ตอนที่ 5 (สุดท้าย) ของซีรีย์มีอะไรภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง จะเปิดเผยวิธีการฟังเสียงหัวใจตัวเอง ให้เราสามารถรับรู้ความต้องการที่แท้จริงภายในใจของเราได้ ปิดประตูห้องสักพักแล้วมาเปิดประตูใจกันเถอะ!!! สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่านตอนก่อน ๆ สามารถติดตามอ่านได้ที่ลิงค์นี้ >>> ซีรีย์มีอะไรภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง
.
“ช่วงนี้หนูเครียดๆ พี่ไปกินบิงซูเป็นเพื่อนหนูหน่อยได้มั้ยคะ?”
.
ภาพประกอบสมมุติ
เช้าวันหนึ่ง ฉันได้รับคำขอนี้จากรุ่นน้องผ่านโปรแกรมแชท ครั้งแรกที่ฉันได้อ่านข้อความก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่า “เครียด”กับ “บิงซู” มันเกี่ยวกันยังไงนะ? พอคิดต่อไปอีกสักหน่อยฉันก็ตระหนักได้ว่าที่แท้ เจ้าบิงซู มันคือตัวช่วยคลายความเครียดของน้องเค้านี่เอง
ประเด็นนี้น่าสนใจดี ฉันเลยทดลองไปถามเพื่อนๆ และสังเกตคำตอบเหล่านั้นซึ่งคำตอบที่ได้จากเพื่อนๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
พฤติกรรมที่คนทั่วไปตอบสนองเมื่อเจอสภาวะความเครียด มีมากมายหลายแบบ
บางคนเครียดแล้วก็ไปหาอะไรอร่อยๆ กิน บางคนหาสิ่งบันเทิงเริงใจทำ ดูหนัง ฟังเพลง ร้องคาราโอเกะ บางคนพอรู้สึกเครียดก็อยากจะไปเที่ยวหรือออกไปในสถานที่ใหม่ๆ บ้างก็ไปออกกำลังกายเล่นกีฬา บ้างก็นั่งรถ เดินเล่นปล่อยใจไปกับสายลม แต่ก็มีไม่น้อยที่เลือกที่จะอยู่คนเดียว เงียบๆ วาดภาพ อ่านหนังสือ หรือไม่ก็หนีไปนอน เราต่างคนก็ต่างมีวิธีจัดการกับความเครียดในรูปแบบของตัวเอง อีกสิ่งนึงที่น่าสนใจที่ฉันสังเกตุเห็นได้จากเรื่องนี้คือ…
“ทั้งๆ ที่ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจ แต่คนส่วนมากกลับพยายามมองหาและใช้สิ่งภายนอกเพื่อจัดการกับความเครียดแทนที่จะใช้เวลาฟังเสียงจากภายใน จึงไม่น่าแปลกเลยนะ ที่ไม่ว่าจะพยายามคลายเครียดเท่าไหร่ๆ บางทีเจ้าความเครียดมันก็ไม่หายตัวไปสักที”
หัวใจเรากำลังเครียดรึเปล่า?
กรมสุขภาพจิตนิยามว่า ความเครียด… คือภาวะของอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ คับข้องใจ หรือถูกบีบคั้น กดดันจนทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ใจหรือสับสน
อีกท่านนึงที่นิยามได้ดีคือ สมิต อาชวนิจกุล(2537) กล่าวว่า ความเครียดคือสภาวะที่ซับซ้อนของร่างกายและจิตใจอันเกิดจากสภาวะแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ร่างกายและจิตใจเปลี่ยนแปลงไป และความเครียดจะยังคงอยู่เรื่อยไปจนกว่าสถานการณ์นั้นจะถูกกำจัดให้หมดไป ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนในทุกช่วงเวลาและเมื่อเกิดความเครียด ในตัวบุคคลแล้วจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ
ฉันหวนนึกถึงภาพเปรียบเทียบนึงที่ พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ ได้เคยบอกไว้ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการบำบัดจิตในแนวซาเทียร์ และในหนังสือ “เข็มบ่งเสี้ยน”ว่า สภาวะไม่พึงประสงค์ต่อชีวิตของคนคนนึงเปรียบเสมือน “เสี้ยน” หากไม่ได้รับการบ่งเสี้ยนออกไปก็อาจจะกลายเป็นหนอง และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้หลายๆ คนไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขเพราะยังคงมีเสี้ยนบางอย่างค้างอยู่ แต่ในทางตรงกันข้าม หากได้บ่งเสี้ยนนั้นหลุด บุคคลนั้นก็จะหายปวด อาการต่างๆ ที่เหมือนกับการอักเสบจนเป็นหนองเพราะร่างกายพยายามขับไล่เสี้ยนนั้นให้หลุดก็จะไม่มีอีกเพราะเสี้ยนได้ถูกขับออกมาแล้ว
การไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองรู้สึกอะไรนับเป็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างปกติแพร่หลายในสังคมปัจจุบัน
ผู้คนส่วนมากยุ่งยากไปกับการดูแลทำหน้าที่ประจำวัน คอยดูแลความจำเป็นของคนอื่นๆ และพยายามหาเลี้ยงชีพให้มีชีวิตรอด ซึ่งนั่นทำให้เราไม่มีเวลาที่จะหยุดฟังเสียงความต้องการสำหรับตัวเอง ในที่สุดก็ลืม(หัวใจ)ตัวเอง และท้ายที่สุดอาจพาเรามาถึงจุดที่รับไม่ไหวและพบว่า “อารมณ์ของเราเหมือนภูเขาหิมะที่กำลังจะถล่ม” ข้างในมีบาดแผล มีความไม่พอใจ หรือแม้กระทั่งความบาดเจ็บซึ่งบ่อยครั้งหัวใจถูกทิ้งให้ติดเชื้อเรื้อรังจนกลายเป็นแผลเป็น”
ปกติแล้วเราก็จะไม่เพิกเฉยหรอกใช่มั้ยคะถ้าเราขาหัก โดนมีดบาด หรือว่ามีแผลตามลำตัว แต่เหตุใดเรากลับปล่อยปละละเลยหัวใจของเราเองเจอความเจ็บช้ำแตกสลาย เราทนอยู่กับความเครียด ไม่สบายใจกับบางเรื่อง อยู่เป็นปีๆ และก็มานั่งสงสัยกับอารมณ์ที่ขุ่นมัวของตัวเองโดยไม่รู้ตัว
อาจเพราะจิตใจนั้นอยู่ลึกลงไปจนเรามองไม่เห็น อาการเจ็บป่วยทางใจจึงมักเป็นอาการเรื้อรัง ที่ลุกลามไปทั่ว หาต้นตอไม่ค่อยเจอ แต่ผลร้ายส่งผลออกมาทางอารมณ์ ความคิด รวมถึงการกระทำที่แสดงออกมา ทุกอย่างดูจับต้นชนปลายไม่ถูก และคนอื่นๆ เขาไม่รู้หรอกว่าโลกภายในเราเป็นอะไร เขาแค่เห็นการกระทำของเราภายนอก และก็สรุปว่าเราก็เป็นคนไม่น่าคบหา อย่าว่าแต่คนอื่นเลย พอนานๆ เข้า เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมเราจึงแสดงออกพฤติกรรมแย่ๆ เหล่านั้น
หัวใจจะดี เริ่มต้นที่การเช็คอิน (Check in)
การเช็คอินในที่นี้ ไม่ใช่การเช็คอินการไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ บนมือถือของเรา แต่คือการ สำรวจว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหนในโลกแห่งอารมณ์ของตัวเอง
การสำรวจจิตใจเป็นประจำทุกวันนั้นจะช่วยให้เราสามารถก้าวเข้าไปในโลกแห่งอารมณ์ของตัวเองได้ (ซึ่งบ่อยครั้งเป็นโลกที่สับสนอลหม่าน) ทำให้เราเข้าใจว่าตอนนี้ตัวเองอยู่จุดไหน จะไปต่อยังไงกับเรื่องต่างๆ ในชีวิต เพราะเหตุนี้ ชีวิตของเราจึงจำเป็นต้องมีการเช็คอิน (Check in) และควรเรียนรู้ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญเพื่อดูแลตนเอง การสำรวจโลกแห่งอารมณ์ของตัวเองนั้นอาจทำให้เรารู้สึกหวั่นๆ แต่การเพิกเฉยต่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวเองต่างหากที่จะนำไปสู่อันตราย
ความเครียดเป็นเหมือนสัญญาณเตือนขั้นต้นเรียกร้องให้ร่างกายและจิตใจรู้ว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะที่ขาดสมดุลและต้องปรับให้กลับมาสมดุล และความเครียดเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะให้ความสำคัญ
การเช็คอินอารมณ์ประจำวันนั้น ควรจะทำอย่างสม่ำเสมอและเป็นไปอย่างธรรมชาติ คล้ายๆกับการแปรงฟันในทุกๆ เช้านั่นเองค่ะ และการเช็คอินหัวใจนั้น แบ่งเป็น 4 ขั้นตอนง่ายๆ ตามนี้
สี่ปฏิบัติการใจ “มองใจ-ถามใจ-ฟังใจ-พาใจ”
-
“มองใจ” : หยุดมองหาสิ่งภายนอกเพื่อใช้เป็นเครื่องคลายเครียด แต่หันกลับมามองที่ภายในใจ
ให้เวลากับตัวเอง กำหนดเวลาไว้อย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อการสำรวจอารมณ์ภายในของตัวเอง เริ่มจากการกลับมาใส่ใจมองที่ความรู้สึกภายใน “ตอนนี้หัวใจของเราเป็นยังไงนะ? แข็งแรงดีไหม มีอะไรมากระทบกระเทือนให้บอบช้ำรึเปล่า? ” เป็นการตั้งใจใช้เวลาช่วงหนึ่งตรงนี้ที่จะสำรวจเข้าไปในโลกแห่งอารมณ์ของตัวเอง
-
“ถามใจ” : ถามสองคำถามนี้กับตัวเอง
“ ตอนนี้รู้สึกอะไร”
“ ตอนนี้ต้องการอะไร”
ให้สองคำถามนี้เป็นเหมือนพาหนะ ที่พาเราเข้าไปพบกับ ความรู้สึกของตัวเอง เป็นเรื่องปกติสำหรับบางคนที่จะสามารถเชื่อมโยงกับความรู้สึกของตัวเองได้ทันที ซึ่งจะสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าในขณะนั้นเขากำลังรู้สึกอะไร แต่กับอีกหลายๆคนการเชื่อมโยงกับความรู้สึกนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยทันทีทันใด ดังนั้นอาจจะต้องให้เวลาในการถามคำถามอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อน และอาจจะถามซ้ำอีก หากยังไม่รับรู้ว่าตัวเองรู้สึกอะไรอยู่ ฉันขอแนะนำว่าให้ลองเชื่อมโยงกับร่างกายก่อน ลองสังเกตดูว่าตอนนี้เรารู้สึกที่ส่วนไหนของร่างกาย หาคำตอบว่ามีอารมณ์อะไรไหมที่เชื่อมโยงอยู่กับความรู้สึกที่ส่วนนั้น และอารมณ์เหล่านั้นมันเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร
-
“ฟังใจ” : เมื่อได้ถามคำถามแล้ว ให้เปิดใจกว้างรับฟัง ให้เกียรติกับความรู้สึกเหล่านั้น
ความรู้สึกเป็นระบบชี้นำ เค้าทำหน้าที่คล้ายเข็มทิศเพื่อช่วยให้เรารู้ว่า “ตอนนี้เราอยู่จุดไหน” เพื่อที่เราจะได้รู้ว่า เราจะไปอยู่ใน “จุดที่เราต้องการ” ได้ยังไง
เมื่อเราได้รับรู้ความรู้สึกของตัวเองแล้ว (ฉันขอแนะนำให้เขียนมันลงไปในสมุดบันทึก) จากนั้นก็ให้เราถามตัวเองต่อไปว่าเราต้องการอะไร และก็ทำเหมือนเดิม คือ เปิดใจกว้างรับฟังคำตอบแรกที่เราได้ยิน พยายามอย่างดีที่สุดที่จะตรงไปตรงมา ไม่ตัดสินกับคำตอบ และให้เกียรติสิ่งที่ใจเราต้องการ
-
“พาใจ” : เมื่อเราได้ยินแล้วว่า ตอนนี้เรากำลังรู้สึกอะไร และต้องการอะไร
ถึงขั้นตอนที่เราต้องเลือกตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ยินจากใจ เราเลือกอะไรเราก็พาใจไปทางนั้นด้วย เช่น เรารู้สึกโดดเดี่ยวและเราต้องการการสนับสนุน ก็ให้เราลองยกหูโทรศัพท์หรือนัดใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อน หรือหากเรารู้สึกเมื่อยล้า และต้องการการผ่อนคลาย ก็อาจลองหาวิธีผ่อนคลายที่ทำได้ง่ายๆ เช่น อาบน้ำอุ่น หรือนอนฟังเพลงสบายๆ ดูหนังที่ชอบ เป็นต้น
สิ่งหนึ่งในขั้นตอนนี้ที่สำคัญคือ เราควรตระหนักด้วยว่า เรามีธรรมชาติบาปในตัวของเรา เมื่อเรารับรู้แล้วว่า เรารู้สึกอะไรและต้องการอะไร ก็ให้เราใช้สติปัญญาและหลักการของพระเจ้าเข้ามาพิจารณาในขั้นตอนนี้ด้วย ว่าเราควรตอบสนองต่อสิ่งที่ใจรู้สึกและต้องการในแบบที่ถูกต้องและ ถวายเกียรติต่อพระเจ้าได้ยังไงบ้าง ไม่ใช่ทุกความรู้สึกจะเป็นสิ่งที่มาจากพระเจ้า ไม่ใช่ทุกความต้องการที่ถวายเกียรติต่อพระเจ้า
ให้เราเลือกพาใจของเราไปในทางที่ถูก พาใจของเราให้รัก พาใจให้วางอยู่บนความจริงของพระเจ้า ซึ่งเราเอง จะรู้จักหนทางในการพาใจของตัวเองให้ถูกต้องในสายพระเนตรพระเจ้าเสมอได้ เมื่อเราเรียนรู้จักพระเจ้าของเราและสะสมความจริงของพระองค์ไว้ในใจ
สิ่งที่บุคคลในพระคัมภีร์ หลายคนเลือกตอบสนองต่อความเครียดความกดดันเป็นแบบอย่างที่ดีมากต่อผู้เชื่ออย่างเรา ฉันชอบท่าทีของกษัตริย์ดาวิดและของพระเยซูเป็นพิเศษในเรื่องนี้
จากพระธรรมสดุดีเราจะได้เห็นดาวิดมักใช้เวลาพูดคุยกับพระเจ้า ถามและขอให้พระองค์ชันสูตรจิตใจของเขา และเขาก็มักจะพูดกับจิตใจของตัวเองเสมอ เรื่องราวของเขาทำให้ฉันได้เรียนรู้ความจริงว่า เราเองก็ยังไม่รู้จิตใจของตัวเองดี เท่าพระเจ้าพระผู้สร้างรู้จักใจของเรา ฉันเองก็เคยเจอบางสถานการณ์แล้วก็รู้สึกเครียดแต่ก็แปลกที่ตัวเองก็ยังไม่รู้เลยว่าเครียดอะไร ฉันจึงต้องพึ่งพระเจ้าอยู่เสมอ ถามพระองค์อยู่บ่อยๆ และคอยอธิษฐานขอพระเจ้าเข้ามาสำแดงให้รู้ว่าตอนนั้นมีอะไรอยู่ในใจ และ สิ่งที่อยู่ในใจตอนนี้ถวายเกียรติและดีในสายตาของพระเจ้ามั้ย เพราะก็เป็นความตั้งใจเดียวกันกับผู้เชื่อคนอื่นๆที่ฉันเองก็อยากระแวดจิตใจรอบด้านเพราะก็อยากให้ชีวิตสำแดงออกมาเป็นชีวิตที่สะอาด และฉันเองก็มีโอกาสได้ลิ้มรสประสบการณ์เดียวกับดาวิดอยู่บ้างเหมือนกันคือ ยิ่งเข้าใกล้พระเจ้า ยิ่งได้เห็นความบกพร้องของตัวเอง ยิ่งเห็นความดีงามของพระเจ้า ยิ่งรู้ว่าเราต้องการพระองค์มากจริงๆ
สิ่งที่พระเยซูทรงเลือกตอบสนองเมื่อเผชิญความกดดันอย่างที่สุด ณ สวนเกทเสมณี ก็ทำให้ฉันเรียนรู้ว่า พระองค์ทรงรู้จักความเครียด ทรงเข้าใจความกดดัน เพราะพระองค์เคยต้องเผชิญสิ่งที่หนักหนาที่สุดมาแล้ว ดังนั้นหลายครั้งที่ฉันเจอความทุกข์ใจ กดดัน ฉันก็อุ่นใจมากขึ้นเมื่อรู้ว่าพระเยซูก็ทรงเข้าใจ และพระองค์ก็ผ่านสถานการณ์นั้นมาได้ จนสามารถทำภารกิจที่พระเจ้าทรงมีให้สำเร็จได้ด้วยการเลือกแสวงหาและรับฟังการยืนยันจากพระบิดา
หากครั้งหน้าหรือตอนนี้ถ้าคุณกำลังเผชิญความเครียดบางอย่างอยู่ ก่อนที่จะมองหาว่าจะทำอะไรคลายเครียดดี ลองหันกลับมา “ฟังใจ” และ “ฟังพระเจ้า” กันดูก่อนนะคะ
#ด้วยรักและดีต่อใจ
อ้างอิง :
สมิต อาชวนิจกุล. (2537). เครียดเป็นบ้า. กรุงเทพฯ: ดับเบิ้ลนายน์ปริ้นติ้ง.
ชูใจทีมขอขอบคุณ ข้อมูลจาก พญ. สมรัก ชูวานิชวงศ์ การอบรม Satir model จัดโดย โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์สวนพลูค่ะ
Related Posts
- Author:
- Editor สาวเรียบเรียงหลายบทความในชูใจ เธอผู้มีภาษาละมุนละไม กระดุ้มกระดิ้ม และยังมุ่งมั่นรับใช้พระเจ้าและมีภาระใจในการทำงานด้านให้คำปรึกษากับวัยรุ่น เลยต้องดั้นด้นไปอยู่เมืองสิงโตพ่นน้ำเพื่อเรียนต่อด้านนี้!
- Illustrator:
- เฮียกิดไจ๋
- หนุ่มน้อยไฟแรงผู้รับใช้ เป็นคนเจนวายสาย conservative อนุรักษ์มือถือแบบปุ่มกด ไม่นิยมการใช้โซเชียล ชื่นชอบการอบคุ้กกี้ ดูเตียบ่อกี้และละครนาคีกับที่บ้าน เชี่ยวชาญทางด้านกราฟฟิกและงานครัว นี่มัน! หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ เลยนี่นา!
- Editor:
- Perapat T.
- Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)