EP.2/5 [ซีรีย์ภูเขาน้ำแข็ง]

4 ท่าทีรับมือปัญหาความสัมพันธ์ ตอน ผู้สมยอม กับ จอมบงการ


 

HIGHLIGHTS:

  • เมื่อคนเราเผชิญกับปัญหาในชีวิตเราจะมีท่าทีการรับมือกับปัญหาด้านความสัมพันธ์ (Coping Stances) แตกต่างกันออกไป 4 แบบด้วยกัน
  • คนบางกลุ่มมองว่าตัวเองนั้นไร้คุณค่าเมื่อเทียบกับผู้อื่นหรือสังคม พวกเขามีแนวโน้มที่จะที่จะคล้อยตามหรือกดตัวเองลง ท่าทีแบบนี้คือท่าทีของการยอมตาม
  • ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งทำตรงกันข้าม พวกเขามีความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเองและกล่าวโทษผู้อื่นและสังคมรอบข้าง พยายามควบคุมทุกอย่างเอาไว้ในลักษณะของจอมบงการ

ชีวิตคนเราไม่ได้สดใสลั้นลาตลอดเวลาแถมมักมีปัญหาความตึงเครียดในเรื่องของความสัมพันธ์มาให้ต้องปวดหัวอยู่เนืองๆ

.

เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาได้แบ่ง ท่าทีการรับมือกับปัญหาด้านความสัมพันธ์ (Coping Stances)” ไว้ 4 แบบ ท่าทีเหล่านี้เป็นกระบวนการตามธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด(คล้ายๆ ที่กิ้งกือขดตัวเวลามีอะไรไปสะกิด หรือคางคกพองตัว) ซึ่งมนุษย์เราจะมีวิธีรับมือกับปัญหาความสัมพันธ์ในวิธีที่แตกต่างกันออกไป

.

วิธีการรับมือเหล่านี้เป็นกระบวนการการป้องกันตัวเองที่คนเราเรียนรู้และปรับใช้ตามสถานการณ์  แต่ละคนก็มีกระบวนท่าหลากหลายไม่เหมือนกัน แต่ก็จะมีบางท่าทีที่ฮิตติดชาร์ตเป็นพิเศษซึ่งเรามักงัดมาใช้บ่อยๆ สาเหตุเพราะท่าทีเหล่านั้นได้รับการพิสูจน์ผ่านประสบการณ์ของเรามาแล้วว่ามันเวิร์กสำหรับเราและทำให้ตัวเราอยู่รอดมาจนทุกวันนี้โดยหัวใจไม่แตกสลาย ลองมาดูกันครับว่ามีท่าประจำของเราคือท่าไหน 

_________________________________

ท่าทีการรับมือกับปัญหาด้านความสัมพันธ์  4 แบบ มีดังนี้…

1. ผู้สมยอม (Placating Stance) :

.

“จุดตัวเองก็ยอมทันใด ให้ลุกเป็นไฟขึ้นมา
เพียงปรารถนาให้มีลำแสงสีทอง …
เพียงปรารถนาดอกทานตะวันหันมา สักครั้ง”

(เพลง ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน)

หิมะน้อยผู้ยอมทำทุกอย่าง  รับบทนางเอกหนังไทย สโลแกน “ศรีทนได้”

ณ จุดจุดนี้ … หลายคนเรียนรู้ที่จะกดตัวเองลงและยอมทำตามความต้องการของคนอื่น การให้เกียรติความคิดและให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้อื่นก่อนตัวเองเป็นกระบวนท่าที่ใช้เพื่อให้เรากลายเป็นที่รัก ช่างน่ารักน่าเอ็นดู ว่านอนสอนง่าย ท่าทีแบบนี้ผู้ใหญ่ปลื้ม ครอบครัวสงบสุข ความสัมพันธ์ราบรื่น ชาติไทยร่มเย็น อาเมน!!! ฟังดูแฮปปี้ทุกฝ่าย … แต่หลายครั้งต้องจ่ายราคาด้วย “ความสุขของตัวเอง”

.

การสมยอมที่เป็นท่าทีที่ไม่มีความสอดคล้องกลมกลืนทางการกระทำและความรู้สึก ปลายทางมักนำความขมขื่นมาให้ หลายต่อหลายครั้งเราฝืนทำตามความคาดหวังของคนอื่นทั้งที่ใจไม่อยากหรือไม่พร้อม คุณเคยประสบกับปัญหานี้บ้างมั้ย?

  • ทั้งที่ตัวเองไม่มีความสามารถที่จะช่วยก็ยังฝืนช่วย เช่น เรื่องเงิน ช่วยทำงาน
  • อยากร้องไห้แต่ก็ฝืนยิ้ม แล้วกลับไปนอนจมน้ำตาคนเดียว
  • ภาระท่วมหัวแต่ก็ยังปฏิเสธคนอื่นไม่ได้
  • รู้ว่าเค้าหลอกแต่เต็มใจให้หลอกยิ้มข้างนอกช้ำใน

.

การสมยอมช่างเป็นวิธีการที่เจ็บปวด เด็กๆ หลายคนละทิ้งความฝันของตัวเองเพื่อเรียนคณะที่พ่อแม่ใฝ่ฝัน ยอมตามใจเพื่อนไปกินข้าวร้านที่ตัวเองไม่อยากกิน จ่ายเงินดูหนังเรื่องที่ไม่อยากดู เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อคนอื่น สูญเสียความเป็นตัวเองเพื่อเป็นอีกคนเพื่อให้คนที่รักพอใจ หลายครั้งการยอมแบบนี้แฝงไปด้วยความอึดอัด กัดฟัน บีบมือแน่น แต่ก็ยังพูดออกมาตลอดว่า “ไหวค่ะ/ได้จร้า/ไม่เป็นไรครับ” ยิ้มมมมมอ่อน แต่จริง ๆ ในใจมันอัดแน่นอยากจะเททุกสิ่งอย่างแล้วตะโกนออกมาว่า … “ไม่ไหวแล้วโอ้ยยยยย!!!”

.

คำถามก็คือไม่ไหวแล้วทำไมยังทำ?

ท่าทีของการยอมตามนั้น เกิดมาจากความไม่มั่นคงภายในจิตใจ การรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าทั้งในสายตาตัวเองและผู้อื่น ผู้ที่ใช้ท่าที (stance) นี้ จึงพยายามอย่างมากที่จะทำทุกวิถีทางให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในสายตาของใครสักคนที่เขาเห็นว่ามีกำลังเข้มแข็งและสำคัญกว่าเขา อาจเป็นพ่อแม่ เพื่อน โบสถ์ ที่ทำงาน หรือคนรัก

.

การพยายามแบกรับความคาดหวังและเอาทุกอย่างวางไว้บนบ่าของตัวเองนั้นหนักหนาเกินไป ตราบใดที่เขาหรือเธอยังพอมีแรง  คำชม หรือการรู้สึกมีตัวตน อาจหล่อเลี้ยงหัวใจได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความผิดพลาดหรือไม่สามารถทำให้ผู้อื่นเกิดความพอใจได้ นั่นจะเป็นโศกนาฏกรรมเลยทีเดียว ผู้สมยอมมีแนวโน้มจะ Burnout (แปลว่า “เทกระจาด”) เพราะแบกภาระหนักเกินไป อีกทั้งในความเป็นจริงไม่มีใครที่จะสามารถทำทุกอย่างให้ทุกคนพอใจได้หรอกนะ

.

ตัวอย่าง1 :: นนท์ ในฮอร์โมน The series ภาค 3 ฉากงานกีฬาสีล่ม  ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้อยากเป็นประธานนักเรียนแต่แรกแต่เขาก็ยอมตามใจเพื่อนจนต้องรับตำแหน่งประธาน เขาพยายามเชื่อมทุกคนในคณะกรรมการเข้าด้วยกัน หลายสิ่งดูดีและได้รับคำชื่นชม แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงจุดที่เขาไม่สามารถทำมันดีต่อไปได้ ทุกอย่างก็พัง ครืนนนน

.

บุคลิกของตัวละครที่ปรากฏบ่อยคือ น่ารักและอ่อนโยน พยายามดูแลทุกอย่างด้วยตัวเอง เมื่อเกิดความตึงเครียดขึ้นก็มักจะยึดถือจิตใจผู้อื่นก่อน แสนดี และเอาความรู้สึกคนอื่นมาเป็นเรื่องของตัวเองเสมอ เมื่อมีความผิดพลาดมักโทษตัวเอง ฝืนยิ้ม และหนีปัญหา

.

ตัวอย่าง2 :: ที่ชัดเจนมากเลยก็คือ ดาว เด็กสาวที่ยอมทำตามความต้องการของแม่ โดยไม่มีปากเสียง เธอได้แต่กดทับความต้องการของตัวเองไว้ กับประโยค ติดปากว่า …“ขาแม่/ได้ค่ะแม่”

.

เพื่อเติมเต็มความว่างเปล่า การสมยอมนั้น ไม่ได้ให้กันฟรีๆ

ที่จริงแล้วมักจะมีความต้องการทางด้านจิตใจและด้านอื่นเคลือบแฝงอยู่ด้วย เช่น ต้องการความรักกลับคืน ต้องการจะมีค่าในสายตาของผู้ที่เราทำดีด้วย เมื่อได้เติบโตและเรียนรู้มากขึ้น จะสามารถพัฒนาไปเป็นการให้โดยใจสมัครที่ไม่หวังผลตอบแทน

.

ฟังดูระทมขมขื่นจัง มันไม่มีข้อดีอะไรบ้างเลยเหรอ?

มีสิครับ ต้องบอกก่อนตรงนี้เลยว่า  ท่าที 4 แบบเพื่อความอยู่รอดนั้นมีข้อดีซ่อนอยู่ ศัพท์ทางนี้เค้าเรียกว่าเมล็ดพันธ์ุแห่งความสมบูรณ์พร้อม สำหรับผู้สมยอมจะมี เมล็ดพันธ์ุแห่งความห่วงใย และเมล็ดพันธุ์แห่งการเชื่อฟัง อันเป็นคุณสมบัติที่ดีงามที่สุดในสามโลก คนที่ใช้กระบวนท่านี้คล่องแคล่วแล้วจะมีสกิลในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ไวต่อความรู้สึก ปลอบใจเก่ง และมีความสามารถในการเทคแคร์เป็นเลิศ ในกรณีของคริสเตียนคือเขาจะสามารถใช้ความห่วงใยใส่ใจในการอธิษฐานเผื่อผู้คน และพร้อมจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือเสมอ

.

ตามฉบับคริสเตียนเราพบว่าเขาเหล่านี้มีลักษณะของผลพระวิญญาณอยู่มากมาย เช่น อดทนนาน(มาก) กระทำคุณให้ตลอด ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่หยาบคาย ทนต่อทุกอย่างได้ และเชื่อในส่วนดีอยู่เสมอ การพยายามทำตัวให้เป็นที่รักส่งผลให้พวกเขาเป็นคนนิสัยดี น่ารัก บางคนใช้ความพยายามนี้ผลักดันตัวเองสู่ความเป็นเลิศด้านการเรียน พนักงานดีเด่น เจ้านายที่เอาใจใส่ การเป็นคุณแม่ต้นแบบ หรือเพื่อนที่แสนดี เป็นต้น

.

ส่วนข้อเสียนั้น จะเป็นเรื่องของความขาดแคลนการนับถือตัวเอง(low self-esteem) คนแบบนี้มักจะซึมเศร้าง่าย  ขี้น้อยใจ อ่อนไหวแม้วันมาไม่มาก อาจจะเจ้าน้ำตาซะหน่อย ก็แบบเซนซิทีฟอะนะครับ

ความรู้สึกที่ผลักดันให้คนใช้ท่าทีนี้ก็คือ เขารู้สึกเหมือนไม่มีตัวตน ถูกมองข้าม หรือถูกละเลย

 .

ตัวอย่างในพระคัมภีร์

1. อับราฮัม ชายผู้ยอมใจในความสัมพันธ์
(ปฐมกาล บทที่ 12 เป็นต้นไป)

เราสามารถสังเกตเห็นความน่ารักของอับราฮัมบิดาแห่งความเชื่อได้จากหลายตอนในพระคัมภีร์ และหลายครั้งก็ดูสมยอมเกินเหตุไปบ้าง เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความตึงเครียดท่านจะแก้ไขโดยการยอมตามน้ำบ่อยครั้ง เช่น
เมื่อครั้งที่เข้าไปอาศัยในอียิปต์เนื่องจากภาวะกันดารอาหาร เหตุเพราะภรรยาของท่านสวยมาก ท่านก็กลัวว่าคนอียิปต์จะฆ่าท่านเพื่อชิงภรรยา ท่านก็เลยเลือกที่จะบอกคนในเมืองว่าเป็นพี่น้องกัน (ซึ่งก็เป็นความจริงอยู่ครึ่งนึงนะเพราะเป็นญาติกัน) สุดท้ายพอฟาโรห์จีบภรรยาท่าน ท่านก็ยอมให้ภรรยาเขาไปเพราะกลัวมีปัญหา แต่สุดท้ายพระเจ้าก็ช่วยให้รอดมาได้

 

หรือ… ในตอนที่คนรับใช้ของท่านกับโลทหลานชายมีปัญหากันด้วยเรื่องน้ำในบ่อที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ท่านเห็นแก่ความสัมพันธ์จึงยอมเสียเปรียบให้ฝ่ายโลทเลือกเขตแดนที่จะเลี้ยงสัตว์ก่อน แน่นอนว่าโลทเลือกเขตที่อุดมสมบูรณ์กว่าส่วนด้านอับราฮัมก็สมยอมตามระเบียบ ยังดีที่พระเจ้าก็อวยพรท่านให้มั่งมีขึ้นจากดินแดนที่แห้งแล้ง
หรือ… การเข้าหานาฮาการ์ (เชื่อฟังภรรยา) เรื่องราวตอนนี้คือ หลังจากที่พระเจ้าสัญญาว่าจะให้ท่านมีลูก แต่ท่านอายุมากแล้ว และภรรยาของท่านเองก็เป็นหมัน ภรรยาคือนางซาราห์จึงบอกให้ท่านมีลูกกับหญิงคนรับใช้แทน ซึ่งท่านก็ไม่ขัดขืน แต่ยินยอมโดยดี …ครับ ๆ เราจะข้ามเรื่องนี้ไป 

 

หรือ… ในส่วนของคุณสมบัติเด่นในตัวของอับราฮัม ซึ่งก็คือการเชื่อฟัง และความเอื้ออาทร เช่น ในตอนที่โลทถูกจับ ท่านก็ยกคนไปช่วย, ตอนที่พระเจ้าจะทำลายเมืองโสโดม โกโมราห์ ท่านเองก็เป็นผู้ที่วิงวอนต่อพระเจ้าขอให้เมตตาผู้คนในเมืองนั้น สุดยอดป่ะล่ะ!

.

จากเรื่องราวชีวิตของอับราฮัม เราจะเห็นได้ว่าคีย์หลักของคนที่ใช้การสมยอมนั้น คือเขาต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ ทั้งในครอบครัว หน้าที่การงาน และเพื่อความปลอดภัยในชีวิต แต่หากยอมมากเกินไปก็อาจเป็นการปล่อยให้ปัญหาเลยเถิดได้เหมือนกัน ต้องหัดไฟท์บ้างนะครับ

.

2. โมเสส กับอาการสุดทนจนฟิวขาด

จะต้องอดทนมากแค่ไหนในการนำชนชาติที่อินดี้ที่สุดในยุคนั้นอย่างอิสราเอล โมเสสเป็นตัวอย่างของผู้นำที่มีท่าทีการใช้รูปแบบเพื่อความอยู่รอดโดยการสมยอม  แม้บางครั้งจะดูแข็งกร้าว แต่จากประโยคมากมายที่ถูกบันทึกก็ทำให้เราเห็น ว่าโดยเนื้อแท้แล้วท่านเป็นคนประหม่าและไม่มีความมั่นใจเลย เช่นในตอนที่พระเจ้าทรงเรียก เขาเองก็ประหม่าจนพระเจ้าต้องประทานตัวช่วยถึง 2 อย่างคือ อาโรน และไม้เท้าที่แสดงการอัศจรรย์ได้

โมเสสทูลพระเยโฮวาห์ว่า “โอ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นคนพูดไม่เก่ง ทั้งในกาลก่อน หรือตั้งแต่ตอนที่พระองค์ตรัสกับผู้รับใช้ของพระองค์ แต่ข้าพระองค์เป็นคนพูดไม่คล่อง และพูดช้า” (ปฐมกาล 4:10)

.

การแบกความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงทำให้หลายครั้งโมเสสก็แสดงความขมขื่นออกมาเป็นคำพูด และด้วยการที่เขาแบกภาระหนักอึ้ง   เราพบว่าโมเสสเองก็พลาดแสดงอารมณ์ฉุนขาดออกมาหลายครั้ง เช่น ครั้งที่ทุ่มศิลาจารึกลงบนพื้น (อพยพ 32:19-20)  และ ครั้งที่เอาไม้เท้าฟาดที่หินจนมีน้ำคานาอันไหลออกมา (กันดารวิถี 20 :1-13) จนเป็นเหตุให้พระเจ้าลงโทษ โดยไม่อนุญาตให้เขาเข้าแผ่นดินแห่งพันธสัญญา

การสมยอม ไม่เหมือนกับการถ่อมใจนะครับ

ข้อสังเกตก็คือ :: บางคนเข้าใจผิดไปว่าอาการ “สมยอม” คือการ “ถ่อมใจ” ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ถูกต้องซะทีเดียว สาเหตุก็เพราะการสมยอมในบางครั้งไม่ใช่เพียงถ่อมลงมาแค่ใจอย่างเดียว แต่ผู้ที่ใช้กระบวนท่านี้มักจะยอมกดตัวเองลงจนไม่เห็นคุณค่าในตัวเองเลย และพอยอมมากๆ เข้าแล้วเขาไม่เห็นคุณค่า ก็จะน้อยใจ รู้สึกด้อยค่า

.

หลักของการถ่อมใจก็จะอ้างอิงตามข้อพระคัมภีร์ที่ว่า  “ส่วนการให้เกียรติผู้อื่นนั้น ให้ถือว่าผู้อื่นดีกว่าตน” หมายความว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีใครดีกว่าใคร ทุกคนย่อมมีคุณค่าในตัวเองทั้งนั้น เพราะเราทุกคนล้วนเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าที่ทรงสร้างมาอย่างพิเศษและมีค่าในสายพระเนตรของพระองค์ เมื่อเรารู้ว่าตัวเองมีคุณค่าแล้วจึงจะสามารถรู้ซึ้งถึงคุณค่าของผู้อื่นได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีค่าแต่ผู้อื่นมีค่านะครับ

.

ดังนั้น การถ่อมใจจะเป็นท่าทีอีกแบบหนึ่ง คือเกิดจากความสมดุลภายในที่รู้ว่าตัวเราเองก็มีคุณค่า ซึ่งคุณค่าที่พูดถึงคือ คุณค่าความเป็นมนุษย์ และคุณค่าด้านจิตวิญญาณ ซึ่งจะเป็นการกระทำที่ไม่เจือปนความขมขื่น

ส่วนเราจะพัฒนาตัวเองจากจุดที่เอาแต่สมยอมไปพบเจอกับความสมดุลได้อย่างไรนั้น รออ่านตอนหน้าๆ นะครับ 🙂

.

ข้อพระคัมภีร์ สำหรับท่าทีนี้

ให้เราเข้าใจว่า พระเจ้าสร้างเราให้ทำดีและพระองค์รักเราอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำดีเพื่อให้พระองค์รัก หรือทำดีให้ใครเห็นคุณค่า ทั้งนี้ก็เพราะเรามีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว

“เพราะว่าเราเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ที่ทรงสร้างขึ้นในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ทำการดี ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ก่อนแล้ว เพื่อให้เราดำเนินตาม” – เอเฟซัส 2:10

 


2. จอมบงการ (Blaming Stance) :

.

“มันแค่ทำน้ำตาให้ไหลแค่ร้องไห้ดังดัง

เท่านั้นก็ได้ทุกอย่างที่ต้องการ

ได้มีรถของเล่นที่เหมือนกับเพื่อนเขามีกัน

ก็รู้พ่อทนไม่นานที่เห็นผมเสียใจ!!”

(เพลง รถของเล่น วง เสือโคร่ง)

น้ำแข็งแห้งจอมเดือด ได้กล่าวไว้ว่า… โลกนี้มันโหด กฎง่ายๆ คือ อ่อนแอก็แพ้ไป “มันสมควรแล้ว! ”

หลบหน่อยจ้า… ขาใหญ่มาแล้ววววววว เจ้านี้ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับเหล่าผู้สมยอม เพราะเจ้านี้เขาหรือเธอจะพุ่งชนอย่างเดียวไม่มีถอย ผู้ที่มักเลือกใช้ท่าทีนี้ในการอยู่รอดบนโลกมนุษย์ อาจจะดูก้าวร้าวนิดหน่อย ถ้าเปรียบท่าทีสมยอมเป็นนางเอก ท่าทีจอมบงการนี้ก็จะดูเป็นนางมารร้ายไปเลย

.
ในขณะที่สมยอมเอาแต่ให้และเรียกร้องความรักแบบอ้อมๆ แบบเพลงไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน จอมบงการจะแปลงร่างเป็นภูเขาไฟสำแดงเดชเผาทุ่งทานตะวันจนราบถ้าทานตะวันไม่มากราบกรานแสดงความรักภักดีที่แทบเท้า อาจจะเวอร์ไปนิด แต่ทัศนคติของการเลือกใช้ท่าทีนี้คือ “ฉันจะอ่อนแอไม่ได้/ฉันต้องยืนหยัด/ฉันต้องได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับ/มันต้องยุติธรรม/มันต้องแฟร์!!!”

.

เนื่องจากมีความคาดหวังทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นสูงปรี๊ดดดด ส่งผลให้เขาหรือเธอกลายเป็นคนชอบบังคับ ควบคุม และตัดสิน ดังนั้นการรับรู้ของผู้คนรอบข้างกับคนที่เลือกใช้ท่าทีนี้ก็คือ เกรี้ยวกราด จู้จี้ ขี้บ่น โหด ดุ จิก ซาดิสม์ (ระดับความรุนแรงและวิธีการขึ้นอยู่กับตัวบุคคล)

.

ลองนึกถึงเด็กน้อยที่อยากได้ของเล่นดู ถ้ารับบทเป็นผู้สมยอมอาจจะร้องไห้สะอึกสะอื้น ไม่ยอมกินข้าวกินปลา หรือเงียบซึมไปเลย แต่จอมบงการอาจจะเล่นใหญ่ ดิ้นกระแด่วๆ โวยวายจะเอาให้ได้ หรือถ้าเขามองว่าการร้องไห้มันอ่อนแอ เขาอาจจะมุ่งมั่นเก็บเงินไม่ง้อผู้ปกครองก็ได้ หลักๆ คือเขาจะเลือกพึ่งพาตัวเอง หรือไม่ก็เรียกร้องเอาจากคนอื่น ในขณะที่สมยอมจะครุ่นคิดหาสารพัดวิธีการให้ตัวเองเป็นที่รักและพยายามทำตัวให้คู่ควรกับความรักที่ปรารถนาจะได้รับ จอมบงการจะมีจุดยืนว่า ก็ฉันเป็นที่รักนี่ มีการกระทำไหน หรือสิ่งไหนที่คู่ควรกับฉันบ้าง ตราบใดที่ได้รับก็โอเคแต่ถ้าไม่ได้รับก็ต้องต่อสู้แย่งชิง เรียกร้องสิทธิ์ ตำหนิ หรือกล่าวโทษคนอื่น

.

มุมมองต่อโลกของผู้เลือกใช้ท่าทีนี้ก็คือ ตัวของฉันใหญ่และสำคัญมากนะ ฉันจึงคู่ควรกับความรักและสิ่งดีทั้งหลาย แต่ส่วนของคนอื่นนั้นเล็กน้อย ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเอาใจใส่ใจฉัน หรือมองว่าคนอื่นด้อยความสามารถในการตอบสนองสิ่งจำเป็นทางกายใจ ชีวิตแก่เขา

.

ท่าทีของการเป็นจอมบงการนั้นตรงข้ามกับท่าทีของผู้สมยอม เรามักพบเห็นสองท่าทีนี้ด้วยกันในความตึงเครียดทางความสัมพันธ์ เมื่อมีคนหนึ่งพยายามควบคุมก็มักมีอีกฝ่ายหนึ่งยอมตาม ฝ่ายควบคุมก็รู้สึกมั่นคงเมื่อมีคนยอม แล้วฝ่ายที่ยอมก็จะรู้สึกมีตัวตนและได้รับความมั่นคงปลอดภัยเมื่อเป็นที่ยอมรับของผู้ควบคุม แต่ในขณะเดียวกัน ท่าทีทั้งสองอย่างก็ไม่ได้เป็นท่าทีที่อยู่ในภาวะสมดุล ฝ่ายควบคุมเองก็เรียกร้องการเชื่อฟังมาก ส่วนผู้ถูกควบคุมก็อาจเกิดภาวะกดดันจนระเบิดได้เหมือนกัน

.

เราอาจเคยเห็นคนที่ปล่อยวางไม่ได้ เนื่องจากต้องการควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในกำมือ เช่น คุณแม่ที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ และจัดแจงหน้าที่ให้ลูกๆ รับผิดชอบ แม้ในขณะที่ลูกๆ พยายามรับผิดชอบหน้าที่เหล่านั้นแล้วแต่คุณแม่ก็ยังบ่นว่าลูกๆ เหลาะแหละ และบ่นว่าทำไมไม่รู้จักช่วยกันบ้าง อะไรทำนองนี้ หรือหลายคนที่กลายเป็นคนหมกมุ่นกับงานและความสำเร็จ แม้มีลูกจ้างก็ยังบ่นว่าลูกจ้างทำไม่ถูกใจจนลุกขึ้นมาทำเองในแบบทำไปบ่นไป

.

การกล่าวโทษ ไม่ได้หมายถึงความรุนแรงทางกายภาพเสมอไป แต่อาจหมายถึงความรุนแรงทางจิตใจก็ได้

ความสามารถพิเศษของจอมบงการก็คือ การค้นหาความผิดพลาดของผู้อื่น จอมบงการจะไม่แสดงออกถึงความอ่อนแอและไม่มองว่าตัวเองผิด แต่กลับกันผู้อื่นจะเป็นฝ่ายผิดเสมอ เขาสามารถหาเหตุผลกลใดก็แล้วแต่มาสนับสนุนความไม่ยุติธรรมในชีวิตของตนได้ ประโยคติดปากของเขาก็คือ “เธอมันทำอะไรไม่ได้เรื่อง/เพราะเธอฉันถึงต้องเป็นแบบนี้/เพราะว่าพยายามไม่พอมันถึงไม่สำเร็จ” หลายครั้งผู้ที่เลือกจะใช้ท่าทีของการกล่าวโทษอาจไม่ได้แสดงความก้าวร้าวออกมาเป็นการกระทำ แต่ความรุนแรงของการผูกใจเจ็บนั้นอาจฝังอยู่ในความคิด เคยเจอมั้ยครับคนที่ผูกใจเจ็บกับอดีตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เจ็บปวดร้าว และโทษผู้คนที่ผ่านเข้ามาเหล่านั้นว่าทำลายชีวิต หรือเป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลวทั้งปวง

.

เนื้อแท้ของผู้ที่ใช้ท่าทีนี้ไม่ต่างกับผู้ที่เลือกที่จะสมยอม คือ… รู้สึกโหยหา กลวงโบ๋ และขาด อีกทั้งภายในใจยังเปราะบาง แต่เขาเรียนรู้ที่จะปกปิดจุดอ่อนเหล่านั้นโดยการแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตัวเองเข้มแข็ง พยายามสร้างอำนาจ บารมี ความน่าเกรงขาม ซึ่งผลที่ได้อาจจะน่าพึงพอใจ แต่ก็ทำให้เกิดช่องว่างในความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง

.

สิ่งที่จอมบงการมักจะแสดงออกมาคือ การจัดวางตัวเองในตำแหน่งศูนย์กลาง พยายามควบคุมผู้อื่นให้อยู่ในโอวาท หรือเป็นไปตามแผน มีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของผู้อื่น จนอาจสร้างความตึงเครียดหรือกดดันคนรอบข้าง ทำให้อาจกลายเป็นคนโดดเดี่ยว เพราะต้องปิดซ่อนความอ่อนแอ ส่งผลให้มีปัญหาในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นในระดับลึก ทั้งที่ในความเป็นจริงก็โหยหา และเมื่อผู้อื่นไม่สามารถทำตามความต้องการของเขาได้ เขาก็เลือกที่จะโทษ เรียกร้อง และโกรธเกรี้ยว ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้คนถอยห่างจากเขากว่าเดิม เขาต้องแบกรับความรู้สึกเหงาและเดียวดาย ทั้งที่มีคนรายล้อมเต็มไปหมด… ดราม่ามากเลยครับ  ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดคือ คุณพ่อคุณแม่จอมเฮี้ยบ ที่วางกฎเกณฑ์และคาดหวังในตัวลูกๆ อย่างเข้มงวด

.

ข้อดีของจอมบงการ และบุคลิกภาพที่โดดเด่น

ความเด็ดขาดและมีกลยุทธ์ของผู้นำที่เลือกใช้ท่าทีของการกล่าวโทษหรือจอมบงการก็คือ พวกเขาชัดเจนในจุดยืน และไม่ผ่อนปรนกับจุดบกพร่อง หรือความอ่อนแอ  อาจดูเลวร้ายในความรู้สึกแต่พวกเขาก็เป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมที่น่ายกย่องและขาดไม่ได้ เพราะเป็นกลุ่มที่กล้าคิดกล้าทำ และมีความรับผิดชอบสูง ตัดสินใจเฉียบขาด ทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ

.

เมล็ดพันธ์แห่งความสมบูรณ์ที่เติบโตมาพร้อมกับ บุคลิกที่ดูแรงของพวกเขาก็คือ ความเป็นผู้นำ และความกล้าหาญ

หากพวกเขาเติบโตและพัฒนา ออกไปมากขึ้น เขาจะสามารถใช้ความเป็นผู้นำของเขาในการปกป้องผู้อ่อนแอ และกลายเป็นผู้นำที่เรียนรู้จักที่จะให้เกียรติผู้อื่น จะกลายเป็นคนน่านับถือที่ผู้ตามต่างยอมรับและศรัทธาในศักยภาพ และพวกเขาจะช่วยให้ผู้คนรอบข้างดึงศักยภาพออกมาใช้ได้อย่างไม่จำกัด

.

ตัวอย่าง1 :: ยกตัวอย่างจากซีรีย์ฮอร์โมนอีกซักคนหนึ่ง ชายหนุ่มผู้เหงาหงอยและโดดเดี่ยวที่สุดในเรื่อง ก็คือ บอส บุคลิกของเขาเป็น Boss สมชื่อ คือ ยึดมั่นอุดมการณ์ รักความยุติธรรม ต้องการเป็นที่ยอมรับโดยแสวงหาอำนาจ นอกจากการกล่าวโทษแล้ว บอสก็ยังมีท่าทีในการเอาตัวรอดแบบยึดเหตุผลเกินเหตุอีกด้วย แม้ในภาวะปกติเขาจะดูเป็นคนที่ยึดถือข้อมูล แต่เมื่อเกิดปัญหา ท่าทีที่เขาเลือกใช้บ่อยครั้งคือการกล่าวโทษ และมีหลายครั้งที่ฉุนเฉียวถึงขั้นทะเลาะลงไม้ลงมือกับนนท์

.

ตัวอย่างในพระคัมภีร์

1. เมื่อ มารธา ต่อว่า มารีย์ ต่อหน้าพระเยซู

บุคคลในพระคัมภีร์ ที่ใช้ท่าทีนี้ชัดมากก็คือ นางสาว มารธา เมื่อพระเยซูมาเยี่ยมครอบครัวของเธอเธอพยายามปรนนิบัติและดูแลทุกอย่าง ให้ไม่ขาดตกบกพร่อง เล่นใหญ่ซะจนอดน้อยใจไม่ได้ที่มารีย์ไม่มาช่วย แหม!!! น้องเราเอาแต่นั่งฟังพระเยซู

.

“เมื่อ​พระ‍เยซู​กับ​พวก​สาวก​เดิน‍ทาง​ไป พระ‍องค์​ทรง​เข้า​ไป​ใน​หมู่‍บ้าน​แห่ง​หนึ่ง และ​มี​ผู้‍หญิง​คน​หนึ่ง​ชื่อ​มาร‌ธา​ต้อน‍รับ​พระ‍องค์​เข้า​ไป​พัก​ที่​บ้าน​ของ​นาง มาร‌ธา​มี​น้อง‍สาว​ชื่อ​มา‌รีย์ และ​มา‌รีย์​ก็​นั่ง​อยู่​ใกล้​พระ‍บาท​ของ​พระ‍เยซู​คอย​ฟัง​ถ้อย‍คำ​ของ​พระ‍องค์ แต่​มาร‌ธา​วุ่น‍วาย​อย่าง​มาก​กับ​การ​ปรน‌นิ‌บัติ จึง​มา​ทูล​พระ‍องค์​ว่า “องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า พระ‍องค์​ไม่​สน‍พระ‍ทัย​หรือ​ที่​น้อง‍สาว​ของ​ข้า‍พระ‍องค์​ปล่อย​ให้​ข้า‍พระ‍องค์​ปรน‌นิ‌บัติ​อยู่​คน​เดียว? ขอ​พระ‍องค์​สั่ง​น้อง​ให้​มา​ช่วย​ข้า‍พระ‍องค์​ด้วย” แต่​องค์‍พระ‍ผู้‍เป็น‍เจ้า​ตรัส​ตอบ​นาง​ว่า “มาร‌ธา มาร‌ธา​เอ๋ย เธอ​กระ‌วน‍กระ‌วาย​และ​ร้อน‍ใจ​หลาย​อย่าง​เหลือ‍เกิน สิ่ง​ที่​จำ‍เป็น​นั้น​มี​เพียง​สิ่ง​เดียว และ​มา‌รีย์​ก็​เลือก​เอา​ส่วน​ที่​ดี​นั้น ใคร​จะ​ชิง​เอา​ไป​จาก​เธอ​ไม่‍ได้” – ลูกา 10: 38-42

 .

2. ซาอูล กับการกล่าวโทษ ล่า และล้างแค้น
(ซามูลเอล บทที่ 10 เป็นต้นไป)

 

ชายหนุ่มผู้ห้าวหาญและกำยำที่สุด ปฐมกษัตริย์ผู้ฆ่าคนเป็นพัน ๆ ในพระคัมภีร์บันทึกว่าซาอูลสูงกว่าไหลของชายทุกคน และไม่ว่าเจอใครที่รบเก่งก็จะเอาตัวมาเข้ากองทัพหมด(อย่าปฎิเสธเลย) ชายผู้นี้หั่นวัวเป็นท่อน ๆ แล้วส่งไปเชิญ(บังคับ)ให้คนมาร่วมสงคราม เอะอะ ซัดหอกใส่คนนู้นเขวี้ยงหอกใส่คนนี้

พยายามควบคุมทุกอย่าง ทำหน้าที่เกิดขอบเขตของตัวเอง โดยการถวายเครื่องบูชาแทนซามูเอล จนถูกพระเจ้าปลดจากตำแหน่ง ยังไม่วายไล่ตามล่าดาวิดที่พระเจ้าตั้งเป็นกษัตริย์แทนอีก

ในด้านความเป็นผู้นำซาอูลเข้มแข็งมาก สามารถรวบรวมผู้คนมาทำสงครามได้ และนำกองทัพสู้รบคนฟิลิสเตีย แต่เรื่องคะแนนความนิยมสู้ดาวิดไม่ได้เลย เพราะดาวิดเป็นคนน่ารักกว่าถ้าไม่เชื่อลองถามโยนาธานกับมีคาลลูก ๆ ของซาอูลดู

 

ข้อพระคัมภีร์ สำหรับท่าทีนี้

พระคัมภีร์สนับสนุนให้เราเข้มแข็ง แต่ต้องเป็นการเข้มแข็งโดยพึ่งพระเจ้า ไม่ควรที่จะกระวนกระวายและพยายามควบคุมทุกอย่าง แต่ควรเพิ่มความไว้วางใจ และเพิ่มความรักความเมตตา และไม่ตัดสินผู้อื่น

.

“อย่ากล่าวโทษเขา เพื่อพระเจ้าจะไม่ทรงกล่าวโทษท่าน” – มัทธิว 7:1

“จง​เข้ม‍แข็ง​และ​กล้า‍หาญ​เถิด อย่า​กลัว​หรือ​ครั่น‍คร้าม​เขา​เลย เพราะ‍ว่า​ผู้​ที่​ไป​กับ​ท่าน​คือ​พระ‍ยาห์‌เวห์​พระ‍เจ้า​ของ​ท่าน พระ‍องค์​จะ​ไม่​ทรง​ปล่อย​ท่าน​ให้​ล้ม‍เหลว​หรือ​ทอด‍ทิ้ง​ท่าน”– เฉลยธรรมบัญญัติ 31:6

… จบไปแล้วสำหรับ ผู้สมยอม กับ จอมบงการ
อีกสองท่าทีจะเป็นอะไรนั้น ขอแปะไว้ตอนหน้านะครับ

 

ซีรีย์มีอะไรอยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง?
บทความในซีรีย์นี้ แบ่งออกเป็น 5 ตอน สามารถ ติดตามอ่านตอนที่ยังไม่ได้อ่านได้ ที่ลิงค์นี่
และจะทยอยเผยแพร่ ทุกวันพุธ ตั้งแต่ วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ – 22 มีนาคม 2017 ค่ะ 

 


อ้างอิง

  • รศ.พญ รัตนา สายพานิชย์. (2557).  The Satir Model : Family Therapy and Beyond. กรุงเทพฯ: สมาคมพัฒนาศักยภาพมนุษย์และจิตบำบัดแนวซาเทียร์.
  • พญ. สมรัก ชูวานิชวงศ์. (2558, พฤศจิกายน). การอบรม Satir model. จัดโดย โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์ สวนพลู, กรุงเทพ.

ชูใจทีมขอขอบคุณ ข้อมูลจาก พญ. สมรัก ชูวานิชวงศ์ การอบรม Satir model จัดโดย โรงเรียนคริสต์ศาสนศาสตร์แบ๊บติสต์สวนพลู และข้อมูลเพิ่มเติมจาก หนังสือ The Satir Model : Family Therapy and Beyond ครับ


Previous Next

  • Author:
  • Blogger ผู้มากความสามารถในงานเขียน เป็นคริสเตียนที่เรียนสังคมวิทยา ฯ มาอย่างโชกโชน สเตตัสปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ และ รับใช้พระเจ้าไปด้วย :)
  • Illustrator:
  • เฮียกิดไจ๋
  • หนุ่มน้อยไฟแรงผู้รับใช้ เป็นคนเจนวายสาย conservative อนุรักษ์มือถือแบบปุ่มกด ไม่นิยมการใช้โซเชียล ชื่นชอบการอบคุ้กกี้ ดูเตียบ่อกี้และละครนาคีกับที่บ้าน เชี่ยวชาญทางด้านกราฟฟิกและงานครัว นี่มัน! หนุ่มโสดในฝันของสาวๆ เลยนี่นา!
  • Editor:
  • Emma C.
  • เด็กสาวหน้านิ่งจากเมืองกรุง มุ่งหน้าใช้ชีวิตในเมืองเหนือ พระเจ้านำให้ได้มาทำงานกับชูใจ เธอผู้นี้มีความสามารถหลากหลาย ทั้งวาดภาพ เขียน เรียบเรียง และเอาขามาพาดคอระหว่างนั่งทำงาน เธออินกับการสะกดคำให้ถูกต้องตามราชบันฑิตฯ และมีรสนิยมวินเทจผิดจากความเป็นเจนวาย เป็นหนึ่งใน Avenger ทีมบก.ที่จะมาช่วยชูใจผู้อื่นกัน