EP.2

การเลี้ยงดูส่งผลต่อคุณค่าของฉัน


ใน EP.1 เราได้พูดกันถึงเรื่อง “คุณค่าในตัวเอง (Self esteem)” ไปแล้ว คราวนี้เลยจะชวนมาคุยขยายความกันค่ะ ว่าคุณค่าในตัวเองที่พูดถึงนั้นมันมาได้ยังไง? มาตอนไหน? เริ่มตั้งแต่เด็กเลยรึเปล่า? แล้วมีอะไรที่ส่งผลกับมันบ้าง?

 

_______________

 

เพราะอะไรการเลี้ยงดูถึงมีผลต่อ Self esteem

 

 

การเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ จนถึงวัยรุ่นตอนปลายจะส่งผลต่อการมองตัวเอง คนอื่น และโลก ไปจนวัยผู้ใหญ่ เพราะเด็กจะเข้าใจว่าตัวเองเป็นยังไงด้วยการเรียนรู้จากพ่อแม่เป็นหลัก

 

กล่าวคือเด็กๆ จะรับรู้อารมณ์และความคิดของพ่อแม่เก็บผ่านเข้ามาในตัวเป็นข้อมูลโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อโตขึ้น เขาจะมองว่าตัวเองเป็นคนมีค่าและมีความหมายหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลความทรงจำและความเข้าใจในวัยเด็กที่คิดว่าพ่อแม่มีต่อเขาด้วย

 

เมื่อเป็นแบบนี้จึงอาจเกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้

 

ตัวอย่างเช่น:

 

การเลี้ยงดูที่พ่อแม่มีความเชื่อว่าต้องดุด่าเพื่อให้ลูกได้ดี

เป็นไปได้ที่พ่อแม่จะแสดงความรักด้วยการกดดันเคี่ยวเข็ญ เพราะความคาดหวังที่มีต่อลูก แต่การสื่อสารนี้อาจทำให้ลูกเข้าใจผิดได้ว่า เขาต้องทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ อาจจะไม่มีโอกาสได้ลองผิดลองถูก หรืออาจะเกิดความรู้สึกว่า ตัวเองดีไม่พอ หรือไม่เคยมีอะไรดีสักอย่าง หรืออาจจะต้องทำทุกอย่างให้ดีเพื่อให้พ่อแม่พอใจ ซึ่งหากไม่แก้ไข เรื่องก็อาจจบด้วยความไม่เข้าใจกัน และเข้าใจไปว่าพ่อแม่ไม่รัก หรือความรักคือการวิ่งตามความคาดหวังของคนอื่น

 

อาจจะส่งผลให้

เด็กที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะมองว่า คุณค่าของตัวเองผูกไว้กับการทำตามคาดหวังของคนอื่น ไม่แน่ใจว่า ตัวเองต้องการอะไร มองตัวเองในแง่ลบว่า ยังทำดีไม่พอ

 

รู้หรือไม่?:

 

ฉันมองตัวฉัน = ฉันมองคนอื่น = ฉันมองโลก

ฉันรู้และเข้าใจว่า ตัวเองมีค่า มีความหมาย มั่นคง และปลอดภัย
= ฉันจะมองคนอื่นมีค่า มีความหมาย มั่นคง และปลอดภัย
= โลกที่ฉันอยู่จึงมั่นคงและปลอดภัย

แต่ถ้า…

ฉันไม่เห็นว่า ตัวเองมีค่า ไม่มั่นคงปลอดภัย
= คนอื่นก็ไม่น่าปลอดภัยสำหรับฉัน
= โลกใบนี้อันตรายเกินไป


_______________

 

สไตล์การเลี้ยงดูของพ่อแม่

 

 

ทฤษฎี Baumrind’s Parenting Styles1 ได้แบ่งรูปแบบการเลี้ยงดูออกเป็น 4 แบบ ได้แก่

 

*ผลจากการเลี้ยงดู อาจเหมือนหรือแตกต่างกันไปในแต่ละคน

 

  1. Authoritative parenting (การเลี้ยงดูแบบควบคุม)

 

ลักษณะ:

– เป็นการเลี้ยงแบบเข้มงวด เมื่อทำผิดแล้วต้องถูกลงโทษ

– พ่อแม่จะควบคุมไม่ให้ลูกออกนอกขอบเขต หรือกฎที่ตัวเองตั้งเองไว้ โดยตัวเด็กจะต้องทำตามและเชื่อฟังอย่างไร้ข้อแม้ใดๆ

– เด็กมีอิสระในการตัดสินใจน้อย ต้องทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ที่ไม่ยืดหยุ่น

 

ผลลัพธ์:

– เด็กไม่ค่อยมีความสุข มู่ทู่ ขี้กลัว และกังวล หรืออาจหัวร้อน หงุดหงิดง่าย

– มักเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ไม่ค่อยมีความยืดหยุ่น

– เข้าใจว่าคุณค่าของตัวเองอยู่ที่การเป็นเด็กดีและเชื่อฟังพ่อแม่ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองยังทำดีไม่พอเท่าที่พ่อแม่จะพอใจ หรือคาดหวัง ก็จะรู้สึกผิดกับตัวเองที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง Self-esteem ก็จะหดหายกันไป

– เมื่อเด็กไม่ทำตามกฎ ไม่เชื่อฟัง หรือต่อต้าน จะรู้สึกผิดหรือตำหนิตัวเองเป็นประจำ ขณะเดียวกันความ low self ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดการประชดชีวิตแบบตอกย้ำ ไหนๆ ก็ไม่มีใครเห็นค่า ลองแย่สุดๆ ให้มันรู้กันไปเลย

 

  1. Authoritarian parenting (การเลี้ยงดูแบบไว้วางใจ)

 

ลักษณะ:

– ให้ลูกได้เป็นตัวเองและพึ่งพาตัวเอง แต่ก็ยังมีกฎระเบียบให้ทำตามชัดเจน

– สื่อสารความต้องการสองทาง เปิดโอกาสให้ลูกอธิบายความต้องการหรือเหตุผลของตัวเอง

– พ่อแม่จะพยายามเข้าใจลูก เห็นอกเห็นใจ และพยายามปรับความเข้าใจเมื่อเกิดปัญหา

– มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ให้คือให้ ไม่ให้คือไม่ให้ และอธิบายเหตุผลให้เข้าใจ ขณะเดียวกันก็รับฟังความคิดเห็นลูก

 

ผลลัพธ์:

– เด็กจะรู้จักควบคุมตัวเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน และรับมือกับปัญหาหรือความเครียดได้

– พ่อแม่รับรู้อารมณ์ลูกได้ และช่วยคิดแก้ปัญหาร่วมกัน

– เด็กจะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และมองเห็นความเป็นไปได้ว่าอะไรทำได้ หรืออะไรทำไม่ได้ และอะไรควรทำ หรืออะไรไม่ควรทำ ซึ่งทำให้สามารถเคารพขอบเขตของตัวเองและคนอื่นได้

 

  1. Neglectful parenting (การเลี้ยงดูแบบละเลย)

 

ลักษณะ:

– พ่อแม่สื่อสารแบบมีปฏิสัมพันธ์น้อย ไม่ดูแลใส่ใจ ไม่รับรู้ความต้องการหรืออารมณ์ของลูก

– ปล่อยให้เด็กมีอิสระโดยไม่ได้รับการดูแลหรือส่งเสริมจากพ่อแม่

– พ่อแม่อาจมีการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจเด็ก

 

ผลลัพธ์:

– เด็กควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไม่ดี เพราะไม่ได้รับการโอบอุ้มด้านอารมณ์ หรือให้เข้าใจอารมณ์ตัวเอง

– การปล่อยปละละเลยจะทำให้เด็กสงสัยในคุณค่าของตัวเอง และการไม่ถูกใส่ใจจะทำให้เด็กใส่ใจหล่อเลี้ยงตัวเองไม่ค่อยได้ เนื่องจากไม่ได้เรียนรู้จากพ่อแม่

– เด็กไม่รู้จักขอบเขต เพราะไม่มีใครสอนว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ หรือไม่ควรทำ

– เด็กไม่ได้รับการดูแลตามวัย หลายคนอาจต้องดูแลตัวเอง ทำงานแต่เด็ก หรือแม้แต่จะต้องมีบทบาทดูแลคนอื่นในบ้านแทนพ่อแม่ (อันนี้ไม่นับพ่อแม่ที่เจ็บป่วยทางร่างกายที่ไม่สามารถดูแลลูกได้นะ)

 

  1. Indulgent parenting (การเลี้ยงดูแบบยอมตาม)

 

ลักษณะ:

– ความต้องการของเด็กมีบทบาทมากกว่าพ่อแม่

– พ่อแม่มีส่วนร่วมกับลูก แต่มีการตั้งกฎกติกาน้อย ยอมให้เด็กทำตามที่ตัวเองอยากทำโดยไม่สร้างขอบเขตที่ชัดเจน

– เมื่อทำผิดจะลงโทษเด็กน้อย

 

ผลลัพธ์:

 

– เด็กไม่รู้จักขอบเขต ไม่เคารพขอบเขตของตัวเองและคนอื่น

– เด็กจะเรียนรู้การมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง มักทำตามใจตัวเอง และหากโดนขัดใจจะอดทนไม่ได้

– คุณค่าของตัวเองอาจจะอยู่ที่การได้รับในสิ่งที่ตนต้องการ

– หากไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ถูกเมินเฉย หรือโดนปฏิเสธ จะไม่พอใจและไม่อดทนรอคอย

 

อ่านแล้วคิดว่าเราได้รับการเลี้ยงดูมาแบบไหนกันบ้าง?

 

ถ้าจะถามพี่เฟยว่าแบบไหนดีที่สุด ตอบง่ายๆ เลยก็แบบที่ 2 ค่ะ แต่ความเป็นจริงแล้ว มีพ่อแม่หลายคนที่ทำแบบนี้ไม่ได้ ซึ่งก็ไม่อยากให้โยนความผิดไปที่พ่อแม่ หรือผู้ดูแลทั้งหมด เพราะเป็นไปได้ว่าผู้ดูแลจะเลี้ยงดูเด็กผ่านประสบการณ์ที่ตัวเองเคยรับมา (หรือไม่เคยได้รับมาก็ได้)

 

ตัวอย่างเช่น: พ่อที่เข้มงวด ขี้โมโห ตอนพ่อเด็กๆ อาจได้เจอกับปู่ที่ขี้หงุดหงิดและเข้มงวดมาก พ่อเลยเรียนรู้การเลี้ยงดูตามแบบปู่ ถึงแม้ว่าตอนเด็กๆ จะไม่ชอบ และไม่เห็นด้วยกับวิธีเลี้ยงแบบนั้น แต่พอต้องมาเป็นพ่อเองแล้ว ก็เลี้ยงลูกตามแบบที่ตัวเองเจอมา ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีแบบอย่างอื่นให้เห็น หรือไม่รู้ว่ามีทางเลือกแบบอื่นในการเลี้ยงดู

 

นอกจากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว วัฒนธรรมและค่านิยมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเลี้ยงดูด้วย

 

ตัวอย่างเช่น: วัฒนธรรมและค่านิยมไทยที่บอกว่าเด็กดีต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ห้ามต่อล้อต่อเถียง ซึ่งแน่นอนว่า เด็กแต่ละคนย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง และอาจมีความเห็นที่ต้องการจะสื่อสารออกมา แต่หากความคิดนั้นแตกต่างหรือขัดแย้งจากพ่อแม่ แล้วตัวเด็กถูกบอกว่าความคิดนั้นผิด ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เด็กก็จะสงสัยตัวตน ศักยภาพและคุณค่าของตัวเอง

 

_______________

 

ถ้าเด็กสงสัย และแสวงหาคุณค่า หรือตัวตนของตัวเอง พอเขาเปิดโลกเข้ามาในสังคมที่ใหญ่กว้างขึ้น ก็จะเริ่มหาตัวตนโดยรับเอาค่านิยมหรือกระแสสังคมเข้ามา อะไรที่กำลังฮอตฮิตต้องมีต้องทำ อะไรเอ้าท์ไปแล้ว เชยแล้วก็ไม่เอา แต่สิ่งที่เป็นตัวเอง เหมาะกับตัวเอง และเข้ากับตัวเองอาจจะหลงลืมไป เพราะไม่มีพื้นที่ให้นึกคิดว่า

 

ฉันคือใคร ฉันต้องการอะไร และฉันเป็นใคร

 

ถ้าได้นั่งทบทวนกับตัวเอง และถามคำถามเหล่านี้บ้าง ไม่ว่าจะถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน เราก็จะยังสามารถค้นหาและเจอคุณค่าของตัวเองได้ เพราะทุกคนมีคุณค่า เพียงแต่อาจจะต้องการพื้นที่ทบทวนและมองเห็นมันชัดเจนมากขึ้น

 

. . .

ด้วยรักและห่วงใยที่อยากเห็นคริสเตียนไทยมี Self-esteem

 

อ้างอิง

 

  • Santrock, J. W. (2011). Families. In J. W. Santrock, Child Development. (13th ed.). New York: McGraw-Hill Education.

(ติดตามซีรี่ส์ “Self-Esteem” ตอนต่อไปได้ในวันพฤหัสฯหน้า

เวลา 19.00 น. ทางเว็บไซด์ www.choojaiproject.org หรือ

กดติดตามทางเพจเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/choojaiproject/)


Previous Next

  • Illustrator:
  • เฮียกิดไจ๋
  • หนุ่มน้อยไฟแรงผู้รับใช้ เป็นคนเจนวายสาย conservative อนุรักษ์มือถือแบบปุ่มกด ไม่นิยมการใช้โซเชียล ชื่นชอบการอบคุ้กกี้ ดูเตียบ่อกี้และละครนาคีกับที่บ้าน เชี่ยวชาญทางด้านกราฟฟิกและงานครัว นี่มัน! หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ เลยนี่นา!
  • Editor:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน