ชิ้นส่วนที่หายไป กับปากแผลที่เย็บปิดไม่ได้ (me & another me)

EP. 3/6

ชิ้นส่วนที่หายไป กับปากแผลที่เย็บปิดไม่ได้ (me & another me) – EP.3/6


บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
อ่านตอนอื่นๆ ของซีรีส์นี้ได้ทาง : https://choojaiproject.org/category/articles/life-series/me-and-another-me/


 

 

***เรื่องราวในตอนนี้เกิดขึ้นก่อนที่ผู้เขียนจะรู้จักกับพระเจ้า
การบรรยายความคิดและความรู้สึกเป็นไปตามสถานการณ์ของผู้เขียนที่กำลังเผชิญขณะนั้น***

 

 

ชิ้นส่วนที่หายไป กับปากแผลที่เย็บปิดไม่ได้

ฤดูฝน, 2554

 

เช้าวันพฤหัสบดีที่มืดครึ้มเริ่มต้นขึ้นเหมือนเคย ฉันในชุดนักเรียนพร้อมกระเป๋าหนังถูกระเบียบที่ภายในไม่มีหนังสือเรียนสักเล่มหากแต่เต็มไปด้วยชีทแบบทดสอบอาการของโรงพยาบาลปึกใหญ่และไดอารี่ที่พกติดตัวตลอดเวลา เดินมาถึงหน้าปากซอยแล้วเลี้ยวไปทางตรงกันข้ามกับโรงเรียนเพื่อขึ้นรถประจำทางไปโรงพยาบาล

 

การบำบัดครั้งที่แล้วทำให้ฉันเข้าใจบางส่วน แต่กลับไปนอนคิดดีๆ ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่เข้าใจ ฉันไม่เข้าใจความเจ็บและเศร้าที่ฝังอยู่ใต้เนื้อหนังนี้ มันคอยจะกัดกินทุกครั้งที่ฉันเผลอวางใจว่ารับมือได้ แล้วยังความเกลียดชังต่อผู้คนที่จู่โจมเข้ามาอย่างไม่มีเหตุผล ลุกลามแม้กระทั่งกับคนทั่วไปที่เพียงเดินผ่าน

 

ไม่รวมถึงบางคน ที่เจอกันกี่ทีก็อยากจะหนีไปให้พ้นหน้า ความรู้สึกอันตรายสั่นคลอนสภาพจิตใจจนแทบรับไม่ไหว ช่องท้องปั่นป่วนและคลื่นเหียนในลำคออย่างไม่มีสาเหตุ

 

“ระดับของความรู้สึกอันตรายมีมากแค่ไหน จาก 1-10?”

 

ฉันตอบคำถามของหมอไปว่าสำหรับบุคคลนี้เป็นความอันตรายที่จินตนาการตัวเลขไม่ออก คาดคะเนไม่ได้ เข้าใจเพียงเมื่ออยู่ด้วยอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

 

การตรวจและการให้คำปรึกษาวันนี้จบลงที่ฉันได้เปลี่ยนยาตัวใหม่ เนื่องจากชั่งน้ำหนักรอบนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนนัดครั้งต่อไปจะเริ่มในอีก 4 วันข้างหน้า ซึ่งอยู่นอกเวลาทำการที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ และนั่นจะเป็นการรับจิตบำบัดฐานะกรณีศึกษาครั้งที่ 2 ของฉัน

 

____________________________

 

ฝนปรอยทำให้ชุดนักเรียนชื้น และชุดนักเรียนชื้นๆ ทำให้อากาศในห้องปรับอากาศหนาวเย็นจนขนลุก

 

จิตบำบัดรอบนี้เริ่มขึ้นในห้องประชุม ประกอบด้วยโต๊ะยาวหนึ่งตัวตั้งตรงกลางห้องและเก้าอี้หลายตัวที่มีผู้จับจองจนครบวางรอบโต๊ะ จำนวนคนมากขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว อีกทั้งมองเผินๆ อายุเฉลี่ยของมนุษย์เสื้อกาวน์เหล่านี้ก็มากขึ้นเช่นกัน

 

 

ฉันนั่งบนเก้าอี้หมุนตำแหน่งหัวโต๊ะ ประจันหน้ากับแพทย์หญิงที่ดูมีอายุที่สุดในห้อง ส่วนหมอประจำตัวของฉันนั่งในตำแหน่งผู้ชม ซึ่งทำให้เข้าใจว่าผู้บำบัดในวันนี้คือแพทย์หญิงตรงหน้าที่คนในห้องเรียกกันว่า “อาจารย์หมอ”

 

ริ้วรอยย่นบนใบหน้าที่เกิดจากการยิ้มทักทายทำให้ฉันผ่อนคลายขึ้นได้บ้างระหว่างตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว จนกระทั่งอาจารย์หมอถามถึงช่วงเวลาแห่งจุดเริ่มต้นของความเจ็บเศร้าไร้สาเหตุที่ติดค้างอยู่ในใจและความเกลียดชังที่มีเฉพาะกับบุคคลหนึ่ง แล้วฉันก็พบว่าอับจนกับคำตอบด้วยประมาณคร่าวๆ ได้เพียงว่าเกิดเมื่อปิดเทอมฤดูร้อนก่อนขึ้นชั้นประถม 4 ทว่าไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นระหว่างนั้น

 

อาจารย์หมอบอกให้หลับตาเพื่อทำสมาธิ ฉันเข้าใจได้ด้วยสัญชาติญาณว่าการบำบัดของจริงเริ่มขึ้นแล้ว

 

 

หลังจากคำสั่งกำหนดลมหายใจ ฉันก็จำไม่ค่อยได้ว่าอาจารย์หมอพูดอะไรอีก

 

รู้ตัวอีกทีฉันก็มองเห็นฝุ่นผงลอยในอากาศ แสงเช้าสาดส่องเข้ามาในบานหน้าต่างไม้ที่ไม่คุ้นเคย ฉันเดินผ่านตู้เย็นที่ส่งเสียงครางเบาๆ ก่อนจะมาถึงห้องนอนที่มีฟูกหุ้มด้วยผ้าปูที่นอนสีขาวผืนใหญ่วางอยู่ริมขวาของห้อง เมื่อเข้าใกล้จึงเห็นว่าใต้ผ้าห่มนั้นมีคนนอนอยู่ถึงสามคน

 

ผู้ชายคนหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่ง และตัวฉันในวัยประถม นอนเรียงกันบนฟูกกว้าง

 

ฉันมองไปนอกหน้าต่างก่อนจะได้ยินเสียงของอาจารย์หมอที่ถามขึ้นว่าได้ยินเธอไหม หลังตอบรับว่าได้ยิน เธอก็ถามต่อว่าตอนนี้ฉันอยู่ที่ไหน และมองเห็นอะไรบ้าง

 

ฉันตอบไปอย่างที่มองเห็น

 

อากาศอบอุ่นของยามเช้าทำให้รู้สึกสบายตัว ฉันเห็นตัวเองในวัยประถมขยับตัวยุกยิกเป็นสัญญาณว่าตื่นแล้ว ทว่าไม่ได้ตื่นเพราะแสงแดด แต่ตื่นด้วยแรงสั่นสะเทือนของพื้นไม้  ตอนนั้นเองที่น้ำตาไหลจากดวงตาที่ปิดแน่นของตัวฉัน ซึ่งนั่งอยู่ในห้องประชุมเย็นชื้น

 

“เข้าใจแล้ว”

น้ำเสียงสั่นเครือพูดโพล่ง ก่อนจะตอบชุดคำถามด้วยการบรรยายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

เด็กคนนั้นที่นอนอยู่รู้สึกยังไง / กลัว / แล้วเด็กคนนั้นทำอะไรอยู่ / ตอนแรกเขาร้องตะโกนออกมา / ตะโกนว่าอะไร / ตะโกนให้หยุด / เกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น / มันน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ เขาเลยหันหนีไปอีกข้างแล้วมุดตัวอยู่ใต้ผ้าห่ม / เขาทำอะไรใต้ผ้าห่ม / เขานอนร้องไห้จนตัวสั่น / มีคนมาช่วยเขาไหม / ไม่มีเลย / แล้วหนูทำอะไรอยู่ / หนูยืนมองอยู่อีกมุม / หนูช่วยเขาได้ไหม เดินไปกอดเขา / … / บอกเขาว่าไม่เป็นไร / … / ลูบหัวเขาด้วยได้ไหม ให้ความรักกับเด็กคนนั้น

 

ทั่วทั้งใบหน้าตอนนี้เปียกไปด้วยน้ำตาและน้ำมูก แม้ดวงตาจะปิดอยู่แต่น้ำตาก็ไหลลงไม่ขาดสาย จำได้คร่าวๆ ว่าอาจารย์หมอพักให้ลืมตาแล้วจึงถามถึงทัศนคติและมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับนำเสนอทางแก้ด้วยการให้อภัยกับคนที่ทำร้ายตัวฉันในวัยเด็ก ต่อด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีกสักครู่ ก่อนเธอจะพูดอะไรบางอย่างที่ไม่รู้ว่าคืออะไร และฉันก็กลับไปในห้วงคำนึงอีกครั้ง

 

หลังเปลือกตาบวมเป่งไม่ใช่บ้านไม้อีกต่อไป คราวนี้เป็นห้องมืดไร้หน้าต่างที่มองเห็นแสงรำไรลอดผ่านส่วนล่างของบานประตูเก่าๆ บานหนึ่ง ฉันเห็นตัวฉันอีกคนนั่งกอดเข่าอยู่มุมห้อง

 

บรรยายสถานที่ใหม่จนจบอาจารย์หมอก็ถามฉันว่าประตูนั้นถูกล็อกไว้หรือเปล่า ฉันตอบทันทีว่าไม่ ทั้งที่ยังไม่ได้ลองเปิดดูแต่ฉันก็มั่นใจว่าตัวเองรู้เหมือนกับที่รู้ว่าฉันอีกคนรู้สึกอย่างไรในตอนนี้  เขารู้สึกปลอดภัยที่สุดเมื่อนั่งอยู่ที่นี่ ในห้องมืดอบไร้หน้าต่าง

 

อาจารย์หมอให้ฉันเดินเข้าไปหาฉันอีกคนและจับมือพาฉันคนนั้นออกจากห้องไป แม้จะไม่เต็มใจละจากสถานที่สุขสบายและปลอดภัยนี้ก็ตาม

 

ง่ายแสนง่ายจนฉันสงสัยว่า…ทำไมฉันอีกคนไม่เดินออกไปเองในเมื่อประตูก็ไม่ได้ล็อกอยู่

 

ทันทีที่เปิดประตูออกแสงสว่างจ้าก็สาดส่องเข้ามาในห้องไร้หน้าต่างนั้น ฉันจูงมือฉันอีกคนเดินออกมาแล้วพบว่าที่แห่งนี้กว้างใหญ่กว่าระยะสายตาจะมองไปถึง เราได้ยินเสียงลมหายใจของกันและกัน

 

ออกมาแล้วค่ะ / หนูกล้าหาญมากที่ทำอย่างนั้น / จบแล้วเหรอคะ / เสร็จแล้วนะ แต่ถ้าเขาเดินกลับไปอีกเมื่อไหร่ หนูต้องเป็นคนไปพาเขาออกมา เพราะมีหนูเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะพาเขาออกมาได้

 

ส่วนหลังของจิตบำบัดใช้เวลาไม่ถึงครึ่งของส่วนแรกด้วยซ้ำ ฉันนั่งฟังอาจารย์หมอตอบคำถามของผู้ฟังจนจบก่อนจะกล่าวขอบคุณและก้าวออกจากห้องพร้อมกับหมอประจำตัวที่เดินไปส่งถึงนอกโรงพยาบาล

 

 

เหมือนได้ประกอบชิ้นส่วนที่หายไปเข้าด้วยกัน ฉันไม่อาจรู้แน่ชัดว่ามันหายไปด้วยความไม่เข้าใจสถานการณ์ในตอนนั้น หรือหายไปเพราะเข้าใจดีอยู่แต่แรกจึงตั้งใจกำจัดมันทิ้ง

 

ไม่รู้ว่าการรู้ตำแหน่งของบาดแผลจะทำให้อะไรๆ ดีขึ้นหรือไม่ ในเมื่อตอนนี้ปากแผลได้ถูกเปิดขึ้นเพื่อรอให้ตัวฉันเองรักษามัน ไม่รู้กระทั่งว่าระหว่างการเย็บปิด กับการค่อยๆ รักษาให้หาย (ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่) อย่างไหนจะดีกว่ากัน

 

รู้อยู่อย่างเดียวคือที่มาของความเจ็บเศร้ามีอยู่จริง ฉันไม่ได้รู้สึกไปเอง

 

 


ติดตาม Me & another Me ตอนต่อไป ได้ในวันเสาร์ ที่ 28 เมษายน เวลา 21.00 น.
และอ่านตอนที่ผ่านมาที่ https://choojaiproject.org/category/articles/life-series/me-and-another-me/

 


Previous Next

  • Author:
  • เด็กผู้หญฺิงธรรมดาที่พบว่าตัวเองป่วยเป็น โรคซึมเศร้า เมื่อคุณหมอบอกให้การบ้านเป็นการเขียนไดอารี่ จึงเกิดเรื่องราวใน Me AND ANOTHER ME ขึ้นมา เคยเชื่อว่ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่งดงาม จนได้มาเจอพระเจ้าผู้สมบูรณ์แบบ
  • Illustrator:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน
  • Editor:
  • Perapat T.
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)