ใช่รักไหมถ้าไม่รู้สึก

EP.26

ใช่รักไหมถ้าไม่รู้สึก?


ผู้เขียน John Piper
แปลและเรียบเรียง จิ๊ก สิริวรรณ
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ http://www.desiringgod.org/interviews/is-it-love-if-i-don-t-feel-it


ถาม: สวัสดีค่ะ อ.จอห์น หนูมีเรื่องอยากจะถามอาจารย์ว่า …

ความรักเพราะหน้าที่เป็นความรักที่เสแสร้งรึเปล่าคะ? เพราะอย่างในฟิลิปปี 2:4 กับ 1 โครินธ์ 13 พูดถึงผู้เชื่อที่มีการกระทำแห่งความรัก แต่ถ้าตัวของหนูไม่มี ‘ความรู้สึกรัก’ ล่ะคะ ควรทำยังไง? ถ้าหนูรู้ว่าใจของหนูไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะรู้จักและถวายเกียรติพระเจ้าอย่างที่อาจารย์เคยบอกไว้ …การที่เราจะรักเพราะแค่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำมันเพียงพอไหมคะ?

 

ตอบ:

ผมเคยอ่านหนังสือของเอ็ดเวิร์ด จอห์น คาร์แนล ชื่อว่า พันธสัญญาแห่งชีวิตคริสเตียน หนังสือเขียนว่า “สมมติชายคนหนึ่งถามว่า “ผมต้องจุ๊บภรรยาก่อนนอนไหมครับ?” คาร์แนลตอบว่า แน่นอนครับ แต่ไม่ได้ถึงกับ ‘ต้อง’ ” ผมคิดว่านี่เป็นคำตอบที่ลึกซึ้งมาก ที่จริงแล้วสิ่งที่เขาหมายถึงก็คือ ชายที่ถามคำถามนั้นเข้าใจผิดเกี่ยวกับธรรมชาติของหน้าที่ เขาคิดว่าหน้าที่เป็นเรื่องของการกระทำภายนอกที่แสดงออกมา นั่นคือการจุ๊บภรรยาก่อนนอน ถ้าเขาทำเขาก็จะรู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ตัวเองแล้ว

 

ประเด็นของคาร์แนลคือว่า หน้าที่ของคริสเตียนลึกกว่าแค่การกระทำ ‘เสมอ’ หน้าที่ของเราไม่เพียงแต่เป็นการกระทำภายนอกที่แสดงออกอย่างเหมาะสมและดีงามเท่านั้น แต่รวมถึงหัวใจที่ถูก ทัศนคติที่ถูก หรืออารมณ์ความรู้สึกที่ถูกต้องด้วย ดังนั้นครับ เป็นหน้าที่ของคุณสามีที่จะจุ๊บภรรยา และนั่นรวมถึงหน้าที่ที่จะต้องรู้สึกรักภรรยาจากหัวใจข้างในด้วย

 

ตอนนี้ผมคิดว่า น้องที่ถามมาอาจจะเข้าใจอะไรผิดเหมือนกับชายในเรื่องที่ผมเล่าให้ฟัง หรือบางทีผมอาจจะเข้าใจน้องผิด น้องจึงถามว่า…

 

“ถ้าแรงจูงใจของเราเป็นเพราะหน้าที่ ความรักนั้นมันเสแสร้งรึเปล่า?”

 

การที่จะรักเพราะรู้สึกเป็นสิ่งที่ควรทำแค่นั้นก็พอได้ไหม? ฟังดูน้องเข้าใจว่าความรักเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกภายนอก ซึ่งคนๆ นั้นอาจะไม่ได้รู้สึกยินดีร่วมไปกับการกระทำเลยก็ได้ แต่ว่าสิ่งนั้นเป็นหน้าที่ของความรักตามแบบพระคัมภีร์ไหม? ว่ากันตามพระคัมภีร์แล้ว ความรักมักจะครอบคลุมมากกว่าแค่พฤติกรรมภายนอกเสมอ ใช่ไหมครับ?

 

ดังนั้น ผมอยากชี้แจงให้น้องเข้าใจว่า หน้าที่ของเราเป็นมากกว่าการกระทำแน่นอน… แน่ๆ ครับ เช่น หน้าที่แห่งการให้นั้นรวมไปถึงความยินดีที่ได้ให้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้หรือการรักที่ทำเป็นหน้าที่ แต่ไม่มีความยินดีอยู่ด้วยเป็นหน้าที่ที่ทำได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น น้ำพระทัยพระเจ้าที่เปิดเผยในพระคัมภีร์ใหม่ก็คือ การกระทำด้วยความรักควรประกอบด้วยความยินดีในพระเจ้าที่เอ่อล้นออกมาเป็นความหวังใจในผู้คน… เสมอ

 

ผมขอทวนอีกครั้งนะครับเพราะเป็นประโยคที่สำคัญมากสำหรับผม หน้าที่ที่จะรักตามแบบพระคัมภีร์ก็คือ ความยินดีในพระเจ้าที่เอ่อล้นออกมาจนเป็นการกระทำ เป็นพฤติกรรมแห่งความรักที่มีความหวังต่อผู้คนอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งก็คือ ความยินดีในพระเจ้านั่นเอง

 

ผมเข้าใจคำนิยามความรักตาม 2 โครินธ์ 8:2  “ถึง​แม้​พวก​เขา​จะ​ยากจน​และ​ถูก​ทด​สอบ​อย่าง​หนัก​ด้วย​ความ​ทุกข์​มาก​มาย แต่​พวก​เขา​ (หมายถึงชาวมาซิโดเนีย) ก็​มี​ความ​สุข​จน​ล้นพ้น​ออก​มา​เป็น​ใจ​ที่​เอื้อเฟื้อ​เผื่อแผ่”

 

ลองสังเกตดูรูปประโยคสิครับ ‘ความสุข’ เป็นประธานของคำกริยา ‘ล้นออกมา’ “ความ​สุข​…. จน​ล้นพ้น​ออก​มา…. ​เป็น​ใจ​ที่​เอื้อเฟื้อ​เผื่อแผ่” หรือก็คือ ความรักคือความสุขในพระเจ้าที่ท่วมท้นออกมา ลองกลับไปดูในข้อ 1 ก็ได้ครับ ความสุขในพระเจ้าเป็นพระคุณที่พระเจ้าเทลงมาให้ชาวมาซิโดเนียเพื่อตั้งใจให้เขาอวยพรคนอื่นต่อ ความสุขนั้นจึงรวมไปถึงคนอื่นด้วย และนั่นเป็นหน้าที่ของความรัก… เสมอ

 

 

สังเกตดูว่ามีสองอุปสรรคใหญ่ๆ ที่ขวางใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นั่นคือ “ความยากจน​“ และ “การ​ถูก​ทด​สอบ​อย่าง​หนัก​ด้วย​ความ​ทุกข์​มาก​มาย” มันเป็นอุปสรรคที่ยากมากจริงๆ หรือเรียกได้ว่าเจ็บปวดเลยก็ได้ สำหรับคริสเตียนที่จะต้องแสดงความเอื้อเฟื้อในขณะที่เขาเองก็เจ็บหรือยังขาดแคลนอยู่ ถ้าเกิดเมื่อไหร่ที่มีคนพูดว่า “แต่ความคาดหวังคือให้เราทำหน้าที่ของเราก่อน ไม่ใช่ความชื่นชมยินดีจากใจจริง” ยิ่งเป็นเวลาที่ควรทำเข้าไปใหญ่ แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่บ่งบอกว่าความเอื้อเฟื้อคือความรัก ก็คือความยินดีเต็มเปี่ยมที่คนๆ นั้นมีในพระเจ้า เป็นความยินดีที่ล้นออกมาจากความรักโดยมีความหวังในผู้อื่นรวมอยู่ในความยินดีนั้นด้วย

 

ยิ่งไปกว่านั้นใน 2 โครินธ์ 9:7 เปาโลสร้างหลักการนี้ขึ้นมา ด้วยการนำการกระทำนี้มาเป็นหลักการของตัวเอง “แต่​ละ​คน​ควร​จะ​ให้​ตาม​ที่​ตั้งใจ​ไว้ ไม่​ใช่​ให้​ด้วย​ความ​เสียใจ​หรือ​ถูก​บังคับ เพราะ​พระเจ้า​รัก​คน​ที่​ให้​ด้วย​ใจ​ที่​ชื่นชม​ยินดี” นี่เป็นอีกข้อที่ยืนยันว่าต้องมากกว่าแค่หน้าที่ “เพราะ​พระเจ้า​รัก​คน​ที่​ให้​ด้วย​ใจ​ที่​ชื่นชม​ยินดี” นี่เป็นประโยคที่ฉลาดมากที่ว่า การทำดีต่อผู้อื่นด้วยความเอื้อเฟื้อโดยปราศจากความชื่นชมยินดีในการกระทำนั้นยังไม่ถือเป็นหน้าที่ที่สมบูรณ์

 

ดังนั้นผมขอทวนคำถามของน้องอีกครั้งนะครับ ที่จริงน้องคงเห็นปัญหาแล้ว อาจเป็นแค่รูปประโยคที่ถามที่ยังดูไม่ใช่ หวังว่าผมจะช่วยตอบคำถามน้องได้ตรงประเด็นนะครับ คือถ้าเป็นผมจะถามว่า ในฐานะที่เป็นคริสเตียน เมื่อเรามีโอกาสทำดีแต่ไม่อยากทำควรทำไงดี? ผมว่านี่น่าจะประเด็นที่น้องต้องการสื่อ เพราะในชีวิตจริง ความรักที่สมบูรณ์แบบต่อพระเจ้า จะต้องเกิดจากความยินดีที่ได้ทำตามน้ำพระทัยพระเจ้าเสมอ แต่กว่าจะไปถึงความสมบูรณ์ตรงนั้นได้ (ซึ่งคงไม่มีใครทำได้ในชีวิตในโลกนี้) เราต้องต่อสู้ครับ เพราะความบาปและซาตานทำให้ความตั้งใจของเราบิดเบี้ยวไป ทำให้เรารู้สึกไม่เต็มใจที่จะทำสิ่งที่ดีด้วยใจจริง พระเยซูจึงบอกไว้ใน มัทธิว 16:24 ว่า “ถ้า​ใคร​อยาก​จะ​ติด​ตาม​เรา คน​นั้น​ต้อง​เลิก​ตาม​ใจ​ตัว​เอง และ​แบก​กางเขน​ของ​ตัว​เอง​ตาม​เรา​มา” ดังนั้นในโลกที่ตกเป็นทาสของบาปและซาตานทำให้เราไม่เต็มใจที่จะรัก เราจึงต้องปฏิเสธตัวเองเสมอซึ่งนั่นคือ หนึ่งในหน้าที่ของความรัก

 

แล้วจะทำยังไงในอารมณ์ที่ไม่อยากทำดีแต่ควรทำ?

  1. ยอมรับต่อพระเจ้าและตัวเองอย่างจริงใจว่าคุณไม่ได้รู้สึกอยากจะทำสิ่งที่ดีนั้น ยอมรับความจริง
  2. สารภาพบาปต่อพระเจ้า บอกพระองค์ว่าคุณขอโทษที่หัวใจของคุณไม่ได้น่ารักอย่างนั้น
  3. ขอพระเจ้าช่วยฟื้นฟูความยินดีในความรอดให้แก่คุณ ความชื่นชมยินดีในพระคุณที่ท่วมท้นออกมาจนสามารถแบ่งปันให้คนอื่นได้ ขอพระเจ้าทรงรื้อฟื้นความยินดีเช่นนั้นให้
  4. ออกไปลงมือทำ ทำสิ่งดีนั้น ถึงแม้จะยังเป็นเพียงแค่หน้าที่ก็ตาม แต่ทำด้วยความหวัง ความเชื่อที่คุณได้ขอและอธิษฐานไปแล้ว หวังใจว่าความชื่นชมยินดีจะถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง และคุณจะสามารถชื่นชมยินดีในความรักได้ก่อนที่คุณจะทำสิ่งนั้นเสร็จด้วยซ้ำ ตอนนั้นคุณอาจจะรู้สึกดีที่ได้ทำด้วยซ้ำไป

 

สิ่งนี้เกิดขึ้นกับผมครั้งแล้วครั้งเล่าในการเป็นศิษยาภิบาล เช่น ผมต้องไปโรงพยาบาลเพื่ออธิษฐานเผื่อสมาชิกในขณะที่รู้สึกไม่อยากไปเลย ผมรู้ว่าข้างในของผมผิดปรกติไปจึงต้องกลับใจใหม่ต่อพระเจ้า “ข้าแต่พระเจ้า ขอให้ลูกมีใจแห่งความเมตตา ความรัก ขอให้พระองค์เข้ามาตั้งอยู่ในหัวใจของลูกตอนนี้ ขอทรงรื้อฟื้นความชื่นชมยินดีในการรักผู้คนอีกครั้ง” และก่อนที่จะเดินไปถึงเตียงผู้ป่วย หรือก่อนที่มือผมจะวางอธิษฐานบนคนป่วยด้วยซ้ำ พระเจ้าทรงปลุกความรู้สึกยินดีขึ้นมาใหม่ ยินดีที่จะแบ่งปันถ้อยคำ ยินดีที่จะเป็นเครื่องมือแห่งการหนุนน้ำใจ  ยินดีที่ความยินดีของผมจะช่วยให้เขาผ่านความลำบากในตอนนั้นไปได้

ดังนั้น คำตอบต่อคำถามข้อนี้ก็คือ หน้าที่แห่งความรักจะต้องมากกว่าการกระทำเสมอ แต่รวมไปถึงความยินดีในพระเจ้าที่เอ่อล้นออกมาด้วยความหวังใจในผู้อื่น เมื่อการกระทำและความยินดีเกิดขึ้นด้วยกัน หน้าที่จึงสมบูรณ์ และเมื่อความยินดีไม่ได้อยู่ในการกระทำนั้น ให้อธิษฐานสารภาพและกลับใจใหม่ ขอพระเจ้ายกโทษ และลงมือทำด้วยความหวังว่าพระเจ้าจะรื้อฟื้นความรู้สึกที่มากกว่า ‘หน้าที่’ ให้เราอีกครั้ง


Previous Next

  • Translator:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง
  • Illustrator:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง