ผู้เขียน : ‘พี่เฟย’ ณิชา หลีหเจริญกุล (นักจิตบำบัด)
บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
อ่านตอนอื่นๆ ของซีรีส์นี้ได้ทาง : https://choojaiproject.org/category/articles/life-series/me-and-another-me/
*บทความตอนพิเศษว่าด้วยมุมมองที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าจากนักจิตบำบัด
สังคมอย่าตีตรา
พี่เฟย เชื่อว่าหลายคนคงจะได้อ่านซีรีส์ Me & Another Me ของชูใจไปแล้ว ก็คงจะเริ่มรู้จักความคิด จิตใจ และอารมณ์ของคนที่เป็นซึมเศร้ามากขึ้นใช่ไหมคะหรือถึงจะยังไม่ได้อ่านซีรีส์นี้ แต่คงไม่มีใครในยุคนี้ที่ไม่รู้จักโรคซึมเศร้า แต่ถึงจะรู้จักกันมากขึ้นก็ใช่จะยอมรับกันง่ายๆ เพราะสำหรับบางคน การที่จะต้องมาเจอจิตแพทย์ นักจิตบำบัด หรือคนทำงานในสายสุขภาพจิต ต้องต่อสู้กับความคิดที่ว่า “ฉันเป็นบ้าเหรอ? ถึงขั้นต้องมาเจอจิตแพทย์เลยเนี่ยนะ?!” ทั้งๆ ที่ในใจรู้สึก “ไม่ไหวแล้วโว้ยยยย ใครก็ได้ช่วยที” แต่ก็สะกดกลั้นอารมณ์เอาไว้ บทความนี้เลยอยากจะชวนทำความเข้าใจกับทัศนคติของการ “ตีตรา” กันค่ะ
การตีตรา (Social Stigma) คุณ Goffman1 อธิบายว่า การตีตราทางสังคม ทำให้เกิดความรู้สึกอับอายขายหน้า (Shame) และเสื่อมเสียชื่อเสียง (Discredit) อธิบายง่ายๆ เช่น ตอนเด็กๆ เวลาเราล้อเพื่อน หรือ ถูกเพื่อนล้อก็มักจะพูดว่า อีอ้วน ดำ ฟันเหยิน … จนบางทีเราก็ลืมนึกไปว่า คนเราแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่พอเราเห็นคนที่ต่างจากเรา คิดว่าเค้าแปลกแยก กลายเป็นว่าเรามองเค้าเป็น ‘สิ่งอื่น’ ที่ผิดแผกแตกต่างออกไป เราก็เลยนิยามคนเหล่านั้นด้วยจุดด้อยของเขา นั่นแหละจ้าที่เรียกว่า “ตีตรา” ล่ะ
โรคทางใจไม่ได้แปลว่าผีเข้า
ขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง ในหนังสือเรื่อง The Mark of Shame2 ได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงปี ค.ศ. 1400 ว่าในสมัยนั้นโบสถ์มีการล่าแม่มดเกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าคนหลายคน เป็นคนที่ถูก “ผีเข้า” เลยจับคนเหล่านั้นมาเผาทั้งเป็นเพื่อขับผีออก แต่ความจริงคนเหล่านั้นเผชิญกับภาวะจิตใจเปราะบาง หรือบางคนที่เป็นโรคลมชัก (Epilepsy) แต่เพราะอาการที่แสดงออกมันดู ‘แปลกประหลาด’ ก็มักจะถูกขับผีท่าเดียว นั่นก็เพราะสมัยนั้นคนยังไม่เข้าใจเรื่องสุขภาพจิต คนที่เผชิญกับความท้าทายในเรื่องนี้จึงถูก “ตีตรา” ง่ายๆ ว่า ผีเข้าบ้าง ทำบาปจึงถูกพระเจ้าลงโทษบ้าง หรือเชื่อว่าที่เป็นโรคซึมเศร้าเพราะคนนั้นทำผิดต่อพระเจ้า พระเจ้าลงโทษ หรือพระเจ้าทอดทิ้งก็มี ความเชื่อพวกนี้เลยกลายเป็นกำแพงสู๊งงงงงงงสะกัดกั้นคนที่แสวงหาความช่วยเหลือ หรือทำให้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือสักที
คนป่วยทางใจ หรือทางกาย ก็ต้องการหมอ
ทีนี้ไม่ว่าจะโรคทางกายหรือทางใจ ถ้าเจอหมอแล้วก็จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร นี่ก็เพื่อจะได้รักษากันถูกต้อง แต่คนฟังนี่สิ พอได้ยินแล้วมันก็แบบ… OMG! นี่ฉันเป็นซึมเศร้าเหรอแกรรรรร! มันเหมือนทำให้เรา ‘ผิดไปจากปกติ’ เอาแค่คำว่า จิตเวช หรือ Abnormal ก็ทำให้หลายคนที่แค่ได้ฟังก็ห่อเหี่ยวใจแล้ว มันเลยกลายเป็นอีก ‘ตราประทับ’ ที่แกะออกจากใจยาก แถมยอมรับยากอีกด้วย ก็เลยมีการใช้คำที่ทำให้ดูซอฟท์ขึ้น เช่น ผู้ที่เคยมีประสบการณ์กับโรคซึมเศร้า ผู้ที่มีความท้าทายด้านสุขภาพจิต (Mental health challenges) หรือ ผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี (อันนี้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพทางกายกับทางใจ)
อย่าเป็นเหมือนเพื่อนโยบ
การตีตราในอีกรูปแบบหนึ่งที่อยากยกตัวอย่างจากพระคัมภีร์ก็คือ โยบและเพื่อนโยบ (โยบ 2:11-13) สำหรับคนที่ไม่เคยอ่านโยบ (แต่อยากให้อ่านเองด้วยนะ) เล่าสั้นๆ ก็คือ เพื่อนโยบ 3 คนเดินทางมาเยี่ยมโยบเพราะได้ยินข่าวว่าโยบหมดเนื้อหมดตัว ลูกๆ ก็พากันเสียชีวิตไปหมด แถมตัวเองก็เป็นโรคเรื้อน ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการที่พระเจ้าอนุญาตให้มารได้ทดสอบโยบ (โยบ 1) ทดสอบว่าจะสุขจะทุกข์ พระเจ้าและโยบต่างก็ไม่ทิ้งกัน แต่เพื่อนโยบสามคนมาแนวแบบว่า โยบเจอขนาดนี้เพราะทำบาปมาชัวร์ ไม่งั้นพระเจ้าไม่ให้มีสภาพแบบนี้หรอก กลับใจใหม่ซะ (โหว แรว๊งส์!)
“ไม่เจ็บอย่างฉันใครจะเข้าใจจจจจ” นี่คงเป็นเพลงที่โยบคิดอยู่ในขณะที่เพื่อนทั้งสามรุมประนาม
แต่สิ่งหนึ่งที่โยบทำคือ หันเข้าหาพระเจ้าแล้วยืนยันว่า “พระเจ้า เราจะต้องคุยกันเรื่องนี้ ทำไมเรื่องพวกนี้ถึงเกิดขึ้นกับผ้มมม!!!” (โยบ 13:16-18) ขอนับถือในความกล้าหาญที่โยบมีต่อพระเจ้านะ เขากล้าคุยกับพระเจ้าอย่างตรงไปตรงมา เขากล้าบ่นกับพระเจ้า (โยบ 13:3, 13:20-27) ไม่ใช่ว่า โยบไม่รัก ไม่เคารพพระเจ้านะ แต่เขาอยากเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วคุณเพื่อนโยบก็ไม่ได้ช่วยอะไรเล้ยยยย นอกจากประณามว่าชีวิตต่ำตม เพราะเขาทำบาป
ดังนั้นสำหรับคริสเตียนที่มีคนรอบตัวที่เผชิญความท้าทายด้านจิตใจอยู่ สิ่งที่ง่ายที่สุดที่เราจะทำได้คือ อย่าเป็นเหมือนเพื่อนโยบ แต่ให้อธิษฐานถามพระเจ้าเลยว่า พระเจ้าคะ/ครับ พระเจ้ามองคนนี้ยังไง? เพราะอะไรเขาถึงเป็นแบบนั้น? ถามแล้วก็อย่าลืมรอฟังคำตอบด้วยนะจ๊ะ เพราะพระเจ้าจะให้เรามีมุมมองเพื่อเข้าใจเขา ‘ลึกและกว้าง’ ขึ้น หรือถ้าคุณอยากเข้าไปให้การช่วยเหลือ สิ่งที่ทำได้เลยคือ อธิษฐานเผื่อเขาอย่างต่อเนื่อง! ขอย้ำว่า อ ย่ า ง ต่ อ เ นื่ อ ง ง ง ง ง… ด้วยความรักและห่วงใยพระเจ้าจะมีวิธีดูแลเขา เพราะพระเจ้ายินดีช่วยเป็นอย่างมาก (ขอย้ำว่า ก.ไก่ล้านตัว)
คำแนะนำสำหรับผู้ที่เผชิญกับโรคซึมเศร้า
สมัยนี้มีการให้บริการด้านสุขภาพจิตให้การเข้าถึงได้แล้ว สำหรับจิตแพทย์ จะตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อรักษาด้วยยา รวมถึงการให้คำปรึกษาหรือการทำบำบัด จิตแพทย์อาจจะส่งให้นักจิตบำบัดทำงานเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง หรือนักจิตวิทยาที่จะให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน ถ้ารู้สึกว่า ไม่ไหวแล้ว อย่ากลัวการถูกตีตรา ทุบกำแพงในใจทิ้ง แล้วเข้าถึงการช่วยเหลือ มันไม่ได้แปลว่า เราอ่อนแอ พ่ายแพ้ แต่มันคือการตัดสินใจยอมรับและกล้าเผชิญกับความเจ็บปวดเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง
บทความ Me & Another Me (Special) ตอนถัดไป พี่เฟยจะพูดถึงสาเหตุที่เป็นไปได้
ที่ทำให้เกิดความรู้สึกซึมเศร้า สาเหตุมีหลายอย่าง และแตกต่างกันในรายละเอียด ติดตามตอนต่อไปนะจ๊ะ
ด้วยรักและชูใจ
Reference:
- Goffman, E. (1963). Stigma Notes on the Management of Spoiled Identity. New York: Simon & Schuster, Inc.
- Hinshaw, S.P. (2007). The Mark of Shame Stigma of Mental Illness and an Agenda for Change. New York: Oxford University Press.
Related Posts
- Author:
- หลังจากเรียนจบศิลปกรรมศาสตร์ การละคร ม.ธรรมศาสตร์ ก็สนใจทำงานด้านเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากเรียนต่อปริญญาโทสาขาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นต่อปริญญาโทด้านศิลปะบำบัดที่ LASALLE College of Arts ที่ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันกลับมาทำงานประจำที่คลีนิค The Oasis (https://www.theoasiscare.com/nicha-leehacharoenkul)
- Illustrator:
- Emma C.
- เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน
- Editor:
- Jick
- บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง