และจะนำให้ประชาชนออกจากทางของพระเจ้า

 

ในหนังสือพงษ์กษัตริย์ พงศาวดาร เลยมีชื่อกษัตริย์ ชื่อนั้นชื่อนี้ ทำดีในสายพระเนตรของพระเจ้า บางคนก็ทำไม่ดี เหล่านี้คือเรื่องราวของกษัตริย์อิสราเอล

 

ในส่วนกษัตริย์ที่ไม่ดี พระเจ้าก็ใช้ให้ผู้เผยพระวจนะมาเตือน เรียกร้องให้คนกลับมาหาพระเจ้า และ ที่มาเตือนก็เพราะ พวกเขากำลังผิด พันธสัญญา

…….

ซึ่ง “พันธสัญญา” คือ เรื่องสำคัญใน ผู้เผยพระวจนะ

…….

พันธสัญญา คือ การอุทิศตนตามพันธะ ของสัญญาระหว่าง อิสราเอล กับ พระเจ้า ซึ่งได้ลงนามร่วมกันไปแล้วว่า “พระเจ้าจะเป็นพระเจ้าของอิสราเอล” และ “อิสราเอลจะเป็นประชากรของพระเจ้า” โดยมีเงื่อนไขของสัญญาคือการดำเนินชีวิตในการทรงสถิตของพระเจ้า(ธรรมบัญญัติ) เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างของผู้ที่ดำเนินในชีวิตในทางของพระเจ้าเพื่อนำการรื้อฟื้นไปสู่ผู้คนในโลก

 

การดำเนินชีวิตที่เป็นเงื่อนไขผ่านธรรมบัญญัตินี้ ในแง่หนึ่ง ก็เป็นพระคุณของพระเจ้าด้วย ที่ทำให้เขาได้ดำเนินชีวิตในการทรงสถิตของพระเจ้าได้ และตัวพระบัญญัติเองก็เป็นภาพสะท้อนถึงพระลักษณะของพระเจ้าที่อยู่ท่ามกลางเขา ในทางกลับกัน หาก อิสราเอล ทำผิดต่อสัญญา ก็นำมาสู่การลงโทษด้วยเช่นกัน

 

ดังนั้นการที่ผู้เผยพระวจนะมาเตือนอิสราเอลในเรื่องความบาป จึงมุ่งเน้นไปที่เรื่องการผิด ”พันธสัญญา” มากกว่า เป็นการเตือนในเรื่องความผิดทาง จริยธรรม หรือ ศีลธรรม การพิพากษาที่จะมาถึงจึงเกิดขึ้นเพราะ อิสราเอลกำลังทำผิดต่อ “พันธสัญญา” ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจว่าการลงโทษที่กำลังจะเกิดเป็นเพราะ อิสราเอลกำลังละเมิด และ ก็จะมีผลตามมา

 

การที่พระเจ้าให้ผู้เผยพระวจนะมาเตือน จึงเป็น “พระคุณของพระเจ้า” ด้วยเช่นกัน

 

ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ผู้เผยพระวจนะเห็น ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องที่เป็นสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ก็เห็นบางอย่างรางๆ ที่ยังมาไม่ถึง แต่รู้ว่ามีอยู่

 

เหมือนการมองยอดเขาที่ซ้อนๆกัน สลับซ้อนกันจนลับสายตาไป ดูเผินๆก็เหมือนกับว่าแต่ละยอดที่ซ้อนกันนั้นคงไม่ได้อยู่ไกลกันมาก แต่ถ้าเราขับรถอ้อมภูเขาไปด้านข้าง เห็นแนวสันเขา เราอาจพบว่า จากยอดเขานึงไปสู่อีกลูกอาจยาวกว่าที่เราเห็นจากอีกด้านมากนัก

 

ผู้เผยพระวจนะก็เช่นกัน บางคนก็เห็นเรื่องระยะใกล้ที่สำเร็จในยุคของเขา บางคนก็เห็นอนาคตก่อนการถูกทำลาย บางคนก็เห็นไปถึงเรื่องหลังการไปเป็นเชลย และ บางคนก็อาจเห็นไปไกลกว่านั้น แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงภาพรางๆ

 

การเสด็จมาของพระเยซูช่วยทำให้ภาพนี้ชัดเจน ที่ทำให้ภาพรางๆของผู้เผยพระวจนะมาครบจบที่พระเยซู และนั่นคือความสนุกในการได้อ่านหนังสือผู้เผยพระวจนะ

 

…….

II

เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้เผยพระวจนะ

เรื่องที่ 1 การเผยพระวจนะ ไม่ได้เหมือนคนทรงเจ้า

ที่พูดๆสั่นๆ แล้วก็กลับมาสภาพปกติ ไร้สติชั่วคราว จำไม่ได้ว่าพูดอะไรออกไป การเผยพระวจนะไม่ใช่การเข้าญาณ ไม่รู้ตัว แต่เขาล้วนเข้าใจ และสิ่งที่เขาพูดก็เป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล  เต็มไปด้วยสิทธิอำนาจ ไม่ใช่ พูดไปโดยไม่รู้ตัว

 

เรื่องที่ 2 ผู้เผยพระวจนะ พูดแต่เรื่อง อนาคต หรือ พูดแต่เรื่องพระเยซู

ถึงจะเกริ่นว่า เรื่องของผู้เผยพระวจนะทำให้เข้าใจเรื่องของพระเยซูมากขึ้น แต่ผู้เผยพระวจนะ มีการเผยหลายเรื่อง อย่างการเตือนเรื่อง การปล่อยกู้นอกระบบ ที่พระบัญญัติบอกว่า อย่าไปยึดเสื้อคนจน ถ้าเขาไม่มีเงินพอจะจ่ายหนี้ สิ่งนี้พอผู้เผยพระวจนะเห็นก็ตักเตือน เพราะผิดธรรมบัญญัติ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องในอนาคต แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้น เวลานั้น

 

บางทีก็มีคนเรียกหนังสือหมวดนี้ว่าหนังสือ “หมวดพยากรณ์” ซึ่งก็ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนเข้าไปอีก เพราะสิ่งที่เผยพระวจนะ มีทั้ง การตักเตือนเรื่องที่เกิดขึ้นและปรับปรุงการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน มีการเรียกร้องให้กลับไปยึดถือพระบัญญัติในอดีต และ เปิดเผยพระสัญญาของพระเจ้าในอนาคต

 

ถ้าอ้างอิงจากหนังสือ “วิธีการอ่านพระคัมภีร์ให้คุ้มค่า” ของ กอร์ดอน ฟรี และ ดักกลาส สจ็วต เรื่องที่เกี่ยวกับ “พระเมสสิยาห์” มีเพียงสองเปอร์เซ็น ของเนื้อหา มี ห้าเปอร์เซ็นที่เกี่ยวกับยุคพันธสัญญาใหม่ และ เรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นแม้กับคนในยุคของเราอยู่อีกราวๆ หนึ่งเปอร์เซ็น

 

และดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ว่า เนื้อหาหลักของหนังสือผู้เผยพระวจนะ ก็คือการเตือนว่าอิสราเอลกำลังดำเนินชีวิตที่ผิดต่อ พันธสัญญา และการเรียกร้องให้กลับใจ

 

เรื่องที่ 3 ผู้เผยพระวจนะไม่ได้มีแค่ 12+4 เล่ม

ผู้เผยพระวจนะไม่ได้มีแค่ผู้เผยพระวจนะใหญ่ สี่คน กับ ผู้เผยพระวจนะ(เล่มเล็ก) สิบสองเล่ม

 

ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ มีการแบ่งผู้เผยพระวจนะไว้สองกลุ่ม ผู้เผยพระวจนะที่มีการบันทึก ที่เรากำลังจะได้ไปฟังกันเป็นเล่มๆ(ผู้เผยพระวจนะน้อย) และ ผู้เผยพระวจนะที่ไม่มีการบันทึก ที่เรื่องราวไปซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์ เช่น โมเสส อาโรน มีเรียม เดโบราห์ ซามูเอล กาด นาธัน ฯลฯ

 

ผู้เผยพระวจนะที่ไม่ได้มีการบันทึกในกลุ่มนี้ก็มีคนที่เด่นอยู่มากมาย อย่าง เอลียาห์ ซึ่งมีบทบาทในพระคัมภีร์เดิมอย่างมาก แต่ก็ไม่มีพระคัมภีร์ เอลียาห์ เช่นเดียวกับ เอลีชา ที่ทำมหกิจ คล้ายกับที่พระเยซูทำ แต่ไม่มีพระธรรม เอลีชา เหล่านี้คือผู้เผยพระวจนะที่ไม่มีการบันทึกในขณะที่อีกกลุ่มคือผู้เผยพระวจนะที่มีการบันทึก แยกมาเป็นเล่มๆที่นำมารวมกันเป็นเล่ม ดังที่เรากำลังจะได้ฟังกันในซีรี่ย์นี้

……………

III

ลักษณะเด่นของผู้เผยพระวจนะ

1. เขามีการอุทิศตัวในความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับพระเจ้า

บางคนถึงกล้ากับตัดพ้อพระเจ้า อย่างเอลียาห์ ที่บอกว่า “เหลือผมเพียงคนเดียว” ซึ่งพระเจ้าก็ตอบว่าไม่ใช่นะ ยังมีอีกหลายคน แต่การตัดพ้อเพราะเหนื่อยก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เอลียาห์ มีความสัมพันธ์ และ เอาจริงเอาจังกับพระเจ้าเป็นอย่างมาก อย่าง เอเศเคียลที่พระเจ้าให้นอนตะแคงเพื่อเผยพระวจนะ นานเป็นปี แม้จะไม่มีใครฟัง แต่เขาก็เชื่อฟังเขาเลือกที่จะอุทิศตัวต่อการทรงเรียกเพราะความสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่เขามีต่อพระเจ้า

2. ชัดเจนต่อการทรงเรียก

ผู้เผยพระวจนะแต่ละคนก็จะมีประสบการณ์ต่อการทรงเรียก อย่าง โมเสสที่เจอต้นไม้ติดไฟ หรือ เอลีชาที่กำลังไถนาอยู่ เมื่อพวกเขาได้รับการทรงเรียกก็ตอบสนองและอุทิศตัวต่อการทรงเรียก โมเสสก็ถอดรองเท้าเพื่อเข้าไปหาพระเจ้า หรือ อย่างเอลีชาก็เผาคันไถ

หรือผู้เผยพระวจนะอย่าง อาโมส ที่มีอาชีพเดิมเป็นคนเลี้ยงสัตว์ เมื่อเข้าไปเผยพระวจนะในเมืองหลวง ก็โดนผู้นำศาสนาสบประมาทไล่ “กลับไปเผยพระวจนะที่บ้านนอกไป๊” นี่ถูกเหยียดกันสุดๆ แต่ อาโมสก็ตอบว่า “ข้าไม่ใช่ผู้เผยพระวจนะ พ่อข้าก็ไม่ใช่ แต่พระยาเวห์ทรงใช้ข้ามา ดังนั้นจงฟัง….”

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้เผยพระวจนะได้รับการทรงเรียกชัดเจน และ เขาอุทิศชีวิตให้กับการทรงเรียกของพระเจ้าเป็นอย่างมาก

3. แยกผิดออกจากถูก

ผู้เผยพระวจนะ มองโลกตามพระวจนะของพระเจ้า พูดเป็นขาวกับดำ ไม่มีพื้นที่ให้เรื่องเทาๆสำหรับผู้เผยพระวจนะ แน่นอนว่าน่าจะเหมือนขวานผ่าซากทีเดียว

ถึงอย่างนั้น แม้ผู้เผยพระวจนะ จะมองโลกเป็นขาวดำ ก็เป็นในเรื่องของประเด็น แต่ด้วยความเป็นคนของพระเจ้า ถึงเขาจะกล่าวโทษความบาป เขาก็ยังรักคนบาป  ผู้เผยพระวจนะไม่ได้ปฏิเสธคนบาป เช่นเดียวกันกับพระเจ้าที่พระองค์เกลียดความบาป แต่ รักคนบาป หากเราได้อ่านต่อไปในหนังสือผู้เผยพระวจนะ ก็ยังจะพบถึงการให้โอกาสคนที่ทำผิดให้กลับใจ ให้โอกาศเตือนก่อนจะถึงการลงโทษ และ ยังให้ความหวังแม้จะถูกลงโทษไปแล้วก็ตาม

4. กล่าวโดยสิทธิอำนาจ

ในโลกโบราณ เวลาพูด ผู้พูดจะอ้างผู้ที่มีชื่อเสียงมากกว่า ผู้เผยพระวจนะ ก็กล่าวโดยใช้สิทธิอำนาจของพระเจ้า “พระยาเวห์ตรัสว่า” จะไม่มีใครบอกว่า ผมคิดว่านะ….. เพราะการเผยพระวจนะไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการเผยคำจากผู้ที่มีสิทธิอำนาจมากกว่า ในทีนี้ก็หมายถึง คำของ “พระเจ้า” นั่นเอง

วิธีการอ้างอิงนี้ ยิ่งในพระคัมภีร์ใหม่จะยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อผู้นำศาสนากล่าวถาม พระเยซู ก็จะพูดว่า รับบีนั้น อ้างว่า รับบีคนนั้นเคยพูดว่า ที่น่าสังเกตคือ ตัวของพระเยซูเอง เมื่อพระองค์พูดกลับพูดว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า” ซึ่งนี้เป็นภาพเดียวกับ ผู้เผยพระวจนะ แต่พระเยซูกำลังอ้างสิทธิอำนาจโดยตัวพระองค์เอง ซึ่งสิ่งที่คน ยิว สมัยนั้นได้ยิน ก็มีความหมายเท่ากับ “พระเจ้าตรัสดังนี้” ดังนั้น นี้ก็เป็นเหตุให้ชาวยิวหลายคนในตอนนั้นไม่พอใจพระเยซู

……………….

มาถึงตรงนี้ เราก็น่าจะพอเข้าใจภาพคร่าวๆของหนังสือผู้เผยพระวจนะมากขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อแนะนำอีกเล็กน้อยในการอ่านหนังสือผู้เผยพระวจนะ เช่น

ควรรู้ประวัติศาสตร์ในยุคนั้น

อาณาจักรรอบๆที่มีผลต่ออิสราเอล หรือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือ พงศาวดาร กับ พงษ์กษัตริย์ รวมถึงเรื่องราวการขึ้นลงของมหาอำนาจ อัสซีเรีย บาบิโลน เปอร์เซีย กรีก และ โรมัน ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของอิสราเอล

บริบท

หนังสือผู้เผยพระวจนะหลายเล่มมักขึ้นต้นด้วยบทบรรยาย ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจเรื่องบริบทมากขึ้น บริบทช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงเนื้อหาของผู้เผยพระวจนะเล่มนั้นๆ เช่น ข้อพระคัมภีร์ที่ว่า “เราจะใช้ผู้ใดไป? และผู้ใดจะไปแทนพวกเรา” เราก็มักจะเลือกหยิบมาแค่ว่า “ขอทรงใช้ข้าพระองค์เถิด” แต่ลืมไปดูบทบรรยาย ในตอนต้น เรื่องกษัตริย์อุซียาห์สิ้นพระชนม์ ใครคือกษัตริย์อุซียาห์? เกิดอะไรขึ้น?

เทคนิค

ผู้เผยพระวจนะตั้งใจใช้เทคนิคในการนำเสนอ ซึ่งเป็นความตั้งใจให้ผู้อ่านได้เข้าใจในเรื่องนั้นจริงๆ บางครั้งก็ใช้ภาพเปรียบเทียบ เช่น แม่โคแห่งบาชาน ก็ไม่ได้หมายถึงวัวจริงๆ แต่หมายถึง ผู้สูงศักดิ์ ที่ใช้ชีวิตหรูหราไฮโซ หรือ คำว่า เล่นชู้ ก็เป็นภาพเปรียบเทียบการไปมีพระอื่นของอิสราเอล

และ สำหรับตอนนี้ นี่คือ การเตรียมตัว ก่อนที่จะเราจะได้พบกับซีรี่ย์ The12  #น้อยแต่มากในรายการพระคัมภีร์ไม่ไหลย้อนกลับ

……………………………………….

แต่ละเล่มไม่ยาว อ่านก่อนมาฟังจะยิ่งสนุกนะ

…………………………….
ติดตาม Podcast รายการ “พระคัมภีร์ไม่ไหลย้อนกลับ” ทุกวันศุกร์ 18.00
…………………………….
รายการนี้ทำร่วมกับ อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการ พระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS)
…………………………….
.

Previous Next

  • Author:
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
  • Author:
  • อ.ธนิต โลเกศกระวี ผู้อำนวยการพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ (CTS) หรือ พี่ใช้ รุ่นพี่ผู้รับใช้ผู้มีไฟ และมีเป้าหมายที่จะสืบสาน และ ส่งต่อความเข้าใจในพระคัมภีร์ให้กับพี่น้องคริสเตียน และ ผู้รับใช้รุ่นใหม่ๆต่อไป