HIGHLIGHTS:
- คนบางกลุ่มมองว่ามนุษย์มีความอ่อนไหวเกินไป การใช้เหตุผลทำให้คนเข้มแข็งขึ้นพวกเขาจึงผันตัวเข้าหาความรู้และความเชี่ยวชาญในลักษณะของเจ้าหลักการ
- ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ที่เข้ากับพวกเขา พวกเขาไม่มีที่ยึดเหนี่ยวใด ๆ พวกเขาถึง เฉไฉ หาทางออกโดยการไม่ยึดติดกับความเป็นจริง
- แท้จริงคนเราสามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตด้วยมุมมองที่เป็นกลาง หากพวกเขาสามารถพัฒนาความเข้าใจต่อตนเอง ผู้อื่น และต่อ บริบทแวดล้อมได้อย่างถูกวิธี
3. เจ้าหลักการ (Super-Reasonable Stance) :
“แค่อยากให้รู้ไว้ว่าฉันไม่เคยรักใครเท่าเธอ
เก็บเอาไปนอนเพ้อเพราะคิดถึงเธอคนเดียวรู้ไหม
แต่สิ่งที่ฉันคิด นั้นมันมีเหตุผลใช่งมงาย
จะมีอะไรตั้งมากมายที่ทำให้ฉัน..นั้นรักเธอ!!”
(เพลง เหตุผล วง Blackhead)
“ทุกอย่างเป็นเพียงเรื่องของเหตุผล และการใส่ใจกับความรู้สึกเป็นเรื่องไร้สาระ” – น้ำแข็งก้อนยักษ์ได้กล่าวเอาไว้
และต่อไปนี้ … ขอต้อนรับสู่ดินแดนของเหล่าผู้ทรงภูมิปัญญา นี่คือน้ำแข็งก้อนยักษ์ เจ้าแห่งศาสตร์ทั้งปวงขอรับ หลักการและเหตุผลของกลุ่มชนที่สามนี้จะแสดงให้ผู้อ่านได้เรียนรู้และเข้าใจความเป็นไปของบุคคลดังกล่าว ว่าพวกเขาคือ “เจ้าหลักการ” ผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ต่อความไม่รู้และใช้เวลาอยู่กับทฤษฎีในสาขาวิชาของตัวเองได้อย่างไม่รู้เบื่อ (แต่คนรอบข้างไหงมองว่าพวกเขาน่าเบื่อก็ไม่รู้) พวกเขาเต็มไปด้วยทฤษฎีและความกระตือรือร้นด้านวิชาการ จนถึงขั้น “เทพ” สามารถคุยเรื่องทฤษฎีรูหนอนบนรถไฟฟ้า ถกกันเรื่องศาสนศาสตร์ระบบตอนมื้อค่ำ และพูดเรื่องสามเหลี่ยมปิทาโกรัสให้สาวที่ชอบฟังทางโทรศัพท์ แหมโรแมนติก
จอมหลักการนั้นใช้เหตุผลอันล้ำเลิศในการอยู่รอด พวกเขาตัดสินใจอย่างรอบคอบกับทุกสถานการณ์ และพยายามจะจำกัดความเสี่ยงทั้งมวลด้วยความรู้และทฤษฎีที่มี พวกเขาประเมินสถานการณ์เสมอและไม่เว้นที่ว่างให้กับความผิดพลาด “ช้าแต่ชัวร์!”
ประโยคติดปากของพวกเขาจะออกแนว ๆ นี้ครับ …
“ผมฉลาดนะส่วนพวกคุณ…เอิ่มมมม ไม่ค่อย”
“เชื่อผมสิผมถ่ายรูปมานาน … ”
“ตามทฤษฎีแล้ว…”
“ดูจากสถิติ วิธีนี้น่าจะดีที่สุด!”
ท่าทีที่พึ่งแต่เหตุผลอย่างเจ้าหลักการนั้น ไม่อยู่บนความสมดุลเช่นเดียวกันกับท่าทีเพื่อความอยู่รอดอื่นๆ เพราะด้วยการที่พวกเขามองว่าพวกมนุษย์ทั้งหลายข้อจำกัด ดังนั้นจึงมุ่งพิจารณาที่สถานการณ์และบริบทแวดล้อมมากกว่า ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักกับความเป็นไปได้มากกว่าความรู้สึก และในเรื่องของความเชื่อพวกเขาดูจะเป็นโทมัสขี้สงสัยทีเดียว
วิธีการพึ่งพาบริบทที่พูดถึงนี้ ได้แก่ การทำตามระบบ กฎหมาย การพึ่งพาองค์ความรู้ วิถีปฎิบัติ และการยึดโยงอยู่กับเหตุผล สตีฟ จ๊อบ ครูบาอาจารย์ และบางทีก็ยึดพระคัมภีร์จนเกินเหตุ
“พวกเขามักมองว่าความฉลาด คือ การมีเหตุผลที่ดีไม่มีที่ติ” ดังนั้นพวกเขามักให้เหตุผลหรือข้ออธิบายยาวเหยียดที่ฟังดูซับซ้อนเข้าใจยาก มีรายละเอียดยิบ แต่บ่อยทีเดียวที่พวกเขาไม่ไม่ได้ใส่ใจว่าคนฟังเข้าใจมั้ย เพียงขอให้ได้แสดงความคิดเห็นก็พอ อีกทั้งยังรู้สึกพอใจเมื่อตัวเองเป็นเหมือนผู้ทรงภูมิ ทำให้มักแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยเสาะหางานวิจัยมาสนับสนุน ต้องการเป็นฝ่ายถูกเสมอ และไม่แพ้ในการโต้วาที
เย็นชา!!!
เนื่องจากการที่พวกเขามองข้ามความรู้สึกอันชั่งตวงวัดไม่ได้ทำให้พวกเขาค่อนข้างขาดสกิลในการใช้และเข้าถึงความรู้สึก (รวมทั้งมุกแป๊ก) ไม่ใช่ว่าไม่มีหัวใจนะ เพียงแต่การมุ่งไปที่เหตุผลมากไปอาจกดทับความรู้สึกจนถูกซ่อนไว้ลึกเกินไป จนบ่อยครั้ง ผู้ที่ใช้ท่าทีนี้ไม่คุ้นชินกับการแสดงความรู้สึกเลย
หลายครั้งพวกเขามุ่งมองและต้องการพิสูจน์ทราบสาเหตุมากเกินไป เช่น เมื่อมีคนบอกว่า “ปวดท้องจัง” พวกเขาจะตอบสนองในเชิง “ไปกินอะไรมาละนั่น ระวังหน่อยนะช่วงนี้อากาศร้อนเชื้อโรคเยอะ”หรือ “เจ็บตรงไหนตรงนี้แสดงว่า… ตรงนั้นแสดงว่า” มากกว่าที่จะเป็น “เจ็บมากไหมกินยาหรือยัง เป็นห่วงนะ”
หรือ ใช้ประโยคที่เลี่ยงไปจากความรับผิดชอบหรือข้องเกี่ยวกับมนุษย์ เช่น แทนที่จะบอกว่าวันนี้ฉันหนาวจัง ก็จะบอกว่า “วันนี้อากาศเย็น” แทน
พวกเขาอาจร้องไห้น้อยมาก อธิบายความรู้สึกไม่เก่ง และดูเหมือนไม่ไวต่อความรู้สึกจนถึงขั้นเย็นชา นิ่งเฉย ในรายที่ยึดเหตุผลมากๆ อาจเก็บตัวสันโดษราวกับเป็น “มนุษย์ถ้ำ”
ความโดดเดี่ยวที่ทำให้เป็นคนมีเหตุผล กับเหตุผลที่ทำให้เป็นคนที่มีความโดดเดี่ยว
นี่ก็เป็นอีกเรื่องน่าเศร้าของคนที่มักจะเอาเหตุผลมากลบความรู้สึกของตัวเอง ความคุ้นชินในการเมินเฉยต่อความรู้สึกอาจมาจากการมองโลกในมุมที่บิดเบี้ยวไป ดังเช่นการพยายามรักษาจิตใจของตัวเองโดยปฏิเสธการมีอยู่ของจิตใจไปซะเลยมักจะเป็นวิธีที่ผู้ใช้ท่าทีเจ้าหลักการใช้แก้ปัญหา
อาจเพราะกลัวว่าจะเกิดแผลเป็นในความสัมพันธ์ จึงเลี่ยงที่จะไม่ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในระดับลึกซึ้ง พอรู้สึกตัวอีกทีอาการกลัวที่จะเจ็บปวดจากผู้อื่นจนทำตัวโดดเดี่ยวนั้น ก็ได้ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้โดดเดี่ยวและเต็มไปด้วยความเจ็บปวดซะเอง
เวลาที่คนเรายึดเหตุผลจนเกินเหตุจะทำให้เราถอยห่างออกมาจากคนอื่น การจะมีมุมมองที่ครอบคลุมจำเป็นต้องรักษาระยะห่าง เพราะหากอยู่ใกล้เกินไปจะทำให้เห็นไม่รอบด้าน ดังนั้น คนอื่นจึงรับรู้ว่าเราเป็น คนสงวนท่าที เจ้าหลักการชอบใช้วิธีครอบงำทางความคิด ไม่ผ่อนปรน เย็นชาและไม่ยืดหยุ่น
“เหตุผลที่มากเกินไปจะกลายเป็นกำแพงที่ขวางกั้นผู้อื่นไม่ให้เขามาถึงตัวพวกเขาได้”
เหตุผลที่ควรเป็นคนมีเหตุผล
เมล็ดพันธุ์แห่งความรอบรู้ คือ ขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ของผู้คนเหล่านี้ การยึดถือเหตุผลของพวกเขาผลักดันให้แสวงหาความรู้เพิ่มเติมอย่างไม่หยุดนิ่ง และเป็นคนที่มีความรอบคอบในชีวิต ความมีระเบียบแบบแผนนั้นสามารถช่วยให้เขามีประสิทธิภาพในการทำงาน หากพวกเขาพัฒนาขึ้นมาจากการที่เป็นคนโชว์ภูมิ และ เข้าไม่ถึงความรู้สึก จะกลายเป็นคนที่พึ่งพาได้และน่าเข้าหา พวกเขาจะไม่ครอบงำทางความคิดและยัดเยียดสิ่งที่คิดว่าดีให้ผู้อื่น แต่จะยืดหยุ่นและเปิดรับความคิดเห็นมากขึ้น กลายมาเป็นโค้ชที่น่าเข้าหาและผู้ชี้แนะที่มีอิทธิพลด้านบวก
ตัวอย่าง 1 : ของขวัญ กับ ความยึดมั่นของเธอ
“แสงส่องทางของเราก็คือสติ ถ้าเรารู้จักคิดให้ดีก่อนทำในทุกๆ เรื่อง
เราก็จะมีเรื่องดี ๆ เข้ามาในชีวิต” – ของขวัญ
ของขวัญเป็นตัวละครหนึ่งที่ยึดถือเหตุผลในการทำทุกอย่าง เธอประเมินสถานการณ์ทั้งหมดอย่างรอบคอบ และไม่ค่อยเปิดเผยความรู้สึก นั่นเป็นจุดที่ วิน สนใจเธออย่างมาก เพราะนอกจากเธอจะเรียนเก่ง มากความสามารถแล้ว เธอยังเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ไม่มีทีท่าสนใจเขา(จริงๆเป็นคนไม่แสดงออกน่ะ)
ในโรงเรียนที่เต็มไปด้วยข่าวลือและข่าวร้าย เธอเป็นหนึ่งในไม่กี่ตัวละครที่มีจุดยืนและไม่ตัดสินผู้อื่นจนกว่าจะมีข้อมูล ของขวัญ คือตัวแบบของการยึดถือ ความรู้ ความคิดความเชื่อ ตามแนวทางของตัวเอง สิ่งนึงที่เธอมุ่งมั่นมากคือการเรียน ในตอนที่เธอรับรู้ว่าแม่ของเธอเป็นเมียน้อยและพ่อมีครอบครัวอื่น สิ่งที่ตัวละครนี้ทำก็คือประเมินสถานการณ์และรับมืออย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังทะเลาะกับแม่แล้วยังสามารถไปอ่านหนังสือต่อได้ สิ่งเหล่านี้คือการยึดเอาบริบทเป็นใหญ่กว่าความสัมพันธ์นั่นเอง แต่ความมุ่งมั่นจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดการแก้ปัญหาแบบผิดๆ ได้ เช่นในเรื่อง ขวัญเข้าใจว่าพรุ่งนี้สอบก็ต้องรับผิดชอบ แต่เมื่อเธอล้าจนหลับไป เราได้เห็นความพังจากการที่เธอไม่ได้คาดหมายว่าจะสอบไม่ได้ จนเธอตัดสินใจโกงการสอบ เพราะการเรียนคือสิ่งที่เธอยึดถือเอาไว้และไม่สามารถปล่อยให้มันล้มเหลวได้นั่นเอง
ตัวอย่าง 2 : หมอกจางๆ ที่ปิดซ่อนความรู้สึก
หมอกเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่สะท้อนการใช้ท่าทีแบบจอมหลักการ เขาปรากฏตัวในแต่ละตอนด้วยการเป็นที่ปรึกษา และผู้ไกล่เกลี่ย ในขณะที่ตัวละครนี้จริงจังกับแนวทางของตัวเองมาก
เช่น การดูหนังและถ่ายรูป(เจ้าหลักการไม่จำเป็นต้องวิชาการในเรื่องการเรียนเท่านั้น) จนลืมสังเกตเห็นการตอบสนองและความรู้สึกของแฟนสาวไปเลย เวลาดูหนังก็ดูหนังจริงจังจนแฟนเซ็ง เวลาถ่ายรูปก็มัวแต่จัดองค์ประกอบให้ดี จนไม่สังเกตแม้กระทั่งสีหน้าของผู้ถูกถ่าย ความไม่ลงรอยกับพ่อที่พยายามแทรกแซงความเป็นตัวตนของเขา บวกกับการสูญเสียแม่ไป ทำให้เขาตั้งใจเรียน แต่เมื่อพ่อบังคับให้เลือกคณะที่พ่อต้องการ เขาจึงเบนความสนใจไปที่การถ่ายรูปแทน การโฟกัสกับ การดูหนังถ่ายรูปที่เป็นทักษะทางนิเทศฯ คือสิ่งยึดเหนี่ยวของตัวละครนี้ ดังนั้นในสายตาของคนอื่นหมอกจึงเป็นเหมือนหมอกจางๆ ที่คลุมเครือ ไม่แน่ชัด เนื่องจากเขาไม่เปิดเผยตัวตนและความรู้สึก ไม่หวือหวา มีโลกส่วนตัวสูง และทำตัวกลมกลืนกับบริบทรอบข้าง
ตัวอย่างในพระคัมภีร์
จะมีใครเชี่ยวชาญไปมากกว่า อาจารย์เปาโล
“ข้าพเจ้าเป็นยิว เกิดในเมืองทาร์ซัสแคว้นซีลีเซีย แต่ได้เติบโตขึ้นในเมืองนี้ และได้เล่าเรียนกับท่านอาจารย์กามาลิเอลตามธรรมบัญญัติของบรรพบุรุษของเราโดยถี่ถ้วนทุกประการ จึงมีใจร้อนรนในการปรนนิบัติพระเจ้า เหมือนอย่างท่านทั้งหลายทุกวันนี้ (กิจการ 22:3)
โปรไฟล์เหนือชั้น ด้วยดีกรีระดับฟารีสี ซึ่งได้ร่ำเรียนกับอาจารย์ผู้โด่งดังที่สุดแห่งยุค นอกจากนี้ยังเข้าใจเรื่องบทบัญญัติของธรรมมาจารย์ และได้รับสัญชาติโรมซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจแห่งยุคอีกด้วย เป็นเหตุให้มีความเข้าใจวัฒนธรรมฮีบรูและโรมันอย่างดีเยี่ยม
ในจดหมายฝากของอาจารย์เปาโลนั้นเต็มไปด้วยหลักการคำแนะนำและเรื่องของการสอน การให้ความเข้าใจในวิถีปฏิบัติ การแก้ไขปัญหาในคริสตจักรด้วยวิธีใช้เหตุผล และการประกาศกับคนต่างวัฒนธรรมด้วยความเข้าใจ เป็นแบบอย่างของการอุทิศชีวิตให้งานรับใช้ที่ดี อีกทั้งยังเป็นผู้มีอิทธิพลต่อลูกศิษย์อย่างทิโมธีอีกด้วย
ข้อพระคัมภีร์สำหรับคนที่ใช้ท่าที เจ้าหลักการ คือ
“จงวางใจในพระยาห์เวห์ด้วยสุดใจของเจ้า และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้าแล้วพระองค์เองจะทรงทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น” – สุภาษิต 3:5-6
4. คนเฉไฉ (Irrelevant Stance)
“จะมัวกังวลกันไปทำไม ปล่อยใจลอยไปให้สุขสบาย
ลืมความวุ่นวาย ไปอยู่กับแร้งอยู่กับกา
ก็อยู่คนเดียวให้มันสบาย ไม่รู้ไม่ชี้ไม่คิดไม่แคร์อะไร
มาคล้องแขนโยกย้าย กระโดดออกมา ออกมา เต้นกัน!!”
(เพลง กา กา กา ศิลปิน ปาล์มมี่)
กลิ้งหลุน ๆ แบบน้ำแข็งหลอดผู้เฉไฉได้โล่ !!!
คนเฉไฉ เคลื่อนไหวอยู่ตลอดไม่หยุดนิ่ง พวกเขาใช้วิธีการจัดการกับความตึงเครียดด้วยการ “เบลอ” ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ผู้คน สถานการณ์ แม้กระทั่งความรู้สึกของตัวเอง เวลาที่พวกเขาเริ่มเฉไฉเขาจะไม่ให้ความสำคัญกับบริบทรอบข้าง ตัวเอง และผู้อื่นโดยปริยาย การเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งของพวกเขามาพร้อมกับจังหวะชีวิตที่ วูบ ๆ วาบ ๆ
บางคนมักขัดจังหวะความตึงเครียดด้วย มุกตลก หรือ กิจกรรมเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น เล่นผมเพื่อนขณะคุยกัน ทำงานอย่างอื่นเวลาประชุม เล่นมุกแทรกบทสนทนา เหม่อลอย หรือพูดเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง ในขณะที่เฉไฉอยู่นั้น พวกเขากำลังรู้สึกเจ็บปวดที่จะต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับความตึงเครียด จึงเลือกที่จะเอาตัวรอดโดยการเบี่ยงเบนความสนใจ แต่การเฉไฉ มักถูกมองว่าดีและมีสีสัน ปัญหาของพวกเขาจึงมักถูกละเลยในการแก้ไข เพราะสังคมมักชื่นชอบและพอใจที่มีพวกเขาอยู่ด้วย
คนเฉไฉนั้นตรงกันข้ามกันกับเจ้าหลักการอย่างสิ้นเชิง การเคลื่อนไหวและอยู่ไม่สุขของคนที่อยู่ในท่าทีนี้ ทำให้คนที่อยู่ในโหมดใช้เหตุผลดูนิ่งเฉยไปเลย ฝ่ายหนึ่งมองว่าอีกฝ่าย เครียด ไม่มีชีวิตชีวา ส่วนอีกฝ่ายมองว่าไร้สาระ ขาดโฟกัส และอยู่ไม่สุข
เฉไฉแล้วรู้สึกดี แต่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข
วิธีเฉไฉนั้นมีความหลากหลาย บางคนไปลงกับ การกิน การเล่น หนังสือ หรืออะไรก็ตาม เด็กเล็กๆ ที่เฉไฉ อาจสร้างโลกส่วนตัวและเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา
ปัญหาของการเบี่ยงประเด็นก็คือ “ความรู้สึกที่ดีขึ้นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น” มันเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดหรือจะพูดให้ถูกปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขเลย ซ้ำร้ายคนเฉไฉอาจเสพติดวิธีการเหล่านั้น เช่น การใช้ยาเสพติดประเภทต่างๆ การเสพติดการกิน เสพติดการช็อปปิ้ง แม้กระทั่งเสพติดข้อพระคัมภีร์หนุนใจ
ข้อดีของการเฉไฉที่ไฉไล
ผู้ที่เชี่ยวชาญการเฉไฉ มีเมล็ดพันธ์แห่งความสร้างสรรค์ และความเป็นธรรมชาติซ่อนอยู่ พวกเขาไม่หยุดนิ่งและสร้างสิ่งใหม่จากการทดลองหยิบนั่นผสมนี่ตลอดเวลา แต่พวกเขาอาจต้องการแรงกระตุ้นในการทำอะไรให้เกิดผลเป็นชิ้นเป็นอันอยู่บ้าง นอกจากนี้ความสร้างสรรค์และความสดใสของพวกเขาก็ยังสร้างบรรยากาศที่ดีต่อรอบข้างอีกด้วย เพราะมันช่วยขจัดอารมณ์ขุ่นมัว ความอึมครึม และความสิ้นหวังออกไป
ตัวอย่าง : เฟิสต์ ผู้เฉไฉเอาความสนใจไปลงที่ หมา
ตัวอย่างของเฟิสต์ทำให้ภาพของคนเฉไฉชัดเจนอย่างมาก เนื่องจากอาการเฉไฉของเขานั้นเกิดจากการที่ครอบครัวแตกแยก มีปัญหาจนกระทั่งไม่สามารถพึ่งพาใครได้ทั้งกับพ่อและแม่ ระหว่างที่ตัวเขาเองก็กำลังรู้สึกไม่เป็นที่ต้องการและแสวงหาการเติมเต็ม
ในขณะที่บริบทโดยรอบไม่เป็นใจ สิ่งที่เขาทำคือ เรียกร้องความสนใจด้วยการแกล้งเพื่อนในโรงเรียนไปทั่ว เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน เขามุ่งเน้นตัวเองไปที่การเป็นนักกีฬาวิ่ง ซึ่งเป็นหนทางระบายความเครียดออกไป แทนการเผชิญหน้ากับปัญหา
การที่พ่อกับแม่ตัดสินใจแยกทางกัน และเขาเลือกที่จะอยู่กับหมานั้น ทำให้เห็นว่าเขาเองได้เบลอความสัมพันธ์ทางครอบครัวไปแล้วและเลือกที่จะนับเอาหมาเป็นเพื่อนและที่พึ่งพาทางใจแทนที่จะเป็นคนในครอบครัว ความอ่อนไหวในจิตใจแบบนี้เกิดจากการที่ ไม่สามารถพึ่งพา ตัวเอง คนรอบข้าง และบริบทแวดล้อมได้เลย
ตัวอย่างในพระคัมภีร์
ซาโลมอนวัยหนุ่ม ยอดแห่งการเฉไฉ
การพยายามอธิบายชีวิตในมุมมองของปัญญาจารย์อย่างซาโลมอนกลับทำให้เราเห็นภาพของคนที่พยายามวิ่งไล่จับความสุขมากกว่าที่จะเห็นภาพที่เราควรจะนึกถึงคนที่มีปัญญา ซาโลมอนเองได้พูดถึงการค้นหาความหมายของชีวิตที่เขาทำไม่ว่าจะเป็น ใช้เงิน กินดื่มเที่ยว มีภรรยามากมายว่า “อนิจจัง” (ไร้ประโยชน์และสูญเปล่า) กว่าเขาจะเริ่มมาคิดได้ก็เมื่อตอนแก่และเริ่มนั่งลงพิจารณาตัวเองโดยการนั่งนิ่งๆ แล้ว
ภาพนี้ก็เหมือนกับผู้เฉไฉเช่นเดียวกัน หากยังปล่อยให้ตัวเองวิ่งวุ่นเอาตัวรอดจากความเครียดด้วยการพึ่งพาตัวช่วย จะทำให้เหนื่อยเปล่า และไม่พบสมดุลในชีวิตไม่ต่างกับกษัตริย์ซาโลมอน วิธีแก้ไขคือเรียนรู้ที่จะหยุดนิ่ง และเริ่มพิจารณา ก่อนจะเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างมีสติ
ข้อพระคัมภีร์สำหรับคนที่ใช้ท่าที เฉไฉ คือ
พวกเขาควรเรียนรู้ที่จะหยุดนิ่ง และพักพึงในพระเจ้าเพราะในพระองค์ไม่มีความรวนเรแปรปรวน พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยและมีความมั่นคงให้กับทุกคนที่พักสงบในพระองค์
“จงนิ่งเสียแล้วรู้เถอะว่าเราคือพระเจ้า” – สดุดี46:10
สรุป : ท่าทีเหล่านั้น ไม่ใช่ตัวตนของ “ฉัน”
ท่าที (stance) ทั้ง 4 แบบเป็นเพียงวิธีการเฉพาะหน้าที่คนเราแสดงออกเพื่อพาตัวเองผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต การที่เราจะสวมท่าทีแบบไหนนั้นเนื่องด้วยเงื่อนไข 3 อย่างที่แตกต่างกัน ตาม …
– มุมมองของเราต่อตนเอง ณ ขณะนั้น (self)
– มุมมองของเราต่อผู้อื่น ณ ขณะนั้น (other)
– มุมมองของเราต่อสภาพแวดล้อมและบริบทรอบข้าง ณ ขณะนั้น (context)
ผู้สมยอม มีมุมมองต่อคุณค่าของตนเองต่ำ รู้สึกด้อยค่า จึงพยายามทำให้ผู้อื่นพอใจและทำตัวอยู่ในกรอบของสังคมแวดล้อม เหมือนดัง เช่น หิมะที่ถูกปั้นไปมาจนมีรูปร่างตามผู้ปั้นอย่างไม่มีอิสระในตนเอง
จอมบงการ มีมุมมองต่อผู้อื่นที่เป็นลบจึงให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นหลัก พยายามควบคุมผู้อื่นและเรียกร้องจากผู้อื่น ดังเช่น น้ำแข็งแห้งจอมเดือด ที่พยายามรักษาอุณภูมิรอบตัวให้เย็นแต่ตัวเองกลับร้อน
เจ้าหลักการ มีมุมองต่อตนเองและคนอื่นที่ว่าอ่อนแอ จึงมุ่งเน้นการพึ่งพาบริบทมากกว่าบุคคล และละเลยความรู้สึก มุ่งสู่การยึดติดข้อมูลและพยายามใช้เหตุผล ดังเช่น น้ำแข็งก้อนยักษ์ที่รักษาอุณภูมิของตัวเองตามทฤษฎีแต่การที่ทำเช่นนั้นก็ทำให้ใช้ประโยชน์ได้น้อยมาก
คนเฉไฉ มีมุมมองที่บิดเบี้ยวต่อทุกสิ่งที่อยู่ในโลกแห่งความจริง จึงมีแนวโน้มที่จะ อยู่ในโลกอุดมคติ และจินตนาการ อยู่ไม่นิ่ง และไม่ปักหลักทางอารมณ์ ดังเช่น น้ำแข็งหลอดที่ไหลลื่นไปทั่วจนตัวเองแตกหักบิ่นไปหมด
ท่าทีทั้ง 4 ไม่ใช่ตัวตนของเราเพียงแต่เป็นวิธีการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า คน ๆ หนึ่งอาจใช้ท่าทีหนึ่งรับมือกับปัญหาหนึ่ง และ ใช้อีกท่าทีหนึ่งกับปัญหาอีกชุดหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่ามุมมองต่อองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างเป็นอย่างไรแต่หากเราสามารถ เห็นคุณค่าของตัวเอง เคารพในคุณค่าของผู้อื่น รวมทั้งมองบริบทรอบตัวด้วยสายตาแห่งความเป็นจริง เราก็จะสามารถตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น
สู่ท่าทีที่มีความสอดคล้องกลมกลืน (The Congruence coping Stances)
ท่าทีเพื่อความอยู่รอด ทั้ง 4 แบบนั้นมีข้อดีแต่ก็มีข้อบกพร่องที่เกิดจากความขาด ๆ เกิน ๆ ของเราแต่ละคน แม้ว่าเราต่างทำสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดแล้วในขณะนั้น ๆ เพื่อจะปกป้องหัวใจของเราเอาไว้ แต่หลายครั้งเราก็ไม่ค่อยมีความสุข นอกจากท่าทีที่ไม่มีความไม่สมดุลเหล่านั้นยังมีอีก 1 ท่าทีที่สมดุล เวอร์จิเนียร์ ซาเทียร์ เสนอว่าเราควรช่วยเหลือผู้คนให้พัฒนาตัวเองสู่การมีท่าทีที่สอดคล้องกลมกลืน(congruence) เพื่อเขาเหล่านั้นจะสามารถจัดการกับความตึงเครียดในชีวิตได้อย่างสมบูรณ์สุข อยู่ด้วยแล้วดีต่อใจเหมือนบิงซู
ลักษณะของท่าทีที่มีความสอดคล้องกลมกลืนเป็นดังนี้ …
- ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้คนอื่นพอใจเรา อย่างเช่น ผู้สมยอม เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นที่ยอมรับ แต่ทำด้วยความเต็มใจและทำตามความสมัครใจ เพราะรู้จักคุณค่าของตัวเอง
- ไม่โทษผู้อื่น หรือบังคับผู้อื่นเพื่อสำเร็จตามความต้องการของตัวเอง แต่เรียนรู้ที่จะให้อภัยในความไม่สมบูรณ์ของผู้อื่น และเรียนรู้ที่จะขอแทนการบังคับ
- เรียนรู้ที่จะเปิดรับความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความรู้สึกของผู้อื่นและตนเอง ก่อนจะตัดสินใจอย่างสอดคล้องกลมกลืนกับความเป็นจริง โดยยอมรับความเสี่ยงและยอมรับความผิดพลาดได้
- อยู่กับความเป็นจริง และเผชิญหน้าอย่างสร้างสรรค์โดยไม่หลีกหนี แบบผัดวันประกันพรุ่ง
- เป็นตัวของตัวเอง และยอมรับตัวตนของผู้อื่น และรับรู้สิ่งรอบตัวอย่างไม่บิดเบือน
ความสอดคล้องกลมกลืน ในแบบคริสเตียน
- รู้ว่าเรามีคุณค่า เพราะเราต่างก็เป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้า
- ยอมรับอารมณ์และความรู้สึกอย่างเป็นกลาง ในฐานะที่พระเจ้าสร้างให้มนุษย์มีความรู้สึก และรู้จักใช้เหตุผล เพราะพระเจ้าทรงสร้างเราให้มีสติปัญญา
- ให้เกียรติผู้อื่น และมีความถ่อมใจที่แท้จริง โดยไม่แสแสร้งเพื่อให้ได้รับการสมเชย
- ไม่กล่าวโทษผู้อื่น และ ไม่ตัดสินผู้อื่น
- ยอมรับในความอ่อนแอ และข้อจำกัดของมนุษย์ โดยเรียนรู้ที่จะให้อภัยและเสริมสร้างกัน
- มั่นใจว่าพระเจ้าควบคุมอยู่เหนือสถานการณ์ และบริบทต่างๆ ด้วยความไว้วางใจ
- รักตนเอง รักผู้อื่น และรักพระเจ้าผู้ควบคุมอยู่เหนือบริบททั้งสิ้น
ตอนนี้เราพอจะเข้าใจ เบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ในการกระทำต่าง ๆ และท่าทีที่เราแสดงออกไปบ้างแล้ว ในตอนหน้าเราจะเริ่มเข้าสู่การเข้าใจตัวเองในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อค้นพบความสุข อย่าลืมติดตามนะครับ …
ซีรีย์มีอะไรอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง?
บทความในซีรีย์นี้ แบ่งออกเป็น 5 ตอน สามารถ ติดตามอ่านตอนที่ยังไม่ได้อ่านได้ ที่ลิงค์นี่
และจะทยอยเผยแพร่ ทุกวันพุธ ตั้งแต่ วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ – 22 มีนาคม 2017 ค่ะ ☺
อ้างอิง
- รศ.พญ รัตนา สายพานิชย์. (2557). The Satir Model : Family Therapy and Beyond. กรุงเทพฯ: สมาคมพัฒนาศักยภาพมนุษย์และจิตบำบัดแนวซาเทียร์.
- พญ. สมรัก ชูวานิชวงศ์. (2558, พฤศจิกายน). การอบรม Satir model. จัดโดย โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู, กรุงเทพ.
ชูใจทีมขอขอบคุณ ข้อมูลจาก พญ. สมรัก ชูวานิชวงศ์ การอบรม Satir model จัดโดย โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์สวนพลู และข้อมูลเพิ่มเติมจาก หนังสือ The Satir Model : Family Therapy and Beyond ครับ
Related Posts
- Author:
- Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
- Illustrator:
- เฮียกิดไจ๋
- หนุ่มน้อยไฟแรงผู้รับใช้ เป็นคนเจนวายสาย conservative อนุรักษ์มือถือแบบปุ่มกด ไม่นิยมการใช้โซเชียล ชื่นชอบการอบคุ้กกี้ ดูเตียบ่อกี้และละครนาคีกับที่บ้าน เชี่ยวชาญทางด้านกราฟฟิกและงานครัว นี่มัน! หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ เลยนี่นา!
- Editor:
- Emma C.
- เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน