มีงานสำรวจออกมาแล้วว่า เป้าหมายปีใหม่ที่เราตั้งๆ กันเนี่ย … ส่วนใหญ่ล้มเหลวตั้งแต่ 6 อาทิตย์แรกกันเลยทีเดียว ที่ว่าแผนล้ม แผนพัง ไม่สำเร็จ จริงๆ แล้ว มันไม่สำเร็จจริงไหม แล้วอะไรเป็นสาเหตุให้มันไม่สำเร็จ วันนี้ชูใจชวนคุยในเรื่องของแผนปีใหม่ ว่าอะไรบ้างนะ ที่มีส่วนทำลายล้างแผนอันบรรเจิดของเรา???
1. เป้าหมายของเราไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตัวเรา [นาทีที่ 2.00]
ค่านิยมคือ สิ่งที่เราให้คุณค่าและยึดถือเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจในการดำเนินชีวิต แบบแผนพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตของเรามักจะสอดคล้องกับค่านิยมของเรา เช่น ถ้าเรามีค่านิยมเรื่องการกินที่ต่างกัน การเลือกกินมื้อเย็นว่าจะเป็นชาบูหรือหมูกระทะ ก็จะแตกต่างกัน (กินเพื่อความสุข หรือกินเพื่อสุขภาพ)
คนเรามีค่านิยมหลายอย่างและแต่ละอย่างเราให้ความสำคัญไม่เท่ากันต่างกันไปในแต่ละคน ตัวอย่างเช่น
- ความสุขของตัวเอง
- ความสุขของครอบครัว
- หน้าที่การงาน
- ความร่ำรวย
- ความสะดวกสบาย
- การเป็นที่ยอมรับ
- สุขภาพที่ดี
- ความรักและมิตรภาพ
- ความมั่นคง
- ความสนุก
- ความกตัญญู
- ความดี ความงาม ความจรรโลงใจ
- หรือบางคนต้องการ ความยิ่งใหญ่ อำนาจ บารมี
- สำหรับคริสเตียนก็อาจจะมีค่านิยม อื่นๆ เพิ่มเข้ามา เช่น การรับใช้ให้เกิดผล ชีวิตฝ่ายจิตวิญญาฯ ความสัมพันธ์กับพระเจ้า เป็นต้น
ซึ่งแต่ละคนให้ความสำคัญกับแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ยิ่งเราให้ความสำคัญกับค่านิยมไหนมาก เราจะก็มี พลังใจ (will power) ในการทำเป้าหมายที่สอดคล้องกับค่านิยมที่เราให้ความสำคัญนั้น มากกกกกกกกกกกกกกก
เป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับคุณค่าที่เรายึดถือ “อาจเป็นเป้าหมาย ที่ไม่มีความหมาย”
ถ้าเป้าหมายที่เราตั้งไว้สอดคล้องกับค่านิยมของตัวเรา การทำให้สำเร็จก็จะไม่ใช่เรื่องยากมากมายนัก แต่ใน ความเป็นจริงเป้าหมายบางอย่างก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำ หรืออย่างน้อยเราก็ยังอยากทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ แม้ว่าจะมันขัดแย้งกับค่านิยมหลัก หรือ ไม่สอดคล้องกับค่านิยมที่เราเองให้ความสำคัญ แต่ในเมื่อมันไม่สอดคล้องกับค่านิยมที่เราให้ความสำคัญเราก็อาจมีพลังใจในการทำให้สำเร็จน้อยหน่อย แต่ถ้าเรายังคงตัดสินใจที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ เราสามารถปรับจเปลี่ยน Mind set ของเราเพื่อให้เรามีพลังใจมากขึ้น
2. เป้าหมายของเราไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของเรา แต่เป็นอิทธิพลจากคนอื่น+สังคม บอกเรา [นาทีที่ 7.30]
เรียกได้ว่าเป็น “เป้าหมายของเราที่ไม่ใช่ของเรา”
แม้ความต้องการหรือเป้าหมายบางอย่างที่เราตั้งขึ้นมันก็ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงอีกด้วย
นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาเราเรียกว่า เป็น “มายาคติ” (Mythology) ก็คือ ความคิดที่ครอบงำเราโดยเราไม่รู้ตัว โดยเราคุ้นชินกับความคิดนั้นไปแล้ว จนกระทั่งเราคิดไปเองว่าสิ่งที่เราคิดหรือเราเชื่อนั้นเป็นความจริงตามธรรมชาติ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเรื่องของชวิตที่ดี และประสบความสำเร็จ ในแบบสูตรสำเร็จ ตามแบบฉบับ ความฝันอเมริกัน (American Dream )
ผู้คนจำนวนมากต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “สิ่งที่เป็นความฝันทำนองนี้” พอไม่ได้มาก็เหนื่อย หรือพอได้มาแล้วก็รู้สึกว่างเปล่า เพราะว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เค้าต้องการจริงๆ พอรู้สึกตัวอีกครั้งก็ต้องมามีคำถามว่า นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่ เป้าหมายปีใหม่ก็เหมือนกัน ถ้าเราตั้งเป้าโดยวางอยู่บนอิทธิพลของสังคม หรือ อยู่ภายใต้มายาคติ เราก็อาจจะสับสน ดิ้นรนและต่อสู้ พอไม่รู้ว่าทำไปทำไมบางทีมันก็ไม่มีแรงทำ หรือ ต้องมาตั้งคำถามกับมันตลอดๆ ว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการจริงเหรอ?
พอเป้าหมายไม่ได้เป็นของเราโดยแท้จริง แต่ไปอิงกับคนอื่นมากเกินไป ก็เกิดความเครียด การเปรียบเทียบ ความกดดัน ท้อแท้ผิดหวัง
3. เป้าหมายของเราไม่ (SMART) [นาทีที่ 17.10]
- S – specific คือ มีความเฉพาะเจาะจง เป้าหมายมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ เช่น หากต้องการลดความอ้วน เป้าหมายควรชัดเจนว่า ต้องการลดน้ำหนักที่เป็นตัวเลข หรือ ลดสัดส่วน อยากตื่นเช้า คือ ตื่นกี่โมง
- M- Measurable คือ สามารถวัดผลได้ ถ้าเป็นไปได้ควรวัดได้เป็นตัวเลข หรือ มีเกณฑ์หรือตัวช่วยในการวัดผล เพื่อให้เราสามารถรู้ได้ว่า เป้าหมายสำเร็จจริงไหม และ คืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด
- A – Achievable คือ สามารถทำสำเร็จได้ เมื่อตั้งเป้าหมายแล้ว เห็นวิธีการทำให้สำเร็จ รู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ เช่น เป้าหมายอ่านพระคัมภีร์ให้จบทั้งเล่มใน 1 ปี ก็จะเห็นวิธีการว่าหากอ่านวันละ 3 บท ก็จะจบได้ เป็นต้น
- R – Realistic, Relevant คือ อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และเกี่ยวข้องกับตัวเรา เป้าหมายมีสมเหตุสมผล สอดคล้องกับความเป็นจริง เป้าหมายที่ Realistic เช่น ปีนี้จะแต่งงาน (กรณีที่มีแฟนและวางแผนแต่งงานอยู่แล้ว) แต่หากไม่มีแฟน การตั้งเป้าว่าจะแต่งงานปีนี้ อาจไม่ realistic เป็นต้น
- T – Time bound คือ มีกรอบเวลาที่ชัดเจน เมื่อตั้งเป้าหมายแล้ว มีระยะเวลาที่แน่ชัดในการทำให้สำเร็จ ทั้งระยะ สั้น กลาง ยาว ได้ เช่น การลดน้ำหนัก 10 กิโลใน 1 ปี อาจแบ่งกรอบเวลา เป็น ครึ่ง ปี 5 กิโล เดือนละ 1 กิโล เป็นต้น
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมาย แบบ SMART เช่น
– ฉันจะอ่านพระคัมภีร์(S) ให้จบทั้งเล่ม(M) โดยฉันจะอ่านก่อนนอน(A) วันละ 3 บท(R) เป็นเวลา 12 เดือน(T)
– ฉันจะเก็บเงินเพื่อซื้อมือถือเครื่องใหม่(S) 12000 บาท(M) โดยจะเก็บเงิน 2400 บาท (A)+(R) เป็นเวลา 5 เดือน(T)
– ฉันจะพัฒนาทักษะการร้องเพลง(S) ให้ไม่เพี้ยน(M) โดยสมัครเรียนร้องเพลงอย่างจริงจังกับเพื่อนที่เป็นครูที่โบสถ์(A) สัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมง(R) เป็นเวลาครึ่งปี(T)
________________________________
ไม่ว่าจะมีแผนยังไงก็ตาม สำหรับคริสเตียนเราก็ไม่ควรขาดความวางใจพระเจ้า พระคัมภีร์ได้หนุนใจเราไว้ใน สุภาษิตว่า …
“จงมอบงานของเจ้าไว้กับพระยาห์เวห์
แล้วแผนงานของเจ้าจะได้รับการสถาปนา” – [สุภาษิต 16:3]
อ้างอิงเพิ่มเติม ::
- Finnomena.com : ทำไม “เป้าหมายปีใหม่” (New Year’s resolution) ไม่เคยประสบความสำเร็จ
- RACHEL MORELAND : เมื่อชีวิตต้องวิ่งไล่ตามความสำเร็จจนเหนื่อย
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วิธีการวางแผนแบบ SMART GOAL
- Sinchai Chaojaroenrat มายาคติ
Related Posts
- Author:
- Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)