บทความต้นฉบับจาก : http://churchhacks.com/working-with-millenials/
ผูเขียน : Jeremy Goldsborough
แปล-เรียบเรียง : จิ๊ก
(*ช่วงวัยเจน Y ในที่นี้คือ คนที่เกิดช่วงปี 1977-1994 หรือ พ.ศ.2520-2537)
ผมเกิดปี 1977 (พศ.2520) ซึ่งเป็นช่วงปลายเจน x และต้นเจน Y ลูกคนโตผมเกิดในปี 2001 (พ.ศ.2544) ซึ่งอยู่ในเจน Z อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจคิดว่า “จะเกิดยุคไหนก็คนเหมือนๆ กันแหละ” ครับ ก็ไม่ผิดหรอก แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่เรามองข้ามไม่ได้ก็คือ การที่สังคมเราเปลี่ยนไปเร็วมากใน 50 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดความแตกต่างของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย เราได้รับผลกระทบจากค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เราอยู่หล่อหลอมความเป็นเราขึ้นมา ดังนั้นการการตอบสนองหรือวิธีที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ต่างๆ จึงไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง เช่นว่า คุณปู่ของผม ผู้มีชีวิตผ่านยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเปิดสมุดโทรศัพท์เพื่อหาเบอร์โทรร้านซ่อมเครื่องเล่นแผ่นเสียง แต่ถ้าเป็นคนรุ่นผม ผมจะเอาเครื่องนั้นไปทิ้งในกองขยะและเปิดเพลงฟังบนมือถือ!
แล้วเราจะปฏิสัมพันธ์กับคนเจน Y นี้ยังไงในโบสถ์ หรือในที่ทำงานล่ะ? เท่าที่ผมลองค้นคว้าดู มีตั้งแต่คอมเม้นท์ที่ว่า “คนรุ่นนี้สนใจแต่ตัวเอง” จนไปถึง “เด็กสมัยนี้โคตรฉลาด และสร้างสรรค์มาก” และยังมีอีกหลายความคิดเห็นระหว่างสองขั้วนี้ และสำหรับประสบการณ์ส่วนตัวของผม สิ่งที่ผมค้นคว้ามา กับตัวผมเองที่อยู่ระหว่างคนสองเจนนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปออกมา 5 อย่างด้วยกัน
__________________________
1. เจน Y ต้องการมีคนรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่โดนเพิกเฉย
ในฐานะที่คนยุคนี้เติบโตมาในสังคมที่กระตุ้นด้วยเทคโนโลยี พวกเขาเคยชินกับการมีที่รับฟัง เช่นการส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์เพียงครั้งเดียวก็สามารถมีคนนับพัน อย่างเช่น ดาราวัยรุ่นหลายคนที่ใช้ช่องทางนี้สื่อสารกับแฟนคลับได้โดยตรง ไม่มีอะไรง่ายไปกว่ายุคนี้อีกแล้วที่ตัวเองสามารถมีเวทีแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ไม่ว่าจะบ่น วิพากษ์วิจารณ์ แชร์ไอเดียและความฝันไปในโซเชียลมีเดียต่างๆ
แล้วไงเหรอครับ? : ถ้าคุณต้องทำงานกับเขา ให้เขามีพื้นที่แสดงความคิดเห็นออกมา รับฟังมุมมองและความคิดของเขา ถึงแม้คุณจะไม่เห็นด้วยกับเขาทุกอย่าง หรือจะไม่ได้ทำตามสิ่งที่เขาเสนอก็ตาม สิ่งที่ทำให้คนเจน Y หงุดหงิดใจที่สุดก็คือ การที่ความคิดของเขาไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการประชุม ในที่ทำงานหรือที่โบสถ์ก็ตาม ให้พื้นที่เขาได้แสดงความคิดเห็นและรับฟังเขาบ้างนะครับ
2. เจน Y ต้องการคนที่สร้างแรงจูงใจ ไม่ใช่ออกคำสั่ง
คนเจนนี้มีปัญหากับการอยู่ใต้การปกครองที่ผิวเผินและห่างไกล เพราะเขาอยู่ในยุคที่ได้รับรู้ข้อมูลทั้งดีและไม่ดีขององค์กร รัฐบาล หรือแม้กระทั่งเรื่องเสียๆ หายๆ ในวงการศาสนา ซึ่งทำให้เขาหมดศรัทธากับผู้มีอำนาจใหญ่โตทั้งหลายในบ้านเมือง เจน Y จะลงเรือลำเดียวกับคุณก็เพราะในสิ่งที่คุณเชื่อ ไม่ใช่เพราะคุณบอกเขาว่า นี่เป็นสิ่งที่เขาควรทำนะ เขาจะดูคุณจากพฤติกรรม ทัศนคติ และหัวใจของคุณว่าสัมผัสใจเขาได้ไหม ดังนั้นเขาจึงต้องการให้คุณพิสูจน์คำพูดด้วยการกระทำที่ต่อเนื่อง คนเจนนี้ไม่ได้กลัวงานนะครับ แต่ต้องการเห็นผู้นำที่เหนื่อยเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกันกับเขา
แล้วไงเหรอครับ? : แทนที่จะเคี่ยวเข็ญด้วยคำพูด คุณต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เขาด้วยการลงมือทำ รับใช้ร่วมกับคนเจนนี้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งผู้รับใช้หรือไม่ก็ตาม ถ้าคุณวางแผนกิจกรรมทำความสะอาดโบสถ์ คุณก็ควรหยิบไม้กวาดใส่ถุงมือทำด้วยกันกับเขา ถ้าคุณวางแผนจะออกไปประกาศรอบๆ คริสตจักร ก็เดินแจกใบปลิวตากแดดไปกับเขาด้วย ให้เขารู้ด้วยการกระทำของคุณว่า คุณเชื่อในสิ่งไหนเพื่อเป็นข้อพิสูจน์คำพูดของคุณเอง ลงไปทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเขาสิครับ ให้เขาได้เห็นคุณบ่อยๆ แทนที่จะเห็นแต่บนธรรมาสน์ หรือสำนักงานคริสตจักร
3. เจน Y ต้องการกลุ่มคนที่ลงลึกไปด้วยกันมากกว่าคนรู้จักผิวเผิน
สมัยก่อนเราจะถูกกระตุ้นด้วยการรวมตัวใหญ่ๆ มีการโปรโมทเยอะๆ เพื่อกระตุ้นให้เราเกิดการรวมตัว แน่นอนที่ว่า คนที่มาแล้วจากไปก็เยอะ แต่ก็จะมีคนที่แวะเวียนมาอยู่เสมอจนเป็นสมาชิกโบสถ์เต็มตัว แต่รูปแบบดังกล่าวไม่ดึงดูดเจน Y อีกต่อไป พวกเขาจะตั้งคำถามใส่คุณทันทีว่า “ทำไมต้องทำ?” เขาไม่สนใจพวกกลเม็ดหรือวิธีล่อให้ติดกับ พวกเขาต้องการให้คุณแสดงความจริงใจออกมาเลย
แล้วไงเหรอครับ? : เป็นผู้นำที่แสดงให้เห็นถึงความถ่อมใจและกล้าแสดงออกถึงจุดอ่อนของตัวเอง อย่ากลัวที่จะเปิดเผยให้เจน Y เห็นถึงความอ่อนแอแม้เป็นผู้ใหญ่กว่า ที่จริงแล้ว ถ้าคุณกล้าเปิดเผยความบกพร่องของตัวเอง คุณจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยและจริงใจให้กับพวกเขาด้วยซ้ำ ศิษยาภิบาลที่ใส่เสื้อเกราะเป็นซูเปอร์ฮีโร่อาจใช้ไม่ได้ผลกับคนเจน Y แล้วล่ะครับ ดังนั้นไม่จำเป็นจะต้องทำตัวเป็นฮีโร่หรือให้ตัวเองเป็นดาวเด่นอยู่ตลอด ทำให้พระเยซูเป็นฮีโร่สิครับ ชี้ให้คนอื่นเห็นถึงความพอดีของพระเยซูในทุกสิ่ง ให้คนเจน Y ได้เห็นว่าคุณก็คนธรรมดา และชี้ให้เขาเห็นว่าพระเยซูทรงตอบสนองความต้องการของคนอื่นนะ ทำให้พระเยซูเด่นชัดขึ้นในขณะที่คุณเองถอยไปอยู่เบื้องหลังครับ
4. เจน Y ขับเคลื่อนด้วย passion มากกว่าลักษณะนิสัย
(ผู้แปลจะขอทับศัพท์คำว่า Passion เพราะไม่มีคำไทยตรงตัว Passion หมายถึง ความหลงใหลคลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เต็มไปด้วยอารมณ์ที่แรงกล้าและกระตือรือร้นที่จะได้สิ่งนั้นมา)
ยังจำประโยคนี้กันได้ไหมครับ “ทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะมันถูกต้องที่จะทำ” ถึงแม้ว่าลักษณะนิสัยเป็นสิ่งสำคัญแต่สำหรับเจน Y แล้วกลับไม่ใช่สิ่งที่ขับเคลื่อนพวกเขาเป็นอย่างแรก พวกเขาถูกขับเคลื่อนด้วย Passion มากกว่าความต้องการที่จะ ‘ทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง’ ไม่ใช่เพราะเขาไม่ยอมทุ่มเทเพื่อให้ประสบความสำเร็จ แต่เพราะเจน Y ถูกปลุกเร้าด้วยสิ่งที่เขาให้คุณค่ามากกว่า จึงยากที่เขาจะถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากนี้ ซึ่งยิ่งเห็นได้ชัดเจนในคนรุ่นลูกผม เขาจะทำกิจกรรมหรือกระตือรือร้นในสิ่งที่เขาสนใจ แต่ละเลยสิ่งอื่นไป จึงไม่แปลกที่เขายอมอดหลับอดนอนดึกดื่นเพื่อนั่งค้นหาวิธีเลี้ยงจิ้งจก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำการบ้านเลขที่จะต้องส่งพรุ่งนี้เช้า
แล้วไงเหรอครับ? : ค้นหาในสิ่งที่คนเจน Y หลงใหลและเข้าไปอยู่ในโลกของพวกเขา ถึงแม้คุณจะไม่ได้สนใจเรื่องที่เขาสนใจสักเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณไม่เข้าไปในโลกของเค้าบ้าง คุณจะเสียโอกาสในการเข้าถึงศักยภาพของคนกลุ่มนี้ไปเลย ผมว่าพระเยซูคริสต์แคร์คนเจนนี้ที่เขามี passion อยู่เยอะนะ คนเจนนี้ให้คุณค่ากับประสบการณ์จริง ดังนั้นแสดงให้เขาเห็นถึงพระเยซูคริสต์สิครับ ยกชูพระองค์ขึ้น ทำให้พวกเขาสงสัยและประหลาดใจในพลังแห่งพระคุณของพระองค์
5. เจน Y มักจะทำสิ่งใหม่ มากกว่าทำซ้ำสิ่งเดิม
เพราะเจนนี้เติบโตมาในยุคเทคโนโลยี จึงคุ้นเคยกับนวัตกรรมใหม่ๆ “ของใหม่ๆ” จึงสำคัญสำหรับคนเจนนี้ เขาจะไม่พอใจอยู่แค่ “เราเคยทำแบบนี้มาก่อน” โดยเฉพาะถ้า “วิธีที่ทำมาตลอด” เป็นวิธีที่ใช้มา 10 ปีแล้วก็ยังไม่เวิร์ค เจน Y จะไม่ลงทุนลงแรงไปกับสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่เลือกที่จะพุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่มีแนวโน้มทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี หรือวางแผนสู่อนาคตมากกว่า สิ่งนี้เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสให้กับคริสตจักรที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อความเชื่อเดิมๆ
แล้วไงเหรอครับ? : ยอมให้คนเจน Y ใช้ทัศนคติแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยให้คุณเป็นผู้นำที่คมขึ้นและตอบโจทย์ได้มากกว่าเดิม อย่ามองว่าไอเดียเริ่มต้นของเจน Y เป็นสิ่งที่จะมาหักล้างไอเดียของคุณ แต่มองว่าเป็นสิ่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่การพัฒนายิ่งขึ้นไปอีก ด้วยพระคำของพระเจ้าและพระวิญญาณเป็นเครื่องนำทาง ขอให้คุณกล้าที่จะผลักดันตัวเองออกจากขอบเขตความสบายเดิมๆ หาคำตอบต่อคำถามยากๆ อย่ามั่นใจเกินไปที่จะยอมรับว่าระบบยังไม่ดีพอ หรือต้องมีการแก้ไข แม้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่คุณได้ลงทุนลงแรงไปมากแล้วก็ตาม คนเจนนี้ในโบสถ์ของคุณจะประทับใจในความถ่อมใจและการยอมรับอย่างตรงไปตรงมา หนำซ้ำยังพร้อมที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่รับใช้ไปให้ถึงจุดประสงค์ร่วมกันผ่านแนวความคิดใหม่ๆ
สรุป ::
ผมเข้าใจว่าเจน Y ทุกคนอาจไม่ได้เป็นตามนี้ แต่ความจริงก็คือ ยังมีความแตกต่างที่แยกย่อยไปอีกภายในเจน Y ซึ่งมีจุดเน้นและมีอิทธิพลต่อเจน Y ในรูปแบบที่ต่างกัน จุดประสงค์ของบทความนี้จึงเพียงชี้ให้เห็นถึงลักษณะที่มีจุดร่วมกันอันน่าสนใจของคนเจนนี้ และหนุนใจให้คุณเข้าหาเจนนี้ด้วยใจที่เปิดและหูที่รับฟัง ขอพระเจ้าช่วยพวกเราทุกคนให้ถวายเกียรติแด่พระองค์ร่วมกันนะครับ…ด้วยรักและชูใจ
“เพราะการรับใช้รับใช้ด้วยหัวใจ ต้องได้ใจกันและกัน”
สามารถอ่านตอนอื่นๆในซีรีส์ Church & Gen “คนละรุ่นเดียวกัน” ได้ทาง >>> https://choojaiproject.org/category/articles/featured/churchgen/
Related Posts
- Translator:
- Jick
- บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง
- Illustrator:
- Jostar
- พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
- Editor:
- Jick
- บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง