ยืมเงินไม่ผิด...ผิดที่ไม่คืน

EP. 2/6

ยืมเงินไม่ผิด…ผิดที่ไม่คืน [Money Series]


Money Series : เรื่องเงินนี่…ซีเรียส

เนื้อเรื่อง โดย : นายคนนั้น
การ์ตูน โดย : ลาเบย หัวใจติ่ง

” 

 

 

สวัสดีนะคะ ชาวชูใจ  เราชื่อ ออม  เป็นเพื่อนของเมย์ ช่วงนี้เมย์เค้าค่อนข้างอ่อนไหวง่าย ออมจะมาพูดคุยกับทุกคนแทนค่ะ

ออมว่าหลายคนคงเคยผ่านสถานการณ์ช็อตกันมาแล้ว หลายคนคงเคยเงินขาดมือ… และเวลาที่สภาพการเงินเริ่มตึงๆ อย่างนี้ เราก็มักจะนึกถึงคนที่เราเคยช่วยเหลือไว้  ใช่แล้วค่ะเหล่าลูกหนี้ที่รักไง… ตอนมายืม เราก็เป็นเหมือนเพื่อนรัก แต่พอไปทวงคืนแค่คนรู้จักก็ยังเป็นไม่ได้เล้ยยยย เดินสวนกันทำเป็นไม่เห็น  ไปหาที่บ้านก็ปิดบ้านหนี แบบนี้ก็มีแฮะ!

ช่วงก่อนหน้านี้ เมย์เค้าเคยให้เงินเพื่อนคนนึงยืม เพื่อน ‘บางคน’ เค้ามาขอร้องเพราะมีปัญหาหมุนเงินไม่ทันจริงๆ เมย์เค้าพอมีเงินเก็บอยู่บ้างเลยช่วยเหลือไป  แต่นี่ก็ 2-3 เดือนผ่านมาแล้ว ไม่รู้ทำไมเพื่อนคนนั้นหมุนเงินไม่เสร็จซักที

ทุกคนก็มีความจำเป็นทั้งนั้น ดังนั้นยืมก็ส่วนยืม ให้ก็ส่วนให้ ทำอะไรให้มันชัดเจนเถอะค่ะ จริงอยู่คริสเตียนหลายคนใจดี ให้ยืมไม่หวังผลตอบแทน แต่ให้ยืมก็คือให้ยืม… ถึงเวลาก็ต้องคืนนะคะ รออะไรกันอยู่ T^T

 

 

เรื่องราวความ Fail ของฉันในการใช้เงิน
ตอนที่
2 : ยืมไม่ผิดผิดที่ไม่คืน

 

 

 

 

(แล้วเมย์ก็ได้รู้ว่า…ไม่ใช่แค่เจ้าหนี้คนนั้นที่โดนบล๊อก #ทีมเจ้าหนี้)

 

 

(ไม่อยากลงเอยแบบนี้ อ่านช่วง Money Tips สิคะ T^T)

 


 

ช่วง Money Tips  : ข้อควรระวังก่อนตัดสินใจให้เงินใครยืม

 

“มีเงินเขานับว่าเป็นน้อง มีทองเขานับว่าเป็นพี่
แต่ถ้าเป็นหนี้ก็แทบไม่มีใครนับญาติ” – พี่แบงค์ได้กล่าวเอาไว้

 

ก่อนจะให้ใครยืมนั้นเราควรคิดก่อนว่า…

  1. เขาจำเป็นต้องใช้เงินนี้จริงรึเปล่า? แน่นอนว่าทุกคนที่มายืมก็มักจะอ้างอยู่แล้วว่าจำเป็น แต่คำว่าจำเป็นนั้นจำเป็นแค่ไหน? เราควรตั้งสติไตร่ตรองก่อน หากจะให้ก็ไม่ควรให้มากกว่าความจำเป็นจริงๆ
  2. ถ้าให้เขาไปแล้วเราต้องไม่เดือดร้อน ให้เท่าที่ช่วยได้ และเท่าที่เราสบายใจ
  3. ดูความสามารถในการใช้เงินคืนตามกำหนดเวลาที่เป็นไปได้

 

ให้ยืมยังไงให้ ไม่ผิดใจกันทีหลัง?

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 การให้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท นั้นต้องทำเป็นหนังสือสัญญามีลายลักษณ์อักษร  (ถ้าไม่มีหลักฐานศาลท่านไม่รับฟ้องนะ)

 

  • ลายลักษณ์อักษรนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสัญญาพิมพ์ออกมาจากคอมก็ได้ อาจเป็นการเขียนแล้วลงลายมือชื่อกำกับ (ควรมีพยานในการทำสัญญาด้วย เพื่อความปลอดภัยในวันข้างหน้า)
  • ไม่ควรยื่นเงินให้กันตรงๆ จากมือ แม้ว่าจะสนิทกันขนาดไหน เพราะการยื่นให้ตรงๆ มันล่องลอยไม่มีหลักฐาน อย่างน้อยที่สุดก็ควรโอนผ่านบัญชีธนาคาร เพราะมีการบันทึกและมีสลิปที่ออกโดยธนาคาร หรือไม่ก็จูงมือกันไปทำการโอนเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคารเลย
  • ข้อความทางเฟสบุ๊ค, ไลน์, แชท และอีเมล์ ไม่นับเป็นสัญญา และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้มีการให้ยืมกันจริงไหม เป็นหลักฐานที่ไม่ค่อยมีน้ำหนักหากเกิดคดีความ

ยืมยังไงให้สบายใจ ไม่ต้องกังวล?

  • ถ้ามีความจำเป็นต้องยืมจริงๆ ก็ให้เรากำหนดวันที่ต้องคืนให้ชัดเจน ตกลงกับผู้ให้ยืมอย่างตรงไปตรงมาเรื่องการคืนและการรักษาสัญญา เพราะการยืมแล้วไม่รักษาสัญญาสามารถก่อปัญหาบานปลายได้
  • การคืนก็เช่นเดียวกัน ควรคืนผ่านระบบของธนาคาร หรือมีการจดบันทึกลงลายมือชื่อ เพราะความสับสนอาจเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ให้ยืมและผู้ยืม หากเกิดปัญหาอะไรจริงๆ อย่างน้อยมีสลิป หรือ บันทึก ก็อาจจะช่วยเราในการไกล่เกลี่ยได้
  • ไม่ควรปิดการยืมด้วยการไปยืมคนหนึ่งมาคืนอีกคนหนึ่ง เพราะเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดี และก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้

 

 

____________________________________

พระคัมภีร์พูดอย่างไรเกี่ยวกับการยืมและการคืน?

 

  1. พระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามยืม แต่ถ้ายืมแล้วต้องคืน

การคืนได้แล้วไม่คืน หรือการวางแผนตั้งแต่แรกว่าจะไม่ขึ้น คือ ความอธรรม
“คนอธรรมขอยืม และไม่คืน แต่คนชอบธรรมใจกว้างและแจกจ่าย” (สดุดี 37:21)

 

  1. อาจารย์เปาโลไม่อยากให้เป็นหนี้กัน…

เพราะผู้ยืมนั้นก็ตกเป็นทาสของคนให้ยืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรากู้ยืมสถาบันการเงิน หรือกู้นอกระบบ สำหรับพี่น้องคริสเตียนหรือเพื่อนฝูงนั้น การยืมเงินจะทำให้รูปแบบความความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไป จากมิตรภาพที่ดีกลายเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งอาจทำให้ก่อเกิดความรู้สึกอื่นเข้ามาทำลายความรักที่มีต่อกัน เช่น ความโกรธ เกลียด แค้นเคือง น้อยใจ ฯลฯ

 

“อย่าเป็นหนี้อะไรใครเลย นอกจากความรักซึ่งมีต่อกัน เพราะว่าผู้ที่รักคนอื่น
ก็ได้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติครบถ้วนแล้ว” (โรม 13:8)

 

 

  1. อย่าคิดดอกเบี้ยหรือเอาผลประโยชน์จากคนขัดสน…

พระคัมภีร์ไม่ได้ห้ามคิดดอกเบี้ยจากการลงทุน อย่างเช่นเศรษฐีในเรื่องเล่าของพระเยซูก็ต้องการดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคาร ถ้าการกู้ยืมนั้นทำเพื่อการลงทุน ผู้ให้ยืมก็สามารถได้รับผลตอบแทนอันเป็นดอกเบี้ย หรือค่าเสียโอกาส หรือเงินตอบแทนใดๆ ก็ตามสมควรแต่ตกลงกัน

“เพราะฉะนั้นเจ้าควรเอาเงินของเราไปฝากกับนายธนาคาร เมื่อเรามาก็จะได้รับเงินทั้งดอกเบี้ยด้วย” (มัทธิว 25:27)

 

แต่พระคัมภีร์ไม่สนับสนุนให้ขูดรีดเอากับคนขัดสน ไม่เอาส่วนเกินกับคนยากจน แถมยังสนับสนุนให้เลี้ยงดู และหยิบยื่นน้ำใจแก่กันและกันด้วย

“ถ้าพี่น้องของเจ้ายากจนลงและเลี้ยงตัวเองอยู่กับเจ้าไม่ได้ เจ้าจะต้องเลี้ยงดูเขา ให้เขาอยู่กับเจ้าอย่างคนต่างด้าวและคนที่อาศัยอยู่ อย่าเอาดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มอะไรจากเขาแต่จงยำเกรงพระเจ้า เพื่อว่าพี่น้องของเจ้าจะอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าได้ เจ้าอย่าให้เขายืมเงินด้วยคิดดอกเบี้ย หรือขายอาหารด้วยเอากำไรจากเขา” (เลวีนิติ 25:35-37 ฉบับ 1971)

 

(เรื่องราวการเงินของเมย์จะเป็นยังไงต่อไป ติดตามตอนหน้านะคะ)

 

 


ติดตาม Money Series : เรื่องเงินนี่…ซีเรียส! Ep. ต่อไปได้ในวันพฤหัสหน้า แล้วเรามาร่วมลุ้นกันว่าหนูเมย์จะทำยังไงต่อไป พร้อมกับ Money Tips ที่จะช่วยให้เราจัดการการเงินได้ดีขึ้นจ้าาาาาา ^^

 


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • ลาเบย (Labiere)
  • จับงานวาดมาตั้งแต่มัธยม จบออกแบบมาก็ยังวาดไม่ยั้ง ยังอยู่ร่วมกันในแวดวงงานรับใช้ไม่เคยหาย พร้อมๆกับความฝันในงานมิชชั่นนารี
  • Editor:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน