ชื่อหนัง : Jurassic World : Fallen Kingdom (2018)
ประเภท : Sci-Fi
บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ 8 นาที และมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน
“ชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างอยู่ในพระหัตถ์พระองค์
รวมทั้งลมหายใจของมนุษย์ทั้งปวง” – (โยบ 12:10)
ตอนเด็ก ๆ ของเล่นส่วนใหญ่ของลุงหมีเป็นพวกไดโนเสาร์ยาง ด้วยสาเหตุนี้ละมั้งที่ทำให้ลุงหมีติดตามหนังในตระกูลจูราสสิคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 20 ปี ตั้งแต่สมัย Jurassic Park จนตอนนี้อัพเกรดเป็นระดับโลก (World)
เกริ่นก่อนว่า หนังต้นตระกูล Jurassic นั้นกำกับโดยพ่อมดแห่งฮอลลีวู๊ดอย่าง สตีเว่น สปีลเบิร์ก นั้นดัดแปลงเนื้อเรื่องมาจากนวนิยายชื่อดังของไมเคิล ไครชตัน ในช่วงต้นยุค 90 อันเป็นช่วงเวลาที่เรื่องการโคลนนิ่ง กำลังถูกพูดถึงใหม่ ๆ เป็นประเด็นดราม่าร้อนในยุคสมัยนั้นเลย บ้างก็ว่ามันเป็นวิทยาการ บ้างก็ว่ามนุษย์ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสร้างชีวิต
จนมาถึงยุค 2010 ที่แทบทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่มอเตอร์ไซต์ยันเครื่องดื่มพร้อมใจกันรีโทร (Retro) ปลุก กระแสให้คนรุ่นลุงได้คิดถึงวันละอ่อน หนังตระกูล ‘จูราสสิค’ ก็ไม่น้อยหน้าโดยได้กลับมาเรียกความฝันวัยเยาว์ไปแล้วในภาค 4 Jurassic World เมื่อปี ค.ศ. 2015 และปี 2018 นี้ก็กลับมาอีกครั้งกับภาค 5 Jurassic World : Fallen Kingdom หนังโชว์ล้ำว่าแค่โคลนนิ่งมันธรรมดาไป ยุค 4.0 มันต้องตัดต่อ Copy Paste พันธุกรรมรัว ๆ เรียกว่าประเด็นถกกันไปไกลถึงการดัดแปลงสายพันธุ์ ตัดต่อยีนส์ กันแล้ว
ในภาค Fallen Kingdoms ตัวหนังเปิดเรื่องในช่วงเวลาห่างจากภาคที่แล้วประมาณ 3 ปี พูดถึงเกาะ อิสลาร์ นูบลาร์ อันสงบสุข ที่คุณตาจอห์น แฮมมอนด์ มหาเศรษฐีคลั่งไดโนเสาร์ เจ้าของบริษัทอินเจ้นท์ไปลงทุนสร้างสวนสนุกหมื่นล้านดอลล่าไว้ตั้งแต่ภาค 1 ว่า… ภูเขาไฟที่ควรจะดับไปแล้วกลางเกาะมันส่อแววประทุซะงั้น ทีนี้แน่นอนว่าไดโนเสาร์ทั้งหมดก็อาจต้องสูญพันธุ์กันอีกรอบถ้าไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วย
ด้วยเหตุนี้ โอเว่น พระเอกนักพฤติกรรมสัตว์ และ นางเอกแคลร์ นักบริหารสาว (ผู้สามารถวิ่งทีเร็กซ์บนรองเท้าสนเข็ม) พร้อมด้วยตัวละครใหม่อย่าง แฟรงคลิน นักคอมพิวเตอร์ระบบ และ เซีย ซึ่งเป็นสัตวแพทย์สัตว์โลกดึกดำบรรพ์ (แต่ไม่เคยเจอไดโนเสาร์มาก่อนในชีวิต) จึงได้รับการติดต่อจาก คุณปู่ล๊อกวู๊ด (อดีตคู่หูธุรกิจของคุณตาแฮมมอนด์) และผู้ช่วยของเขา อีไล เพื่อทำภารกิจลับไปช่วยกู้ภัยเหล่าไดโนเสาร์ออกจากเกาะ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ บลู ไดโนเสาร์สายพันธุ์แร็พเตอร์ ที่โอเว่นเลี้ยงมากับมือเพราะมันคือไดโนเสาร์ตัวแรกที่สื่อสารกับมนุษย์ได้
ต่อจากนี้ลุงหมีมีสปอยนะ …
แต่ทั้งหมดเป็นแผนของอีไล เพื่อหลอกเก็บตัวอย่างพันธุกรรมเจ้าบูล ไปสร้างไดโนเสาร์นักล่าพันธุ์ใหม่ ชื่ออินโดแร็พเตอร์ เพื่อนำออกขายตามสไตล์ตัวร้ายหวังรวย
มนุษย์ ควบคุมทุกอย่างได้จริงหรือ?
ประเด็นที่หนังหยิบขึ้นมาให้ชวนคิดตลอดทั้งเรื่องคือ ไดโนเสาร์พวกนี้ที่จริง ๆ สูญพันธ์ไปแล้ว จะยังมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองหรือกระทั้งสมควรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปหรือไม่ การเข้าไปช่วยเหลือมันจะเหมือนเป็นการไปฝืนธรรมชาติหรือไม่? เพราะแค่การสร้างมันก็ฝืนมากแล้ว หากธรรมชาติจะล้างบางพวกมันอีกครั้ง และเราควรจะฝืนต่อไปไหม? อีกทั้งชีวิตของมันจริงแล้วก็เป็นทรัพย์สินของบริษัทเอกชน
ตัวหนังพยายามพูดถึง ผลแห่งน้ำมือมนุษย์ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงแก่โลกโดยฉับพลัน ทั้งสภาพ (Climate Change) และ ความสมดุลย์ทางธรรมชาติ ว่าการพยายามควบคุม แก้ไข จัดการของคน ไม่ต่างกับหายนะทางธรรมชาติอื่นๆ เลยที่ทำให้โลกมีแต่แย่ลง
โดยในหนังรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะไม่ช่วยเหลือ เพราะเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็น “การกระทำของพระเจ้า หรือ Act of God” ซึ่งหากพูดกันในภาษาประกันภัยก็คือ เหตุการณ์สุดวิสัยที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ปราศจากการข้องเกี่ยวและอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ พายุถล่ม ภูเขาไฟระเบิด โรคระบาด เป็นต้น
โดยสรุปก็คือ สิ่งใดก็ตามที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจหรือยากเกินการควบคุม ล้วนแล้วแต่เป็น Act of God ซึ่งหากจะมองย้อนเข้าไปดูในพระคัมภีร์ปฐมกาลแล้ว Act of God หรือสิ่งที่พระเจ้ามีอำนาจที่จะกระทำและมนุษย์ได้แต่เพียงมองตาปริบๆ ก็คือ
1. การทรงสร้าง
“การให้ชีวิต” กับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโลก จักรวาล หรือสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ (เริ่มจากสวนเล็ก ๆ ชื่อ เอเดน) ซึ่งพระเจ้าเห็นว่าทุกอย่างนั้น “ดี” (ปฐมกาล 1) และพระองค์ให้มนุษย์เป็นผู้ “ดูแล” (ปฐมกาล 2 :15) แต่มนุษย์กลับมีความอยากเป็นพระเจ้า ซึ่งนำไปสู่ Act of God อย่างที่สองคือซึ่งก็คือ
2. การอนุญาตให้เกิดความตาย
“ความตาย” (ปฐมกาล 3 :19) มีอำนาจเหนือโลกนี้ จากที่มนุษย์กับสัตว์เคยอยู่สบายกันอย่างสบายในสวนเอเดน ตอนนี้กลับมีสัตว์ (ที่พระเจ้าให้มนุษย์) ดูแลต้องตายเพื่อนำหนังมาให้อดัมและเอวาสวมใส่ “พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงทำเสื้อด้วยหนังสัตว์ให้อาดัมและภรรยาของเขาสวมปกปิดกาย” (ปฐมกาล 3:21) ดินจากที่เคยสมบูรณ์ก็แข็งกระด้าง “แผ่นดินจึงต้องถูกสาปเพราะเจ้า” (ปฐมกาล 3:17) พืชที่เคยอ่อนนุ่มก็งอกหนาม “ต้นไม้และพืชที่มีหนามจะงอกขึ้นบนดินแก่เจ้า” (ปฐมกาล 3:18) จะเห็นได้ว่าเพราะบาปของมนุษย์ความทุกข์ยากและความตายจึงเข้ามาสู่ระบบของโลกนี้
“ไม่ว่าจะโดยหวังดี หรือ หวังร้าย การพยายามแทรกแซงหรือเล่นเป็นพระเจ้าของคนเรา
เป็นสาเหตุใหญ่เลยของความเสื่อมโทรมของโลก การสูญพันธุ์ และหายนะ”
การกระทำของพระเจ้า หรือ Act of God ทั้งสองอย่างนี้ มนุษย์รู้ลึก ๆ ตัวเองไม่มีสิทธิเอาชนะได้ แม้วิทยาการจะล้ำไกลขนาดไหน แต่เราก็ได้เพียงแค่พยายาม “เล่นบทพระเจ้า Playing God” ซึ่งหนังได้นำเสนออย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการพยายาม “สร้างสิ่งมีชีวิต” ใหม่อย่างเจ้าอินโดแร๊พเตอร์ หรือการพยายามเอาชนะ “ความตาย” ด้วยการโคลนนิ่งมนุษย์ที่ตายไปแล้ว แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีทางที่จะควบคุมทุกสิ่งได้ หนังสะท้อนถึงแนวคิดนี้ผ่านทางตัวละครของ แฟรงคลิน ซึ่งโดยอาชีพของนักคอมพิวเตอร์ระบบแล้วเขาเล่น “เล่นบทพระเจ้า” มากที่สุด สามารถสั่งการให้ประตูเปิดปิดหรือค้นหาตำแหน่งของไดโนเสาร์ทุกตัวได้เพียงการดีดคียบอร์ดไม่กี่ครั้ง แต่แฟรงคลินกลับเป็นตัวละครที่โดนกระแสเหตุการณ์พัดพาหรือตกกระไดพลอยโจนที่สุด (มีฉากเกี่ยวกับบันไดจริง ๆ นะ) ตั้งแต่จับพลัดจับผลูไปเป็นลูกเรือจนกระทั่งไปโผล่เป็นเด็กแล็ปตอนท้ายสุด หรือการที่หนังแอบสอดแทรกเหตุการณ์บังเอิญต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินเรื่อง ความเหมาะเจาะและบังเอิญหลายอย่างเกิดขึ้น และ ชักนำให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างไม่สามารถคาดคะเน
สิ่งที่ทุกคนในเรื่องค่างคิดว่าตนเองสามารถสร้างขึ้นมาและสามารถควบคุมได้นั้น สุดท้ายพวกเขาควบคุมอะไรไม่ได้เลย
ส่งท้าย วิทยาศาสตร์เป็นศัตรูกับความเชื่อไหม? :
แม้หัวใจของวิทยาศาสตร์คือ ความพยายามของมนุษย์ที่จะเรียนรู้และเข้าใจปรากฎการณ์ธรรมชาติเพื่อที่จะควบคุมมันให้ได้ในที่สุด จนคนบางกลุ่มต่อต้านวิทยาศาสตร์เพราะคิดว่าเป็นความพยายามขัดขวาง Act of God จนเดินเข้าป่าไปอยู่โดยไม่พึ่งวิทยาการ แต่โดยส่วนตัวลุงหมีไม่ได้คิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสิ่งชั่วร้าย ในทางตรงข้ามกลับมองว่าเป็นของประทานจากพระเจ้าที่ทำให้หลาย ๆ คนได้เข้าใกล้และรู้จักพระเจ้ามากขึ้น แถมยังได้ช่วยเพื่อนมนุษย์ไปในตัว เพียงแต่เราต้องศึกษาเรียนรู้ บนพื้นฐานของความยำเกรงพระเจ้าและไม่ลืมในความจำกัดของตนเอง เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งอย่างได้ หรือแท้จริงแล้วเราแทบไม่สามารถควบคุมสิ่งใดได้เลย สิ่งเดียวที่เราพอจะควบคุมได้คือ “ท่าทีในการตอบสนองของเรา” ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะดีหรือร้าย มีชัยหรือผ่ายแพ้ ได้รับหรือสูญเสีย ขอให้ตอบสนองและเรียนรู้ทุกสิ่ง ภายใต้ความยำเกรง ความวางใจและความรักในองค์พระผู้เป็นเจ้า
พระเจ้าให้มนุษย์ดูแลหรืออภิบาลโลก แต่หากมนุษย์ไม่วางใจในการดูแลของพระเจ้า และดื้อดึงที่จะทำตามใจตนเองโดยไม่เกรงกลัวพระเจ้าแล้ว ความทุกข์ยากลำบากและภัยพิบัติดังในสวนเอเดนและภาพยนต์เรื่องนี้อาจจะอยู่ไกลเกินที่เราคาดไว้ก็ได้
“ความยำเกรงพระยาห์เวห์เป็นที่เริ่มต้นของปัญญา และการรู้จักองค์บริสุทธิ์เป็นความรอบรู้”
สุภาษิต 9:10 THSV11
#ด้วยรักและชูโรง
ลุงหมีสักหลาด
ติดตาม ชูโรง จากคอลัมน์ Featured กับการถอดหนังสไตล์คริสเตียนได้กับลุงหมีสักหลาด และผองเพื่อนคริสเตียนรักหนังได้ในครั้งหน้า ทางเว็บไซด์ www.choojaiproject.org
Related Posts
- Author:
- ชายอบอุ่นที่มีหลากหลายมิติ มีทั้งมิติแห่งการเป็นผู้รับใช้ มิติของคุณครูภาษาอังกฤษ แถมด้วยมิติของการเป็นนักดูหนังตัวยง ชูใจจึงจีบมาเขียนรีวิวหนัง และบทความความรู้พระคัมภีร์ซะเลย
- Illustrator:
- Jostar
- พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
- Editor:
- Perapat T.
- Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)