ผู้เขียน : Wittawat Thamma
บทความนี้ใช้เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
ท้าวทองกีบม้า ในมุมด้านความเชื่อที่ละครอาจไม่ได้บอก…
แผ่นดินไทย – แผ่นดินธรรม
แม่มะลิในละครบุพเพสันนิวาส หรือ มารี กีมาร์ (Maria Guyomar de Pinha) หนึ่งสตรีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกในสมัยอยุธยา ผู้มีเชื้อสายสายโปรตุเกส เบงกอล และญี่ปุ่น เธอเป็นทายาทผู้เชื่อชาวญี่ปุ่นที่อพยพหนีมายังอยุธยาเพื่อหนีการข่มเหงคริสเตียนที่รุนแรงในญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ. 1592 ตามคำบัญชาของโชกุน โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ ในที่สุดต้นตระกูลของเธอได้ลงหลักปักฐานที่อยุธยาซึ่งเป็นเมืองที่มีเสรีภาพทางความเชื่อพอสมควร และไม่มีการเบียดเบียนทางศาสนา
อยุธยาในตอนนั้นเปรียบได้กับแผ่นดินที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับบรรดาประชากรของพระองค์ เล่ากันว่า ในหมู่บ้านญี่ปุ่นสมัยอยุธยาล้วนเต็มไปด้วยบรรดาคริสต์ชนชาวญี่ปุ่นที่พากันอพยพมายังแผ่นดินแห่งนี้ ไม่เพียงเท่านั้นอยุธยายังรุ่งเรืองไปด้วยความเชื่อมากมายอย่างเช่น อิสลาม ที่มีออกยาจุฬาราชมนตรี (หลวงศรียศ) เป็นผู้นำศาสนาในเวลานั้น
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Silence กลุ่มคริสเตียนลับในญี่ปุ่นกำลังประกอบพิธีมิสซา (มหาสนิท)
ซึ่งมีจำนวนมากที่ถูกสังหาร ทรมานในยุคของโชกุน โทะกุงะวะ อิเอะยะซุ (สมัยหลังจากละครเล็กน้อย)
กระจกสะท้อนแสง ศาสนภัณฑ์ที่ใช้ในกลุ่มคริสเตียนลับในญี่ปุ่น (hidden Christians) ซึ่งจะใช้กระจกดั่งกล่าวกระทบกับแสงแล้วฉายขึ้นผนังเพื่อใช้ในการภาวนาอย่างลับๆ จะเห็นได้ว่าการเชื่อพระเจ้าในสมัยนั้นไม่ได้ง่ายดายเลย
กลับมาสู่ชีวิตของมารี ที่เกิดและเติบโตขึ้นในแผ่นดินอยุธยา …
ครอบครัวของฟานิก และ ยามะดะ (พ่อและแม่ขอมารี) นั้นเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติทางศาสนาคริสต์ แต่ก็เป็นเพียงคนชายขอบสามัญชน (ไพร่ต่างด้าว) ที่พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นหาได้มีลาภยศหรือเกียรติอันใด
ในวัยเพียง 16 ปีมารีได้ถูกหมายให้แต่งงานกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่ทำราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในระยะแรก ฟานิกผู้เป็นพ่อของมารีไม่เต็มใจยกเธอให้เป็นภรรยาของ ฟอลคอน เพราะไม่พอใจในพฤติกรรมหลงลาภยศสรรเสริญและความเจ้าชู้มากรักของฝ่ายชาย
ภายหลังฟอลคอนได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความรักใน มารี โดยการสัญญาว่าจะยกเธอเป็นภรรยาเอก และยอมเปลี่ยนนิกายทางศาสนาที่ตนนับถือจาก แองกลิคันมา มาเป็น โรมันคาทอลิก นอกนั้นยังมีบันทึกว่ามารีได้รับอุปถัมภ์เด็กๆ นับ 120 ชีวิตและนำคนเหล่านั้นมารู้จักกับพระเจ้า ความรักในพระเจ้า และความดีของมารีกีมาร์ได้ปรากฏในบันทึกของบาทหลวงโกลด เดอ แบซ (Claude de Bèze) ว่า…
“…สตรีผู้ถือมั่นในพระคริสตธรรมนี้มีอายุได้ไม่เกิน 16 ปี ได้หลีกหนีความบันเทิงเริงรมย์ทั้งหลาย อันสตรีในวัยเดียวและฐานะเดียวกันกับนางใฝ่หากันหนักหนานั้น แล้วมุ่งแต่จะรับใช้พระผู้เป็นเจ้ากับทำความสบายอกสบายใจแก่ท่านสามีเท่านั้น นางไม่ออกจากทำเนียบไปไหนมาไหนเลย นอกจากจะไปวัด…”
ในงานบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ ได้กล่าวถึงพฤติกรรมท้าวทองกีบม้าหลังการสมรสกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ความว่า
“…เขา [เจ้าพระยาวิชเยนทร์] ได้รับความชุ่มชื่นใจจากความเลื่อมใสศรัทธาและความกระตือรือร้นในพระศาสนาของภรรยาเป็นที่ยิ่ง จึงทำให้บ้านเรือนของเขานั้นเปรียบเสมือนว่าเป็นบ่อแห่งคุณธรรมความดีและพระศาสนา จนแทบกล่าวได้ว่า เป็นโรงธรรมยิ่งกว่าจะเป็นทำเนียบของขุนนางผู้ใหญ่ในแผ่นดินเสียอีก…”
นอกจากนี้นางมีใจเมตตาเผื่อแผ่คนทุกข์ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ท้าวทองกีบม้าได้อุดหนุนจุนเจือพวกเขาและเผยแผ่ศาสนาคริสต์ไปในตัว ดังปรากฏว่า…
“…ที่บ้านของนางจะมีลูกแกะ [ผู้ที่ได้รับการอบรมให้เข้ารีต] เช่นนั้นอยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบตัว ซึ่งนางได้เลี้ยงดูเพื่อส่งเข้าคอกแห่งพระผู้เป็นเจ้า และเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบใหญ่กล้าวัยขึ้นแล้ว ก็มอบเงินทองให้ไปตั้งตัว โดยเฉพาะหญิงสาวแล้วก็จัดให้มีเหย้าเรือนเป็นหลักเป็นฐานไปพร้อมกับกำชับให้ถือเอาแบบอย่างที่นางปฏิบัติอยู่…”
โดยทั้งหมดนี้ แม่มะลิ หรือ มารี กีมาร์จึงได้รับการขนานนามว่า “มารดาแห่งพวกคริสตชน”
“สตรีมากมายทำได้ดีเลิศ แต่เธอเลิศยิ่งกว่าเขาทั้งหมด”
(สุภาษิต 31 : 29)
ชีวิตของสตรีที่ติดตามพระเจ้าอย่างสุดใจก็มิได้สวยหรูเท่าใดนัก ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายฯ ขณะที่พระองค์ประชวรหนัก มีเหตุการณ์สำคัญคือความวุ่นวายในราชสำนัก คือ ความขัดแย้งระหว่างพระเพทราชากับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (ฟอลคอน) ซึ่งเป็นผลพวงมาจากหลายเรื่องทั้ง ความขัดแย้งในอำนาจการปกครอง การกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดเกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนา ข้าราชการชั้นสูง รวมทั้ง คอนสแตนติน ฟอลคอนซึ่งเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังถูกประหารชีวิต และ มารีกับลูกชายทั้งสองถูกคุมขังและริบทรัพย์จนหมดตัว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวต่างชาติในอยุธยาถูกต่อต้านอย่างหนัก
“…สุภาพสตรีผู้น่าสงสารผู้นั้น ถูกโยนเข้าไปขังไว้ในโรงม้าอันคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ
ไม่มีข้าวของติดตัวไปเลย มีแต่ฟากสำหรับนอนเท่านั้น” – บันทึกของ บาทหลวงเดอ แบซ
ภาพสำเนาโดย อาจารย์ภูธร ภูมะธน (“ภาพจาก หนังสือการเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน”
ของ ท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ” สำนักพิมพ์มติชน)
ชีวิตของเธอพลิกผันและทุกข์ยากยาวนานจนต้องเขียนจดหมายไปยังฝรั่งเศสเพื่อร้องขอความเห็นใจ บั้นปลายชีวิตเธอได้กลับคืนสู่สภาพดีอีกครั้ง และได้รับตำแหน่ง “ท้าวทองกีบม้า” ดูแลห้องเครื่องต้น ดูแลขนมหวานในราชสำนัก จนในรัชสมัยของพระเจ้าท้ายสระก็ได้ เข้าไปดูแลราชสำนักฝ่ายในดูแลเครื่องเงินและทอง ทั้งบุตรทั้งสองก็เป็นที่โปรดปราณของกษัตริย์หลายพระองค์ จนได้เข้ารับราชการในเวลาต่อมา แม่มะลิได้รับการยกย่องว่าเป็นคริสตชนที่มีความภักดียิ่ง และเป็นคนที่น่าไว้วางใจหาผู้ใดเปรียบได้ มีบันทึกไว้อีกว่า ‘พระเจ้ากรุงสยามรับสั่งว่า การที่จะหาคนซื่อตรงเช่นนี้นอกจากผู้ที่ถือศาสนาคริสเตียนจะหาไม่ได้’
บ้านหลวงรับราชทูต หรือ บ้านวิชาเยนทร์ เคหาสน์อันเป็นที่พำนักของนางและสามีที่เมืองลพบุรี ถ่ายโดย Heinrich Damm
ซากหอดูดาวในวัดสันเปาโล เมืองลพบุรี หลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างแน่ชัดว่า
วิทยาการสูงสุดของตะวันตกเข้าสู่แผ่นดินสยามผ่านกลุ่มศาสนทูตโรมันคาทอลิก
จากปมลึกในหัวใจของแม่มะลิ หรือมารีกีมาร์ กับการต้องเป็นคนชายขอบ เนื่องจากการเข้ารีต (รับศีลล้างบาป) ตั้งแต่สมัยตายายที่ต้องอพยพหนีมาจากญี่ปุ่น เนื่องจากสถานการณ์การข่มเหงคริสต์ชนอย่างรุนแรง สู่ความจงรักภักดีในแผ่นสยาม แผ่นดินที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับบรรดาประชากรของพระองค์
จากการเปิดกว้างสู่การเปิดโลกใหม่แก่สยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เกิดสิ่งใหม่มากมายจากการเข้ามาของคริสต์ศาสนา เช่น
- หอดูดาวแห่งแรกของไทยเกิดขึ้นในวัดสันเปาโล เมืองลพบุรี
- สถาบันศาสนศาสตร์แห่งแรกของไทยเกิดขึ้นที่บ้านพลัด อยุธยา
- ขนมไทยนานาชนิดเกิดจากท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์)
สิ่งที่เราคริตชนได้เรียนรู้จากสตรีธรรมดาผู้เปี่ยมด้วยความศรัทธาผู้นี้คือ …
- จงรักภักดี ต่อแผ่นดินซึ่งพระเจ้าทรงโปรดประทานให้
- จงกระทำพันธกิจ อย่างเต็มที่ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ และด้วยเสรีภาพที่มี
- จงกระทำพันธบริการของท่านให้สำเร็จ ด้วยความมุ่งมั่นไม่หวั่นไหวและด้วยความเชื่อ
“เพราะฉะนั้นเมื่อพวกท่านจะรับประทาน จะดื่ม หรือจะทำอะไรก็ตาม
จงทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า”
(1 โครินธ์ 10:31 THSV11)
#ด้วยรักและชูใจ
.
ข้อมูลอ้างอิง : https://th.wikipedia.org/wiki/ท้าวทองกีบม้า_(มารี_กีมาร์)
การข่มเหงผู้เชื่อในภาพยนตร์ Silence https://en.wikipedia.org/wiki/Silence_(2016_film)
Related Posts
- Author:
- พี่เทอร์โบผู้รับใช้ไฟแรง ที่รับใช้ในพันธกิจอนุชน ใจรักวัฒนธรรมไทยและอยากให้คริสเตียนไทยได้มีมุมมองที่เปิดกว้างทางด้านวัฒนธรรม
- Illustrator:
- Jostar
- พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
- Editor:
- Perapat T.
- Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)