กะเทาะเปลือกวันอีสเตอร์

EP. 27

กะเทาะเปลือก “วันอีสเตอร์”


บทความนี้ใช้ระยะเวลาในการอ่าน  6 นาที  เพื่อเข้าใจแก่นแท้ของอีสเตอร์ เลื่อนอ่านเลยจ้าาาา ☺

HIGHLIGHTS:

  • ความหมายที่แท้จริงของวันอีสเตอร์ คือการฟื้นพระชนม์ของพระคริสต์ และ สัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์ต่างๆ มีที่มาอย่างไร? และอะไรกันแน่ที่เป็นสัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์ที่แท้จริง ปลอกเปลือกทั้งหลายออกและพูดกันถึงแก่นแท้ที่เป็นความหมายที่แท้จริงของวันอีสเตอร์!!!

__________________________________

 

และถ้าพระคริสต์ไม่ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมา ความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์
ท่านก็ยังตกอยู่ในบาปของตน (1โครินธ์ 15:17)

 

ถ้าถามว่าวันอะไรเป็นวันสำคัญที่สุดในปฏิทินของคริสเตียน หลายคนคงจะตอบว่า “วันอีสเตอร์นี่แหละ!”  ถึงแม้วันคริสมาสต์ดูน่าตื่นเต้นหวือหวากว่า แต่เหตุผลที่พระเยซูลงมาเกิดบนโลกในวันคริสมาสต์ก็เพื่อตายไถ่บาปเรา และแม้ว่าพระองค์จะพูดว่า “สำเร็จแล้ว” ที่ไม้กางเขน แต่ภาพของการไถ่นั้นสำเร็จสมบูรณ์ในวัน “อีสเตอร์” เมื่อพระเยซูทรงฟื้นขึ้นมาตามคำพยากรณ์ที่พระองค์พูดเอาไว้

 

“พระองค์จะทรงถูกประหารชีวิต และหลังจากนั้นสามวันจะเป็นขึ้นมาใหม่” (มาระโก 8:31)

 

ถ้าปราศจากการฟื้นขึ้น การลงมาเกิดและตายจะไม่มีความหมายอะไรเลย ดังนั้นวันที่พระเยซูฟื้นขึ้นจึงเป็นการประกาศถึงชัยชนะเหนือความบาปและความตาย และนั่นคือวันที่พิเศษที่สุด!!!
.

 

อีสเตอร์ไม่ได้เป็นเทศกาลของชาวยิว และไม่ได้มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์

 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์เหล่านั้นไม่ได้มีบันทึกไว้ในพระหนังสือพระกิตติคุณ และไม่ได้แปลว่าเราจะมีวันหนึ่งที่ระลึกถึงการฟื้นพระชนม์ไม่ได้ พระเยซูทรงตั้งพิธีมหาสนิทขึ้นในตอนที่ทรงรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายกับบรรดาสาวกระหว่างเทศกาล “ปัสกา” (Passover)  ปัจจุบันเรารำลึกถึงการสิ้นพระชนม์และตั้งชื่อวันนั้นว่า “ศุกร์ประเสริฐ” หลังจากครบสามวันพระองค์ทรงฟื้นขึ้น คริสเตียนก็ระลึกถึงวันนั้นในชื่อ “วันอีสเตอร์”

 

ศุกร์ประเสริฐภาพถ่าย โดย Joshua Davis

 

เดิมทีการฉลองการฟื้นพระชนม์อ้างอิงกับปฏิทินยิว จนในปี ค.ศ. 325 จักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine) แห่งอาณาจักรโรมัน และที่ประชุมแห่งไนเซีย (The Council of Nicaea) มีมติว่าวันอีสเตอร์ควรต้องตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่พระเยซูคริสต์ทรงฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมา

 

นอกจากนั้นเมื่อศาสนาคริสต์เริ่มแพร่ขยายไปทั่วยุโรป ก็เริ่มมีการผสานวัฒนธรรมความเชื่อของคนพื้นถิ่นเข้ามา คาดกันว่าชื่อวัน “อีสเตอร์ ”  เป็นชื่อที่มาจากนามของเทพธิดาแห่งฤดูใบไม้ผลิของชาวยุโรปโบราณนั่นเอง
.

 

แล้วไก่กับไข่มาจากไหน? ทำไมต้องไข่ต้มแล้วระบายสีในวันอีสเตอร์?

 

พระคัมภีร์พูดถึง ‘ไก่’ ทั้งหมดประมาน 12 ครั้ง โดย 8 ครั้งคือตอนที่เปโตรคนดีปฎิเสธพระเยซูก่อนไก่ขัน แต่นี่ก็ไม่น่าจะใช่สาเหตุที่นำ ไก่กับไข่มาเกี่ยวข้องกับอีสเตอร์เท่าไหร่ แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในสัปดาห์เดียวกันกับการถูกตรึงและฟื้นพระชนม์ก็ตาม

 

ไข่ อีสเตอร์ภาพถ่าย โดย Autumn Mott

 

ในซีกโลกฝั่งตะวันตก หลังจากความหนาวเหน็บในฤดูหนาวได้ผ่านพ้นไปก็จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเพาะปลูกและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลายๆ ศาสนาในสมัยโบราณมีประเพณีการฉลองฤดูใบไม้ผลิ และด้วยความสามารถในการ Mix and Match ของมนุษย์ ไข่ กระต่าย ไก่ ผีเสื้อ ดอกลิลลี่ บลาๆ ก็กลายเป็นสัญลักษณ์วันอีสเตอร์ในที่สุด

 

นานวันเข้าไข่ต้มก็เริ่มมีสีสันและหลายอย่างเริ่มดูซับซ้อนขึ้น แก่นแท้และความหมายก็เริ่มถูกกิจกรรมต่างๆ อันเป็นเปลือกห่อหุ้มซะแทบจะมิด แม้คริสเตียนหลายคนและคริสตจักรจะพยายายามสอนเด็กๆ ว่า ไข่และสิ่งสารพัดอื่นๆ เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ในพระคริสต์ แต่ก็มีอีกหลายต่อหลายคนที่หลงลืมความสำคัญเหล่านั้นเพราะการตามหาไข่ที่ซ่อนอยู่ตามโพรงไม้สนุกกว่านี่นา

 

 

และแล้ว… ไข่กับกระต่ายอีสเตอร์ก็แย่งซีนพระเยซูไปในที่สุด!!!

 

ด้วยเหตุนี้เอง คริสเตียนหลายคนจึงไม่ชอบให้มีไข่หรือกระต่ายในเทศกาลอีสเตอร์ บางคนถึงกับให้หลีกเลี่ยงการใช้ไข่และกระต่ายในวันอีสเตอร์ด้วยซ้ำ โดยให้ความเห็นว่าธรรมเนียมเหล่านี้มาจากศาสนาอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการนับถือรูปเคารพ พวกเขาย้ำว่าวันอีสเตอร์คือวันของพระเยซู ไม่ใช่วันของไข่และกระต่าย รวมทั้งธรรมเนียมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของคริสเตียน (และก็มีอีกกลุ่มที่ แบนวันอีสเตอร์ไปเลยเพราะไม่ได้มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ โดยให้เหตุผลว่าสิ่งเหล่านี้หันเหความสนใจของผู้คนไปจากความหมายที่แท้จริงของการฟื้นพระชมน์ และไม่เป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า)

 

 

เครื่องหมายแห่งชีวิตใหม่ในวันอีสเตอร์คือ “เราเอง” ไม่ใช่ไข่ไก่

 

สัญลักษณ์และรูปแบบ ไม่สำคัญกว่าความหมาย

 

หลายครั้งเราจริงจังกับการทุ่มเถียงว่าควรจะจัดงานในรูปแบบไหน จนลืมความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่เราทำ

สาระสำคัญของวันอีสเตอร์ คือ “การฟื้นขึ้น” โดยพระเยซูที่ทรงลงมาตายเพื่อรับภาระทั้งหมดไปแล้ว ไม่ใช่ข้อถกเถียงเรื่องชื่อวัน หรือ ปีนี้จะต้มไข่กี่ฟอง จะเสิร์ฟข้าวต้มหมูหรือโจ๊กไก่ดี ไม่ใช่การสรรหากิจกรรมมาทำให้เหนื่อยกายหน่ายใจ

 


ภาพถ่าย โดย Ryan McGuire

 

ความจริงที่เราควรระลึกก็คือว่า พระเยซูคริสต์ทรงมีชัยเหนือความบาปและความตาย ทรงทำให้ “สำเร็จแล้ว” โดยพระองค์ เราจึงได้รับชีวิตใหม่ ดังนั้นเราจะจัดงานอย่างไรจึงไม่สำคัญเท่ากับว่า เราคือใครในพระคริสต์ต่างหาก ด้วยความจริงข้อนี้ “เราทุกคนที่ได้รับชีวิตใหม่ จึงเป็นสัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์ที่พระเยซูตั้งไว้ ไม่ใช่ไก่ที่ไหน” เหมือนที่พระคัมภีร์พูดไว้ว่า…

 

 “ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสต์ ผู้นั้นเป็นคนที่ถูกสร้างใหม่แล้ว สิ่งสารพัดที่เก่าๆก็ล่วงไป นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น”  (2 โครินธ์ 5:17)

 

หากแต่เราเข้าใจและไม่ลืมความหมายที่แท้จริงนี้ วันอีสเตอร์จะใช้ชื่อวันอะไรก็ได้ จะจัดเวลาไหนก็ได้ เพราะรูปแบบวิธีการคือสิ่งที่เรากำหนดและสร้างขึ้นมาเอง เหมือนเปลือกไข่ที่จะระบายสีอะไรก็ได้หรือแม้ไม่ระบาย แต่คุณค่าภายในนั้นยังคงเป็นไข่อยู่ดี

 

กระต่าย อีสเตอร์ภาพถ่าย โดย Ryan McGuire

 

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะจัดงานเพื่อระลึกร่วมกันหรือไม่ ไม่ว่าจะอย่างใดก็ไม่อาจเปลี่ยนความจริงที่ว่า พระเยซูคริสต์ทรงตายบนไม้กางเขน และในวันที่สาม พระองค์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย เพื่อให้เราทุกคนได้รับชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นความจริงที่เราควรจะระลึกถึงในทุกๆ วัน

 

ด้วยรักและไข่ต้ม


.


ข้อมูลเพิ่มเติม ::

 

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลปัสกาและอีสเตอร์ เขียนโดย อ. ปัทมโรจน์ มากสุริวงศ์ อ้างจาก  http://pattamarot.blogspot.com/2011/04/blog-post.html

มารู้จักความจริงวันอิสเตอร์กัน โดย เกร็ดหนังสือม้วน  http://www.creation-church.com/article08.php

Why Easter is called Easter, and otherlittle-known facts about the holiday  by Katie Morrow อ้างจาก http://theconversation.com/why-easter-is-called-easter-and-other-little-known-facts-about-the-holiday-75025

รวมข้อพระคัมภีร์ที่พูดถึงไก่ อ้างจาก  https://bible.knowing-jesus.com/topics/Chickens

.


ติดตามบทความในคอลัมน์ #Featured คอลัมน์ในกระแสที่หยิบจับเอาเรื่องทั่วไปมาพูดคุยกันในมุมมองของคริสเตียน ทุกวันพฤหัสสีส้มนะคะ ☺


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • Narit
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก
  • Editor:
  • Narit
  • เนื้อแท้เป็นคนรักหนัง เบื้องหลังดีไซน์เก๋ๆ สวยๆ ของเว็บชูใจ คือฝีมือของเค้า นักออกแบบตัวยงผู้รักบอร์ดเกมเป็นชีวิตจิตใจ และอยากเห็นงานสร้างสรรค์คริสเตียนไทยพัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ชาติไหนในโลก