ซีรีส์ : จิตวิทยาวัยรุ่น
คอมลัมน์ : จิตพิสัย
บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
.
บทความนี้ สำหรับลูกๆ ทุกคนที่ต้องการจะบอกบางอย่างกับพ่อแม่…
ผิดมั้ย? ที่เรามีความคิดเป็นของตัวเอง
ผิดมั้ย? ที่อยากจะเดินตามความฝันทำในสิ่งที่อยากจะทำ
แต่ทำไมหลายครั้งมันยากเหลือเกินที่จะให้ใครๆ เข้าใจ ในฐานะเด็กการสื่อสารกับผู้ใหญ่มักไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะวัยที่แตกต่างอาจทำให้คนเรามีมุมมองต่างกัน หลายครั้งการพูดคุยมักจบลงที่ความขัดแย้งไม่ลงรอยจนพลอยเสียความรู้สึก ถ้าการพูดคุยจบลงแบบนี้บ่อยๆ มันก็ทำให้เหนื่อยหน่ายและท้อที่จะคุย
วัยรุ่นกับผู้ใหญ่อยู่กันคนละโลกจริงหรือ ?
แล้วเราจะสื่อสารกันยังไงให้พ่อแม่เข้าใจและเป็นสุข?
4 วิธีการสื่อสารกับผู้ใหญ่ให้ราบรื่น
-
สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
“ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง”
เหมือนเวลาที่เราอยู่กับเพื่อน พี่น้องที่สนิท หรือแฟน ด้วยความสนิทบางครั้งเราก็ไปไหนไปกัน ทำอะไรตามๆ กันโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แทบไม่ต้องถกเรื่องเหตุผลมากมายเพื่อตัดสินใจจะทำอะไรสักอย่าง ผลัดกันยอมผลัดกันตาม ที่เราทำแบบนั้นได้ก็เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีและรู้ใจกันนั่นเอง
กับพ่อแม่ก็ไม่ต่างกัน พอเราเป็นวัยรุ่นเราอาจจะเริ่มเป็นตัวเองมากขึ้น ความคิด นิสัยบางอย่างก็เปลี่ยนไปตามวัยที่โตขึ้น ความสนิทก็เลยลดลงเพราะเราในตอนนี้ก็ไม่เหมือนกับเราเมื่อก่อนเสียทีเดียว อีกทั้งความเข้าใจของเราที่มีต่อพ่อแม่ก็จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนตอนเด็กๆ เพราะเราเริ่มมองเห็นบางอย่างในแบบที่เด็กๆ ไม่เคยเห็น ความสัมพันธ์จึงต้องมีการสร้างเพื่อความแน่แฟ้นมากขึ้น การมีช่วงเวลาที่ดีกับพ่อและแม่ เช่น พูดคุย อธิษฐานด้วยกัน ใช้เวลานอกบ้าน เล่นบอร์ดเกม จึงจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้กันมากขึ้น ว่าตัวตนของพ่อแม่ จริงๆ แล้ว เป็นยังไงและก็เป็นโอกาสที่จะทำให้พ่อแม่ได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเราด้วย
-
ไวในการฟัง
“จงให้ทุกคนไว้ในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ” – (ยากอบ 1:19)
การสื่อสารที่ดีต้องเริ่มต้นจากการฟัง สิ่งสำคัญของการฟังไม่ใช่เพียงแค่ให้เราได้ยินเนื้อหาหรือจับใจความสิ่งที่พ่อแม่พูดเท่านั้น แต่มันคือ “การฟังจนรับรู้ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ของผู้พูด โดยไม่รีบพูด ไม่รีบตัดสิน หรือด่วนสรุปจนเร็วเกินไป”
ถ้าเราฟังเพียงแค่เนื้อหา คือคำพูด ก็มีโอกาสที่เราจะรู้สึกแย่ ขัดใจ โกรธว่าทำไมพ่อแม่ไม่เข้าใจ จนเราอาจจะพูดสวนกลับหรือมีท่าทีที่ไม่น่ารัก และก็พอจะเดาได้ว่าบรรยากาศที่ตามมาคงไม่ใช่เรื่องดีนัก ทั้งพ่อแม่และเราก็คงนอยพอๆ กัน
ความรักๆ เต็มไปหมดเล้ยยย
การไวในการฟังและช้าในการพูดต้องอาศัยการฝึกฝน เรามาลองทายกันดูว่าในคำพูดเหล่านี้ จริงๆ แล้วมีความรู้สึกอะไรซ่อนอยู่บ้าง
- “เรียนดนตรีแล้วโตไปทำงานอะไร? เรียนสายวิทย์สิ มีทางเลือกเยอะแยะ”
ถึงแม่น้ำเสียง และเนื้อหาไม่น่าเห็นด้วยเท่าไหร่ แต่ถ้าฟังดีๆ จะรู้ว่ามีความห่วงใย ความหวังดี ความรัก และมีความกังวลซ่อนอยู่นะ - “จะสอบอยู่แล้วเตรียมตัวบ้างยัง อ่านหนังสือบ้างมั้ย จะมีที่เรียนหรือเปล่าก็ยังไม่รู้”
ก็ไม่ต่างมาก คือความเป็นห่วง ความรัก ความกังวล หรืออาจจะมีความกลัว ความวิตกอยู่ก็ได้
ถ้าเราได้เปิดหูและเปิดหัวใจเพื่อรับรู้ความรู้สึกของพ่อแม่หรือคนอื่นๆ ที่พูดกับเรา เราจะได้รับความ “เข้าใจ” ที่ไม่ใช่แค่เพียงเป็นความคิดความเข้าใจแต่เข้าใจไปถึงใจ และหลังจากได้รู้ว่าพ่อแม่คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร เราจะได้เตรียมหาข้อมูลและพูดให้ตรงใจ ตรงกับความรู้สึกของท่านได้ ผลก็คือท่านจะเปิดใจรับฟังเรามากขึ้นเหมือนกัน
-
พูดอย่างฉลาด
การพูดนั้นมีพลังมาก กษัตริย์ซาโลมอนผู้เขียนพระธรรมสุภาษิต จึงเขียนว่า “ความตายความเป็นอยู่ที่อำนาจของลิ้น” (สุภาษิต 18:21) และ “คำตอบอ่อนหวานช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไปแต่คำกักขฬะเร้าโทสะ” (สุภาษิต 15:1)
การพูดจึงเป็นสิ่งที่ควรฝึกฝนอย่างมากและมีหลากหลายเทคนิคแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น
- การพูดสะท้อนความรู้สึก เช่น “หนูเห็นเลยว่าพ่อเป็นห่วง” “ผมเข้าใจว่าแม่กังวล” ซึ่งจะทำให้คนที่เป็นพ่อแม่รับรู้ว่าลูกเข้าใจความหวังดีของตัวเขา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี
- การใช้ I message คือ ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ฉัน/หนู/ผม/ลูก และตามด้วยความรู้สึก หรือสิ่งที่อยากจะเห็น การพูดแบบนี้ ทำให้การสื่อสารชัดเจน และทำให้คนฟังเข้าใจว่า เราต้องการ หรือรู้สึกอะไร แทนที่พูดกว้างๆ เช่น
– “ใครๆ เขาก็ให้ลูกออกไปเที่ยวทั้งนั้น” ลองเปลี่ยนเป็น “ผมขอออกไปเที่ยวกับเพื่อนและจะกลับมาตอน 6 โมงเย็น”
– “แม่จะบ่นทำไมน่ารำคาญ เลิกบ่นซะทีได้มั้ย” เปลี่ยนเป็น “หนูรู้สึกเสียใจที่ได้ยินแม่ดุ หนูไม่อยากให้แม่บ่นเลย”
– “เรียนสายวิทย์ก็ใช่ว่าจะมีงานทำซักหน่อย” เปลี่ยนเป็น “ลูกอยากเลือกเรียนดนตรีเพราะลูกชอบแล้วก็ถนัดลูกขอเรียนและทำในสิ่งที่ลูกรักนะแม่”
– “เดี๋ยวนี้โลกมันไปถึงไหนแล้ว ใครเค้าจะทนร้อนไปธนาคารรถติดจะตาย” เปลี่ยนเป็น “หนูอยากให้แม่ลองโอนเงินผ่านมือถือดูมันมีความปลอดภัยนะสะดวกด้วย”
- ใช้ภาษาแบบผู้ใหญ่ การจะพูดกับผู้ใหญ่เราก็ต้องใช้ภาษาแบบผู้ใหญ่ ถ้าอยากรู้ว่าภาษาของพ่อแม่เรานั้นเป็นแบบไหน เราก็ควรลองสังเกตว่าเวลาที่พ่อแม่คุยกับผู้ใหญ่คนอื่นๆ เขาเหล่านั้นใช้วิธีการพูดยังไง เนื้อหาเป็นแบบไหน น้ำเสียงเป็นอย่างไร การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางเป็นยังไง ในฐานะที่เราเป็นวัยรุ่น และไม่ใช่เด็กๆ แล้ว เราก็ควรเรียนรู้ไว้และลองทำมาฝึกใช้ดู
เราก็อาจจะลองสังเกตวิธีที่เราเคยพูดคุยกับพ่อแม่และลองเปรียบเทียบกันดูว่า ครั้งที่เราพูดคุยกับพ่อแม่ แล้วผลลัพธ์มันออกมาดีเรามีวิธีการพูดยังไงในครั้งนั้น ส่วนครั้งอื่นๆ ที่มันไม่ได้ผลจนมันเกิดปัญหาตามมา เราใช้วิธีการพูดอย่างไร มีน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง อย่างไร และเราก็จะได้รู้ว่าพ่อแม่เราชอบวิธีการพูดแบบไหน
เมื่อเรามีวิธีการพูดที่ดีประกอบกับมีถ้อยคำที่สุภาพถูกกาละเทศะ จะได้ผลลัพธ์ที่ดีแน่นอนค่ะ
-
สร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเอง
“การจะให้คนยอมรับ เราก็ต้องทำตัวให้เป็นคนที่ไว้วางใจได้ด้วย!”
เมื่อพูดอะไรเราก็ควรรักษาคำพูด สิ่งนี้จะค่อยๆ สร้างความไว้วางใจให้พ่อแม่รู้ว่าเรามีความรับผิดชอบและดูแลตัวเองได้ อาจจะต้องใช้เวลาพิสูจน์ให้คุณพ่อคุณแม่เห็นในครั้งแรกๆ ว่าเราสามารถทำได้ตามที่พูดจริงๆ เขาอาจจะไว้ใจบ้างหรือไม่ไว้ใจบ้างก็ไม่เป็นไรเพราะพ่อแม่ก็แค่ห่วง แต่หากเรารักษาคำพูด สร้างความน่าเชื่อถือ รับผิดชอบคำพูดอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดท่านก็จะไว้ใจเรา และก็จะมอบอิสระให้การคิด ตัดสินใจ และปล่อยให้ดูแลตัวเองมากขึ้น
________________________________
สถานการณ์จำลอง
-
สถานการณ์ที่ 1 : การขออนุญาตไปเข้าค่ายไกลๆ
หากน้องๆ กำลังจะไปค่ายต่างจังหวัดชายทะเลแล้วคุณพ่อพูดว่า “ฉันไม่ให้เธอไปหรอกค่ายต่างจังหวัด ไม่เห็นเหรอในข่าวที่มีคนตกน้ำตายน่ะ!”
เมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ดีและรับรู้ได้ถึงความห่วงใยผ่านคำพูดของพ่อแทนที่น้องจะพูดว่า “โหยพ่อ นี่ไม่ใช่เด็กๆ แล้วนะดูแลตัวเองได้ จะอะไรกันนักหนาแค่ไปต่างจังหวัด ใจคอจะให้อยู่แต่บ้านหรือยังไง” หรือ “มันไม่ได้ไกลสักหน่อยพ่อ มีคนดูแลตั้งเยอะ และหนูก็ไม่ใช่เด็กๆ แล้วแถมว่ายน้ำเป็น”
ให้น้องสะท้อนความรู้สึก และใช้ I massage อย่างสุภาพ ให้เหตุผล และ มีความน่าเชื่อใจ อย่างเช่น
“หนูเข้าใจว่าพ่อเป็นห่วงไม่อยากให้ไปค่ายต่างจังหวัด แต่ค่ายนี้มีผู้ใหญ่ไปด้วยหลายคน และหนูสัญญาว่าจะดูแลตัวเองดีดี พ่อสบายใจได้นะ”
-
สถานการณ์ที่ 2 : การเลือกสายเรียน
เมื่อน้องตัดสินใจแล้วว่าอยากเรียนสายศิลป์และอยากเข้าคณะที่เกี่ยวกับภาษาในอนาคต แต่คุณแม่อยากให้เรียนสายวิทย์ คุณแม่จึงพูดว่า “ใครๆ เค้าก็เรียนสายวิทย์ไปก่อนทั้งนั้น จะได้มีตัวเลือกเยอะๆ ฉันรู้แล้วว่าแกชอบภาษา แต่เรียนสายวิทย์ไปก่อนไม่ได้เหรอไง? ถ้าเข้ามหาลัยแกจะเลือกเรียนภาษาก็ค่อยว่ากันอีกที”
น้องอาจตอบว่า “ผมดีใจมากเลยที่แม่รู้ว่าผมชอบภาษา และผมก็รู้ว่าแม่อยากให้ผมเรียนสายวิทย์เพราะหวังดีกับผม แต่ผมแน่ใจแล้วว่าผมสนใจภาษา และคะแนนวิชาภาษาของผมก็ดีมากเลย ผมตั้งใจเลือกทางนี้แล้วจริงๆ ผมขอให้แม่สนับสนุนผมได้ไหม”
________________________________
ในความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีความอ่อนแอ ความสัมพันธ์ทุกรูปแบบจึงมีความท้าทาย ยิ่งใกล้ชิดกันมากก็ยิ่งละเอียดอ่อน พ่อแม่ก็เป็นคนธรรมดาที่ผิดพลาดได้ หลายครั้งท่านอาจทำให้เราเจ็บปวด แต่ถ้าพยายามเรามองให้ลึกไปกว่านั้น เราจะเห็นเจตนาของพ่อและแม่ว่าเขาทั้งรักและปรารถนาดีกับเรา
ไม่ว่าจะอย่างไรเรายังมีพ่อที่ดีเลิศ คือพระบิดา ที่เราสามารถอธิษฐานกับพระองค์ถึงความในใจ เพราะพระองค์ฟัง และห่วงใยเราเสมอ อย่าลืมให้เราอธิษฐานเผื่อพ่อแม่ของเราด้วยเพราะพระเจ้าก็เป็นพระเจ้าของท่านและรักท่านเช่นเดียวกันนะ
“ลิ้นที่สุภาพเป็นต้นไม้แห่งชีวิต…คำเดียวที่ถูกกาละก็ดีจริงๆ” (สุภาษิต 15:4,23)
ด้วยรักและคำพูดชูใจ
Karntie Phanchita
Related Posts
- Author:
- พี่กานตี้เป็นนักจิตวิทยาเด็กและครอบครัวที่มีภาระใจด้านพัฒนาการและการศึกษาของเด็กๆ อยากเห็นสังคมแห่งการแบ่งปันและช่วยเหลือเกื้อกูลเหมือนพี่ชูใจเดี๊ยะ ... “รักเด็ก” แบบนี้ต้องชวนไปไปประกวดมิสแกรนด์กับพี่ชูใจแล้วล่ะ!
- Illustrator:
- Jostar
- พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
- Editor:
- Perapat T.
- Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)