ผู้เขียน : ‘พี่เฟย’ ณิชา หลีหเจริญกุล (นักจิตบำบัด)
Introduction to Self
.
“เมื่อพูดถึง Self ก็คือการพูดถึงตัวเอง”
คำว่า Self1 มีคำพ่วงท้ายตามเยอะแยะมากมาย เช่น Self – concept, Self – understanding, Self – esteem, Self – awareness, Self – image…และอีกมากมายที่มีชื่อเรียกในทางจิตวิทยา การให้นิยามแต่ละชื่อก็มีความหมายคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกัน ชวนให้สับสนงุนงงเวลาอ่าน แต่โดยรวมแล้ว การมีคำว่า Self ขึ้นต้น คือการพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับตัวเองในแง่มุมต่างๆ เช่น มุมมองที่มีต่อตัวเอง (Self – concept), การเข้าใจรู้จักตัวเอง (Self – understanding), การนับถือตัวเอง (Self – esteem) เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวรวบรวมความหมาย คุณค่า การประเมิน หรือตัดสินตัวเองว่า
ฉันคือใคร / ฉันเป็นคนอย่างไร / ฉันรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจตัวเอง / ฉันมีคุณค่าหรือไม่ / ฉันรู้สึกชอบหรือไม่ชอบตัวเอง / ฉันมองว่าตัวเองเก่งหรือไม่เก่ง / ฉันมองว่าตัวเองถนัดหรือไม่ถนัดอะไร / ฉันประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว / ฉันมองว่าตัวเองมีบุคลิกหรือลักษณะนิสัยอย่างไร
…
ถ้าจะมองให้กว้างขึ้นอีก คำตอบของคำถามที่ว่า “ฉันคือใคร และฉันเป็นฉันทุกวันนี้ได้อย่างไร” นั้น ล้วนมีที่มาที่ไป ซึ่งในซีรี่ส์ “Self-Esteem” นี้ “พี่เฟย” ผู้เขียนจะแบ่งการอธิบายเป็นทีละส่วนไปตามหัวข้อในแต่ละตอนดังต่อไปนี้
EP.1: เล่าถึงความเข้าใจเรื่อง Self แบบกว้างๆ
EP.2: ครอบครัวและการเลี้ยงดูที่ส่งผลกับการสร้างตัวตน
EP.3: ตัวตนของเรากับพระเจ้า
_______________
วันนี้มีแบบฝึกหัดสั้นๆ เกี่ยวกับ Self-Esteem ที่พี่เฟยคัดลอกและแปลมาจากหนังสือ The Self – Esteem Workbook มาให้ลองทำค่ะ
คำแนะนำ: แนะนำให้ตรงไปตรงมากับตัวเอง ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องคิดนาน อ่านปุ๊บตอบเลย ไม่ต้องกลัวว่าผลลัพท์ที่ได้จะเป็นตัวตัดสินไปตลอดชีวิต เพราะตัวเราเปลี่ยนแปลงเสมอ, ตอบอย่างซื่อสัตย์เพื่อเราจะได้รู้ว่าตัวเราในตอนนี้พอใจกับตัวเองประมาณไหน, ทำสบายๆ เพราะแบบฝึกหัดนี้ไม่ได้เครียด หรือต้องลุ้นอะไรขนาดนั้น มันเป็นแค่คำถามที่ทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้นเท่านั้นเอง
วิธีทำ: จดคะแนนจาก 0 – 10 ว่าคุณมีความคิดหรือความเชื่อในแต่ละข้อความข้างล่างอย่างไรบ้าง (ตอบไล่ระดับตามตัวเลข จาก 0 หมายถึง ไม่จริงเลย ไปจนถึง 10 หมายถึง จริงมาก)
- ฉันเป็นคนที่มีคุณค่า
- ฉันมีค่าเท่าๆ กับคนอื่น
- ฉันมีคุณสมบัติที่ฉันต้องการซึ่งจะทำให้ฉันมีชีวิตที่ดี
- เมื่อฉันจ้องมองตัวเองในกระจก ฉันรู้สึกพอใจในตัวเอง
- ฉันไม่ได้รู้สึกว่า โดยรวมแล้ว ฉันเป็นคนล้มเหลว
- ฉันสามารถหัวเราะตัวเองได้
- ฉันมีความสุขที่ได้เป็นตัวเอง
- แม้ว่าจะถูกคนอื่นปฏิเสธ หรือไม่สนใจ แต่ฉันก็ยังชอบตัวเอง
- ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ฉันรักและพยุงตัวเองได้
- โดยรวมแล้ว ฉันพอใจกับวิธีที่ฉันพัฒนาจนมาเป็นตัวเอง
- ฉันนับถือตัวเอง
- ฉันพอใจที่จะเป็นตัวเองมากกว่าเป็นคนอื่น
เมื่อตอบครบแล้วให้เอาคะแนนทั้งหมดมารวมกันค่ะ
คะแนนไล่จากระดับ 0 คือขาดความมั่นใจในตัวเอง
จนไปถึง 120 คือมีความมั่นใจในตัวเองมาก
ถ้าใครคะแนนน้อยก็อย่าตกใจไปนะคะ เพราะมันอาจจะเป็นไปได้ว่า ตัวตนที่เราอยากจะเป็น (Ideal Self) กับตัวตนที่เราเป็นอยู่ (Actual Self) มันมีความแตกต่างกันอยู่
_______________
True vs. False Self
คุณ Rogers นำเสนอไอเดียที่ว่า มุมมองที่เรามีต่อตัวเองและพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างจะเป็นปัจจัยสำคัญอันส่งผลต่อ “การกำหนดตัวตนจริงกับตัวตนปลอม (True vs. False Self)” ในที่นี้หมายถึงการเลือกตัดสินใจว่าด้านไหนของตัวเราจะถูกแสดงออกมา และด้านไหนของเราจะถูกกลบซ่อนไว้
ตัวอย่างเช่น: ตัวจริงของพี่เฟยเป็นคนเสียงดังโวยวาย
– ถ้าอยู่ในกลุ่มคนหรือสังคมที่ไม่ยอมรับพฤติกรรมเสียงดังโวยวาย พี่เฟยก็จะสร้างตัวปลอมที่สุภาพเรียบร้อยขึ้นมา โดยที่พี่เฟยรู้ตัวว่า เรากำลังเป็นตัวปลอม และจำต้องเป็นแม้จะไม่ชอบตัวเองเท่าไหร่ก็ตาม เพราะสังคมนี้ยอมรับวิถีพฤติกรรมที่สุภาพเรียบร้อย
– แต่ถ้าอยู่กับคนที่ยอมรับพฤติกรรมเสียงดังโวยวายได้ พี่เฟยจะมีความสุขกับการเป็นตัวจริงของตัวเอง
สรุปคือ จะเห็นได้ชัดว่า บางทีกรอบคิด / ความคาดหวังของสังคม / วัฒนธรรมในบริบทต่างๆ มีผลให้เราแปลงร่างเป็นตัวปลอม ซึ่งบางทีเราอาจอยู่ในสภาวะตัวปลอมจนเราคิดไปว่านี่คือตัวจริง อันนี้ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ใจมากขึ้น เพราะเกิดความขัดแย้งในใจ แต่ถ้าเรามีสักที่ หรือสักคนที่ยอมรับตัวจริงของเราได้ เราก็อาจจะพอหยวนๆ กับการต้องเป็นตัวปลอมบ้างในบางเวลา เพราะสองอย่างนี้ต้องหาความสมดุล ไม่อย่างนั้นความทุกข์ใจจะเพิ่มสูงเมื่อน้ำหนักในการเป็นตัวปลอมมีมากกว่าตัวจริง
_______________
Actual and Ideal Self
ความต่างระหว่างตัวตนที่เราเป็น (Actual Self)
กับตัวตนที่เราอยากเป็น (Ideal Self)
จะมีผลกับการกำหนดการนับถือตัวเอง (Self-esteem) อีกที
ถ้าตัวตนที่ “เราอยากเป็น” มันดูห่างไกลจากตัวตนที่ “เราเป็น” การนับถือตัวเอง หรือการให้คุณค่าในตัวเองก็จะไม่ค่อยแน่นอนและอาจค่อนไปทางต่ำหน่อย แต่ถ้าตัวตนที่เราอยากจะเป็นใกล้เคียงกับตัวตนที่เราเป็น การนับถือตัวเอง หรือการให้คุณค่าในตัวเองก็จะค่อนข้างคงที่
ตัวอย่างเช่น:
สิ่งพี่เฟยอยากเป็น (Ideal Self)
- สาวออฟฟิศทำงานแต่งตัวเกร๋ๆ ใส่ส้นสูง หุ่นดี ทาปากสีแดงเลือดนก มีเงินเยอะๆ
- อยากเป็นภรรยา อยู่บ้านให้สามีเลี้ยง ไม่ต้องทำงาน (อันนี้ไม่ได้กวน ไม่ได้เหน็บใครเลย คือถ้าเป็นสองข้อนี้ได้ คือดีย์!)
*เมื่อเจอคนที่เป็นแบบ Ideal Self ของพี่เฟยจึงมักเกิดอาการอิจฉา
ความเป็นจริงของพี่เฟย (Actual Self)
- ใส่ส้นสูงแล้วโ_ตรเมื่อย และเดินลำบากมาก อีกอย่างคือปกติเป็นคนเดินเร็ว พอใส่ส้นสูงแล้วเดินเร็วมากไม่ได้ ทุกวันนี้เลยมีส้นสูงแค่ไม่กี่คู่ เพื่อใส่ไปงานแต่งคนอื่น ส่วนรองเท้าประจำวันคือคัชชูธรรมดาไร้ส้น มีความพุงพลุ้ย ทาปากอยู่ช่วงนึงแล้วก็เลิก เพราะขี้เกียจ เงินก็มีไม่เยอะ พยายามเก็บอยู่ด้วยความเครียด
- เพียงแค่อยู่บ้าน ทำกับข้าว อ่านหนังสือติดกันสองวันก็เบื่อจะแย่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยถ้าจะใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ทำกับข้าว ดูแลสามี (เพราะสามีควรจะดูแลตัวเองเป็น!)
สรุปคือ ความขัดแย้งระหว่าง Ideal Self และ Actual Self บังเกิดขึ้น > ทำให้พี่เฟยต้องยอมรับ Actual Self ของตัวเองตามสภาพความเป็นจริง > ซึ่งพอเริ่มมองความเป็นจริงก็ทำให้ค้นพบว่า ภาพ Ideal Self ของตัวเองเริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากยอมรับภาพ Actual Self ได้มากขึ้น และการทำงานด้านจิตบำบัดก็ให้ความสุขและความพอใจกับตัวเองได้ > ความอิจฉาชาวบ้านจึงเริ่มลดลง เพราะฉันเริ่มมีความสุขกับการเป็นตัวเองแบบนี้ > ทำให้ระดับการนับถือตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะอยู่กับความจริงของตัวเองได้มากขึ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าตอนนี้ใครมีความขัดแย้งระหว่าง Ideal Self และ Actual Self ก็รู้ไว้เถิดว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา เพียงแค่เราสังเกต ค่อยๆ ยอมรับ และสำรวจดูว่า
“ฉันทำหรือเป็นแบบนี้เพื่ออะไร? ฉันต้องการอะไรจริงๆ?
ฉันทำเพื่อให้คนอื่นยอมรับ หรือฉันทำเพราะฉันยอมรับตัวเองได้?”
ไม่มีอะไรผิดหรือถูก เพราะการตัดสินใจเลือกเป็นตัวของเรา ขอให้แฮปปี้กับตัวเอง แม้ว่าบางทีใครจะไม่ชอบเราบ้างก็ตาม
…
“8. แม้ว่าจะถูกคนอื่นปฏิเสธ หรือไม่สนใจ แต่ฉันก็ยังชอบตัวเอง
(I like myself, even when others reject me.)”
. . .
ข้อนี้พี่เฟยให้คะแนนตัวเองเต็ม 10 ใครให้เต็ม 10 บ้าง ยกมือขึ้น!
อ้างอิง
- Santrock, J. W. (2014). The Self, Identity, Emotion, and Personality. In J. W. Santrock, Adolescence (15th ed., pp. 130-166). New York: McGraw-Hill Education.
- Schiraldi, G. R. (2001). Why Self-Esteem? In G. R. Schiraldi, The Self-Esteem Workbook (pp. 5-8). CA: New Harbinger Publications, Inc.
- Lynch, M. F., La Guardia, J. G., & Ryan, R. M. (2009). On being yourself in different cultures: ideal and actual self-concept, autonomy support, and well-being in China, Russia, and the United States. The Journal of Positive Psychology, 290-304.
(ติดตามซีรี่ส์ “Self-Esteem” ตอนต่อไปได้ในวันพฤหัสฯหน้า
เวลา 19.00 น. ทางเว็บไซด์ www.choojaiproject.org หรือ
กดติดตามทางเพจเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/choojaiproject/)
Related Posts
- Author:
- หลังจากเรียนจบศิลปกรรมศาสตร์ การละคร ม.ธรรมศาสตร์ ก็สนใจทำงานด้านเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากเรียนต่อปริญญาโทสาขาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นต่อปริญญาโทด้านศิลปะบำบัดที่ LASALLE College of Arts ที่ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันกลับมาทำงานประจำที่คลีนิค The Oasis (https://www.theoasiscare.com/nicha-leehacharoenkul)
- Illustrator:
- เฮียกิดไจ๋
- หนุ่มน้อยไฟแรงผู้รับใช้ เป็นคนเจนวายสาย conservative อนุรักษ์มือถือแบบปุ่มกด ไม่นิยมการใช้โซเชียล ชื่นชอบการอบคุ้กกี้ ดูเตียบ่อกี้และละครนาคีกับที่บ้าน เชี่ยวชาญทางด้านกราฟฟิกและงานครัว นี่มัน! หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ เลยนี่นา!
- Editor:
- Emma C.
- เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน