EP. 4 [Depression the Series]

เมื่อคนใกล้ตัวติดอยู่ในความมืดของโรคซึมเศร้า


ผู้เขียน Ann Golding
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ Helping a Friend through the Darkness of Depression


หมายเหตุจากบรรณาธิการ: ความซึมเศร้าถือเป็นส่วนหนึ่งของสภาวะทางจิตใจของมนุษย์ตั้งแต่เมื่อมีความบาปเกิดขึ้นครั้งแรก มีบุคคลหลายคน ในพระคัมภีร์ที่ก็เผชิญกับสภาวะหดหู่ทางใจ เช่น ดาวิด (สดด. 22:2, 42:11, 32:5) เอลียาห์ (1 พกษ. 19) เยเรมีย์ (20:1-11) เอเสเคียล (อสค.1) และเปาโล (2 คร. 4:7) หรือจากสดุดี 32 กับ 51 ทำให้ได้เรียนรู้ว่า บาปที่ไม่กลับใจก็สามารถนำไปสู่ภาวะหดหู่ได้ด้วย ซึ่งส่งผลต่อจิตใจและจิตวิญญาณ และตัวอย่างจากดาวิดทำให้เรารู้ว่า การเยียวยาเกิดขึ้นจากการสารภาพและการกลับใจใหม่

 

ที่จริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ นอกจากความบาปที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางอารมณ์แบบนี้ เช่น สารเคมีที่ไม่สมดุลย์ และโรคทางสมอง ประเด็นเรื่องการเจ็บป่วยทางจิตใจเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะตัดสินกันได้ง่ายๆ แต่จุดประสงค์ของบทความนี้มีไว้เพื่อให้เรารู้วิธีที่จะเดินเคียงข้างคนใกล้ตัวของเราที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ได้อย่างถูกต้อง

 

_____________________

 

ถ้าคุณมีคนใกล้ตัวที่กำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้า คุณจะทำยังไงคะ? จะช่วยเหลือเขายังไงดี?

 

สิ่งแรกที่เราคงจะตอบสนองไป ก็มีทั้ง หนีหาย เพิกเฉย เป็นกำลังใจ หรือรอให้มันผ่านพ้นไป ไม่ต่างกับสถานการณ์แย่ๆ อย่างอื่น แต่ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นตรงกันข้ามนั้นทุกประการ พระองค์ทรงอยู่ด้วย ทรงเข้ามามีส่วน ทรงมีเวลาให้คนอื่นๆ เสมอ และทรงห่วงใยทุกคนอย่างแท้จริง เราเองก็ทำเช่นนั้นได้นะคะพี่น้อง

 

มีสองสิ่งที่คุณควรรู้ก่อนอื่นใด….

 

ถ้าเรารู้ว่ามีคนใกล้ตัวที่กำลังเผชิญสภาวะซึมเศร้า บอกให้เขารีบไปหาหมอ เพราะโรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ และบางครั้งก็เป็นแค่ภาวะคล้ายโรคซึมเศร้า แต่เรื่องนี้ควรจะให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ประเมินจะดีกว่า ทั้งนี้ ในขั้นแรกไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นจิตแพทย์ (หลายคนอาจลังเลใจไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน) แต่อย่างน้อยก็อาจลองไปหาแพทย์ทั่วๆ ไปดูก่อนก็ได้ (ในกรณีที่เจอแพทย์ที่ไม่ค่อยเอาใจใส่หรือมีจิตใจห่วงใยคนไข้เท่าที่ควร ก็ลองไปหาแพทย์คนอื่นดูนะคะ)

 

สมมติว่า คนใกล้ตัวเราได้ไปหาหมอและได้รับยามาทานแล้ว ต้องให้กำลังใจเขาให้มากๆๆๆ เพราะถึงแม้เขาจะได้ทานยาแล้วก็ตามแต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนาน (ปรกติก็หลายสัปดาห์) กว่าอาการจะเริ่มดีขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น อาจต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนกว่าจะเจอยาที่ลงตัวอีก ซึ่งต้องใช้ความอดทนและความพยายามอย่างมาก ช่วงเวลาเช่นนั้นเราต้องคอยให้ความมั่นใจว่า เขามาถูกทางแล้วถึงจะยังไม่เห็นผลก็ตาม หมั่นถามไถ่ด้วยคำถามปลายเปิดอยู่เสมอ

 

คำถามปลายเปิดคือคำถามที่ไม่ใช่แค่ตอบใช่หรือไม่ใช่คนตอบต้องใช้ความพยายามมากขึ้นอีกหน่อยในการค้นหาคำตอบก่อนจะพูดออกมา เพราะคำถามปลายเปิดตั้งใจที่จะให้ความรู้สึกไม่ชัดเจนเวลาถามเพื่อให้ผู้ตอบจะต้องค้นหาคำตอบมากขึ้นอีกหน่อย เช่นถ้าคุณถามเพื่อนว่าวันนี้เป็นยังไงบ้างเขาอาจตอบมาว่าก็ดีหรืออะไรสั้นๆ ง่ายๆ แบบนั้น แต่ถ้าเราถามว่าวันนี้ทำอะไรมาบ้าง?” มันจะกึ่งบังคับให้เขาคิดหาคำตอบเพิ่มขึ้น หรือใช้คำตอบที่หลากหลายมากขึ้น เช่นไม่ค่อยได้ทำอะไรอะหรือก็โอเคนะช่วยให้คนถาม ถามคำถามได้เพิ่มเติมขึ้น เพื่อให้เรามีโอกาสรู้สภาพจิตใจของเขามากขึ้น สรุปก็คือ ให้หลีกเลี่ยงคำถามที่ตอบง่าย และถามคำถามที่ต้องคิดเยอะขึ้นก่อนจะตอบ

 

ในเวลาเดียวกัน การมีผู้ให้คำปรึกษาที่มีประสบการณ์ก็เป็นเรื่องที่จะช่วยได้มาก โดยเฉพาะถ้าเป็นคนที่มีมุมมองคล้ายกัน และไม่ได้มีแนวคิดขัดแย้งกันในเรื่องความเชื่อหรือค่านิยม หลายครั้ง แค่การพูดคุยก็เป็นการเยียวยาจิตใจคนเราได้แล้ว บาดแผลไม่สามารถหายได้ถ้าไม่ถูกเปิดออกล้างแผล และนักบำบัดจิตใจก็สามาถทำเช่นนั้นได้อย่างเชี่ยวชาญและละมุนละม่อม

 

เอาล่ะค่ะ กลับมาที่ตัวคุณในฐานะคนใกล้ตัว คือคุณต้องตระหนักก่อนว่าคุณอาจจะทำสองสิ่งที่ฉันพูดไปข้างต้นไม่ได้นั่นคือ การรักษาทางการแพทย์ และการให้คำปรึกษาแบบนักบำบัด คุณเป็นแค่เพื่อนหรือคนใกล้ตัวเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะในสถานะไหนก็ตาม ในช่วงเวลาแห่งความเจ็บป่วยทางใจเช่นนี้ เพื่อนและคนใกล้ชิดก็มีส่วนสำคัญมากในการฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจ

สิ่งต่อไปนี้เป็นวิธีปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับคนที่มีคนใกล้ตัวที่เป็นโรคซึมเศร้า หรืออยู่ในภาวะซึมเศร้านะคะ

 

รับฟังและปล่อยให้เขาพูดโดยไม่ขัดจังหวะหรือตัดสิน

ถ้าคนเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองมีคนที่เขารู้สึก ‘อุ่นใจ’ ไว้คอยรับฟัง จะช่วยให้เขารู้สึกกดดันน้อยลงในเวลานั้น  และถึงแม้ว่าสิ่งที่คนเหล่านี้พูดออกมาจะเป็นความรู้สึกที่เป็นบาดแผลหรือความคิดที่บิดเบือน ก็อย่าพึ่งไปว่าหรือตำหนิ ปล่อยให้เขาพูดไปก่อน อย่าพูดกับเขาว่าเขาไม่ควรรู้สึกแบบนี้ หรือแย้งว่าสิ่งที่เขาพูดตรงข้ามกับพระคัมภีร์ เพราะคนเหล่านี้เขารู้สึกแย่กับตัวเองอยู่แล้ว ในอนาคต เราอาจจะค่อยพูดกับเขาได้ แต่คนที่เป็นซึมเศร้าต้องการความรัก และการประคับประคองทางอารมณ์สูงมาก ไม่ใช่การตัดสิน ให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดมีคนรับฟังและเข้าใจโดยไม่ไปตัดสินหรือสอน จะเป็นวิธีที่ช่วยทำให้เขารู้สึกได้รับความรักได้มาก

 

บางครั้งคนที่เป็นโรคนี้อาจจะพูดขึ้นมาว่า “ถ้าฉันไม่อยู่ อะไรๆ คงดีกว่านี้” ประโยคนี้บ่งบอกว่าผู้พูดอาจกำลังคิดสั้นอยู่ ซึ่งอาจจะต้องพาไปพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา แต่ถ้าคุณเจอเหตุการณ์แบบนี้ ฉันแนะนำว่าคุณควรอธิษฐานขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สติปัญญากับคุณว่าจะตอบยังไงดี บางครั้งคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าพูดแบบนี้เพราะอยากจะรู้ว่าผู้ฟังจะตอบสนองยังไง บางครั้งก็เพื่อเรียกร้องความสนใจ บางครั้งก็เพื่อให้ตัวเองถือไพ่เหนือกว่า แต่จากประสบการณ์ที่ฉันเคยเจอเพื่อนพูดแบบนี้มา ฉันก็จะเตือนให้เขารู้ว่าเขามีค่ากับคนอื่นๆ มากแค่ไหน และการคิดสั้นไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ดีขึ้นมาเลย

 

คำเตือน: สถานการณ์แบบนี้อาจจะดูดพลังคุณไปได้มาก ดังนั้นขอให้คุณพึ่งกำลังจากพระเจ้าให้มากในการแสดงความรักต่อเขาเหล่านี้

 

จำไว้ว่าคุณไม่ใช่คนที่จะแก้ปัญหาให้เขา

ไม่ว่าชีวิตเขาจะมีปัญหาเพราะอะไร ไม่ใช่คุณที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้เขา คุณไม่สามารถกลับไปซ่อมแซมสิ่งที่สึกหรอในชีวิตของเขาได้ หน้าที่ของคุณคือรับฟังและคอยให้ความมั่นใจว่าเขามีคุณอยู่เคียงข้าง แต่ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาให้

 

คนที่เป็นโรคซึมเศร้าคือคนป่วย

คุณต้องเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นโรค เหมือนกับคนป่วยเป็นโรคหัวใจหรือเบาหวานนั่นแหละ เช่นเดียวกันคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็ทำให้ตัวเองหยุดซึมเศร้าไม่ได้ ถึงแม้พวกเขาอยากจะทำอย่างนั้นมากสักแค่ไหนก็ตาม เป็นสิ่งที่ต้องรับการรักษาทางอารมณ์และการแพทย์ซึ่งใช้ระยะเวลานาน ดังนั้นการอยู่กับคนเหล่านี้ในช่วงเวลาเช่นนี้เป็นเหมือนของขวัญล้ำค่าสำหรับพวกเขามากๆ เพราะในเวลาที่คุณเห็นแสงสว่าง แต่เขามองไม่เห็น คุณไม่สามารถช่วยให้คนตาบอดมองเห็นในสิ่งที่เขามองไม่เห็นได้ แต่คุณช่วยนำทางพวกเขาได้

 

พยายามเข้าหาเขาก่อน

คนที่เป็นซึมเศร้ามักจะอยู่บ้านทั้งวันถ้าทำได้ ลองชวนเขาออกไปข้างนอกบ้าง บางทีจะต้องชวนแล้วชวนอีกแต่อย่าพึ่งล้มเลิกความตั้งใจนะคะ การได้อยู่กับผู้คนจะช่วยกระตุ้นเขาได้บ้าง โดยเฉพาะการได้อยู่กับธรรมชาติจะช่วยได้มาก หรือถ้าคุณรู้สึกว่าเพื่อนคุณกำลังรู้สึกแย่มากจริงๆ และไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ ก็ปล่อยเขาไป ปล่อยให้เขามีพื้นที่ของเขาสักพักและลองทักเขาอีกครั้งวันหลัง ส่งข้อความ การ์ดหนุนใจ ก็ได้ การทำให้เขารู้ว่าเขาเป็นที่รักจะช่วยเขาได้มากทีเดียว

 

สนับสนุนหรือช่วยให้เขาดูแลตัวเอง

ลองถามเขาดูว่า ได้ดูแลตัวเองบ้างไหมช่วงนี้ คนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าส่วนใหญ่ไม่มีกะจิตกะใจดูแลตัวเองเท่าไหร่ ถึงแม้เค้าจะสามารถดูแลคนอื่นได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องก็ตาม คุณอาจลองชวนเขาออกไปนั่งคุยในร้านกาแฟสักวัน และถามเขาว่าอะไรที่จะทำให้เขาผ่อนคลาย สนุก หรือชอบทำอะไรบ้าง? อะไรที่เขาทำเพื่อดูแลตัวเองบ้าง? แล้วให้เขาเขียนลิสต์ออกมา

 

อย่าลืมวางขอบเขตให้ตัวเอง

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง หากคุณสัมผัสว่าเพื่อนคุณกำลังใช้คุณเป็นที่ระบายอารมณ์ส่วนตัวมากเกินไปแล้ว ให้วางขอบเขตให้ตัวเอง อย่าลืมค่ะว่าคุณเป็นแค่เพื่อน ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา ให้กล้าพูดออกมาว่าไว้ค่อยคุยกันวันหลัง วันนี้เหนื่อยแล้ว ฟังต่อไม่ไหวแล้ว แต่ไม่ใช่เพราะไม่รักหรือไม่เป็นห่วงพวกเขา จากนั้นลองหนุนใจให้เขากลับไปคุยกับจิตแพทย์หรือผู้ให้คำปรึกษาดู

 

คอยให้ความมั่นใจว่าคุณคอยเป็นกำลังใจให้และพระเจ้ารักเขา

คอยเตือนสติเขาอย่างนุ่มนวล จะด้วยวิธีสร้างสรรค์ใดๆ ก็ได้ ว่าพระเจ้ารักและให้คุณค่าเขามากกว่าที่เขารู้ พระองค์ทรงอยู่กับเขาและสัญญาว่าจะไม่ทอดทิ้ง แล้วก็ให้ความมั่นใจในมิตรภาพระหว่างคุณและเขา บอกเลยว่าอาจจะมีบางครั้งที่ไม่ง่ายเลย บางเวลาก็เป็นเรื่องท้าทายมากที่จะรักคนที่เป็นโรคนี้ แต่สิ่งสำคัญคือทำให้เขารู้ว่าคุณเป็นคนที่เขาไว้ใจได้

 

คอยเตือนเขาว่ามีความหวังอยู่เสมอ

โดยเฉพาะความหวังในพระเจ้า “ข้าพเจ้า​อธิษฐาน​ว่า ขอ​พระเจ้า​แห่ง​พระเยซูคริสตเจ้า​ของ​เรา คือ​พระบิดา​ผู้​ทรง​พระสิริ​ทรง​โปรด​ประทาน​ให้​ท่าน​ทั้งหลาย มี​จิตใจ​อัน​ประกอบ​ด้วย​สติปัญญา และ​ความ​ประจักษ์​แจ้ง​ใน​เรื่อง​ความ​รู้​ถึง​พระองค์ และ​ขอ​ให้​ตาใจ​ของ​ท่าน​สว่าง​ขึ้น เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​รู้​ว่า ใน​การ​ที่​พระองค์​ทรง​เรียก​ท่าน​นั้น พระองค์​ได้​ประทาน​ความหวัง​อะไร​แก่​ท่าน และ​รู้​ว่า มรดก​ของ​พระองค์​สำหรับ​ธรรมิกชน​มี​สง่าราศี​อัน​อุดม​บริบูรณ์​เพียงไร และ​รู้​ว่า ฤทธานุภาพ​อัน​ใหญ่​ของ​พระองค์​มี​มาก​ยิ่ง​เพียงไร สำหรับ​เรา​ทั้งหลาย​ที่​เชื่อ ตาม​อำนาจ​ของ​พระกำลัง และ​ฤทธานุภาพ​อัน​ใหญ่​ยิ่ง​ของ​พระองค์ “ เอเฟซัส 1:17-19 สิ่งที่เขาเป็นไม่ได้อยู่ถาวรตลอดไป เมื่อถึงรุ่งสางความมืดก็จะหายไป เช่นเดียวกัน ยังมีความหวังอยู่เสมอ

 

สุดท้ายคือ อธิษฐานเผื่อเขา

อธิษฐานๆๆๆ อธิษฐานด้วยความร้อนรน ด้วยความเชื่อมั่นให้กับเขา คนที่เป็นโรคนี้ต้องการคำอธิษฐานเผื่ออย่างมาก ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้ขอให้เราอธิษฐานเผื่อก็ตามที

 

_____________________

 

นี่ก็เป็นไอเดียและวิธีที่เราจะรับมือกับคนยากๆ แม้กระทั่งกับตัวเราเองด้วยก็ตาม สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ยาก จะยากแค่ไหน สิ่งที่จะช่วยปลดปล่อยความซึมเศร้าได้ก็คือ ความรัก การรับฟัง ความเข้าใจ ความจริงของพระเจ้า และคำอธิษฐานเผื่อ ถ้าใครที่อ่านบทความนี้อยู่และมีคนใกล้ตัวที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ก็ขอเอาใจช่วยให้ผ่านไปได้เร็วๆ และอย่าลืมกลับมาเป็นพยานให้กันฟังด้วยน้า

 


แสงแห่งความหวังมีเสมอแม้ในเงาของความเศร้า  ติดตามบทความทั้งหมดในซีรีส์คริสเตียนกับโรคซึมเศร้า Depression the Series ได้ทางลิงค์นี้นะคะ >> https://choojaiproject.org/category/articles/psychology/depression-the-series/


Previous Next

  • Translator:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง
  • Illustrator:
  • ลาเบย (Labiere)
  • จับงานวาดมาตั้งแต่มัธยม จบออกแบบมาก็ยังวาดไม่ยั้ง ยังอยู่ร่วมกันในแวดวงงานรับใช้ไม่เคยหาย พร้อมๆกับความฝันในงานมิชชั่นนารี
  • Editor:
  • Jick
  • บก.ชูใจ ผู้ใฝ่ฝันจะชูใจน้องๆ จากความพลาดของตัวเอง