เรื่องราวต่อไปนี้เป็นคำพยานเรื่องยาวที่ต่อมาจากตอนก่อนหน้าสามารถอ่านตอนที่ผ่านๆ มาได้ทาง >>>> https://choojaiproject.org/category/articles/life-series/faith-hope-love-diary/
เชียงใหม่,
ในความทรงจำมัธยมปลาย
ผมเริ่มติดเพื่อนและการทำกิจกรรมที่โบสถ์ แต่ตอนนั้นบ้านเรามีมอเตอร์ไซค์เพียงคันเดียว ดังนั้นเวลาที่ต้องไปโบสถ์ผมจึงต้องขอให้พ่อไปส่ง… ซึ่งพ่อก็พร้อมจะไปเสมอ
มีครั้งหนึ่ง ด้วยความที่เป็นวัยรุ่นใจร้อน ผมจึงเร่งโดยไม่สนใจว่าพ่อกำลังทำอะไรอยู่ ผมทำท่าฮึดฮัดออกมารอหน้าบ้านหวังเร่งพ่อให้ไปส่ง แล้วก็ได้ผล! พ่อเร่งรีบออกมาจากบ้านตรงขึ้นควบรถมอเตอร์ไซด์ สตาร์ทเครื่องแล้วพุ่งออกไปจากบ้านอย่างรวดเร็วทำผมและแม่ให้งุนงง ใช่ครับ เร็วขนาดที่ผมยังไม่ทันขึ้นรถด้วยซ้ำ ความรีบเร่งนั้นทำให้ผมคิดว่าพ่อโมโห หรือไม่พอใจ หรือไม่อยากไปส่ง และ “หรือ” อื่นๆตามมาอีกมากมาย
ครึ่งชั่วโมงต่อมาโทรศัพท์ในบ้านดัง แม่ยกโทรศัพท์ขึ้นแนบหู เสียงวิ่งมาตามสายพ้นออกมาเป็นคำ
“ลูก หาย”
พ่อหยอดเหรียญใส่ตู้โทรศัพท์สาธารณะหน้าโบสถ์ซึ่งเป็นปลายทางที่ต้องไปส่งลูกชาย เหตุเพราะเขาจอดรถแล้วเอะใจว่าทำไมผู้โดยสารไม่ยอมลงสักที จึงหันหลังกลับไปดูก่อนจะพบว่าลูกชายไม่อยู่ที่เบาะหลัง ตอนนั้นพ่อตกใจมาก กลัวว่าลูกจะตกหล่นไประหว่างทางจึงรีบโทรกลับมาบอกแม่ จนสุดท้ายได้คำตอบจากปลายสายว่าลืมลูกไว้ที่บ้าน
ผมยังจำได้ว่าผมกลัวพ่อโกรธเพราะไปเร่ง แต่จริงๆ แล้วแค่ลืม ส่วนพ่อก็กลัวลูกจะเป็นอะไรเพราะรีบออกมา และเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย จึงกลายเป็นเสียงหัวเราะตลอดทางเมื่อพ่อกลับมารับ และไปส่งอีกครั้ง
_______________
พลังของการอธิษฐาน
เมื่อมีวันสำคัญถูกหมายเอาไว้บนปฏิทิน ช่วงก่อนจะถึงวันที่นัดหมายไว้ก็ดูเหมือนจะยาวนานขึ้นเสมอ คล้ายกันกับความรู้สึกอึดอัดสับสนที่ปะปนกันในเวลานี้ที่ต้องรอจนกว่าจะถึง “วันนั้น” ที่เราต้องตัดสินใจ
ไม่รู้ว่าต้องรออีกนานเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อในอนาคตข้างหน้า ผมนอนนิ่งอยู่บนเตียง หลับตาจินตนาการว่าถ้าขยับไม่ได้ พูดไม่ได้ จะเป็นอย่างไร ผมนอนอยู่ยาวนานได้เพียงไม่กี่นาที เพราะความคิดฟุ้งซ่านบีบหัวใจให้ลุกขึ้นเมื่อคิดว่าพ่อต้องนอนแบบนี้มาสองอาทิตย์แล้ว
การแพทย์บอกกับเราว่าผู้ป่วยสามารถได้ยินเสียง และรับรู้จากการสัมผัสได้อยู่ นั่นเป็นเหตุให้เราพยายามคุยกับพ่อด้วยการกระซิบที่ข้างหู แต่การสื่อสารที่ไม่ได้รับการตอบนั้นเจ็บปวด เพราะเราไม่รู้ว่าเขาได้ยินเราจริงๆ หรือเปล่า และถ้าได้ยินแต่ไม่สามารถตอบได้เขาจะรู้สึกอย่างไร
ผมไม่รู้ว่าตอนนี้ผมหวังอะไร
ระหว่างเห็นพ่อฟื้นขึ้นมาแต่อาจทำได้แค่นอนนิ่งบนเตียง
หรือ หวังให้เขาพ้นจากความทรมานนี้ไปอย่างสงบ
รู้เพียงว่าสิ่งที่ผมทำได้ในตอนนี้คือ อธิษฐาน ผมไม่รู้ว่าคำตอบจะเป็นแบบไหน ไม่รู้ว่าจะต้องรอสั้นหรือยาวอีกเท่า ไหร่ แต่ผมมั่นใจว่าความหวังและความเข้าใจนั้นมีอยู่และจะมาถึงแน่เมื่อผมอธิษฐานกับพระเจ้าที่บอกว่า เข้าใจ และ รักพวกเรา
_______________
เชียงใหม่, วันพฤหัสบดี
11 ม.ค. 2018
ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ ทันตแพทย์ ฯลฯ มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากมายหลากหลาย แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักกับ “แพทย์ประคับประคอง” แม้ว่าแพทย์สายนี้จะมีในประเทศไทยมาสักพักแล้ว แต่ก็ยังค่อนข้างใหม่สำหรับผม
เราอาจคุ้นเคยกับแพทย์ ที่มีหน้าที่ “ซ่อม” ให้คนหายพัง
แต่แพทย์ที่มีหน้าที่ “เตรียมตัว” สู่กระบวนการพังนั้นอาจฟังดูแปลกสักหน่อย
งานของแพทย์ประคับประคองออกจะแปลกกว่าแพทย์ทางอื่น ถ้าเปรียบให้ง่ายที่สุด คุณหมอส่วนใหญ่เหมือนกับช่าง ที่มีความสามารถค้นหาและซ่อมร่างกายที่พัง ส่วนแพทย์ประคับประคองมีหน้าที่นำพาและจัดเตรียมในการใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตให้มีคุณภาพก่อนถึงการพังอย่างถาวร
ดังนั้น ในขณะที่คุณหมอส่วนใหญ่จะทุ่มตัวเองเพื่อช่วยซ่อม ซึ่งถ้าสำเร็จก็จะพบความยินดีกับชีวิตที่ได้ช่วยเหลือ แต่แพทย์ประคับประคองจะต้องช่วยเหลือทั้งครอบครัวคนไข้ ให้ความเข้าใจ และไม่ว่าจะเป็นอย่างไรปลายทางก็จะจบลงด้วยการจากไปเสมอ มันจึงเป็นงานที่ค่อนข้างสาหัสทั้งร่างกายและจิตใจ
“หมอแอล” เป็นแพทย์ประคับประคองที่มีส่วนเข้ามาติดตามและดูแลเมื่อพวกเราย้ายพ่อมาที่โรงพยาบาลของรัฐ หมอเข้ามาช่วยดูแลด้วยความสงบ คอยอธิบายศัพท์ต่างๆ ให้เราได้เข้าใจ เช่น กรณีแม่ที่ไม่พอใจหมอเจ้าของไข้ด้วยความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน คุณหมอแอลก็จะเข้ามาช่วยอธิบายจนเราเข้าใจหมอเจ้าของไข้มากขึ้น
ส่วนวันนี้ หมอแอลก็เรียกครอบครัวเราเข้ามาเพื่ออธิบายกับอีกเรื่องที่ยากจะตัดสินใจ
…
พวกเรานั่งล้อมโต๊ะรับแขกในห้องคุณหมอแอลเหมือนการประชุมย่อยๆ ส่วนหัวข้อนั้นคือ “การพาพ่อกลับบ้าน” คุณหมออธิบายซ้ำถึงแนวทางการรักษาในเวลานี้
ตอนนี้ พ่อมีเนื้อสมองที่ถูกตัดออกไปราวๆ 7 cm เป็นความบาดเจ็บที่ค่อนข้างรุนแรง คือถึงฟื้นขึ้นมาบางส่วนก็จะไม่เหมือนเดิมอีก เช่น ความทรงจำหายไป หรือ อาจอัมพาตกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเราสามารถเลือกที่จะให้พ่อกลับไปอยู่ที่บ้านได้ และหมอก็ย้ำว่านี่ไม่ได้เป็นการทำให้เสียชีวิต แต่ทางเลือกสำหรับการกลับไปที่บ้านอาจสงบกว่าการอยู่ในโรงพยาบาลที่ไม่คุ้นเคย
ภาวะที่พ่อเป็นอยู่ไม่ได้หมายถึงว่าการถอดเครื่องช่วยหายใจออกจะเป็นการทำให้เสียชีวิต แต่ขึ้นอยู่กับพลังชีวิตที่มีของพ่อเท่านั้นว่าจะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่จนกว่าจะถึง “เวลานั้น”
“ตอนนี้รอแค่ทางบ้านพร้อม ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็บอกนะคะ”
หมอแอลบอกกับเรา
…
หลังจากปรึกษากันอีก 3 ครั้ง เราก็ตัดสินใจว่า
23 มกราคมนี้เราจะไปรับพ่อกลับบ้าน
ติดตาม Faith Hope Love Diary ในตอนหน้าได้ทางเว็บไซด์ชูใจโปรเจ็ค หรือทางเฟจเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/choojaiproject/
Related Posts
- Author:
- เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
- Illustrator:
- Rhoda Phu
- กอง บก. น้องเล็กคนใหม่คนชูใจ แม้เรียนมาด้านออกแบบจิลเวอรี่แต่ก็ยังมีใจรักการออกแบบสิ่งทอ บางวันสอนเสริมศิลปะ บางวันก็ตามหาความฝัน
- Editor:
- Emma C.
- เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน