บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
อ่านตอนอื่นๆ ได้ทาง : https://choojaiproject.org/category/articles/life-series/me-and-another-me/
การบ้านที่ไม่มีคะแนน
ฤดูฝน, 2553
อีกไม่กี่นาทีจะบ่ายโมง ฉันควรเดินขึ้นรถประจำทางสักคันเพื่อกลับโรงเรียน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเปลี่ยนการลาครึ่งวันเป็นเต็มวันไปแทน สวนสาธารณะที่เคยเป็นแค่ทางผ่านจึงกลายเป็นที่สิงสถิตของวันนี้อย่างเป็นทางการ
“จำไว้นะ เรารู้จักกันที่นี่” [1]
ถึงจะเพิ่งนัดพบกันแค่สองครั้งแต่ฉันก็รู้สึกได้ว่าหมอพยายามจะช่วยฉันจริงๆ วันนี้เขาเลยแนะนำให้รู้จักเธอ เพราะฉันส่งการบ้านของอาทิตย์ที่แล้วเป็นกระดาษเปล่าไงล่ะ
ตอบไม่ได้หรอก ก็ฉันไม่เห็นข้อดีของตัวเองเลยสักข้อเดียว
พอคิดว่าต้องซื่อสัตย์กับคำตอบเลยไม่มีสักตัวอักษรเข้ามาในหัว ใครจะไปบอกได้ว่าตัวเองเป็นคนยังไง? ไม่รู้ว่าคนอื่นจะคิดอย่างฉันไหม แต่ฉันไม่เคยเข้าใจในความเป็นตัวเองเลย
ตัวตนของฉันที่แสดงออกมาน่ะ เป็นแค่เรื่องหลอกลวงทั้งนั้นแหละ
หมอพยายามพูดถึงเรื่องต่างๆ ที่ฉันทำได้ เพื่อให้ยอมรับว่ามันเป็นข้อดี แต่ว่านะ มันคนละประเด็นกัน ฉันรู้ว่าคำถามนี้ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของ “การรู้จักคุณค่าในตัวเอง” ที่หมอกำลังจะกรอกลงในใบประวัติ ระหว่างมองมือที่ขีดเขียนของหมอฉันเลยพูดโพล่งไปว่า “ฉันให้คุณค่าของตัวเองมากพอกับที่ฉันให้คุณค่ากับคนอื่น”
มือตรงหน้าหยุดนิ่ง ก่อนจะใช้ดวงตาที่เต็มไปด้วยความสงสัยจับจ้องมา และก่อนที่คำถามจะออกจากปากของหมอ ฉันก็อธิบายรายละเอียดของประโยคก่อนหน้าด้วยตัวเอง ถ้าจะบอกว่าฉันไม่รู้จักคุณค่าในตัวเองก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว ที่ใกล้เคียงกว่าน่าจะเป็น “ไม่รู้จักคุณค่าของมนุษย์” มากกว่า
ฉันเกลียดตัวเองเพราะฉันรังเกียจความเป็นมนุษย์… ใต้เนื้อหนังที่ห่อหุ้มร่างมีความชั่วที่แพร่กระจายเฉกเช่นโรคร้ายอยู่ภายใน ความคิดชั่วเริ่มขึ้นเมื่อลืมตาตื่นและหากไม่สิ้นสุดเมื่อหมดวันก็ไปสิ้นสุดลงในความฝัน ใช่ แม้กระทั่งฝันก็ยังคิดชั่วได้
ใกล้เคียงกับคำว่าท้อแท้ในการมีชีวิตอยู่ ฉันกล่าวโทษคนรอบตัวขณะเดียวกันกับที่ฉันกล่าวโทษตัวเอง สิ่งที่อยู่ในหัวทำให้ฉันรู้สึกขยะแขยงจนลงท้ายด้วยการกำหนดคุณค่ามันไว้น้อยนิด
เช่นนั้นการรับคำปรึกษา บอกเล่า หรือระบาย ย่อมเป็นเรื่องยาก ทั้งกลัวความคิดอย่างมนุษย์ของตัวเองจะถูกถ่ายทอดผ่านไปยังอีกความเป็นมนุษย์ ทั้งกลัวการคงอยู่ของความคิดเหล่านี้ในระยะยาว การเขียนบันทึกจึงเป็นตัวช่วยที่ (น่าจะ) ดีที่สุดของฉัน
____________________________
ดังนั้นนอกจากกินยาให้ตรงเวลาแล้ว ครั้งนี้หมอจึงให้เขียน “ไดอารี่” เป็นการบ้าน การบ้านที่ต้องพกติดตัวไปทุกที่เพื่อบันทึกเหตุการณ์ อารมณ์ และความรู้สึก ของแต่ละช่วงเวลาไว้เป็นหลักฐาน ทั้งเพื่อระบายออกและเป็นตัวอักษรที่ยืนยันเศษเสี้ยวของความเป็นตัวเองอย่างรูปธรรม การบ้านเล่มนี้ไม่มีคะแนน ไม่มีกำหนดส่ง และไม่ต้องให้ใครตรวจ ถ้าทำไปสักระยะแล้วชอบหมอก็แนะนำให้เขียนประจำไปเลย
นี่แหละ เหตุผลที่เรากำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในอีกไม่นาน…
(ติดตามอ่าน Me & another Me ตอนต่อไปได้ในวัน ศุกร์ ที่ 20 เมษายน 2018 เวลา 21.00 น. ทางเว็บไซด์ www.choojaiproject.org หรือ กดติดตามทางเพจเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/choojaiproject/)
เชิงอรรถ :
[1] เรา ในที่นี้คือผู้เขียน และ ไดอารี่ ของเธอ
- ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ มาโนช หล่อตระกูล ใน เว็บไซด์โรงพยาบาลรามาธิบดี : https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017
- แบบประเมิณโรคซึมเศร้า ของกรมสุขภาพจิต : https://www.dmh.go.th/test/download/files/2Q%209Q%208Q%20(1).pdf
Related Posts
- Author:
- เด็กผู้หญฺิงธรรมดาที่พบว่าตัวเองป่วยเป็น โรคซึมเศร้า เมื่อคุณหมอบอกให้การบ้านเป็นการเขียนไดอารี่ จึงเกิดเรื่องราวใน Me AND ANOTHER ME ขึ้นมา เคยเชื่อว่ามนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่งดงาม จนได้มาเจอพระเจ้าผู้สมบูรณ์แบบ
- Illustrator:
- Emma C.
- เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน
- Editor:
- Perapat T.
- Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)