.
ในแต่ละวัน เราแต่ละคนก็เป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ลงเฟสบุ๊คด้วยผ่านการโพสต์อะไรบางอย่างลงไป ในฐานะคริสเตียน หนึ่งในสิ่งที่เรามักจะโพสต์นั้นก็คงหนีไม่พ้นข้อพระคัมภีร์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีแน่นอนเพราะพระคำของพระเจ้านั้นเป็นประโยชน์ในการหนุนใจ แต่แล้วทำไมหลายครั้งการโพสต์ข้อพระคัมภีร์ถึงจะกลายเป็นปัญหาไปได้ล่ะ? มีอะไรอยู่เบื้องหลังข้อพระคัมภีร์เหล่านั้นรึเปล่า? แล้วมีอะไรบ้างที่เราควรระวังในการโพสต์ข้อพระคัมภีร์?เราลองมาสำรวจตัวเองกันเถอะ
________________________________
1. โพสต์เพื่อแสวงหาการยอมรับ
.
“แต่จะเป็นอะไรไปล่ะ ไม่ว่าจะประกาศด้วยการเสแสร้งหรือด้วยความจริงใจ
พระคริสต์ก็ถูกประกาศไปในทุกที่”
(ฟิลิปปี 1:18)
.
ทีแรก เจนจิรา โพสต์ข้อพระคัมภีร์ลงเฟสบุ๊คเพราะเธออ่านแล้วชอบ ดูเหมือนว่าเพื่อนๆ เองก็จะชอบด้วย เธอจึงตั้งหน้าตั้งตาโพสต์หนุนใจทุกวัน เวลาผ่านไปเธอเริ่มสังเกตว่าจำนวนคนไลค์น้อยลง เธอจึงหาข้อพระคัมภีร์ที่เด็ดๆ กว่าเดิม …
.
ถ้อยคำดีๆ ในข้อพระคัมภีร์มีพลังในการสัมผัสเตะต้องหัวใจ ให้กำลังในวันใหม่ และหนุนใจผู้คน จนอดไม่ได้ที่จะกด Like และ พิมพ์ว่า “อาเมน” รัวๆ ซึ่งการที่เพื่อนๆ ได้มีโอกาสเห็นถ้อยคำของพระเจ้าผ่านการโพสต์ของเรานั้นเป็นพระพรแน่นอน หลายครั้งแม้คนที่ไม่เป็นคริสเตียนอ่านแล้วก็ได้รับการชูใจไปด้วย แต่การตอบสนองกลับมาของคนเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นการกดเลิฟ กดไลค์ หรือ เม้นท์ว่า “อาเมน” ก็อาจทำให้ผู้โพสต์หลงประเด็นไปได้ เพราะโซเชียลมีเดียมีแนวโน้มที่จะทำให้เราเสพติดการยอมรับ จนหลายครั้งการโพสต์ข้อพระคัมภีร์อาจไม่ใช่การหนุนใจคนอื่นแล้ว แต่กลายเป็นการแสวงหาการยอมรับผ่านการโพสต์ คล้ายๆ กับการโพสต์คำคม รูปแมว หรือรูปตัวเองในโลกออนไลน์แล้วเราเกิดความพึงพอใจเมื่อกระแสตอบรับดี หรือคล้ายๆ กับในโลกแห่งความเป็นจริงที่เรารับใช้พระเจ้า นำนมัสการ หรือ ทำกิจกรรมแล้วเราแอบพอใจในเสียงตอบรับที่ดีของผลงาน ท่าทีของการโพสต์จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวังเพื่อที่เราเองจะไม่แย่งเกียรติของพระเจ้าในใจ แรงจูงใจที่ไม่ค่อยดีข้อนี้อยู่ลึกมากทีเดียว แต่ไม่ว่าจะอย่างไรข้อพระคัมภีร์ก็ได้ออกไปหนุนใจผู้คนอยู่ดี☺
.
.
2. โพสต์เพื่อโอ้อวด ยกยอตัวเอง
.
“พระยาห์เวห์ตรัสดังนี้ว่า อย่าให้ผู้มีปัญญาอวดสติปัญญาของตน
อย่าให้ชายฉกรรจ์อวดความเข้มแข็งของตน อย่าให้คนมั่งมีอวดความมั่งคั่งของตน”
(เยเรมีย์ 9:23)
.
.
สุดเขต มักโพสต์ขอบคุณพระเจ้าและใส่ข้อพระคัมภีร์ประกอบ เช่น “ขอบคุณพระเจ้าสำหรับการนำมาไกลถึงเบลเยี่ยม ทริปหน้าไปออสเตรียนะรู้ยัง?” “ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงเลี้ยงดู วันนี้ดินเนอร์ริมน้ำเบาๆ” “ขอบคุณพระเจ้าสำหรับสติปัญญาคะแนนดีกว่าเพื่อนทุกคนเลย” ตอบท้ายด้วยการแนบรูปสวยๆ แล้วก็มีข้อพระคัมภีร์ประดับ
ภาพประกอบ ถ่ายโดย Markus Spiske
ในฐานะมนุษย์ หลายคนก็เห็นแล้วอดหงุดหงิดไม่ได้ เพราะเราสามารถแยกการเล่าคำพยานหรือประสบการณ์ชีวิต ออกจากเรื่องขี้โม้อวยตัวเองกันได้ทั้งนั้น แม้อาจารย์เปาโลจะบอกกับเราทั้งหลายว่า “ให้ผู้โอ้อวด อวดองค์พระผู้เป็นเจ้า” (1 โครินธ์ 1:31) แต่ถ้าการอวดนั้นใช้พระคัมภีร์เพื่อประกอบหรือประดับเท่านั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่ารักซักเท่าไหร่ เพราะการอวดพระคริสต์นั้นก็น่าจะเป็นการทำให้คนเห็นว่าพระเจ้าดีจริงๆ ไม่ใช่เห็นว่าเราชีวิตดี๊ดี ตัวอย่างการใช้เรื่องโฮลี่ๆ ให้ตัวเองดูดีใน พระคัมภีร์ก็มีให้เห็นบ่อยอย่างฟารีสีเองก็ชอบ แต่งตัวดีๆ ให้คนคำนับกลางตลาด หรืออธิษฐานเสียงดัง แต่ท่าทีภายในของเขาก็คือการอวดตัวเอง (มัทธิว 23:5-8)
ไม่ใช่ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขบ้างไม่ได้นะครับ แต่ท่าทีภายในของเราต่างหากที่สำคัญ เพราะการพูดเรื่องพระเจ้าให้ตัวเองดูดีขึ้นนั่นแหละคือการอวด แต่ถ้าเราจะอวดพระเจ้าพระองค์ต้องใหญ่ขึ้นส่วนตัวเรานั้นจะต้องเล็กลง ใน 2 โครินธ์ 10:17 บอกไว้ว่า “ถ้าใครจะอวด ก็จงอวดองค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด”
.
.
3. โพสต์ตักเตือนแบบลอยๆ
.
“ถ้าพี่น้องของท่านทำผิดจงไปตักเตือนเขาตามลำพัง
ถ้าเขาเชื่อฟัง ท่านจะได้พี่น้องกลับคืนมา”
(มัทธิว 18:15)
.
ไข่ย้อย ไม่ได้มาโบสถ์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ดากานดา เพื่อนอนุชนจึงโทรมาหาด้วยความเป็นห่วง เขาบอกเธอว่าเขาไม่สามารถมาโบสถ์ได้ตอนนี้เนื่องจากที่ทำงานพิเศษมีการสับตารางและเขาได้ทำวันอาทิตย์ช่วงหนึ่งเพราะคนขาด สองชั่วโมงต่อมา ดากานดา โพสต์ข้อพระคัมภีร์ข้อหนึ่งซึ่งไม่ได้เจาะจงใครเป็นพิเศษ ทำนองว่า “อย่าขาดการประชุมและจงรักษาวันสะบาโต” พอไข่ย้อยอ่านแล้วรู้สึกเจ็บจี๊ดเลยหนีหน้าดากานดาไปอยู่ภาคใต้ แม้ภายหลังดากานดาจะขอโทษเท่าไหร่และที่ทำไปเพราะรักและเป็นห่วง แต่ไข่ย้อย ก็บอกกลับมาเพียงว่า “มาบอกอะไรป่านนี้!”
จริงอยู่… พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า เป็นประโยชน์ในการสอนและว่ากล่าวตักเตือน แต่การใช้ข้อพระคัมภีร์ตักเตือนใครเป็นพิเศษบนโลกออนไลน์ เพื่อหวังว่าเขาจะได้อ่านนั้น ไม่สามารถถ่ายทอดความห่วงใยหรือปรารถนาดีได้อย่างชัดเจนเหมือนการเจอกันหน้าต่อหน้าหรอก และการตักเตือนนั้นควรจะตักเตือนตามหลักการในพระคัมภีร์คือ เตือนเป็นการส่วนตัวจะดีกว่า ไม่ควรฝากมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หรือ ฝากผ่านทวิตเตอร์ ไอจีใดๆ ไปบอก เพราะนอกจากเจตนาดีๆ อาจไปไม่ถึงแล้ว คนที่โดนเตือนอาจรู้สึกเสียหน้า หมางใจกัน และส่งผลเสียทางความสัมพันธ์ซะเปล่าๆ หากเราอยากหนุนใจตัวต่อตัว ลองโทรหาหรือพบกันหน้าต่อหน้าจะดีกว่านะ ☺
.
.
4. โพสต์เพื่อทำสงครามน้ำลาย
.
“อย่าทำสิ่งใดในทางทุ่มเถียงกันหรืออวดดี แต่จงมีใจถ่อมถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว”
(ฟิลิปปี 2:3)
.
กุ๊กไก่และจุ๊บจิ๊บ มีเรื่องทะเลาะกันนิดหน่อย พี่เลี้ยงของทั้งสองจึงขอให้ทั้งสองขอโทษและอภัยให้กัน เรื่องราวเป็นยังไงต่อก็ไม่ทราบ แต่ตอนเย็นเฟสบุ๊คของ กุ๊กไก่ ก็มีข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับการให้อภัย สามนาทีต่อมา จุ๊บจิ๊บ ก็โพสต์โทษของการไม่ให้อภัย พี่เลี้ยงเห็นเข้าจึงถามทั้งคู่ ทั้งคู่ปฏิเสธว่าไม่ได้มีอะไรเคลียร์กันแล้ว แต่ก็ยังมีข้อพระคัมภีร์ขึ้นมารัวๆ จนคนทั่วๆ ไปเริ่มสงสัยว่านี่ใช่การหนุนใจกันแน่หรือไม่ หรือแท้จริงคือเกมสงครามประสาท
บ่อยครั้งที่เราต่างฝ่ายก็เข้าข้างตัวเองและมีพระคัมภีร์สนับสนุนการกระทำของเรา แต่การที่เราสะสมพระคำของพระเจ้าอันเป็นความจริงไว้ในใจนั้นก็เพื่อใช้ต่อสู้กับเนื้อหนังของเราเองและใช้ต่อสู้กับอุบายล่อลวงของมาร ไม่ใช่ให้เราเอาพระวจนะของพระเจ้ามาต่อสู้กับพี่น้อง พระคัมภีร์เป็นเครื่องมือของพระเจ้าที่จะใช้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา แต่ไม่ใช่เครื่องมือของเราที่จะเอามาเพื่อทิ่มแทงให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นวาระของเขากับพระเจ้า และแม้ว่าหากชีวิตของเขาจะควรเปลี่ยนแปลงสักแค่ไหน เราเองก็ควรจะเป็นเพียงเครื่องมือของพระเจ้าด้วยเช่นกันไม่ใช่สวมบทผู้เปลี่ยนแปลงนั้นเอง
การโต้กันไปมาโดยใช้พระคัมภีร์เป็นเครื่องโต้เถียงนั้น ไม่สามารถทำให้ชีวิตฝ่ายวิญญาณของกันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีแต่จะทำให้อารมณ์เสียมากขึ้นเสียเปล่าๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย อีกทั้งคนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมาอ่านก็ต้องมาพลอยอารมณ์เสียตามไปอีกด้วย ยากอบ 1:20 ได้เตือนเราเอาไว้ว่า “เพราะว่าความโกรธ ของมนุษย์ไม่ได้กระทำให้เกิดความชอบธรรมแห่งพระเจ้า เมื่อพระประสงค์ของพระเจ้าถูกบิดเบือน”
.
.
5. จะโพสต์อะไร อย่าลืมคิดถึงใจคนยังไม่เชื่อ…☺
.
“คนที่มีคำตอบเหมาะๆ ในปากย่อมยินดี คำเดียวที่ถูกกาลเทศะก็ดีจริงๆ”
(สุภาษิต 15:23)
.
เฟสบุ๊ค หรือที่ในอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า “สังคมออนไลน์” ถือเป็นโลกจำลองที่ย่อส่วนการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมในชีวิตจริงเข้าไปอยู่ในโลกดิจิตอล ดังนั้น สังคมของเราไม่ได้มีอยู่เพียงแค่เราที่เป็นคริสเตียน ไม่ได้มีคนที่เปิดรับทุกความคิดเห็น ยังมีคนรอบข้างเราที่ไม่เคยไปโบสถ์ และไม่รู้จักพระเจ้าอยู่อีกมากกว่าครึ่ง ลองจินตนาการดูว่าถ้าคุณยังไม่เป็นคริสเตียน อยู่ดีๆ เจอข้อความเช่นว่า
.
“คนโง่รำพึงอยู่ในใจของตนว่า ไม่มีพระเจ้า”
(สดุดี14:1)
.
“ค่าจ้างของความบาปคือความตาย”
(โรม 6:23)
.
หรืออะไรที่มันยากเกินกว่าจะเข้าใจ เช่น …
.
“เพราะว่าเราไม่ได้ต่อสู้กับเนื้อหนังและเลือด
แต่ต่อสู้กับเทพผู้ครอง ศักดิเทพ เทพผู้ครองพิภพในโมหะความมืดแห่งโลกนี้ ต่อสู้กับเหล่าวิญญาณที่ชั่วในสถานฟ้าอากาศ”
(เอเฟซัส 6:12)
.
แน่นอนว่าพระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า เป็นประโยชน์ในการสอนตักเตือน แต่ด้วยความที่โลกออนไลน์ ไม่ได้มีผู้รับสารที่เฉพาะเจาะจงเสียทีเดียว ลองคิดดูว่าคนไม่เชื่อเขาจะรู้สึกอย่างไร การโพสต์ข้อพระคัมภีร์บางข้อโดยไม่มีบริบท ไม่มีคำอธิบายประกอบ อาจทำให้เกิดความสับสนได้มากกว่าจะสร้างความเข้าใจ หรือทำให้คนไม่เชื่ออยากจะรู้จักพระเจ้ามากขึ้น
แม้ว่าเราจะอินกับพระคำข้อนั้นเป็นการส่วนตัวมากแค่ไหนก็ตาม แต่ก่อนโพสต์ลองนึกถึงใจคนอ่านสักหน่อย เพราะนอกจาก ความบาป การลงทัณฑ์ ความตาย และบึงไฟนรก อันเป็นคอนเทนท์ชวนขนหัวลุกแล้วยังมี ความรัก สันติสุข พระคุณ ความดีงามอีกมากมายที่เราสามารถเลือกสรรและโพสต์ได้
.
เพราะพระคัมภีร์เป็นสิ่งที่ดี หนุนใจ และตักเตือนให้เกิดสติปัญญานั้น ถ้าถูกที่ถูกเวลาและมาจากความรักแล้ว ก็ดีต่อใจแน่นอน ☺
.
ด้วยรักและชูใจ
.
บทความนี้ได้แรงบัลดาลใจมาจากบทความ: 5 Questions to Ask Before Posting To Social Media
Related Posts
- Author:
- Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
- Illustrator:
- Jostar
- พี่ชายผู้อบอุ่นละมุนละไม เวลาใส่หมวกกันน๊อคแล้วนั่ลล๊าคดั่ง Pororo อดีตมาสเซอร์วิชาสอนศิลปะ ปัจจุบันถวายตัวรับใช้ที่โบสถ์สไตล์ลอฟๆ ชอบขีดๆ เขียนๆ วาดๆ
- Editor:
- Jick
- บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง